วันพุธที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2566

พึงรักษาจิต


 ธรรมะอรุณสวัสดิ์...รับวันใหม่ 

.............................

มีภิกษุรูปหนึ่งบวชมาแล้วก็สู้ไม่ไหว อยากจะสึก 

ภิกษุรูปนี้ตอนเป็นฆราวาสก็อยากบวช 

เป็นลูกเศรษฐีอยู่ที่เมืองสาวัตถี 

ก็มีความคุ้นเคยอยู่กับพระเถระ 

ปรนนิบัติอุปัฏฐากพระเถระ 

ก็เข้าไปถามว่า ทรัพย์สมบัติควรจะทำอย่างไร 

ให้เป็นประโยชน์ เป็นบุญเป็นกุศล หรือเป็นความดี 

พระเถระก็แนะว่า คุณก็เอาทรัพย์แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน 

ส่วนหนึ่งก็ไว้ลงทุน 

ส่วนหนึ่งก็เลี้ยงบุตรภรรยาครอบครัวของตนเอง 

อีกส่วนหนึ่งก็ทำบุญทำกุศล ให้ทาน 

ถวายทานสลากภัต เป็นต้น 

เขาก็ปฏิบัติตาม 

แบ่งทรัพย์อย่างนั้น ปฏิบัติทำบุญสุนทาน 


แล้วก็เข้าไปถามพระเถระอีกว่า 

ผมก็ได้ปฏิบัติตามพระเดชพระคุณแล้ว 

จะมีอะไรที่ทำให้มันยิ่งกว่านี้บ้างไหม

นอกจากจะบำเพ็ญทานอย่างนี้ 

พระเถระก็เลยบอกว่า 

ถ้าเช่นนั้นคุณก็จงสมาทานไตรสรณคมน์ 

จงสมาทานศีล ๕ 

อุบาสกนี้ก็รับไตรสรณคมน์ 

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ 

ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ 

สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ 

ตั้งจิตระลึกถึงพระพุทธเจ้า 

พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ 

เป็นที่เป็นที่พึ่งที่ระลึก 

สมาทานศีลทั้ง ๕ 

ตั้งเจตนาที่จะงดเว้น

จากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม 

เว้นจากการโกหก เว้นจากการดื่มสุราเมรัย 

เขาก็ทำได้ด้วยดี 


แล้วก็เข้าไปถามพระเถระอีกว่า จะมีธรรมอะไรยิ่งกว่านี้ 

ถ้าอย่างนั้นคุณก็รักษาศีล ๑๐ เพิ่มเข้าไปอีก 

ถือศีล ๘ ศีล ๑๐ 

เว้นการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล 

เว้นแต่งเนื้อแต่งตัวด้วยเครื่องประดับ 

เว้นดูฟ้อนรำขับร้อง ดูการละเล่น 

เว้นที่นั่งที่นอนยัดด้วยนุ่น สำลี 

เขาก็กระทำ 

ก็เลยได้ชื่อว่าอนุปุพพิกเศรษฐีบุตร 

ผู้กระทำไปตามลำดับ 


ก็เข้าไปถามพระเถระอีกว่า 

ผมก็ปฏิบัติศีล ๘ ก็ทำได้แล้ว 

จะมีอะไรที่ให้มันยิ่งกว่านี้ขึ้นไปอีก 

พระเถระก็บอกว่า ถ้าเช่นนั้นคุณก็บวช 

มาบวชประพฤติพรหมจรรย์เป็นภิกษุ 

ก็ตกลง ออกมาบวช 

มีอุปัชฌาย์มีอาจารย์ผู้ทรงวินัยผู้ทรงอภิธรรมมา 

อาจารย์ก็แนะนำให้เว้นอย่างนั้น ๆ 

อุปัชฌาย์ก็ให้ทำอย่างนั้น เว้นอย่างนั้น 


พอออกมาบวชแล้ว 

ก็รู้สึกว่าความเป็นพระนี้อยู่ยากเหลือเกิน 

ดู ๆ ไป อะไรก็จะผิดไปหมด 

นั่นก็เว้น นี่ก็เว้น นี่ก็ทำไม่ได้ 

ความรู้สึกของท่านก็รู้สึกว่า 

เหมือนกับจะเหยียดมือเหยียดเท้าออกไปไม่ได้แล้ว 

ไม่มีที่จะเหยียดมือเหยียดเท้าเลย มันผิดไปหมดเลย 

ทำให้รู้สึกว่าทำไม่ได้ 

เกิดความท้อใจ เบื่อหน่าย อยากจะสึก  

ที่สุดก็ผอม ร่างกายเต็มสะพรั่งไปด้วยเอ็น 

คนเราถ้าจิตใจไม่น้อม ไม่ศรัทธาในธรรม 

อยู่ไปก็ผอมสะพรั่งไปด้วยเอ็น 

แล้วก็เกลื่อนกล่นไปด้วยหิดเปื่อย 

จมอยู่ในความเกียจคร้านอยู่อย่างนั้น 

ถูกความเกียจคร้านครอบงำ 


เพื่อนภิกษุทั้งหลายก็เลยมาถาม 

ท่านเป็นอะไร 

ดูท่านผอมซูบซีด เกลื่อนกล่นไปด้วยหิดเปื่อย 

ท่านก็รับว่าผมอยากจะสึก 

เพื่อนภิกษุก็เลยพาไปหาอาจารย์ไปหาอุปัชฌาย์ 

อาจารย์อุปัชฌาย์ก็พาไปเฝ้าพระพุทธเจ้า 


พระพุทธเจ้าก็ถามว่า 

เธอมีความปรารถนาจะสึกหรือ 


ก็กราบทูลรับตามความเป็นจริง 


ทำไมเธอจึงคิดอย่างนั้น 


ข้าพระพุทธองค์รู้สึกว่า 

มันมีสิ่งที่จะต้องรักษา ที่จะต้องเว้น 

ที่จะต้องสมาทานมากมายเหลือเกินข้อวัตรปฏิบัตินี้ 

รู้สึกว่าเหมือนจะเหยียดมือเหยียดเท้าไม่ได้ 

หาที่เหยียดมือเหยียดเท้าไม่ลงแล้ว 

ดูมันจะผิดไปหมด 


พระพุทธองค์ก็จึงตรัสว่า 

ถ้าเช่นนั้นเธอรักษาอย่างเดียวได้ไหม 


ถ้าอย่างเดียวก็พอได้ 

อย่างเดียวได้ ทำได้แน่ ขออย่างเดียว 


ถ้าเช่นนั้น เธอจงรักษาจิต 

ถ้าเธอรักษาจิตได้ ก็เท่ากับเธอจะรักษาได้ทุกอย่าง 


แล้วพระพุทธองค์ก็ได้ตรัสเป็นคาถาขึ้นว่า 

สุทุทฺทสํ สุนิปุณํ 

ยตฺถ กามนิปาตินํ 

จิตฺตํ รกฺเขถ เมธาวี 

จิตฺตํ คุตฺตํ สุขาวหํ 


แปลว่า 

ผู้มีปัญญาพึงรักษาจิตอันเห็นได้ยาก ละเอียดยิ่งนัก 

มักตกไปในอารมณ์ตามความใคร่ 

เพราะจิตที่คุ้มครองดีแล้วย่อมนำความสุขมาให้ 


ให้ไปรักษาจิตไว้ 

แม้ว่าจะเป็นธรรมชาติที่ละเอียด 

มักจะตกไปในอารมณ์ ตามความใคร่ก็ตาม 

ถ้าจิตนั้นรักษาได้ 

จิตได้รับการคุ้มครองดีแล้ว ย่อมนำความสุขมาให้ 


พระอนุปุพพิกเศรษฐีบุตร 

เมื่อได้รับคำสอนจากพระพุทธเจ้าว่า

ให้รักษาจิตอย่างเดียว ก็พอใจ 

คอยระมัดระวังจิตใจตัวเอง 

ก็ต้องมีสติคอยดูคอยรู้ รักษาจิต 

มันก็รักษาได้ทุกอย่างถ้าจิตเรามีการดูแลรักษาได้ 

เพราะอะไรต่าง ๆ มันก็ออกมาจากจิต 

ถ้าจิตเราดี ทำก็ดี พูดก็ดีไปด้วย 

ถ้าจิตไม่ดี ทำก็ไม่ดี พูดก็ไม่ดี 

ที่สุดท่านก็ได้บรรลุธรรม 

ด้วยการอาศัยคำสอนพระพุทธเจ้าให้ตามดูรักษาจิตไว้อย่างเดียว 


เพราะฉะนั้นจิตเป็นเรื่องสำคัญ 

ถ้าเราไม่รักษา ไม่ปฏิบัติ ไม่เจริญภาวนา 

จิตนี้ก็จะพาเราเป็นไปต่าง ๆ 

โดยเฉพาะกลายเป็นบุคคลที่กระทำผิดศีลผิดธรรม 

นำความทุกข์มาสู่ตนเอง 

.............................

ธัมโมวาท โดยหลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี

เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา


******

Cr.https://www.facebook.com/100050180992815/posts/pfbid02gZhxV3o5cqS9rMcetRM8MQBagoqNHpZyeJZfaRmdXQAVSf6zp1cMAoGrn33F1Frrl/?mibextid=Nif5oz

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น