ความสามารถสังเกตเห็นแง่เหมือนในสิ่งต่างกันคือเครื่องชี้บอกความฉลาด กวีทั้งหลายมักชอบการเปรียบเทียบ คำกลอนที่เปรียบทะเลสาบว่าใสเขียวดั่งมรกต หรือหน้าคนเฉยเหมือนประตูที่ปิดแล้ว ทำให้เราเห็นภาพพจน์ชัดขึ้น นักเขียนที่บอกว่าจิตเขาฟุ้งซ่านดั่งเปลวเทียนในสายลม ช่วยให้เราเข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรมได้ง่ายขึ้น พระพุทธเจ้าเองและครูบาอาจารย์หลายท่าน เช่น หลวงพ่อชาเป็นต้น ใช้การเปรียบเทียบบ่อยๆ เพื่อให้สื่อความจริงที่ลึกซึ้งด้วยภาพที่ทุกคนคุ้นเคย
อย่างไรก็ตามการสังเกตเห็นแง่ต่างในสิ่งเหมือนกันหรือคล้ายกัน ไม่ใช่สัญลักษณ์ของความฉลาดเสมอไป ตรงกันข้ามมักจะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ผู้เบาปัญญามักจะหลงหมกหมุ่นและจับผิดในสิ่งที่ทำให้มนุษย์เราต่างกัน เช่น สีผิว เชื้อชาติ ศาสนา หรือวิถีชีวิต โดยมองข้ามความจริงพื้นฐานว่าสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย
การคิดอย่างไม่แยบคายในสิ่งที่ทำให้มนุษย์เราต่างกัน นำไปสู่อคติ ความกลัว ความรังเกียจ การเหยียดหยาม ความรู้สึกว่าตนดีกว่าเขา หรือด้อยกว่าเขา ผู้มีปัญญาเห็นโทษในการคิดประเภทนี้แล้วจึงฝึกตนเพื่อปล่อยวางความเศร้าหมองในใจ และน้อมนำจิตไปรับรู้ในสิ่งที่ทำให้มนุษย์เราเหมือนกัน
พระอาจารย์ชยสาโร
*****
Cr.https://www.facebook.com/photo.php?fbid=723030783184842&set=a.410133041141286&type=3&mibextid=Nif5oz
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น