ธรรมะอรุณสวัสดิ์...รับวันใหม่
.............................
นั่งสบาย ๆ ลองเจริญอานาปานสติ
ฝึกอานาปานสติด้วย
หายใจเข้าอย่างมีสติ รู้ตัว
หายใจออกอย่างมีสติ รู้ตัว
หายใจช้า ๆ เข้าออก
ลองทดลองหายใจให้มันเข้าออกช้า ๆ ที่สุด
แต่อย่ากลั้น
ให้สบาย ๆ
แต่ให้รู้ว่าหายใจอยู่
หายใจเข้ารู้อยู่ หายใจออกรู้อยู่
เราอาจจะบริกรรมพุทโธไว้ในใจก็ได้
หรือจะนับลมหายใจก็ได้แบบที่กล่าวแล้ว
หรือดูแค่กระทบ ลมกระทบที่โพรงจมูกก็ได้
หรือดูลักษณะของลม ว่าลมยาวลมสั้นก็ได้
ตามลมเข้าไป ตามลมออกมาก็ได้
หรือดูนิ่ง ๆ ดูเฉย ๆ อยู่ก็ได้ตามถนัด
ข้อสำคัญก็คือให้มันรู้อยู่ รู้อยู่
รู้อยู่กับลมหายใจ
เมื่อเรามีสติตามดูตามรู้ลมหายใจเข้าออก ได้ต่อเนื่อง ๆ
จิตเราก็จะมีสมาธิขึ้น
ให้เราแผ่กระแสจิต
แผ่กระแสจิตไปทั่วสรีระร่างกาย ในความรู้สึก
หายใจเข้า หายใจออก
รู้ลมหายใจเข้าออก
แผ่กระแสจิตรับรู้ไปทั่วร่างกาย
แต่ก็ยังรู้ลมหายใจอยู่ด้วย
แต่รู้ครอบคลุมไปกายทั้งตัว ในความรู้สึก
กายมันจะมีความรู้สึกอยู่
จากการหายใจเข้าออก
จะมีความไหว ความกระเพื่อม ความสะเทือนในกาย
ตลอดทั้งมามีโผฏฐัพพะมากระทบสัมผัสกาย เย็น ร้อน
ทำให้รู้สึกเวทนา สบาย
เย็นกระทบรู้สึกสบาย
บางส่วนก็ไหว ๆ กระเพื่อม แข็ง อ่อน ร้อน เย็น
รู้ลมหายใจต่อเนื่องไว้
แต่มีกระแสจิตแทรกซึมสัมผัสถูกต้องไปทั่วสรีระร่างกาย
ทำจิตใจเหมือนเป็นเครื่องเอ็กซเรย์
ส่องไปในกายทั้งตัว
ไปสัมผัสที่ความรู้สึกที่มันรู้สึก ๆ อยู่
และให้รู้สึกตัวว่ามีจิตผู้รู้อยู่
อะไรเป็นตัวส่อง? อะไรเป็นตัวดู?
ให้รู้สึกตัวที่จิตขึ้นมา
ให้เห็นว่ามันมีจิตผู้ดูอยู่ ผู้รู้อยู่
จะทำให้รู้สึก มีความเห็นได้ว่ามันมีอยู่ ๒ ส่วน
มัน #มีกายส่วนหนึ่งที่ถูกรู้อยู่
มัน #มีจิตใจอยู่อีกส่วนหนึ่งที่เป็นผู้ดูอยู่เป็นผู้รู้อยู่
เราจะเห็นความจริงของชีวิตว่า
#มันมีสภาวะประกอบ ๆ ในสรีระร่างกาย
#กับมันมีจิตใจอีกส่วนหนึ่ง
#ให้รับรู้ทั้งสองส่วน
#และฝึกการปล่อยวางด้วย
โดยในใจเรานึกถึงว่าปล่อยวาง ๆ ไม่เอาอะไร
แต่ก็ยังรู้อยู่ ๆ
รู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ รู้กายใจอยู่ แต่ปล่อยวาง
สอนในใจตัวเองว่า
ปล่อยวางหนอ ปล่อยวาง ปล่อยวาง วางเฉย
#รู้ตัวทั่วพร้อมอย่างปล่อยวาง
ให้มีความรู้สึกตัวไว้ รู้สึกตัวไว้
#ดูซิว่าใจเราเผลอ #ใจเราไหลออกไปไหม
#ให้รู้สึกตัวกลับคืนเข้ามา
#กลับคืนเข้ามารู้ที่กาย #รู้ที่ใจ
#แล้วก็ปล่อยวาง #วางเฉย #ไม่เอาอะไร
พอใจเราปล่อยวาง ละวางเรื่อย ๆ
รู้สึกตัวอยู่เรื่อย ๆ ปล่อยวางอยู่เรื่อย ๆ
เราจะสังเกต จิตใจของเราจะเริ่มเบาใจขึ้น ผ่องใสขึ้น
ใจมันจะรู้สึกปลอดโปร่งโล่งใจ เบาใจ
เรียกว่าใจมีธรรมะ
มันจะเกิดความบันเทิงใจ เกิดความอิ่มเอิบใจ
เรียกว่าปีติ
ปีติมันจะเกิดที่ใจก่อน
แล้วมันก็จะแผ่ไปถึงกาย
ทำให้เกิดความซาบซ่านขึ้นในกาย
ถ้ามันเป็นน้อย ๆ ก็อาจจะรู้สึกซ่า ๆๆๆ
ถ้ามันเป็นมาก มันจะซาบซ่านไปทั้งตัว
ฉะนั้นบางทีปีติทำให้ตัวโยก ตัวสั่น
ทำให้น้ำตาไหล
ทำให้ตัวเบา เหมือนจะลอย
#ดูที่จิตไว้
รู้สึกตัวทั่วพร้อมที่จิตใจไว้ และปล่อยวาง
จิตมีความบันเทิง ก็รู้ว่าจิตมีความบันเทิง
จิตมีความอิ่มเอิบ ก็รู้ว่าจิตมีความอิ่มเอิบ
จิตมีความสุข ก็รู้ว่าจิตมีความสุข
จิตผ่องใส ใจตื่นรู้
กำหนดดูใจที่รู้ กายที่ไหว
รู้กายที่ไหว ๆ กับลมหายใจเข้าออก กับจิตใจที่รับรู้กันไป
และปล่อยและวางอยู่เนือง ๆ
รู้ตัวทั่วพร้อมและปล่อยวาง
ธรรมบรรยาย ภูมิคุ้มกันใจ
ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปทุมวัน กรุงเทพฯ ๒๙-๖-๖๖
.............................
ธัมโมวาท โดยหลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี
เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น