พุทธธรรมมิได้เน้นเฉพาะหนทางตรงสู่ความหลุดพ้นเท่านั้น พระสูตรจำนวนมากกล่าวถึงการใช้ชีวิตในสังคมอย่างถูกต้องเหมาะสมและเกิดผลลัพธ์ที่ดีงาม
ครั้งหนึ่ง พระพุทธองค์ตรัสถึงเหตุอันควรสรรเสริญสำหรับผู้ครองเรือน ๔ ประการ ได้แก่
‘บุคคลผู้แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรมด้วยการไม่เบียดเบียน’ - ข้อนี้เป็นเหตุควรสรรเสริญประการที่ ๑
‘บุคคลผู้เลี้ยงตนให้ผาสุกและพอใจในชีวิต’ - ข้อนี้เป็นเหตุควรสรรเสริญประการที่ ๒
‘บุคคลผู้แบ่งปันโภคทรัพย์และทำบุญสงเคราะห์ผู้อื่น’ - ข้อนี้เป็นเหตุควรสรรเสริญประการที่ ๓
‘บุคคลผู้ใช้สอยโภคทรัพย์อย่างไม่มัวเมา ไม่หมกมุ่น ไม่จดจ่อ เห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก’ - ข้อนี้เป็นเหตุควรสรรเสริญประการที่ ๔
ด้วยเหตุนี้ ผู้ครองเรือน แม้ยังยินดีต่อความสุขทางเนื้อหนังก็ควรแก่การสรรเสริญใน ๔ ประการนี้
(ราสิยสูตร สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค)
ในพระสูตรดังกล่าว พระพุทธองค์มิได้ทรงเน้นการปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ฟังรู้สึกแปลกแยกได้ว่าไม่ใช่เรื่องสำหรับตัวเอง เพราะเห็นว่าหนักเกินไปหรือว่ายากเกินไป แต่ทรงเสนอให้ยึดความซื่อสัตย์ ความสุจริตและความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นหลักในการใช้ชีวิตครองเรือน ส่วนในเหตุควรสรรเสริญประการที่ ๔ พระองค์ทรงแนะให้เราไม่ยึดติดและมีอิสระภายในความลุ่มหลงในกาม ซึ่งเป็นมุมมองชัดเจนทางพระพุทธศาสนา ดังนั้น พระพุทธองค์จึงทรงมอบงานอันท้าทายและทรงหว่านเมล็ดพันธ์ุแห่งการพัฒนาจิตให้แก่เรา
ธรรมะคำสอน โดย พระอาจารย์ชยสาโร
แปลถอดความ โดย ศิษย์ทีมสื่อดิจิทัลฯ
******
Cr.https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid02kpFaen5sL3ivg9XSuBYvrBNAagCPdrcCsbvLsumihyd91NwUigmr1yzzFRxsfwasl&id=100064337808864&mibextid=UyTHkb
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น