พระพุทธองค์ทรงสอนพระสาวกฝ่ายบรรพชิตว่า เมื่อใดที่ปล่อยให้จิตหมกมุ่นกับความดำริเรื่องกาม โทสะ หรือการเบียดเบียนแม้เพียงขณะเดียว เมื่อนั้นก็จะตกหล่นไปจากคำสอนของพระองค์ สำหรับฆราวาสอาจพอเข้าใจได้ว่ามีข้อยกเว้นในข้อแรกคือกามสังกัปป์ หรือความดำริในกาม ในกรณีเช่นนี้ ควรถือศีล ๕ เป็นบรรทัดฐาน หลักที่อาจนำมาปฏิบัติได้คือ ละความหมกมุ่นกับความดำริในกามที่จะเกี่ยวข้องหรือส่งผลให้เราผิดศีลข้อใดข้อหนึ่ง มาตรฐานแบบนี้อาจขยายเป็นการฝึกฝนอย่างเต็มรูปแบบในวันอุโบสถหรือระหว่างเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม
ที่สำคัญคือไม่มีข้อยกเว้นในความดำริเรื่องโทสะ หรือการเบียดเบียน ในที่นี้ มีเพียงมาตรฐานเดียวสำหรับชาวพุทธทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือฆราวาส ประเด็นสำคัญอยู่ที่ความหมกมุ่น เป็นไปได้ว่าความดำริเรื่องโทสะหรือการเบียดเบียนอาจถูกกระตุ้นโดยสิ่งที่เราเห็นหรือได้ยิน คำถามอยู่ที่ว่าเราจะจัดการความคิดนั้นอย่างไร การให้พื้นที่กับความคิดเหล่านี้แม้เพียงเล็กน้อยเป็นเรื่องอันตราย
ผู้มีปัญญาหมั่นรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงในกายในจิตอยู่เสมอ ไม่ว่าจะใหญ่โตหรือเล็กน้อยเพียงใด มองเห็นความดำริในโทสะและการเบียดเบียนทั้งปวงเป็นดั่งยาพิษ และตั้งสติมั่นอยู่กับความรู้สึกตัวจนกว่าความดำริเหล่านั้นจะดับไป
ธรรมะคำสอน โดย พระอาจารย์ชยสาโร
แปลถอดความ โดย ศิษย์ทีมสื่อดิจิทัลฯ
*****
Cr.https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid0ZDphGEu7cfxZkakub8sa8jWX5XhEyuXzQqPnBkbpLxd8bpVYAT8qbzDYkcMBqsNWl&id=100064337808864&mibextid=Nif5oz
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น