วันจันทร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2567

ตื่นรู้


 ทักษะชีวิตประการหนึ่งที่เราได้จากการฝึกภาวนาในรูปแบบ  คือการรักษาภาวะตื่นรู้โดยผ่อนคลาย หรือผ่อนคลายโดยตื่นรู้  ขณะกำหนดอารมณ์กรรมฐาน เช่น ลมหายใจ  จิตจะพ้นจากนิวรณ์ก็ต่อเมื่อจิตอยู่ในภาวะดังกล่าวเท่านั้น  


นิวรณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ความเครียด หรือความแข็งทื่อ ขาดความกระตือรือร้น ช่วยสะท้อนให้รู้ว่า เราทำความเพียรตึงไปหรือหย่อนไป  สติอันต่อเนื่องเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าความพยายามประคับประคองความรู้สึกตัวให้อยู่กับอารมณ์กรรมฐานเป็นไปอย่างพอเหมาะ   อุปมาที่ช่วยให้เห็นภาพความเพียรที่ต้องการ เปรียบได้กับความเพียรในการกำลูกนกไว้ในมือ  หากกำแน่นไป ลูกนกก็บาดเจ็บ  หากกำหลวมไป ลูกนกก็จะบินหนี   จิตผ่อนคลาย แต่ไม่ต้องแลกกับความรู้สึกตัว   จิตตื่นรู้แบบสบายๆ เป็นธรรมชาติ


เมื่อคุ้นเคยกับความตื่นรู้โดยผ่อนคลาย  เราย่อมนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้  เรารับรู้และสังเกตจิต คล้ายๆ กับเหลือบมองด้วยตาภายใน  ในสถานการณ์ส่วนใหญ่ เราคงจะเพ่งดูจิตแบบตรงๆ ไม่ได้  แต่เราเฝ้าดูอยู่ห่างๆ  และเรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างจากการดูนั้น


ธรรมะคำสอน โดย พระอาจารย์ชยสาโร

แปลถอดความ โดย ศิษย์ทีมสื่อดิจิทัลฯ

******

Cr.https://www.facebook.com/share/7uRmKrjxtpWW9EQy/?mibextid=oFDknk

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น