วันศุกร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2558

..เทศนาสามกาล..(๓)


ฯลฯ
ค.ปัจฉิมโพธิกาล  ทรงแสดงปัจฉิมเทศนาในที่ชุมชนพระอริยสาวก ณ พระราชอุทยานสาลวันของมัลลกษัตริย์ กรุงกุสินารา ในเวลาจวนปรินิพานว่า หนฺทานิ อามนฺตยามิ โว ภิกฺขเว ขยวยธมฺมา สังฺขารา อปฺมาเทน สมฺปาเทถ  เราบอกท่านทั้งหลายว่า จงเป็นผู้ไม่ประมาท พิจารณาสังขารที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมไป
    เมื่อท่านทั้งหลายพิจารณาเช่นนั้นจักเป็นผู้แทงตลอด พระองค์ตรัสพระธรรมพระเทศนาเพียงเท่านี้ก็ปิดพระโอษฐ์มิได้ตรัสอะไรต่อไปอีก
     จึงเรียกว่า ปัจฉิมเทศนา อธิบายความต่อไปว่า สังขารมันเกิดขึ้นที่ใหน อะไรเป็นสังขาร
      สังขารมันก็เกิดขึ้นที่จิตของเราเองเป็นอาการของจิตพาให้เกิดขึ้น สมมติทั้งหลายสังขารนี้แล เป็นตัวการสมมติบัญญัติสิ่งทั้งหลายในโลก
      ความจริงในโลกทั้งหลายหรือธรรมธาตุทั้งหลายเขามีเขาเป็นอยู่อย่างนั้น แผ่นดิน ต้นไม้ ภูเขา ฟ้า แดด เขาไม่ได้ว่าเป็นนั้นเป็นนี้เลย
       เจ้าสังขารตัวการนี้เข้าไปปรุงแต่งว่า เขาเป็นนั้นเป็นนี้จงหลงกันว่าเป็นจริง ถือเอาว่าเป็นตัวเรา เป็นของ ๆ เราเสียสิ้น
      จึงมีราคะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นทำจิตดั้งเดิมให้หลงตามไป เกิด แก่ เจ็บ ตาย เวียนว่ายไปไม่มีที่สิ้นสุด เป็นอเนกภพ อเนกชาติ เพราะเจ้าตัวสังขารนั้นแลเป็นตัวเหตุ จึงสอนให้พิจารณาสังขารว่า  สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา ให้เป็นปรีชาญาณอันชัดแจ้ง เกิดจากผลแห่งการเจริญปฏิภาคเป็นส่วนเบื้องต้น จนทำให้จิตเข้าภวังค์
        เมื่อกระแสแห่งภวังค์หายไป มีญาณเกิดขึ้นว่า " นั้นเป็นอย่างนั้นเป็สภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์ " เกิดขึ้นในจิตจริง ๆ จนชำนาญเห็นจริงแจ้งประจักษ์ ก็รู้เท่าสังขารได้
        สังขารก็มาปรุงแต่งให้จิตกำเริบอีกไม่ได้ ในคาถาว่า อกุปฺปํ สพฺพธมฺเมสุ เญยฺยธมฺมา ปเวสฺสนฺโต เมื่อสังขารปรุงแต่งจิตไมได้แล้ว ก็ไม่กำเริบรู้เท่าธรรมทั้งปวง สนฺโต ก็เป็นผู้สงบระงับถึงซึ่งวิมุตติธรรม ด้วยประการฉะนี้
        ปัจฉิมเทศนานี้เป็นคำสำคัญแท้ ทำให้ผู้พิจารณารู้แจ้งถึงที่สุด  พระองค์จึงได้ปิดพระโอษฐ์แต่เพียงนี้
        พระธรรมเทศนาใน  ๓  กาลนี้  ย่อมมีความสำคัญเหนือความสำคัญในทุก ๆ กาล  ปฐมเทศนาก็เล็งถึงวิมุตติธรรม
        มัชฌิมเทศนาก็เล็งถึงวิมุตติธรรม ปัจฉิมเทศนาก็เล็งถึงวิมุตติธรรม รวมทั้ง ๓ กาล ล้วนแต่เล็งถึงวิมุตติธรรมทั้งสิ้นด้วยประการฉะนี้ 
******
(จากหนังสือ มุตโตทัย จัดพิมพ์ครั้งที่ ๔ เพื่อเผยแพร่เป็นธรรมทาน เนื่องในงานอุปสมบทของคุณ วิทิต วรรณวิทยาภา )
******


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น