*****
เห็นข่าวเหตุการณ์ที่คนไทยกลุ่มหนึ่งรุมทำร้ายพระสงฆ์
ที่หน้า ปปช.แล้ว ในฐานะเป็นชาวพุทธคนหนึ่ง
รู้สึกสังเวชใจ...นี่หรือที่ผู้คนทั่วไปกล่าวว่าเป็น
ดินแดนของพุทธศาสนา...
พระสงฆ์รูปนั้นพยายามที่จะหลีกหนีไปให้พ้นคนใจบาป
กลุ่มนั้น แต่เนื่องด้วยสภาพเครื่องนุ่งห่มของพระทำให้
ท่านไม่สามารถจะหลีกหนีออกมาได้ทันที...
อย่างไรก็ตามท่านก็อยู่ในอาการอันสงบ
ไม่ได้คิดจะต่อสู้กับคนใจบาปกลุ่มนั้นแต่ประการใด..
(ขออภัยไม่สามารถนำภาพที่สะเทือนใจนั้นมาลงให้ดูได้ในที่นี้)
******
มหิฬามุขชาดก...ชาดกว่าด้วยโทษของการคบคนพาล
ในอดีตกาล ณ นครพาราณสี พระเจ้าพรหมทัตมีช้างพระที่นั่งชื่อ
พลายมหิฬามุข เป็นช้างที่งดงาม สงบเสงี่ยมเรียบร้อย
อยู่ในระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด พระองค์จึงโปรดปรานมาก ต่อมามีโจรกลุ่มหนึ่งได้มาปลูกเพิงพักอาศัยอยู่ไม่ไกลจากโรงช้างนัก
ทุกๆ คืนในเวลาดึกสงัด พวกโจรจะวางแผนปล้นสะดมชาวบ้านชาวเมือง ปรึกษาหารือกันต่างๆ
เป็นต้นว่า จะขุดอุโมงค์อย่างไร จะซ่อนตัวที่ไหน
จะข่มขวัญหรือฆ่าเจ้าทรัพย์อย่างไร ครั้นเมื่อปล้นกลับมาแล้ว จะเลี้ยงฉลองกันด้วยสุราอาหาร
ต่างพูดถึงการปล้นราวกับไปสร้างวีรกรรมมา จากนั้นจะวางแผนปล้นฆ่ากันต่อไป
เป็นเช่นนี้ทุกคืน
พลายมหิฬามุขได้ฟังพฤติกรรมที่ทารุณโหดร้ายอยู่ทุกคืนๆ
ก็สำคัญผิดคิดว่าเขาต้องการสอนให้ตนทำเช่นนั้นด้วย จึงได้เปลี่ยนกิริยาอาการตามไป
เริ่มแสดงท่าทางเกะกะเกเรขึ้นเรื่อยๆ ใช้งวงหวดซ้ายป่ายขวาบ้าง
เห็นใครเดินเข้ามาใกล้ ก็จะเข้าทำร้าย แม้แต่ช้างด้วยกันยังไม่ละเว้น จนกระทั่งในวันหนึ่งที่หลายมหิฬามุขตกมันก็ยิ่งแสดงอาการเกะกะเกเรอย่างน่ากลัว
ถึงกับพังโรงช้างจนพินาศ เมื่อควาญช้างเข้าห้าม ก็ใช้งวงจับฟาดกับพื้นจนตาย
แล้วยังอาวละวาดไล่ฆ่าควาญช้างอื่นๆ อีกหลายคน
ความได้ทราบถึงพระเจ้าพรหมทัต พระองค์ทรงวิตกกังวลยิ่งนัก
เพราะตามปกติแล้ว ช้างเป็นสัตว์ที่มีกตัญญูสูง การฆ่าควาญช้างที่เลี้ยงตนมา
ช้างจะไม่ทำเด็ดขาด เว้นเสียแต่มันจะตกมันจนครองสติไม่อยู่ จำอะไรไม่ได้เท่านั้น
แต่พลายมหิฬามุขเป็นช้างสงบเสงี่ยมเรียบร้อยมาก
ถึงมันจะตกมันก็ไม่น่าจะร้ายกาจถึงเพียงนั้นได้
พระองค์จึงมีรับสั่งให้อำมาตย์บัณฑิตผู้หนึ่งไปตรวจดูอาการของพลายมหิฬามุข
ท่านบัณฑิตตรวจดูแล้ว ก็เห็นว่าเป็นปกติดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บใดๆ
จึงได้เรียกประชุมควาญช้างทั้งหมด เพื่อหาสาเหตุที่เกิดขึ้น
“ พลายมหิฬามุขอยู่ในวังตั้งแต่เล็กแต่น้อย เป็นช้างที่ว่านอนสอนง่าย
ไม่เคยดื้อดึงเลยสักครั้งเดียว แล้วอยู่ดีๆ ทำไมถึงกลายเป็นช้างที่โหดเหี้ยมไปได้
ต้องมีคนคอยเสี้ยมสอนแน่ๆ พวกเจ้าที่อยู่ในนี้คงจะรู้ จงบอกมาเดี๋ยวนี้ ” บัณฑิตคาดคั้นถาม
“ ไม่มีใครสอนจริงๆ ท่าน ” ควาญช้างทั้งหลายต่างตอบเป็นเสียงเดียวกัน
อำมาตย์บัณฑิตจึงรุกต่อ
“ พวกเจ้าไม่เห็นมีอะไรผิดสังเกตบ้างเลยรึ ”
“ ไม่มีจ๊ะท่าน ทุกอย่างเคยเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น เคยให้น้ำ
ก็ให้เหมือนเดิม ถึงเวลาอาบน้ำก็อาบ เวลาฝึกก็ฝึก เวลานอนก็นอน อ้อ … แต่หมู่นี้
พอตกกลางคืนจะมีเสียงหนวกหูน่ารำคาญเหลือเกิน ” ควาญช้างผู้หนึ่งสาธยาย
อำมาตย์บัณฑิตซักถามได้ความว่าเป็นเสียงโจรที่มาซ่องสุมอยู่ใกล้ๆ
จึงเชื่อว่าพลายมหิฬามุขมีนิสัยเปลี่ยนไปเพราะได้ฟังถ้อยคำของพวกโจร
ครั้นตกเวลากลางคืน ท่านบัณฑิตได้มาพิสูจน์ความจริงด้วยตนเอง
แล้วกราบทูลให้พระเจ้าพรหมทัตทรงทราบ
พระองค์จึงมีรับสั่งให้จับโจรกลุ่มนั้นมาลงโทษ แล้วทรงปรึกษากับอำมาตย์บัณฑิตว่า
“ พลายมหิฬามุขฟังถ้อยคำของพวกโจรจนเป็นช้างเกเรไปแล้ว
ท่านบัณฑิตคิดว่ามีทางใดบ้าง ที่จะทำให้กลับเป็นช้างที่ดีดังเดิมได้ ”
อำมาตย์บัณฑิตกราบทูลเสนอแนะว่า
“ ขอเดชะ โดยนิสัยของพลายมหิฬามุขนั้น จะเชื่อฟังคำสั่งสอนเสมอ
การที่จะให้กลับเป็นช้างที่ดีได้นั้น
ควรจะเชิญผู้ทรงศีลทั้งหลายไปสนทนาธรรมใกล้โรงช้างนั้น
เมื่อพลายมหิฬามุขได้ฟังบ่อยเข้าๆ จิตใจจะโอบอ้อมอารี กลับเป็นช้างที่ดีดังเดิมได้
พระเจ้าข้า ”
พระเจ้าพรหมทัตจึงโปรดให้กระทำตามคำแนะนำของอำมาตย์บัณฑิต
พลายมหิฬามุขเมื่อได้ฟังถ้อยคำสนทนาของผู้มีศีลทั้งหลาย เป็นต้นว่า
ควรมีความเมตตากรุณา ควรโอบอ้อมอารี มีความสำรวม ฯลฯ
พลายมหิฬามุขได้ฟังธรรมอยู่เป็นประจำเช่นนั้นก็กลับเป็นช้างที่มีความสงบเสงี่ยมเรียบร้อยดังเดิม
พระเจ้าพรหมทัตทรงดีพระทัยมาก จึงได้พระราชทานรางวัลมากมายแก่อำมาตย์บัณฑิตผู้นั้น
ประชุมชาดก
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประชุมชาดกว่า
พลายมหิฬามุข
ได้มาเป็นพระภิกษุรูปนี้
พระเจ้าพรหมทัตพระองค์นั้น ได้มาเป็นพระอานนท์
อำมาตย์บัณฑิต ได้มาเป็นพระองค์เอง
ข้อคิดจากชาดก
๑ . การคลุกคลีใกล้ชิดกับคนพาลเป็นโทษอย่างยิ่ง ฉะนั้นไม่ว่ากาลไหนๆ
ควรหลีกให้ห่างไกลจากคนพาล และไม่คบคนพาลโดยเด็ดขาด
สำหรับคำว่า คบ นั้น ได้แก่ การมีพฤติกรรมต่อไปนี้
๑ . มีการไปมาหาสู่กัน
๒ . หมั่นเข้าไปนั่งใกล้ ( ตีสนิท )
๓ . มีความจริงใจรักใคร่กันจริง
๔ . เลื่อมใสนับถือ
๕ . เป็นเพื่อนร่วมคิดเห็น
๖ . เป็นเพื่อนร่วมกินร่วมอยู่
๗ . ร่วมถ่ายทอดความประพฤติ
๒ . ลักษณะของคนพาล ได้แก่
๑ . ชอบคิดเรื่องชั่วต่ำเป็นปกติ
๒ . ชอบพูดชั่วต่ำเป็นปกติ
๓ . ชอบทำชั่วต่ำเป็นปกติ
๓ . โทษของการคบคนพาล มีโดยย่อดังนี้
๑ . ทำให้พลอยแปดเปื้อนเป็นมลทิน
ทั้งจะติดความเป็นพาลและมีวินิจฉัยเสียตามไปด้วย
๒ . ทำให้ถูกติเตียน ถูกมองในแง่ร้าย
และไม่ได้รับความไว้วางใจจากคนทั่วไป
๓ . ทำลายประโยชน์ของเรา ก่อให้เกิดความหายนะ การงานล้มเหลวเพราะคนพาลชอบก้าวก่ายงานของผู้อื่น
๔ . ภัยทั้งหลายจะไหลเข้ามาหาเรา เพราะคนพาลเป็นอัปมงคล
อยู่ที่ไหนก็มีแต่เรื่องเดือดร้อน เราจึงพลอยได้รับความเดือนร้อนไปด้วย
๕ . ทำให้เราเอาตัวไม่รอด คุ้มตัวเองไม่ได้
๖ . มีอบายภูมิเป็นที่ไป
โบราณท่านว่า
ผ่านสุนัขให้ห่างศอก ผ่านวอก ( ลิง ) ให้ห่างวา
ผ่านพาลา ( คนพาล ) ให้ห่างร้อยโยชน์ พันโยชน์ หมื่นโยชน์
แม้อำมาตย์บัณฑิตในอดีตกาลเมื่อพิจารณาเห็นโทษของการคบคนพาลว่ามีมากมายยิ่งนัก
จึงอธิษฐานจิตว่า
“ ขอข้าพเจ้า อย่าพึงได้เห็น อย่าพึงได้ยินคนพาล แม้แต่คำว่า คนพาลอยู่ที่โน้น
อย่าพึงอยู่ร่วมกับคนพาล อย่าพึงทำ
และอย่าพึงพอใจการสนทนาปราศรัยกับคนพาลเป็นอันขาด ”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น