วันอังคารที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2556

สิบสองวันในอินเดีย(๗)


(คลิกบนภาพเพื่อดูภาพขยายใหญ่ขึ้น)

      วันที่ห้าของสิบสองวันแล้วครับรับประทานอาหารเช้าที่วัดไทยสิริราชคฤห์ เพื่อเข้าชมและสักการะสถานที่สำคัญจุดหมายปลายทางวันนี้คือนาลันทา เมืองปาฏาลีบุตร เมืองไวสาลีเมืองหลวงของแคว้นวัชชีซึ่งมีคณะกษัตริย์ลิจฉวีปกครองและถือว่าเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง และคณะเราจะเข้าพักที่วัดไทยไวสาลี ครับ..
     ขออนุญาตเก็บภาพยามเช้าระหว่างทาง...รัฐพิหารเป็นพื้นที่ทำการเกษตรเหมือนบ้านเรา ปลูกข้าว ปลูกอ้อย และยังเห็นวัว ควาย ไว้ใช้งานเหมือนบ้านเรา  ผมเห็นมี"ตลาดนัดโคกระบือ"...ที่เห็นอยู่ทั่วไปเชื้อเพลิงที่ทำด้วยขี้วัวขี้ควายที่เอามาผสมกับดินเหนียวและฟางข้าวหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วเอามาตากแดดโดยแปะไว้ตามข้างฝาผนังบ้านพอแห้งแล้วมันก็หล่นลงมา  เขาก็เก็บเอาไว้ใช้เป็นเชื้อเพลิงต่อไป...
      เมืองนาลันทาอยู่ห่างจากราชคฤห์ประมาณ ๑๖ กม.เป็นบ้านเกิดพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตร มีมหาวิทยาลัยนาลันทา มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกของพระพุทธศาสนาและเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่รุ่งเรืองที่สุดในโลก

     จุดแรกคือไปสักการะหลวงพ่อดำนาลันทา พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อายุนับพันปี เป็นพระพุทธรูปที่สร้างจากหินดำ ทางการพยายามที่จะย้ายท่านออกไปแต่ก็เกิดอาเพศเป็นประจำ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ด้านหลังมหาวิทยาลัยนาลันทา เนื่องจากเส้นทางแคบรถบัสของเราไม่สามารถเข้าไปได้จึงต้องนั่งรถม้าเข้าไป

     หลังจากสักการะและปิดทองหลวงพ่อดำ แล้วก็นั่งรถม้ากลับออกมาเพื่อเข้าชมมหาวิทยาลัยนาลันทาต่อไป  ช่วงนี้ก็ต้องใช้"ขันติ"กับพ่อค้าขายของที่ระลึกสักหน่อย..สำหรับหนู ๆ ที่วิ่งเกาะท้ายรถม้านี่มีความพยายามมากเลยวิ่งแข่งกับรถม้า...พร้อมกับคำว่า "๑๐รูปี ๆๆๆ" ไปตลอดทาง....
         เรื่องราวของมหาวิทยาลัยนาลันทาในสมัยโบราณได้จากจดหมายเหตุของหลวงจีนฟาเหียน ต่อมาพระเจ้าศักราทิพย์ แห่งราชวงศ์คุปตะเป็นผู้สถาปนาและขยายพระอารามแห่งนี้ให้กว้างใหญ่มากขึ้น ถือได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกและพระถังซัมจั๋งก็เคยมาศึกษาที่สถาบันแห่งนี้เป็นเวลานานถึง ๑๕ ปี นาลันทาถูกทำลายอย่างสิ้นเชิงใน พ.ศ.๑๗๔๓ โดยกองทัพต่างศาสนา...
     สถานที่สำคัญในนาลันทาแห่งหนึ่งคือ สถูปพระสารีบุตร ที่ว่ากันว่าเป็นบ้านเกิดและสถานที่ที่ประชุมเพลิงพระสารีุบุตร "ก่อนที่ท่านจะนิพพาน ท่านพระสารีบุตรพิจารณาเห็นว่าอายุสังขารจวนจะสิ้นแล้ว ปรารถนาจะไปโปรดมารดา นางสารีพาหมณี ที่ยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ เมื่อท่านไปถึงบ้านเดิมแล้ว ได้เกิดปักขันทิกาพาธขึ้นในคืนนั้น ในเวลาที่พระสารีบุตรกำลังอาพาธอยู่นั้น ท่านได้เทศนาโปรดมารดา จนนางสารีได้บรรลุโสดาบันคืนนั้นเป็นวันเพ็ญเดือนสิบสอง พระสารีบุตรก็ปรินิพพานในห้องที่ท่านเกิด รุ่งขึ้นพระจุนทะได้ทำฌาปนกิจสรีระพระเถรเจ้า เสร็จแล้วเก็บอัฏฐิธาตุ นำไปถวายพระบรมศาสดา ณ พระเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี พระพุทธองค์โปรดให้ก่อเจดีย์ บรรจุอัฏฐิธาตุของพระสารีบุตร ไว้ ณ ที่นั้น การที่บุตรได้ชักนำบุพการี ให้นับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ จนได้มรรคผล นับเป็นการตอบแทนคุณอย่างยอดเยี่ยม"(วิกีพีเดีย)
      เราออกจากนาลันทาตอนบ่าย ๆ เพื่อเดินทางไปไวสาลีเมืองหลวงของแคว้นวัชชีในพุทธกาลและเป็นศูนย์กลางเผยแพร่พุทธศาสนาที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งจะต้องเดินทางประมาณ ๔ - ๕ ชั่วโมง...
บรรยายกาศข้างทางนาลันทา - ไวสาลี

(คลิกบนภาพเพื่อดูภาพขยายใหญ่ขึ้น)
(คลิกบนภาพเพื่อดูภาพขยายใหญ่ขึ้น)
(สะพานมหาตะมคาธี  ภาพจากอินเตอร์เนต)
        กว่าจะข้ามสะพานมหาตมะคานที(Mahatama Ghandhi Setu) เป็นสะพานที่ถือว่ายาวที่สุดในบรรดาสะพานข้ามแม่น้ำคงคา ความยาวจากจุดเริ่มต้นจนสุดสะพาน ๑๒ กม.เฉพาะช่วงแม่น้ำยาว ๖ กม. น่าเสียดายที่เราถึงค่อนข้างค่ำไปหน่อยเลยไม่มีภาพสวย ๆ มาฝากครับ...ค่ำนี้จุดหมายปลายทางเราเข้าที่พักวัดไทยไวสาลี ครับ 

...ยามเช้าที่ไวสาลี...โรงเรียนกลางหมู่บ้าน...
เครื่องสับฟางข้าว..กองข้าว...

        เช้าวันที่หกวัดไทยไวสาลี  เราตื่นกันแต่เช้าเข้าเมืองไวสาลี นครหลวงของแคว้นวัชชี ซึ่งมีคณะกษัตริย์วัชชีปกครอง หลายท่านคงเคยอ่านเรื่องราวของวัสสการพราหมณ์ ในสามัคคีเภทคำฉันท์นะครับ เราจะไปนมัสการปาลวาลเจดีย์ และกูฏาคารศาลาป่ามหาวัน..


      ปาลวาลเจดีย์ พระสถูปเจดีย์พระบรมสารีริกธาตุ สถูปโบราณขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓ เมตร มีสังกะสีมุงเป็นเหมือนศาลาแปดเหลี่ยมล้อมรอบฐานเจดีย์โบราณ  ซึ่งได้รับการยืนยันว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่ได้ขอแบ่งจากกุสินารา ในสมัยเดียวกันกับเมืองราชคฤห์ของพระเจ้าอชาตศัตรู ราชามัลละแห่งเมืองกุสาวดี ราชาโกลิยะแห่งรามคาม ราชาโมลีราชาศากยะแห่งกบิลพัสดุ์..ที่นี่เราเดินเวียนเทียนสักการะพระบรมสารีริกธาตุ

     จากนั้นไปต่อกันที่ กูฏาคารศาลาป่าสาลวัน สถานที่นี้เป็นที่พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษาที่ ๑๕ และพรรษาสุดท้ายก่อนเสด็จปรินิพพาน ในพรรษาที่ ๑๕ มีเหตุการณ์สำคัญคือ บวชพระภิกษุณีให้พระน้านางปชาบดี พระนางยโสธราบวชเป็นพระภิกษุณีบรรลุเป็นพระอรหันต์ พระนางรูปนันทา (พระธิดาพระน้างนางปชาบดี)ออกบวชำเร็จเป็นพระอรหันต์  พระพุทธองค์ทรงบัญญัติกาลเข้าพรรษา..ที่นี่มีเสาหินพระเจ้าอโศกค่อนข้างสมบูรณ์ หัวเสามีรูปสิงห์ หันหน้าไปทางทิศเหนือประหนึ่งว่าทอดอาลัยตามเสด็จพระพุทธองค์ครั้งเสด็จผ่านเมืองนี้เป็นครั้งสุดท้ายก่อนเสด็จปรินิพพาน ณ เมืองกุสินารา...
        พอเดินออกมาด้านนอกของกูฏาคารศาลาป่ามหาวัน ก็จะมีสินค้าขายของที่ระลึก คงจะต้องใช้ความสามารถในการ"ต่อรอง"ราคา..ใจแข็งๆ หน่อยนะครับ...
.....


    ...เรากลับไปให้พระอาจารย์วิทยากรฉันภัตตาหารเพลที่วัดไทยไวสาลี พร้อมกับพวกเราก็ถือโอกาสเป็นลูกศิษย์วัดด้วย จากนั้นร่วมกันถวายจตุปัจจัยแด่พระภิกษุสงฆ์และสามเณรชาวอินเดียซึ่งจะเป็นพุทธบุตรสืบทอดพระพุทธศาสนาของเราต่อไป....ลาก่อน"ไวสาลี"มุ่งหน้าไป "กุสินารา.." ครับ
       ขอบคุณที่เข้ามาอ่านครับ





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น