"ตัดกรรมตัดเวร"
“การตัดกรรม” ก็คือหยุดทำความชั่ว ความบาป
“การตัดเวร” ก็คือหยุดการพยาบาทอาฆาตจองเวรซึ่งกันและกัน
คือไม่แก้แค้นซึ่งกันและกัน รู้จักคำว่าให้อภัยซึ่งกันและกัน
ผู้ทำผิดก็ให้รู้จักคำว่าขอโทษ ผู้ถูกขอโทษก็ควรรู้จักคำว่าให้อภัย ไม่เป็นไรหรอก อันนี้เป็นอุบายตัดกรรมตัดเวร
พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า ใครทำกรรมใดไว้ ได้รับผลของกรรมนั้นแน่นอนหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไปทำพิธีตัดกรรมก็เป็นการลบล้างคำสอนของพระพุทธเจ้า กรรมใดใครก่อลงไปแล้ว ใจเป็นผู้จงใจคือเจตนาทำลงไป พอทำลงไปแล้วกรรมอันเป็นบาป ภายหลังเรามานึกว่าเราไม่ต้องการผลของบาป มันก็หลีกเลี่ยงปฏิเสธไม่ได้
เพราะ “ใจ” เป็นผู้สั่งให้กาย วาจา ทำลงไป พูดลงไป “ใจ” ตัวนี้ต้องรับผิดชอบโดยความเป็นธรรม โดยหลักของธรรมชาติ เพราะฉะนั้นการที่เราไปทำพิธีตัดกรรมนี่ หมายถึง ตัดผลของบาป มันตัดไม่ได้ อย่าไปเข้าใจผิด
ขอให้พุทธบริษัททั้งหลายจงปลูกฝังนิสัยให้เด็กของเราในข้อนี้
เป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญที่สุด ถ้าเด็กๆ ของเราไปนี่เข้าใจว่า ทำบาปทำกรรมแล้วไปทำพิธีล้างบาป ทำพิธีตัดกรรมแล้วมันหมดบาป ประเดี๋ยวเด็กๆ มันไปทำบาปแล้วไปหาหลวงพ่อ หลวงพี่ ตัดบาปตัดกรรมให้ มันก็ไม่เกิดความกลัวต่อบาป เพราะฉะนั้นอย่าไปเข้าใจผิดว่า ทำกรรมอันเป็นบาป แล้วตัดกรรมให้มันหมดไป มันเป็นไปไม่ได้
...แต่ "ตัดเวร" นี่มีทาง... เวร หมายถึง การผูกพยาบาท คอยแก้แค้นกันอยู่ตลอดเวลา เช่น เราฆ่าเขาตาย บางทีนึกถึงบาปกรรมกลัวว่าเขาจะอาฆาตจองเวร เราทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้เขา ถ้าหากว่าเขาได้รับส่วนกุศลจากเรา เขาได้รับความสุข เขาเลื่อนฐานะจากภาวะทึ่ทุกข์ทรมานไปสู่ฐานะที่มีความสุข เขานึกถึงคุณงามความดี นึกถึงบุญคุณของเรา เขาก็อโหสิกรรมให้เรา ไม่ตามล้างตามผลาญกันอีกต่อไป อันนี้ตัดเวรนี่ตัดได้
.
"พระอาจารย์พุธ ฐานิโย"
วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา
******
Cr.Fwd line
วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2562
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น