วันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2562

วิธีแก้เงื่อนมีมากกว่าหนึ่งวิธี


ในอดีตกาลนานมาแล้ว กษัตริย์องค์หนึ่งนาม กอร์ดิอัส ทรงผูกเชือกขดหนึ่งเป็นเงื่อนปริศนา บรรจงผูกอย่างสลับซับซ้อนเพื่อมิให้ใครแก้มันได้ และก็ไม่มีใครในแผ่นดินที่สามารถแก้เงื่อนนี้ได้ มันเรียกว่า เงื่อนกอร์เดียน (Gordian Knot)

วันหนึ่งอเล็กซานเดอร์มหาราชเสด็จผ่านเมืองนั้น เมื่อได้ยินคำเล่าลือเรื่องเงื่อนที่แก้ไม่ได้ ก็ทรงสนพระทัยที่จะแก้เงื่อน หลังจากทอดพระเนตรเงื่อนกอร์เดียนได้ครู่หนึ่ง ก็ทรงชักดาบออกฟันฉับเดียวเข้า เงื่อนกอร์เดียนที่ไร้ผู้แก้ได้ก็สิ้นความเป็นเงื่อน ขาดเป็นท่อนๆ !

บางคนบอกว่าการแก้ปัญหาอย่างนี้ผิดกติกา เพราะโจทย์ไม่ได้ให้ใช้ดาบแก้ปัญหา แต่อเล็กซานเดอร์มหาราชมองทะลุกรอบ มองข้ามวิธีแก้ปัญหาแบบเดิมๆ ทรงเห็นว่านี่มิใช่เงื่อนธรรมดา แก้ด้วยวิธีการธรรมดาไม่ได้ จึงทรงใช้ ‘เครื่องมือใหม่’ แก้ปัญหานี้ ฉับเดียวจบ ง่าย รวบรัดชัดเจน ใครอยากบ่นว่าพระองค์ทรงแก้ปัญหาผิดกติกา ก็บ่นไป แต่หากไม่ทำ ปัญหาก็ยังคงอยู่ 

คนมีปัญญาไม่ได้มองว่าจะใช้มือหรือดาบหรือหอกหรือไม้จิ้มฟันแก้ปัญหา คนมีปัญญาแก้ปัญหาตรงจุดเลย!

ในทุกวงการ เราจะพบปัญหาที่กรอบคิดแบบเดิมและกติกาเดิมกลายเป็นเงื่อนผูกคอตัวเองอย่างนี้ตลอดเวลา

ในวงการที่เน้นการใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างวงการโฆษณา สิ่งแรกที่บรรดาครีเอทีฟทำคือฟันเงื่อนขาดเป็นท่อนๆ ทลายกล่องทุกใบทิ้ง มิเช่นนั้นมองไปทางไหน ก็จะได้ยินแต่ “นี่ก็ทำไม่ได้” “นั่นก็ทำไม่ได้” สำหรับคนทำงานครีเอทีฟ วลีต้องห้ามคือ “ทำไม่ได้” เพราะพวกเขาเชื่อว่าในโลกของความคิดสร้างสรรค์ ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ ตัวอย่างงานสร้างสรรค์จำนวนไม่ถ้วนในโลกพิสูจน์ว่า จะสร้างสรรค์งานดี ต้องทำลายกรอบคิดเดิมก่อน อยากได้อะไรใหม่ ต้องกล้าแหกคอก

ผมจำได้ว่าตอนเริ่มเขียนหนังสือแนวทดลองโดยผสมงานเขียนเข้ากับ กราฟิก ดีไซน์ ก็ได้ยินเสียงบ่นว่า “ผิดกฎ” และ “ผิดขนบ” อยู่เสมอ นักเขียนและศิลปินจำนวนมากก็ผ่านเสียงบ่นว่า “ผิดกฎ” และ “ผิดขนบ” เดิม

ความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่เครื่องมือที่นักโฆษณาหรือนักเขียนผูกขาด ใครๆ ก็สามารถนำไปใช้ได้ แม้กระทั่งวงการเมือง

วิเคราะห์ดูดีๆ ตามเนื้อผ้า การเมืองบ้านเราในรอบสิบปีนี้เต็มไปด้วยกรอบคิดที่เราสร้างขึ้นมาครอบเราเอง ทำให้ติดอยู่ในกับดักของกรอบนั้น เช่น อย่างนี้คือประชาธิปไตย อย่างนั้นคือเผด็จการ อย่างนี้คืออนุรักษ์นิยม อย่างนั้นคือเสรีนิยม ถ้าเป็นอย่างนี้ก็เป็นอย่างนั้นไม่ได้ ถ้าอยู่ค่ายนี้ก็อยู่ค่ายนั้นไม่ได้ ถ้าไม่มีการเลือกตั้งก็ไม่มีประชาธิปไตย ฯลฯ เพราะมองทุกอย่างตัดขาดกันเด็ดขาดแบบขาวกับดำ จนลืมไปว่าเป้าหมายของการเมืองคือสร้างความสุขให้ประชาชนและพัฒนาชาติ ไม่ใช่เดินตามกรอบอย่างเดีย

เพราะกรอบเปลี่ยนได้เสมอ และประวัติศาสตร์ก็มีหลักฐานยืนยันว่า กรอบเปลี่ยนเสมอ

อย่างที่เติ้งเสี่ยวผิงว่า ไม่ว่าแมวขาวหรือแมวดำ ถ้าจับหนูได้ก็คือแมวที่ดี

อาร์เธอร์ ซี. คลาร์ก ยอดนักคิดนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์จึงกล่าวว่า “นักการเมืองควรอ่านนิยายวิทยาศาสตร์”

ความหมายของคลาร์กกว้างกว่านิยายวิทยาศาสตร์จริงๆ มันหมายถึงการรู้จักมองกว้างๆ มองไกลๆ ไม่จมอยู่แต่ในความคิดว่าทุกอย่างต้องทำตามทางที่เคยเดิน เพราะนั่นเป็นกับดักความคิดที่แย่ที่สุด

มองแบบนี้ก็อาจรู้ว่าเมื่อไรควรรักษาขนบเดิม และเมื่อไรควรทลายเงื่อนกอร์เดียนด้วยความคิดนอกกรอบ

และการเมืองไทยซับซ้อนเกินกว่าที่จะมองมุมเดียว และแก้ปัญหาด้วยวิธีเดิมเสม

อับราฮัม มาสโลว์ พูดไว้ในปี 1966 ว่า ถ้าเครื่องมือเดียวที่คุณมีคือค้อน คุณก็มองทุกอย่างเป็นตะปู

ปัญหาหนึ่งของการเมืองไทยก็คือ ทุกคนมีค้อนในมือ และเชื่อว่าตัวเองเป็นธอร์ผู้ถือค้อนวิเศษ แก้ปัญหาได้หมด

ผมทำงานในวงการสร้างสรรค์มากว่าสี่สิบปี มองโลกด้วย lateral thinking มาตลอดชีวิต มิฉะนั้นไม่มีทางที่จะสร้างงานหลากหลายได้ ผมเชื่อว่าถ้าไม่สามารถมองออกนอกกล่อง ก็ไม่มีทางมองโลกอย่างเข้าใจได้จริงๆ ดังนั้นใครที่ชอบสวมป้ายทางการเมืองให้ผม หรือบ่นว่า "ผิดหวังมากที่คุณวินทร์คิดอย่างนี้" มาถึงบรรทัดนี้ ก็อาจจะเข้าใจวิธีคิดของผมดีขึ้น

สรุปให้สามข้อคือ

1 เราเป็นคนสร้างกล่องขึ้นมาเองเสมอ

2 แมวที่ดีไม่ใช่แมวสีขาวหรือสีดำ มันเป็นแมวที่จับหนูได้

3 วิธีแก้เงื่อนกอร์เดียนมีมากกว่าหนึ่งวิธี

……………….

วินทร์ เลียววาริณ
https://www.facebook.com/winlyovarin/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น