วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2559

หลักการใหญ่..ใช้ปัญญา


...ฯลฯ...
หลักการใหญ่:ปฏิบัติการด้วยเจตนาดีที่สุด
บนฐานแห่งปัญญาที่รู้ถ่องแท้ที่สุด
     ในโลกที่เจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้นนี้ จะมีป้ญหาต่างๆ ที่ซับซ้อนแปลกๆ มากขึ้นด้วย ซึ่งไม่มีสูตรสำเร็จในการที่จะแก้ปัญหา จะมีให้ก็เฉพาะตัวหลักการ ซึ่งมนุษย์จะต้องรู้จักใช้ปัญญาไปปรับเข้ากับเรื่องในแต่ละกรณี
     ในขณะที่มนุษย์สมัยโบราณ อาจจะอยู่ง่ายๆ ด้วยสูตรสำเร็จ ที่ยึดถือปฏิบัติไปตามความเชื่อหรือศรัทธา แต่ในยุคปัจจุบันที่สูตรสำเร็จไม่เพียงพอ มนุษย์ต้องอยู่ด้วยหลักการ ที่ปฏิบัติโดยใช้ปัญญา และข้อสำคัญประการแรกก็คือ ต้องมีหลักการที่เป็นหลักได้จริงๆ
      ที่ว่าเราต้องอยู่ด้วยหลักการ แล้วเอาหลักการนี้ไปประยุกต์ใช้ เพราะไม่มีสูตรสำเร็จนั้น ได้บอกแล้วว่ามีหลัก ๒ อย่างที่ต้องคำนึงคือ
      ๑.ความจริงของธรรมชาติเป็นอย่างไร
      ๒.มนุษย์จะเอาอย่างไร
      ความจริงตามธรรมชาติ กับความต้องการของมนุษย์ จะต้องมาโยงกันว่า เมื่อความจริงของธรรมชาติเป็นอย่างนี้ และเมื่อรู้ว่าความจริงเป็นอย่างนี้แล้ว มนุษย์จะเอาอย่างไร หรือปฏิบัติอย่างไร
      การรู้ความจริงนั้นเป็นคุณสมบัติข้อหนึ่งของมนุษย์ที่สำคัญมาก เป็นคุณสมบัติที่ทำให้มนุษย์เป็นสัตว์พิเศษคือ ปัญญา มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีภูมิปัญญา และปัญญานี้ก็พัฒนาได้ จนกระทั่งถึงที่สุดเป็นโพธิ คือความตรัสรู้ซึ่งเป็นการเข้าถึงความจริงแท้
       ข้อสองคือการตัดสินใจของมนุษย์ว่าจะเอาอย่างไร เรียกว่า เจตนา
        สองอย่างนี้เป็นเกณฑ์สำคัญในการพิจารณาตัดสินและปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆ แต่ในเมื่อคนทั่วไปหาได้รู้ความจริงของธรรมชาติอย่างถ่องแท้ไม่ เราจึงต้องมีข้อเตือนใจในการปฏิบัติ ๒ ประการ คือ
       ๑.ในขณะที่ตัวเองยังเข้าไม่ถึงความจริง มนุษย์จะต้องใช้ปัญญาให้มากที่สุด หาความรู้ในความจริงให้ดีที่สุดก่อนที่จะตัดสินใจ ให้การตัดสินใจหรือเจตนาที่จะเอาอย่างไรนั้นเกิดจากความรู้อย่างถ่องแท้มากที่สุด พูดง่ายๆ ว่าปัญญาที่ดีที่สุดในขณะนั้น
       ๒.มีความไม่ประมาท ที่จะพัฒนาปัญญานั้นต่อไป
       เมื่อถึงขั้นนี้ เราก็เอาเกณฑ์สองอย่างนี้มาใช้ตัดสินว่า ในการกระทำแต่ละอย่างนั้น เราได้ทำไปโดย
       ๑.มีปัญญารู้ความจริงโดยศึกษาอย่างละเอียดลออถี่ถ้วนที่สุด พิจารณาค้นคว้าปรึกษาหารือกันรอบคอบที่สุดแล้วหรือยัง
       ๒.ตัดสินด้วยเจตนาดีที่สุดแค่ไหน เจตนาดีที่สุดในกรณีนี้ก็คือเจตนาที่ประกอบด้วยเมตตา กรุณา มีความปรารถนาดี..
...ฯลฯ...
......................
(จากหนังสือ ความจริงแห่งชีวิต พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต)
......................
......................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น