วันเสาร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ใจเป็นนาย...


       การบริหารจิต ก็คือการรักษาคุ้มครองจิต การฝึกฝนอบรมจิต หรือการทำจิตให้สงบ ให้สะอาดปราศจากความวุ่นวายเดือดร้อน ให้เข้มแข็ง ให้มีสุขภาพจิตดีและให้นำมาปฏิบัติใช้งานได้ดี พูดง่าย ๆ ก็คือการพัฒนาจิตนั่นเอง
     ประเทศชาติที่ได้รับการบริหารดี ได้รับการพัฒนาแล้วย่อมเป็นประเทศที่เจริญรุ่งเรือง ประชาชนในประเทศนั้นย่อมอยู่ดีกินดี มีความสงบสุขได้ฉันใด จิตที่บริหารดีแล้วพัฒนาแล้ว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือย่อมมีความเกษมสงบสุข
      ทุกคนที่เกิดมาล้วนแต่รักสุขเกลียดทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้นและความสุขที่มนุษย์ต้องการนั้น มีอยู่ ๒ อย่าง คือ
        ๑.ความสุขทางกาย
        ๒.ความสุขทางใจ
      ความสุข ๒ อย่างนี้ ต้องอาศัยกันและกันคือ กายเป็นสุขแล้ว ก็จะทำให้ใจเป็นสุขด้วย หรือถ้าใจเป็นสุขแล้ว ก็จะทำให้กายเป็นสุขด้วย เช่นเดียวกับเรื่องของความทุกข์ เพราะกายกับจิตมีความเกี่ยวเนื่องกัน แม้พระพุทธศาสนาจะยอมรับความสุขทั้งสองอย่างนี้ แต่ก็ยกย่องว่าจิตประเสริฐกว่ากาย เพราะกายรวมทั้งสมองเป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งของจิต จิตเป็นผู้นำ ดังพุทธภาษิตที่ว่า " มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา ซึ่งแปลว่า ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า " คือ การทำทุกอย่างของคนเรานั้น มีใจเป็นผู้นำหรือผู้สั่งการทั้งสิ้น ส่วนกายนั้นเป็นเสมือนคนรับใช้เท่านั้น ดังสุภาษิตไทยที่ว่า " ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว "  และทางพระพุทธศาสนายกย่องความสุขทางใจดีกว่าความสุขอย่างอื่น ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า " นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุข๋ " ซึ่งแปลว่า " ความสุขอย่างอื่นที่จะยิ่งกว่าความสงบไม่มี " นี้ก็แสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาให้ความสำคัญแก่การบริหารหรือการพัฒนาจิต
      แต่เป็นที่น่าสังเกตุว่า ทั้ง ๆ ที่จิตสำคัญกว่ากาย แต่คนเราก็เอาใจใส่กายและบำรุงร่างกายมากกว่าการเอาใจใส่จิตหรือการพัฒนาจิตของตน เช่น รับประทานอาหารวันละ ๓ ครั้ง อาบน้ำวันละ ๒ ครั้ง และยังมีเสื้อผ้าเครื่องประดับให้กับกาย นอกจากนี้ยังมีการออกกำลังกายด้วยการบริหารกาย เช่น ด้วยการเล่นกีฬา และการเดิน เป็นต้น แม้ยารักษาโรค มนุษย์ก็มุ่งรักษาโรคกายเป็นส่วนใหญ่  แต่ปล่อยจิตของตนไว้ให้เศร้าหมอง สกปรก ขุ่นมัว ไม่ค่อยได้รับการบริหาร ไม่ได้รับการฝึกฝน ไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร
      เพราะเหตุที่มนุษย์ปล่อยปละละเลยจิตของตน ไม่ให้ความสำคัญในการฝึกฝน ไม่บริหารจิตนี้เอง จึงปรากฏว่ามีคนในโลกเป็นจำนวนมาก ถึงแม้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง แต่จิตใจกับอ่อนแอ ไร้สมรรถภาพ เช่น ขี้กลัว ขี้โกรธ ตกใจง่ายหรือเป็นโรคประสาท เป็นต้น  ซึ่งก็ไม่อาจจะพบความสุขที่สมบูรณ์ได้ แม้จะมีเงินทองทรัพย์สินสมบัติและเกียรติยศชื่อเสียงก็ตาม เพราะจิตใจไม่ได้รับการบริหาร เป็นจิตที่อ่อนแอ ทำให้โรคคือกิเลสจับได้ง่าย โดยเฉพาะกิเลสประเภทนิวรณ์ ซึ่งเป็นตัวการขัดขวางการพัฒนาจิตเป็นอย่างมาก คือเป็นกิเลสที่กีดกันมิให้ใจมีความสงบสุขได้ แต่ทำให้เดือดร้อน หม่นหมอง หาความสุขได้ยาก เพราะจิตใจอ่อนแอขาดการบริหารนั่นเอง
       ฉะนั้น ทางพระพุทธศาสนาจึงมีวิธีฝึกจิต บริหารจิตของตน เพราะจิตที่ฝึกดีแล้ว ย่อมมีคุณภาพสูง ทั้งก่อให้เกิดความสุขแก่เจ้าของและสังคมส่วนรวมได้มาก
      .............
       การฝึกจิตตามหลักพระพุทธศาสนา เรียกกันว่า จิตตภาวนาหรือการทำกรรมฐาน เป็นความสุขที่สงบเยือกเย็น ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อใคร  เป็นความสุขที่ไม่ต้องอิงอาศัยกามคุณทั้ง ๕ คือ ไม่ต้องอาศัยรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสทางกาย ซึ่งความสุขชนิดนี้ ทางพุทธศาสนาเรียกว่า " นิรามิสสุข " คือ ความสุขที่ไม่ต้องอิงอามิสคือกามคุณ จัดเป็นความสุขที่แท้จริง.....
    ..............
(จากหนังสือ การบริหารจิต โดย พระเทพวิสุทธิกวี (พิจิตร ฐิตวณฺโณ ป.ธ. ๙,ศน.บ.M.A. วัดโสมนัสวิหาร )
********





********
จิต (คลิก)

*****
ใจ - ใจ - ใจ (คลิก)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น