วันอาทิตย์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

เจรจาชอบ

Cr.Fwd.line

ธรรมะอรุณสวัสดิ์...รับวันใหม่

.............................

พูดชอบ … กับชอบพูด 

… เหมือนกันไหม? 


ถ้าไม่พูด จะถือว่าพูดชอบได้ไหม? 

ไม่เปิดปาก อยู่เฉย ๆ จะเป็นการพูดชอบได้ไหม? 

ทำไมเป็นพูดชอบได้ ก็ยังไม่ได้พูดเลย 


สัมมาวาจา องค์ธรรมคือตัวสัมมาวาจาเจตสิก 

เป็นธรรมชาติที่ทำให้เว้นจากวจีทุจริต ๔ 

ถ้ามีเจตสิกตัวนี้ประกอบกับจิตทำให้เว้น 

เว้นการพูดเท็จ เว้นพูดส่อเสียด เว้นพูดหยาบคาย เว้นพูดเพ้อเจ้อ 

ถ้าเปล่งออกมา ก็เปล่งวาจาที่พูดความจริง 

ไม่ส่อเสียด 

พูดสมานสามัคคี พูดให้เขาดีกัน 

พูดคำไพเราะอ่อนหวาน พูดอิงอรรถอิงธรรม 

ไม่เหลวไหล ไม่เพ้อเจ้อ 


ถ้าไม่พูด เว้นได้ไหม? 

นิ่งอยู่ ก็ยังเว้นได้ 

ฉะนั้นผู้ปฏิบัติธรรมที่บรรลุธรรม เขาก็นั่งอยู่เฉย ๆ เขาก็มีองค์มรรค 

ไม่ได้พูดกับใคร อยู่คนเดียว … ก็มีสัมมาวาจาได้ 


สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ 

การงานที่เว้นจากกายทุจริต ๓ 

เว้นฆ่าสัตว์ เว้นลักทรัพย์ เว้นประพฤติผิดในกาม 


ถ้าเป็นสัมมาอาชีวะ 

ก็ต้องเว้นจากกายทุจริต ๓ วจีทุจริต ๔ 

เป็นสัมมาอาชีวะ ประกอบอาชีพสุจริต อาชีพชอบ 

กายทุจริต ๓ คือ 

เว้นฆ่าสัตว์ เว้นลักทรัพย์ เว้นประพฤติผิดในกาม 

เว้นวจีทุจริต ๔ คือ 

เว้นพูดเท็จ เว้นพูดส่อเสียด เว้นพูดหยาบคาย เว้นพูดเพ้อเจ้อ 

อันนี้เป็นสัมมาอาชีวะ


ทำการงานชอบ … กับชอบทำการงาน … เหมือนกันไหม? 

ถ้าเขาชอบตกปลา ชอบล่าสัตว์

เป็นงานที่ชอบเหมือนกัน อาชีพชอบไหม? 

ต้องถูกต้อง 

คำว่า "ชอบ" ในที่นี้คือความถูกต้อง ไม่เบียดเบียนใคร 


องค์ต่อไปคือ สัมมาวายามะ เพียรชอบ 

เพียรชอบต้องเพียรที่ถูกต้อง 

เพียรไปลักไปขโมยเขา เพียรเหมือนกัน แต่มันเพียรผิด 

ต้องเป็นความเพียรที่เกี่ยวกับการละบาป ระวังไม่ให้บาปใหม่เกิด 

เพียรให้กุศลเกิด เพียรรักษากุศลให้เจริญ 


ขณะที่เพียรภาวนาอยู่ จิตเป็นกุศล 

ณ ขณะที่กุศลเกิด อกุศลมันจะตกไป 

มันแย่งกันอยู่ 

ในขณะปัจจุบันถ้าจิตเป็นกุศล อกุศลก็จะไม่เกิด 

ถ้าเพียรรักษากุศลให้เกิดต่อเนื่อง ๆ อกุศลมันก็เกิดไม่ได้ 

เท่ากับละบาป เท่ากับระวังไม่ให้บาปใหม่เกิดในตัว 


เจริญให้มีสติ ทำอย่างเดียวก็ได้หลักทั้ง ๔ อย่าง 

เจริญสติเท่ากับจิตเป็นกุศล 

มีสติอยู่เนือง ๆ จิตก็เป็นกุศลอยู่เนือง ๆ 

ฉะนั้นเวลามีสติในการเดินจงกรม ในการนั่งภาวนา 

จิตเป็นกุศล เดินการกุศล 

ก่อให้กุศลต่อเนื่อง ก็ระวังไม่ให้บาปใหม่เกิด 

หรือขณะเผลอไป 

บาปมันเกิดขึ้นแล้ว ความโลภ โกรธ หลง เกิด 

มีสติระลึกรู้ วางเฉย ก็ละมันไปได้ 

มันเกิดขึ้นมาอีก รู้ทัน รู้ทันอย่างวางเฉยก็ละออกไป 


ความโกรธเป็นทุกข์ไหมเล่า 

กำหนดดูความโกรธเท่ากับกำหนดรู้ความทุกข์ 

กำหนดรู้ความทุกข์อย่างไรจึงจะถูกต้อง?  

ถ้ากำหนดไม่ถูก ตัณหากำเริบ 

เช่น เวลาโกรธ เวลาฟุ้ง คือทุกข์เกิด 

ฟุ้งเป็นทุกข์ โกรธเป็นทุกข์ 

อยากหายฟุ้ง เกลียดฟุ้ง 

ไม่ชอบโกรธ อยากจะทำลายความโกรธ 

ตัณหาเกิดอีก ตัณหากำเริบ 

.............................

ธัมโมวาท โดยหลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี

เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น