วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2565

เสียงสะท้อน (feedback)

 


การให้เสียงสะท้อน (feedback) ไม่ใช่แนวคิดสมัยใหม่จากทางตะวันตกเสียทีเดียว หากแต่เป็นเสาหลักในพระวินัยมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว พระวินัยให้แนวทางชัดเจนว่าพระภิกษุพึงว่ากล่าวตักเตือนกันและกันด้วยความเคารพและระมัดระวัง  อีกทั้งสอนให้ยินดีรับฟังคำตักเตือนจากหมู่สงฆ์โดยไม่จำกัดอาวุโส การให้และการรับฟังเสียงสะท้อนอย่างมีวิจารณญาณมุ่งให้เกิดการถ่วงดุลที่จำเป็นอย่างยิ่งกับหลักพระวินัยในด้านความสามัคคีในหมู่สงฆ์


คุณค่าอันดับแรกของความสามัคคีในหมู่สงฆ์อยู่ที่การสร้างสภาวะที่เอื้อต่อความก้าวหน้าในธรรม ฉะนั้น เมื่อใดก็ตามที่ความสามัคคีในหมู่คณะกลายเป็นเป้าหมายแทนที่จะเป็นวิธีการ และเมื่อใดก็ตามที่ละเลยความมุ่งมั่นในการว่ากล่าวตักเตือนกันอย่างจริงใจและปรารถนาดีต่อกันและกัน ความฉ้อฉลย่อมย่างกรายเข้ามา ผู้ที่อยู่ในหมู่คณะจะไม่พยายามช่วยให้เพื่อนเห็นจุดบอดและแก้ไขจุดอ่อนของตนเองอีกต่อไป  แต่จะมีข้อตกลงที่รู้กันอยู่ในใจมาแทนว่า “ผมจะไม่ว่าอะไรคุณ ตราบใดที่คุณไม่ว่าอะไรผม” การทำแบบนี้อาจก่อให้เกิดสันติสุขแบบเปลือกนอกขึ้นได้ แต่จะส่งผลเป็นความสามัคคีของคนพาล


เมื่อให้ความสำคัญกับศีล สติ เมตตากรุณาและปัญญา เราจะสามารถหลีกเลี่ยงการแตกสามัคคีในหมู่คณะและความสามัคคีของคนพาล และเข้าถึงความปรองดองของบัณฑิตได้


ธรรมะคำสอน โดย พระอาจารย์ชยสาโร

แปลถอดความ โดย ปิยสีโลภิกขุ

*******

Cr.https://www.facebook.com/100064337808864/posts/pfbid0hNiugRtZM9vSifMoHtwgfGQXTkSNrmEx9t7gXnGBHmUZfFYHwKTCcETQj3cYg6N3l/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น