วันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

ชำแรกกิเลส

 



นิพเพธิกสูตร ธรรมปริยายเพื่อชำแรกกิเลส

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ / พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ / อังคุตตรนิกาย

 ปัญจก-ฉักกนิบาต / ๙. นิพเพธิกสูตร

     กาม

    เวทนา

    สัญญา

    อาสวะ

    กรรม

    ทุกข์


[๓๓๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมปริยายที่เป็นปริยายเป็นไป
ในส่วนแห่งการชำแรกกิเลส แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี
เราจักกล่าว

ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมปริยายที่เป็นปริยายเป็นไปในส่วนแห่งการชำแรกกิเลส
นั้นเป็นไฉน

ก) ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เธอทั้งหลายพึงทราบกาม
เหตุเกิดแห่งกาม
ความต่าง*แห่งกาม (ความต่าง คือ ประเภท)
วิบาก*แห่งกาม (วิบาก คือผล ผลลัพธ์)
ความดับแห่งกาม
ปฏิปทา*ที่ให้ถึงความดับกาม (ปฏิปทา คือ วิธี การปฏิบัติ)

ข) เธอทั้งหลายพึงทราบเวทนา
เหตุเกิดแห่งเวทนา
ความต่างแห่งเวทนา
วิบากแห่งเวทนา
ความดับแห่งเวทนา
ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับเวทนา

ค) เธอทั้งหลายพึงทราบสัญญา
เหตุเกิดแห่งสัญญา
ความต่างแห่งสัญญา
วิบากแห่งสัญญา
ความดับแห่งสัญญา
ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับสัญญา

ง) เธอทั้งหลายพึงทราบอาสวะ
เหตุเกิดแห่งอาสวะ
ความต่างแห่งอาสวะ
วิบากแห่งอาสวะ
ความดับแห่งอาสวะ
ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับอาสวะ

จ) เธอทั้งหลายพึงทราบกรรม
เหตุเกิดแห่งกรรม
ความต่างแห่งกรรม
วิบากแห่งกรรม
ความดับแห่งกรรม
ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับกรรม

ฉ) เธอทั้งหลายพึงทราบทุกข์
เหตุแห่งทุกข์
ความต่างแห่งทุกข์
วิบากแห่งทุกข์
ความดับแห่งทุกข์
ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับทุกข์


ก.กาม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่เรากล่าวนี้ว่า เธอทั้งหลายพึงทราบกาม เหตุเกิดแห่งกาม ความต่างแห่งกาม วิบากแห่งกาม ความดับแห่งกาม ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับกาม นั้น เราอาศัยอะไรกล่าว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย กามคุณ ๕ ประการนี้ คือ

รูปที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ยั่วยวน
ชวนให้กำหนัด

เสียงที่พึงรู้แจ้งด้วยหู อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ยั่วยวน
ชวนให้กำหนัด

กลิ่นที่พึงรู้แจ้งด้วยจมูก อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ยั่วยวน
ชวนให้กำหนัด

รสที่พึงรู้แจ้งด้วยลิ้น อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ยั่วยวน
ชวนให้กำหนัด

โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งด้วยกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็น

ที่รัก ยั่วยวน ชวนให้กำหนัด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แต่ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ชื่อว่ากาม
สิ่งเหล่านี้เรียกว่ากามคุณในวินัยของพระอริยะเจ้า

พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว

จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์นี้ต่อไปอีกว่า

๑) ความกำหนัดที่เกิดด้วยสามารถแห่งความดำริของบุรุษ ชื่อว่ากาม
อารมณ์อันวิจิตรทั้งหลายในโลกไม่ชื่อว่ากาม
ความกำหนัดที่เกิดขึ้นด้วยสามารถแห่งความดำริของบุรุษ ชื่อว่ากาม
อารมณ์อันวิจิตรทั้งหลายในโลกย่อมตั้งอยู่ตามสภาพของตน ส่วนว่าธีรชนทั้งหลายย่อมกำจัดความพอใจ ในอารมณ์อันวิจิตรเหล่านั้น

๒) ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุเกิดแห่งกาม เป็นไฉน
คือ ผัสสะเป็นเหตุเกิดแห่งกามทั้งหลาย

๓) ก็ความต่างกันแห่งกาม เป็นไฉน
คือ
กามในรูปเป็นอย่างหนึ่ง
กามในเสียงเป็นอย่างหนึ่ง
กามในกลิ่นเป็นอย่างหนึ่ง
กามในรสเป็นอย่างหนึ่ง
กามในโผฏฐัพพะเป็นอย่างหนึ่ง
นี้เรียกว่าความต่างกันแห่งกาม

๔) วิบากแห่งกาม เป็นไฉน
คือ การที่บุคคลผู้ใคร่อยู่ ย่อมยังอัตภาพที่เกิดขึ้นจากความใคร่นั้นๆ ให้เกิดขึ้น เป็นส่วนบุญหรือเป็นส่วนมิใช่บุญ
นี้เรียกว่าวิบากแห่งกาม

๕) ความดับแห่งกาม เป็นไฉน
คือ ความดับแห่งกามเพราะผัสสะดับ

๖) อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้แล คือ
สัมมาทิฐิ
สัมมาสังกัปปะ
สัมมาวาจา
สัมมากัมมันตะ
สัมมาอาชีวะ
สัมมาวายามะ
สัมมาสติ
สัมมาสมาธิ
เป็นปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งกาม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใด อริยสาวกย่อมทราบชัดกาม เหตุเกิดแห่งกาม ความต่างแห่งกาม วิบากแห่งกาม ความดับแห่งกาม ปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งกาม อย่างนี้ ๆ
เมื่อนั้น อริยสาวกนั้น ย่อมทราบชัดพรหมจรรย์อันเป็นไปในส่วนแห่งการชำแรกกิเลส เป็นที่ดับแห่งกาม

ข้อที่เรากล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงทราบกาม เหตุเกิดแห่งกาม ความต่างแห่งกาม วิบากแห่งกาม ความดับแห่งกาม ปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งกาม ดังนี้นั้น
เราอาศัยข้อนี้กล่าว


ข.เวทนา

ข้อที่เรากล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย พึงทราบเวทนา เหตุเกิดแห่งเวทนา ความต่างแห่งเวทนา วิบากแห่งเวทนา ความดับแห่งเวทนา ปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งเวทนา ดังนี้นั้น
เราอาศัยอะไรกล่าว

๑) ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ ประการนี้ คือ
สุขเวทนา
ทุกขเวทนา
อทุกขมสุขเวทนา

๒) ก็เหตุเกิดแห่งเวทนา เป็นไฉน
คือ ผัสสะเป็นเหตุเกิดแห่งเวทนา

๓) ก็ความต่างกันแห่งเวทนา เป็นไฉน
คือ
สุขเวทนาที่เจือด้วยอามิส มีอยู่
สุขเวทนาที่ไม่เจือด้วยอามิส มีอยู่
ทุกขเวทนาที่เจือด้วยอามิส มีอยู่
ทุกขเวทนาที่ไม่เจือด้วยอามิส มีอยู่
อทุกขมสุขเวทนาที่เจือด้วยอามิส มีอยู่
อทุกขมสุขเวทนาที่ไม่เจือด้วยอามิส มีอยู่
นี้เรียกว่าความต่างแห่งเวทนา

๔) วิบากแห่งเวทนา เป็นไฉน
คือ การที่บุคคลผู้เสวยเวทนาอยู่ ย่อมยังอัตภาพที่เกิดขึ้นจากเวทนานั้นๆ ให้เกิดขึ้น เป็นส่วนบุญหรือเป็นส่วนมิใช่บุญ
นี้เรียกว่าวิบากแห่งเวทนา

๕) ก็ความดับแห่งเวทนา เป็นไฉน
คือ ความดับแห่งเวทนาย่อมเกิดขึ้นเพราะความดับแห่งผัสสะ

๖) อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้แล คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
เป็นข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความดับแห่งเวทนา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใดอริยสาวกย่อมทราบชัด เวทนา เหตุเกิดแห่งเวทนา ความต่างกันแห่งเวทนา วิบากแห่งเวทนา ความดับแห่งเวทนา ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งเวทนาอย่างนี้ ๆ
เมื่อนั้น อริยสาวกนั้นย่อมทราบชัด พรหมจรรย์อันเป็นไปในส่วนแห่งการชำแรกกิเลส เป็นที่ดับเวทนานี้

ข้อที่เรากล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงทราบเวทนา เหตุเกิดแห่งเวทนา ความต่างกันแห่งเวทนา วิบากแห่งเวทนา ความดับแห่งเวทนา ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับเวทนา ดังนี้นั้น
เราอาศัยข้อนี้กล่าว


ค.สัญญา

ข้อที่เรากล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงทราบสัญญา เหตุเกิดแห่งสัญญา ความต่างกันแห่งสัญญา วิบากแห่งสัญญา ความดับแห่งสัญญา ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งสัญญา ดังนี้นั้น
เราอาศัยอะไรกล่าว

๑) ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัญญา ๖ ประการนี้ คือ
รูปสัญญา
สัททสัญญา
คันธสัญญา
รสสัญญา
โผฏฐัพพสัญญา
ธรรมสัญญา

๒) เหตุเกิดแห่งสัญญา เป็นไฉน
คือ ผัสสะเป็นเหตุเกิดแห่งสัญญา

๓) ก็ความต่างแห่งสัญญา เป็นไฉน คือ
สัญญาในรูป เป็นอย่างหนึ่ง
สัญญาในเสียง เป็นอย่างหนึ่ง
สัญญาในกลิ่น เป็นอย่างหนึ่ง
สัญญาในรส เป็นอย่างหนึ่ง
สัญญาในโผฏฐัพพะ เป็นอย่างหนึ่ง
สัญญาในธรรมารมณ์ เป็นอย่างหนึ่ง
นี้เรียกว่าความต่างแห่งสัญญา

๔) ก็วิบากแห่งสัญญา เป็นไฉน
คือ เราย่อมกล่าวสัญญาว่ามีคำพูดเป็นผล (เพราะว่า) บุคคลย่อมรู้สึกโดยประการใดๆ ก็ย่อมพูดโดยประการนั้นๆ ว่าเราเป็นผู้มีความรู้สึกอย่างนั้น
นี้เรียกว่าวิบากแห่งสัญญา

๕) ก็ความดับแห่งสัญญา เป็นไฉน
คือ ความดับแห่งสัญญาย่อมเกิดขึ้นเพราะความดับแห่งผัสสะ

๖) อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้แล คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
เป็นปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งสัญญา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใด อริยสาวกย่อมทราบชัดสัญญา เหตุเกิดแห่งสัญญา ความต่างแห่งสัญญา วิบากแห่งสัญญา ความดับแห่งสัญญา ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งสัญญา อย่างนี้ ๆ
เมื่อนั้น อริยสาวกนั้นย่อมทราบชัดพรหมจรรย์อันเป็นไปในส่วนแห่งการชำแรกกิเลส

ข้อที่เรากล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงทราบสัญญา เหตุเกิดแห่งสัญญา ความต่างแห่งสัญญา วิบากแห่งสัญญา ความดับแห่งสัญญา ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับสัญญา ดังนี้นั้น
เราอาศัยข้อนี้กล่าว


ง.อาสวะ

ข้อที่เรากล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงทราบอาสวะ เหตุเกิดแห่งอาสวะ ความต่างแห่งอาสวะ วิบากแห่งอาสวะ ความดับแห่งอาสวะ ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งอาสวะ ดังนี้นั้น
เราอาศัยอะไรกล่าว

๑) ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะ ๓ ประการ คือ
กามาสวะ
ภวาสวะ
อวิชชาสวะ

๒) ก็เหตุเกิดแห่งอาสวะ เป็นไฉน
คือ อวิชชาเป็นเหตุเกิดอาสวะ

๓) ก็ความต่างแห่งอาสวะ เป็นไฉน คือ
อาสวะที่เป็นเหตุให้ไปสู่นรก ก็มี
ที่เป็นเหตุให้ไปสู่กำเนิดสัตวดิรัจฉาน ก็มี
ที่เป็นเหตุให้ไปสู่เปรตวิสัย ก็มี
ที่เป็นเหตุให้ไปสู่มนุษย์โลก ก็มี
ที่เป็นเหตุให้ไปสู่เทวโลก ก็มี
นี้เรียกว่าความต่างแห่งอาสวะ

๔) ก็วิบากแห่งอาสวะ เป็นไฉน
คือ การที่บุคคลมีอวิชชา ย่อมยังอัตภาพที่เกิดจากอวิชชานั้นๆ ให้เกิดขึ้น เป็นส่วนบุญหรือเป็นส่วนมิใช่บุญ
นี้เรียกว่าวิบากแห่งอาสวะ

๕) ก็ความดับแห่งอาสวะ เป็นไฉน
คือ ความดับแห่งอาสวะย่อมเกิดเพราะความดับแห่งอวิชชา

๖) อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้แล คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
เป็นปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งอาสวะ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใดอริยสาวกย่อมทราบชัดอาสวะ เหตุเกิดแห่ง

อาสวะ ความต่างแห่งอาสวะ วิบากแห่งอาสวะ ความดับแห่งอาสวะ

 ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งอาสวะ อย่างนี้ ๆ เมื่อนั้น อริยสาวกนั้น

ย่อมทราบชัดพรหมจรรย์อันเป็นไปในส่วนแห่งการชำแรกกิเลส เป็นที่

ดับอาสวะนี้

ข้อที่เรากล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงทราบอาสวะ เหตุเกิดแห่งอาสวะ ความต่างแห่งอาสวะ วิบากแห่งอาสวะ ความดับแห่งอาสวะ ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งอาสวะ ดังนี้นั้น
เราอาศัยข้อนี้กล่าว


จ.กรรม

ข้อที่เรากล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงทราบกรรม เหตุเกิดแห่งกรรม ความต่างแห่งกรรม วิบากแห่งกรรม ความดับแห่งกรรม ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งกรรม ดังนี้นั้น
เราอาศัยอะไรกล่าว

๑) ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม
บุคคลคิดแล้วจึงกระทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ

๒) ก็เหตุเกิดแห่งกรรมเป็นไฉน
คือ ผัสสะเป็นเหตุเกิดแห่งกรรม

๓) ก็ความต่างแห่งกรรม เป็นไฉน คือ
กรรมที่ให้วิบากในนรก ก็มี
ที่ให้วิบากในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ก็มี
ที่ให้วิบากในเปรตวิสัย ก็มี
ที่ให้วิบากในมนุษย์โลก ก็มี
ที่ให้วิบากในเทวโลก ก็มี
นี้เรียกว่าความต่างแห่งกรรม

๔) ก็วิบากแห่งกรรม เป็นไฉน
คือ เราย่อมกล่าววิบากแห่งกรรมว่ามี ๓ ประการ คือ
กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน ๑
กรรมที่ให้ผลในภพที่เกิด ๑
กรรมที่ให้ผลในภพต่อๆ ไป ๑
นี้เรียกว่าวิบากแห่งกรรม

๕) ความดับแห่งกรรม เป็นไฉน
คือ ความดับแห่งกรรมย่อมเกิดขึ้นเพราะความดับแห่งผัสสะ

๖) อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้แล คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
เป็นปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งกรรม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใดอริยสาวกย่อมทราบชัดกรรม เหตุเกิดแห่งกรรม ความต่างแห่งกรรม วิบากแห่งกรรม ความดับแห่งกรรม ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งกรรมอย่างนี้ ๆ
เมื่อนั้น อริยสาวกนั้นย่อมทราบชัดพรหมจรรย์อันเป็นไปในส่วนแห่งความชำแรกกิเลส เป็นที่ดับกรรมนี้

ข้อที่เรากล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงทราบกรรม เหตุเกิดแห่งกรรม ความต่างแห่งกรรม วิบากแห่งกรรม ความดับแห่งกรรม ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งกรรม ดังนี้นั้น
เราอาศัยข้อนี้กล่าว


ฉ.ทุกข์

ข้อที่เรากล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงทราบทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์ ความต่างแห่งทุกข์ วิบากแห่งทุกข์ ความดับแห่งทุกข์ ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งทุกข์ ดังนี้นั้น
เราอาศัยอะไรกล่าว

๑) แม้ชาติก็เป็นทุกข์
แม้ชราก็เป็นทุกข์
แม้พยาธิก็เป็นทุกข์
แม้มรณะก็เป็นทุกข์
แม้โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ก็เป็นทุกข์
ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์
โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์

๒) ก็เหตุเกิดแห่งทุกข์ เป็นไฉน
คือ ตัณหาเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์

๓) ก็ความต่างแห่งทุกข์ เป็นไฉน
คือ ทุกข์มากก็มี ทุกข์น้อยก็มี ทุกข์ที่คลายช้าก็มี ทุกข์ที่คลายเร็วก็มี
นี้เรียกว่าความต่างแห่งทุกข์

๔) ก็วิบากแห่งทุกข์ เป็นไฉน
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ถูกทุกข์อย่างใดครอบงำ มีจิตอันทุกข์อย่างใดกลุ้มรุม ย่อมเศร้าโศก ลำบาก รำพัน ทุบอก คร่ำครวญ ถึงความหลง
ก็หรือบางคนถูกทุกข์ใดครอบงำแล้ว มีจิตอันทุกข์ใดกลุ้มรุมแล้ว ย่อมแสวงหาเหตุปลดเปลื้องทุกข์ในภายนอกว่า ใครจะรู้ทางเดียวหรือ ๒ ทางเพื่อดับทุกข์นี้ได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวทุกข์ว่ามีความหลงใหลเป็นผล
หรือว่ามีการแสวงหาเหตุปลดเปลื้องทุกข์ภายนอกเป็นผล
นี้เรียกว่าวิบากแห่งทุกข์

๕) ก็ความดับแห่งทุกข์ เป็นไฉน
คือ ความดับแห่งทุกข์ย่อมเกิดขึ้นเพราะความดับแห่งตัณหา

๖) อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้แล คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
เป็นปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งทุกข์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใด อริยสาวกย่อมทราบชัดทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์ ความต่างแห่งทุกข์ วิบากแห่งทุกข์ ความดับแห่งทุกข์ ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งทุกข์ อย่างนี้ ๆ
เมื่อนั้น อริยสาวกนั้นย่อมทราบชัดพรหมจรรย์อันเป็นไปในส่วนแห่งการชำแรกกิเลส เป็นที่ดับทุกข์

ข้อที่เรากล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงทราบทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์ ความต่างแห่งทุกข์ วิบากแห่งทุกข์ ความดับแห่งทุกข์ ปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งทุกข์ ดังนี้นั้น
เราอาศัยข้อนี้กล่าว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นธรรมปริยายที่เป็นปริยายเป็นไปในส่วนแห่งการชำแรกกิเลส

จบ


 

 


 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น