ถาม
คำว่า อนัตตากับคำว่า สุญญตา ต่างกันอย่างไร
ตอบ
อนัตตา มาจากคำว่าอนัตตลักษณะ คือลักษณะทั่วไปของรูปนาม(โลกิยธรรม)ทั้งปวง อันบุคคลพึงเห็นอนัตลักษณะได้ตั้งแต่สัมมสนญาณที่3 (แห่งวิปัสสนาญาณ16) เป็นต้นไป โดยที่จะปรากฏสลับระคนไปกับ อนิจลักษณะ และทุกขลักษณะ
ทั้งสามลักษณะนี้ถูกตั้งฉายาเรียกรวมกันว่า
ไตรลักษณ์บ้าง สามัญลักษณะบ้าง
วิการลักษณะบ้าง
ยิ่งขึ้นสู่ระดับสูงๆ
ไตรลักษณ์ยิ่งเข้มข้น แสดงตน ดุจเสือแสดงลาย
สุญญตา มาจากคำว่า สุญญตลักษณะ คือลักษณะเฉพาะของนิพพานหรือปรมัตถลักษณะของนิพพานนั้นย่อมเป็นสภาวะว่างเปล่า
นิพพาน เริ่มปรากฏให้เห็นได้ตั้งแต่ โคตรภูญาณที่13 (แห่งวิปัสสนาญาณ 16 )เป็นต้นไป ถัดจากนั้นจะหน่วงนิพพานเป็นอารมณ์แล้วข้ามโคตรปุถุชนไปสู่โคตรอริยะ เมื่อเป็นอริยะแล้ว จะทำอะไรอยู่ที่ไหนในโลกใบนี้ก็ตามระลึกรู้ ตามดู ตามเห็น นิพพาน บ่อยๆ เนืองๆ แล้วๆ เล่า ตลอดวันของทุกวัน อย่างเป็นเรื่องปกติธรรมดาสามัญของอริยะทั้งปวง
โดยสุญญตา(สภาวว่างเปล่า)จะปรากฏให้เห็นสลับระคนกันไปกับ อนิมิตตา (สภาวะไร้นิมิต) อัปปณิหิตา(สภาวะไร้ที่ตั้งของกิเลส)
อนัตลักษณะเปรียบเหมือนแมว
สุญญตลักษณะเปรียบเหมือนเสือ
ว่าโดยสภาวะที่ปรากฏให้เห็นก็ต่างกันมาก เพียงแต่บุคคลจะไม่สามารถเข้าไปเห็นเชิงประจักษ์ถึงความต่างลักษณะของสภาวะทั้งสองนี้ได้ ด้วยการฟัง การอ่าน การเล่าเรียน หรือลูบคลำตำรา หรือตรรกะ หรือปรัชญา หรือทฤษฎีวินิจฉัย ผู้ที่จะสามารถเข้าไปเห็นลักษณะทั้งสองนี้(เห็นอนัตตลักษณะและสุญญตลักษณะ) เชิงประจักษ์ได้อย่างชัดเจน หมดสิ้นความสับสนสงสัยอย่างแท้จริง เกิดมีวุฒิตระหนักแน่ คม
ชัด ลึก ถึงความเด็ดขาดลงไปไม่กลับมาสงสัยได้อีกในลักษณะทั้งสองนี้นั้น ก็ต่อเมื่อ วิปัสสนาภาวนาของบุคคลนั้นแตะขอบโลกุตตระภาวนาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น จึงจะสิ้นสงสัยในเรื่องนี้ได้อย่างแท้จริง มิฉะนั้นก็จะไม่มีวันสิ้นสงสัยไปได้
ถ้าภาวนาของผู้ใดยังอยู่ในเขตโลกียภาวนาก็จะไม่มีวุฒิตระหนักแน่ถึงความเด็ดขาดลงไปโดยไม่กลับสงสัยได้อีกว่าอนัตตลักษณะของรูปนามต่างกับสุญญตลักษณะของนิพพานอย่างไร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น