ในภาษาบาลีมานะแปลว่าความถือตัว ไม่เกี่ยวกับความขยัน เป็นหนึ่งในกิเลสที่มีความละเอียดซับซ้อนมากที่สุด มากขนาดที่ว่ามานะในบางรูปแบบคนทั่วไปอาจมองว่าเป็นคุณธรรม คำว่ามานะนั้น ตามรากศัพท์มาจากการวัด ความถือตัวเกิดขึ้นเมื่อเราสำคัญตัวด้วยการเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น อรรถกถามีการอุปมาการถือตัวเป็นดุจการชูธงขึ้นสูง โดยที่ธงนั้นคือความสำคัญตัวสำคัญตนของเราเอง
ความถือตัวมี ๓ ประการ ได้แก่
๑. ความถือตัวว่าเราดีกว่าเขา : เปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นในด้านเชื้อชาติ สัญชาติ ชาติตระกูล ทรัพย์สิน อำนาจ สถานะ รูปลักษณ์ทางกาย สติปัญญา ศีลธรรม การภาวนา และอื่นๆ โดยเชื่อว่า ‘เราดีกว่าเขา’
๒. ความถือตัวว่าเราด้อยกว่าเขา : เปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นบนพื้นฐานต่างๆ เช่นเดียวกัน โดยเชื่อว่า ‘เราด้อยกว่าเขา’ ความถือตัวประเภทนี้มักมีการเข้าใจสับสนกับความอ่อนน้อมถ่อมตน
๓. ความถือตัวว่าเราเสมอกับเขา : เปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นบนพื้นฐานต่างๆ เช่นเดียวกัน โดยเชื่อว่า ‘เราเสมอกับเขา’ ความถือตัวประเภทนี้มักมีการยกย่องว่าเป็นตัวแก้ไขปัญหาที่เกิดเพราะมานะสองประการแรก
ในทางพุทธศาสนา ความถือตัวทั้ง ๓ ประการนี้นับว่าเป็นอุปสรรคต่อการเจริญปัญญาทั้งนั้น เพราะการเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นบนพื้นฐานเหล่านี้ เป็นการส่งเสริมมายาสำนึกว่ามี ‘เรา’ ซึ่งเป็นตัวเป็นตนที่เที่ยงแท้ถาวร เป็นอิสระจากเหตุปัจจัย ความคิดที่เป็นมายาเรื่องตัวตนนี่เองที่พระพุทธองค์ทรงแสดงให้เห็นว่าเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ทั้งมวล
ธรรมะคำสอน โดย พระอาจารย์ชยสาโร
แปลถอดความ โดย ศิษย์ทีมสื่อดิจิทัลฯ
***************
Cr.https://www.facebook.com/jayasaro.panyaprateep.org/posts/3253755144733149
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น