ในวันที่ 17 เมษายน 1955 อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาล หมอพบว่าหลอดเลือดเอออร์ตาส่วนท้องปริแตก ทำให้เลือดไหลในช่องท้อง เขาต้องได้รับการผ่าตัด ทว่าอัจฉริยะของโลกบอกหมอว่าเขาไม่ปรารถนาจะรับการผ่าตัดใด ๆ เขากล่าวว่า “ฉันต้องการจากไปเมื่อฉันต้องการ มันไร้รสชาติที่ต่ออายุอย่างผิดธรรมชาติ ฉันทำงานของฉันจบแล้ว ถึงเวลาไปแล้ว ฉันจะจากไปอย่างสง่างาม”
แล้วไอน์สไตน์ก็จากโลกไปในวันรุ่งขึ้น วัยเจ็ดสิบหก ง่าย ๆ เช่นนั้น
เป็นเรื่องอัตโนมัติอย่างยิ่งสำหรับหมอและญาติคนไข้ที่จะยืดชีวิตคนไข้ให้อยู่ในโลกนานที่สุด โดยความคิดว่าการมีชีวิตยืนยาวที่สุดเป็นเรื่องดี ต่อให้รู้อยู่แก่ใจว่าการอยู่ในโลกนานกว่ากำหนดโดยมีสายช่วยชีวิตระโยงระยาง เป็นความทุกข์ที่เราสร้างขึ้นเอง กระนั้นก็ยังทำทุกวิถีทางเพื่อต่อชีวิตให้ยาวที่สุด
คนไข้จำนวนมากในโลกมีชีวิตอยู่ในสภาพตายไปครึ่งตัว บางคนอยู่ในสภาวะโคม่านาน 10-20 ปี บางคนสมองตายแต่ยังหายใจอยู่ เพราะญาติไม่ยอมให้ถอดเครื่องช่วยชีวิต เหล่านี้เกิดขึ้นเพราะค่านิยมและความเชื่อว่า “ชีวิตเป็นของมีค่า”
ไอน์สไตน์กลับมองว่า ‘ความมีค่า’ กับ ‘ความยาว’ ของชีวิต ไม่ได้อยู่ในสมการเดียวกัน
เขารู้ว่าความยาวของเวลาเป็นเพียงมายา เพราะเวลาเป็นเพียงค่าสัมพัทธ์
ไอน์สไตน์สมแล้วที่เป็นคนฉลาดที่สุดคนหนึ่งในโลก มิเพียงจะเข้าใจหลักฟิสิกส์อย่างดีเยี่ยม หากยังสามารถใช้หลักฟิสิกส์ในชีวิตจริง! เข้าใจสมการชีวิตอย่างลึกซึ้ง และเขาก็ใช้ชีวิตเช่นแนวคิดเรื่องสัมพัทธภาพของเขา!
…………
แนวคิดเรื่องสัมพัทธภาพอาจฟังดูซับซ้อนเกินเข้าใจ แต่เมื่อมองในมุมการเข้าถึงธรรมของพุทธ จะเข้าใจได้ง่ายขึ้นมาก เพราะปรัชญาพุทธอธิบายหลักการใช้ชีวิตให้มีทุกข์น้อยที่สุดได้โดยการละวางทวิลักษณ์ เนื่องจากมันเป็นมายา
เป็นมายาอย่างไร?
ชายคนหนึ่งเที่ยวรอบโลกอย่างสนุกสนานนานหกเดือน เขารู้สึกว่าเวลาหกเดือนสั้นอย่างยิ่ง แต่หากเขาต้องโทษจำคุกหกเดือน หกเดือนเท่ากันนั้นจะยาวนานอย่างยิ่ง
นี่ก็คือสัมพัทธภาพ มันเกิดจากการเปรียบเทียบเวลาที่บวกความสนุกกับเวลาที่บวกความไม่สนุก ย่อมรู้สึกว่าแตกต่าง ทั้งที่เป็นเวลาเท่ากัน
สมมุติว่าธรรมชาติสร้างให้มนุษย์ทั้งโลกมีอายุเฉลี่ย 30 ปี เราจะเคยชินกับตัวเลขนี้ และรู้สึกว่าถ้าใครอายุถึง 40 คือยืนยาวมาก
แต่ใน พ.ศ. นี้ อายุเฉลี่ยของมนุษย์คือ 70-80 ปี ตัวเลข 40 ก็กลายเป็น ‘สั้น’ ขึ้นมาทันที ทั้งที่เป็นระยะเวลาเท่ากัน
ถ้าวันหนึ่งในอนาคต อายุเฉลี่ยของมนุษย์สูงขึ้นถึง 150 ปี ตัวเลข 80 ที่เรารู้สึกว่า ‘ยาว’ ในวันนี้ก็จะกลายเป็น ‘สั้น’ ขึ้นมาทันที
ความยาว-สั้นจึงเป็นสัมพัทธ์และเป็นมายา
เมื่อเราเอามือแตะน้ำเดือด เรารู้สึกว่ามัน ‘ร้อน’ เมื่อแตะน้ำเย็น เรารู้สึกว่า ‘เย็น’
แล้วเราก็ตั้งเป็นกฎขึ้นมาว่า 100 องศาเซลเซียสคือร้อน 0 องศาคือเย็น
ทว่าสัตว์น้ำหลายพันธุ์ซึ่งอาศัยบริเวณปล่องภูเขาไฟระอุใต้มหาสมุทรกลับอยู่ในน้ำเดือดปุดอย่างสบาย พวกมันไม่รู้สึกว่าบ้านน้ำเดือดของมันร้อนแต่อย่างไร เพราะพวกมันชินของพวกมันอย่างนั้น ถ้าพวกมันรู้สึก ‘ร้อน’ สุดทนทาน ก็คงย้ายบ้านไปอยู่ที่อื่นแล้ว
ค่า ‘ร้อน’ จึงไม่สัมบูรณ์ ไม่ตายตัว ไม่ใช่ความจริงสูงสุด เพราะเราชาวมนุษย์กับสัตว์ใต้ทะเลพวกนั้นเห็นต่างกัน เราบอกว่าร้อนเพราะเราใช้มาตรฐานความเคยชินของเราวัด พวกมันบอกว่าไม่ร้อนเพราะใช้มาตรของพวกมันวัด
ร้อน-เย็นจึงเป็นสัมพัทธ์และเป็นมายาเช่นเดียวกัน
ทุกข์-สุขก็เป็นมายา ไม่ใช่ค่าตายตัว เป็นสัมพัทธภาพขององค์ประกอบต่าง ๆ ที่เราวัดด้วยความรู้สึกและอารมณ์ในแต่ละช่วงเวลา
คนคนหนึ่งเห็นว่าเรื่องหนึ่งเป็นทุกข์มาก อีกคนหนึ่งมองเรื่องเดียวกันว่าทุกข์น้อยหรือไม่ทุกข์เลย มันไม่มีค่าสัมบูรณ์อย่างแท้จริง
สัมพัทธภาพในโลกนี้ก็คือทวินิยม ร้อน-เย็น ยาว-สั้น เหล่านี้เป็นสิ่งที่เรากำหนดให้ตัวเองรู้สึกเองทั้งสิ้น โดยใช้ตัวเองเป็นบรรทัดฐาน
เวลาต่างกันก็ทำให้มายาเดิมส่งผลต่างกันได้ เช่น ทุกครั้งที่รถคันอื่นแซง จะรู้สึกโกรธ แต่หากวันนั้นได้รับโบนัสห้าเดือน ถูกรถแซง อาจไม่รู้สึกโกรธอย่างที่เคยเป็น สามารถฮัมเพลงอย่างสบายอารมณ์ด้วยซ้ำ
ความรู้สึกที่เรียกว่า ‘ทุกข์’ มีหลายระดับ ขึ้นกับความรู้สึกและประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคน ไม่เหมือนกันทั้งที่เป็นเรื่องเดียวกัน
ยึดมายาเป็นค่าสัมบูรณ์เมื่อไร เราก็ทุกข์เมื่อนั้น
ความรู้สึกและความเคยชินทำให้เรามองข้ามข้อเท็จจริง แล้วติดฉลากสิ่งที่เราไม่ชอบว่า ‘ปัญหา’
ชีวิตก็คือสัมพัทธภาพ ความยาว-สั้นของเวลาชีวิตเป็นเพียงมายา จะอยู่ในโลกนานขึ้นอีกห้าปี สิบปี อาจไม่แตกต่างอะไร หากเวลาที่เรามีนั้นไร้คุณภาพหรือไร้ความหมาย ดังนั้นถ้าหลงคิดว่าตัวเลขอายุมาก ๆ คือดี ก็อาจหลงทาง มองคุณค่าของชีวิตผิดเพี้ยนไป
ลองถามตัวเองว่าหากมีชีวิตยาวขึ้นอีกวันสองวัน ร้อยวัน สร้างความแตกต่างอะไรหรือไม่ หากไม่แตกต่าง จำนวนวันบนโลกก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เร็วหรือช้าไม่มีผลอะไรต่อโลกอีกแล้ว
บางทีความยาวของชีวิตอาจไม่สำคัญเท่าว่าช่วงชีวิตที่มีลมหายใจ เจ้าของชีวิตทำอะไร ใช้ชีวิตอย่างไร ที่ทำให้การมีชีวิตอยู่บนโลกของเขานั้นดีกว่าการไม่มี
เมื่อเข้าใจสัมพัทธภาพแห่งชีวิต เราก็จะเข้าใจมายาอื่น ๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก และเมื่อนั้นเราก็อาจสามารถกำหนดชีวิตของเราได้เอง
เมื่อพบทุกข์ ก็สามารถพิจารณาว่ามันเป็นเพียงระดับความรู้สึกที่เราสร้างขึ้นมาด้วยความเคยชินหรือด้วยประสบการณ์เก่า เมื่อเข้าใจเราก็อาจสามารถลดมาตรวัดความทุกข์ลง ทำให้รู้สึกแย่น้อยลงทั้งที่เป็น ‘ทุกข์’ อันเดิม
ดังนั้นเวลาสุขอย่าลืมตอนทุกข์ เวลาทุกข์อย่าลืมตอนสุข เวลาเศร้าอย่าลืมตอนหัวเราะ เวลาหัวเราะอย่าลืมตอนเศร้า เวลาซึมอย่าลืมตอนสดชื่น เวลาเหงาอย่าลืมตอนมีเพื่อน ฯลฯ
เพราะทุกอารมณ์เป็นเรื่องเดียวกัน ต่างที่ว่าจะไปจับตรงช่วงไหนของเรื่องนั้น
.
จากหนังสือใหม่ ความสุขเล็ก ๆ ก็คือความสุข
วินทร์ เลียววาริณ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น