วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ทฤษฎี 90/10

รู้จักกับ ‘ทฤษฏี 90/10’ ที่จะทำให้เราเข้าใจ ในความเป็นไปของชีวิตมากยิ่งขึ้น…
เป็นธรรมดาที่คนยุคใหม่อย่างเราๆ มักจะหาคำคม คำนิยาม หรือทฤษฎีต่างๆ มาใช้เป็นคำอธิบายถึงความเป็นไปของปรากฏการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในชีวิต
คราวนี้เราจะพาไปรู้จักกับทฤษฎีที่เรียกว่า ‘กฏ 90/10’ จากนักเขียนชื่อดัง Stephen Covey โดยเจ้าตัวเคลมว่าถ้าเราเข้าใจหลักทฤษฎีนี้แล้ว มันจะช่วยเปลี่ยนมุมมองการมองโลกของเรา และรับมือกับสถานการณ์แย่ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันได้ดียิ่งขึ้น
หลักการนี้คืออะไร
เป็นเรื่องง่ายๆ คือ 10% ของชีวิตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองโดยบังเอิญ ส่วนอีก 90% นั้นคือสิ่งที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาของเราในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ นัยยะของเรื่องนี้คือ มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและอยู่เหนือความคาดคิด หรือที่เราไม่สามารถควบคุมได้เพียง 10%
เช่น เราไม่สามารถห้ามรถยนต์ไม่ให้เสีย หรือการที่เครื่องบินมาถึงล่าช้ากว่ากำหนดจนทำให้กำหนดการต่างๆ คลาดเคลื่อนไป หรือเราขับรถถูกช่องจราจร แต่ถูกรถคันอื่นขับปาดหน้า เราไม่สามารถควบคุมเหตุการณ์ 10% นี้ที่เกิดกับเรา แต่อีก 90% ที่เหลือนั้นเราสามารถกำหนดได้ ทำอย่างไร?
คำตอบคือ ด้วยปฏิกิริยาของเรา เราไม่สามารถควบคุมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เราสามารถควบคุมปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์เหล่านั้น เราสามารถเลือกวิธีการตอบสนองได้
เรามาลองศึกษาจากตัวอย่างต่อไปนี้
สมมุติว่าเรากำลังรับประทานอาหารเช้ากับครอบครัว บังเอิญลูกสาวเราพลาดทำกาแฟหกใส่เสื้อเชิ้ตเรา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่เหนือการควบคุมของเรา
เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น แต่เหตุการณ์ต่อจากนั้นจะเป็นเรื่องของปฏิกิริยาสนองตอบของเรา เราอาจจะสบถและดุด่าลูกสาวเราอย่างรุนแรงจนทำให้เธอร้องไห้ และตามด้วยการหันไปบ่นกับภรรยาเราว่า วางแก้วกาแฟไว้ที่ริมโต๊ะมากเกินไป เหตุการณ์ต่อมาคือ การถกเถียงกันเล็กน้อย แล้วเราก็เดินปึงปังขึ้นไปเปลี่ยนเสื้อในห้องชั้นบน เมื่อกลับลงมาก็พบว่าลูกสาวเรายังคงร้องไห้ไม่หยุด ไม่พร้อมที่จะไปโรงเรียน ในที่สุดก็พลาดรถโรงเรียน ภรรยาเราก็ต้องรีบออกไปทำงานทันที ดังนั้นเราจึงต้องรีบขับรถเพื่อจะพาลูกสาวเราไปส่งโรงเรียน
แต่เป็นเพราะเรากำลังสาย จึงเร่งขับรถด้วยความเร็วบนทางด่วน 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เกินกว่าพิกัดความเร็ว 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมงที่กฎหมายกำหนดไว้ สิ่งที่ตามมาก็คือ หลังจากเสียเวลาไป 15 นาที และค่าปรับอีก 500 บาท เมื่อมาถึงโรงเรียน ลูกสาวเราก็รีบกระโดดลงจากรถโดยไม่ร่ำลาเลยสักคำ
ส่วนตัวเราเองก็มาถึงที่ทำงานสาย 20 นาที ซ้ำร้ายกว่านั้น เราพบว่าตัวเองได้ลืมกระเป๋าทำงานไว้ที่บ้าน วันนั้นจึงเป็นวันที่แย่และเลวร้าย และดูเหมือนว่ามันยิ่งแย่ลงไปเรื่อยๆ จนทำให้เรารู้สึกอยากกลับบ้าน เมื่อกลับมาถึงบ้าน เราได้สัมผัสกับความหมางเมินของภรรยาและลูกสาวเรา ความสัมพันธ์ไม่เหมือนเดิม
ทำไม?  ทุกอย่างเกิดจากปฏิกิริยาของเราต่อเหตุการณ์เมื่อตอนเช้านั่นเอง เราลองมาสำรวจสาเหตุของวันที่แสนแย่นี้ด้วยกัน
ก. กาแฟเป็นต้นเหตุอย่างนั้นหรือ? หรือ
ข. ลูกสาวเราเป็นคนก่อเหตุใช่ไหม? หรือ
ค. ตำรวจเป็นสาเหตุของเรื่องหรือเปล่า? หรือ
ง. ตัวเราเองนั่นแหละ ทำให้เกิดเหตุการณ์ทั้งหมด?
 คำตอบคือ ข้อ ง.
เราไม่สามารถควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นกับกาแฟแก้วนั้นได้ แต่ปฏิกิริยาของเราใน 5 นาทีแรกนั่นเอง คือสิ่งที่ก่อให้เกิดวันเลวร้ายนั้น
ต่อไปนี้คือ สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้น
เมื่อกาแฟหกเลอะตัวเรา ลูกสาวเรากำลังตกใจและขวัญเสียจนจะร้องไห้ เราควรจะพูดด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนว่า “ไม่เป็นไรลูก ต่อไปขอให้ระวังมากกว่านี้ก็แล้วกัน” หลังจากนั้นรีบหาผ้าซับและไปเปลี่ยนเสื้อพร้อมหยิบกระเป๋าทำงาน เมื่อเราลงมาก็พบว่าลูกสาวเรากำลังขึ้นรถโรงเรียน เธอหันมาโบกมือลา ตัวเราเองก็ถึงที่ทำงานก่อนเวลา 5 นาที สามารถสนทนากับเพื่อด้วยอารมณ์เบิกบาน จนเจ้านายทักว่าคงเป็นวันที่ยอดเยี่ยมมากของเรา
เห็นความแตกต่างไหม? ความแตกต่างกันของ 2 เหตุการณ์ ที่มีจุดเริ่มต้นเหมือนกัน แต่จบต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ทำไม? เพราะทุกอย่างเกิดจากปฏิกิริยาของเราในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ เราไม่สามารถควบคุมเหตุการณ์ 10% นี้ที่เกิดกับเรา แต่อีก 90% ที่เหลือนั้นเราสามารถกำหนดได้
ลองนึกถึงเหตุการณ์ เรากำลังขับรถไปทำงานตอนเช้าในช่วงเวลาที่รีบเร่ง ทันใดนั้นมีรถคันอื่นมาปาดหน้าเราในระยะกระชั้นชิด เราจะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเหตุการณ์นี้อย่างไร เราอาจจะตกใจ สูญเสียสติในการควบคุมรถชั่วขณะ และประคองพวงมาลัยรถ ตั้งสติทำใจให้เย็นลงเพื่อระงับอารมณ์ที่ไม่พอใจของตนเอง หรือเราจะเหยียบคันเร่งตามจี้รถคันหน้า พยายามปาดหน้าเพื่อเอาคืน หรือพุ่งชนท้ายให้สะใจ แล้วได้รับผลที่จะตามมาจากเหตุการณ์ที่เราควบคุมไม่ได้ 10% ที่เกิดขึ้นตอนแรกลองนึกถึงอีกสักตัวอย่าง มีเพื่อนสักคนมาพูดถึงเราหรือวิพากษ์วิจารณ์เราไปในทางที่ไม่ดี ก็อย่าทำตัวเป็นฟองน้ำที่พร้อมจะซึมซับทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้ แต่ให้ตัวเราเป็นเสมือนกระจกที่เมื่อมีน้ำมากระทบก็จะไหลหยดผ่านไป เราต้องไม่ปล่อยให้การวิพากษ์วิจารณ์มามีผลกระทบต่อเรา การตอบสนองของเราในวิถีทางที่ไม่ถูกต้องจะทำลายความสุขของเราและส่งผลกระทบที่เลวร้ายตามมา อาจทะเลาะกับเพื่อน สูญเสียความเป็นเพื่อน
ตอนนี้ เรารู้เรื่อง กฎ 90/10 แล้ว นำกฎนี้ไปใช้แล้วเราจะประหลาดใจกับสิ่งดีๆที่ได้รับ
เราจะไม่เสียอะไรเลย ถ้าเราลองใช้กฎนี้  กฎ 90/10 นี่ยอดเยี่ยมมากเลย  มีคนจำนวนไม่มากที่รู้จักและนำกฎนี้ไปใช้
ผลล่ะเป็นอย่างไร?  คนหลายล้านที่มีปัญหาจากความเครียด การฟ้องร้อง ปัญหาต่างๆ และเรื่องกวนใจ  เราทั้งหมดต้องเข้าใจและนำกฎ 90/10 ไปใช้  กฎนี้สามารถทำให้ชีวิตของเราเปลี่ยนไปได้

********
Cr.Fwd.line

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น