วันอาทิตย์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2561

วิถีพระป่าฝรั่ง


#วิถีพระป่าฝรั่ง ศิษยานุศิษย์ชาวต่างชาติ ในสาย ของ หลวงปู่ชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี#

มีชาวต่างประเทศ จำนวนมาก ที่มีความเลื่อมใส ในพระธรรมคำสอน แล้ว มาบวชอยู่ศึกษาปฏิบัติธรรม เป็นศิษยานุศิษย์ ของ หลวงปู่ชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี จำนวนมาก

 โดย มีศิษย์ชาวต่างชาติสำคัญหลายรูป อาทิเช่น

พระราชสุเมธาจารย์ หรือ หลวงพ่อโรเบิร์ต สุเมโธ ท่านเป็นพระลูกศิษย์ชาวตะวันตกรูปแรกของพระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภทฺโท) แห่งวัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อพรรษาที่ 8 หลวงพ่อชาได้ส่งท่านให้ไปก่อตั้งวัดป่านานาชาติ ที่บ้านบุ่งหวาย จังหวัดอุบลราชธานี ได้ฝึกปฏิบัติตามแนวของหลวงพ่อชาเป็นเวลาถึง ๑๐ ปี หลังจากนั้นจึงได้รับเชิญจากมูลนิธิสงฆ์แห่งประเทศอังกฤษ (The English Sangha Trust) ให้เดินทางไปอยู่ที่ลอนดอน ร่วมกับคณะศิษย์ของหลวงพ่อชา อีก ๓ รูป  มูลนิธิสงฆ์แห่งประเทศอังกฤษมีจุดมุ่งหมายจะเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การฝึกพระภิกษุในประเทศตะวันตก โดยมีสำนักสงฆ์บ้านแฮมสเตด (The Hampstead Buddhist Vihara) ณ เมืองลอนดอนเป็นจุดเริ่มต้น สำนักสงฆ์แห่งนี้มีความเหมาะสมพอสมควร แต่คณะสงฆ์ก็เห็นข้อดีของการมีสิ่งแวดล้อมที่สงบกว่า เช่น บรรยากาศในชนบท จึงพยายามตั้งวัดป่าขึ้นในประเทศอังกฤษ และสร้างเสร็จในปี ค.ศ. ๑๙๗๙ (พ.ศ. ๒๕๒๒) โดยดัดแปลงบ้านที่ทรุดโทรมหลังหนึ่งในเวสต์ ซัสเซกซ์ (West Sussex) ในเวลาต่อมาสถานที่นี้จึงเป็นที่รู้จักกันในนามว่าChithurst Buddhist Monastery หรือวัดป่าจิตตวิเวก (Cittaviveka) นั่นเอง 

เมื่อมีวัดที่เหมาะสมขึ้นแล้ว คณะสงฆ์จึงเริ่มเติบโต มีจำนวนพระภิกษุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งเริ่มมีการฝึกคณะชี (Siladhara) มีทั้งผู้ที่ต้องการจะมาฝึกมาปฏิบัติในวัด และผู้ที่ต้องการจะถวายปัจจัยสนับสนุนวัด ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เป็นเหตุให้ต้องก่อตั้งวัดสาขาเพิ่มอีกหลายแห่ง ทั้งในอังกฤษ และประเทศอื่นๆ ขณะเดียวกันก็มีการจัดตั้งศูนย์กลางการสอนปฏิบัติธรรมขนาดใหญ่ขึ้น

ณ วัดอมราวดี (Amaravati Buddhist Monastery) ประเทศอังกฤษในปี ค.ศ. ๑๙๘๔ (พ.ศ. ๒๕๒๗) วัดแห่งนี้ต่อมาเป็นสถานที่

ที่พระอาจารย์สุเมโธพำนักอยู่เป็นส่วนใหญ่วัดอมราวดีตั้งอยู่ติดกับหมู่บ้าน  Great Gaddesden  ใกล้ๆ เมือง Hemel Hempstead ใน Hertfordshire ในวัดมีศูนย์ปฏิบัติกรรมฐานสำหรับผู้ที่สนใจจะศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้า ผู้มาเยี่ยมเยียนวัดสามารถขออนุญาตพักอยู่ที่ศูนย์ฯ ในฐานะแขกของวัดได้ ถ้าพร้อมที่จะใช้ชีวิตในชุมชนที่มุ่งฝึกพัฒนาคุณธรรม เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน และให้บริการช่วยเหลือผู้อื่น นอกจากนี้ วัดอมราวดียังได้ผลิตหนังสืออีกหลายเล่มจากคำสอนของพระอาจารย์สุเมโธ รวมทั้งเผยแพร่หนังสือเกี่ยวกับหลวงพ่อชา และครูอาจารย์อื่นๆ ทางพุทธศาสนา

-------------------------------------------------------------------------

พระภาวนาวิเทศ ( เขมธมฺโมภิกฺขุ ) เป็นพระภิกษุชาวอังกฤษ อุปสมบทในปี พ.ศ. 2515 ก่อนวันวิสาขบูชาเพียงไม่กี่วัน โดยมีหลวงปู่ชา สุภัทโท เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านได้เผยแผ่ธรรมในเรือนจำ จนได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากประเทศสหราชอาณาจักร

-----------------------------------------------------------------------------

พระอาจารย์ปสันโน เป็นพระภิกษุชาวแคนาดา อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดเพลงวิปัสสนา แขวงบางขุนศรี เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2517 ในพรรษาแรกนั่นเอง ท่านได้มีโอกาสฝากตัวเป็นศิษย์ของ หลวงปู่ชา สุภัทโท โดยการแนะนำของพระอุปัชฌาย์ของท่าน ได้พำนักที่ วัดหนองป่าพงและวัดสาขาอื่นๆ ตามโอกาสอันสมควร ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 ท่านได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ และได้ปฏิบัติหน้าที่นี้เป็นเวลา 15 ปี

......... จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2539 ในปี พ.ศ. 2540 พระอาจารย์ปสันโน ได้สละ ตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดป่านานาชาติ เพื่อมาก่อตั้ง วัดป่าอภัยคีรี และ เป็นเจ้าอาวาส ร่วมกับ พระอาจารย์อมโรภิกขุ พระอาจารย์ปสันโน ได้รับแต่งตั้ง เป็น พระราชาคณะ ชั้นสามัญ ที่ " พระโพธิญาณวิเทศ " เมื่อวันที่ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ พระอาจารย์อมโร ได้รับแต่งตั้ง เป็น พระราชาคณะ ชั้นสามัญ ที่ " พระวิเทศพุทธิคุณ " เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ )

------------------------------------------------------------------------------

พระอาจารย์ฌอน ชยสาโร เป็นพระภิกษุชาวอังกฤษ ท่านอุปสมบทในปี พ.ศ. 2523 ที่วัดหนองป่าพง โดยมีหลวงปู่ชา สุภัทโท  เป็นพระอุปัชฌาย์ ปัจจุบัน พำนัก ณ สถานพำนักสงฆ์ จังหวัดนครราชสีมา

----------------------------------------------------------------------

พระอาจารย์ถิรธัมโม (Tiradhammo) เจ้าอาวาส วัดโพธิญานาราม (Bohinyanarama) ประเทศนิวซีแลนด์ เป็นหนึ่งในชาวตะวันตกที่เกิดในประเทศแคนาดา ปี พ.ศ. 2492 และในขณะศึกษาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ก็พบว่าไม่ได้ทำให้ท่านมีความสุขที่แท้จริง จึงออกแสวงหาความหมายในชีวิตเมื่อสี่สิบกว่าปีก่อน ท่านเคยกล่าวไว้ว่า...

"ขณะเรียนวิชาธรณีวิทยา ตอนนั้น อาตมาเห็นความไม่มั่นคงในอิฐ หิน ดิน ทราย และความเสื่อมที่เกิดดับอยู่ทุกขณะ ทำให้ตัดสินใจละการศึกษาในมหาวิทยาลัย แล้วออกแสวงหาความหมายที่แท้จริงของชีวิต ด้วยการขี่จักรยานจากปากีสถานมายังศรีลังกา ปฏิบัติสมาธิภาวนากับ Bhikkhu Sivoli และศึกษามหาวิทยาลัยชีวิตไปจนถึงประเทศอินเดีย แล้วเดินทางมาบวชอยู่ทางเหนือในประเทศไทย"

กระทั่งได้ยินชื่อหลวงปู่ชา สุภัทโทจึงออกตามหาไปถึงวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานีในปี 2518 หลังจากนั้น ชีวิตใหม่ของท่านก็เริ่มต้นที่นี่ ในช่วง 35 พรรษาแรก ท่านได้รับนิมนต์ไปช่วยงานก่อตั้งวัดป่าสาขาหนองป่าพง ในประเทศอังกฤษ 5 ปี รักษาการเจ้าอาวาสวัดป่าที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นระยะเวลาประมาณ 18 ปี .ในพรรษาที่ 36 จนถึงปัจจุบัน ท่านได้รับนิมนต์มาเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิญานาราม กรุงเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ และเตรียมเกษียณตัวเองในเร็ววันเพื่อที่จะธุดงค์ไปทั่วโลก

เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2555 เป็นวันละสังขารของหลวงปู่ชา ท่านได้กลับมาอาจาริยบูชาที่วัดหนองป่าพง และรับนิมนต์ไปบรรยายธรรมที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ กรุงเทพฯ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน เราจึงขอน้อมนำธรรมะที่ท่านฝากไว้ให้กับชาวไทยมาแบ่งปันกัน ในวันที่โลกกำลังร้อนรุ่มไปด้วยกิเลสตัณหา และมนุษย์โลกกำลังจะละทิ้งความสุขทางใจไปบูชาเงินยิ่งกว่าสิ่งใด

พระอาจารย์ธีระธัมโมบอกว่า ลิ้นท่านขึ้นสนิมแล้ว เพราะอยู่ต่างประเทศนาน แต่ธรรมที่ออกมาจากการปฏิบัติของท่านนั้น คมกริบ พร้อมตัดกิเลสอาสวะที่นอนเนื่องในจิตได้อย่างฉับพลันทันที อาจเป็นแรงบันดาลใจให้ระลึกถึงพระธรรม ขุมทรัพย์ที่เรามีอยู่ และหันกลับมาขุดกันเพื่อดับความร้อนทางใจก่อนที่โลกจะลุกเป็นไฟมากไปกว่านี้

รับรส "อุบาย" หลวงปู่ชา สุภัทโท

พระอาจารย์ถิรธัมโม เล่าว่า ท่านมีประสบการณ์ทางพุทธจากมหาวิทยาลัย จากการอ่านหนังสืออย่างเดียวที่แคนาดา เรื่องฝึกจิต ต้องไปประเทศอื่น ท่านก็ไปอินเดีย แล้วก็มาเมืองไทย มีคนหนึ่งบอกว่า มีอาจารย์กัมมัฏฐานหลายองค์ ปัญหาอันหนึ่งคืออาจารย์กัมมัฏฐาน ท่านไม่ได้พูดภาษาอังกฤษ พระอาจารย์ต้องอาศัยหนังสืออ่าน ตอนหลังมีข้อสงสัยเกิดขึ้น เมื่อได้อ่านหนังสือของหลวงพ่อชาที่ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ อ่านแล้วรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องของศาสนาพุทธ แต่เป็นเรื่องของการฝึกจิต

การฝึกจิต คือ เราควรจะนอนกี่ชั่วโมงในเวลากลางคืน เมื่อได้พบหลวงพ่อชาในภายหลัง ได้ถามท่านว่า ในพระไตรปิฎกบอกว่า นอนสี่ชั่วโมง แต่ความจริงแล้วเราควรจะนอนเท่าไร ท่านตอบว่า แล้วแต่โยมนะ อาตมาก็เลยมีกำลังใจในการปฏิบัติคำสั่งสอนของหลวงพ่อชา เป็นคำสั่งสอนที่มีปัญญามาก ไม่ใช่คำสอนที่ออกจากหนังสือ แต่เป็นคำสอนที่ออกมาจากปัญญาจริงๆ ให้รู้กาย รู้ใจ

พระอาจารย์เดินทางมาอยู่ที่เชียงใหม่ 3 ปี แล้วก็ไปอุบลราชธานี เพื่อพบหลวงพ่อชา ที่วัดหนองป่าพง ตอนที่ไปถึงครั้งแรก มาถึงแล้วมืดแล้ว ก็พยายามถามคนว่า วัดหนองป่าพงอยู่ที่ไหน ทุกคนก็รู้จัก เขาก็บอกว่า ให้ไปทางโน้น พอดีมืด เขาเลยเอาขึ้นรถมาส่งที่วัด มาถึงหน้าประตู มีคนเฝ้าประตู ชื่อพ่อทิพย์ ตาบอด

หลวงปู่ชา สุภัทโท ท่านมีอุบายสอนคนหลายอย่าง ให้คนตาบอดมาเฝ้าประตู เขาไม่เห็นรถ เราเข้ามาแล้ว เขาก็พยายามพูดกับอาตมา อย่ามาที่นี่มืดๆ ประตูปิดแล้ว อาตมาก็ขออภัย ไม่รู้ภาษา ก็ถามเขาว่า หลวงปู่ชาอยู่ไหน เขาก็ชี้ไปทางนั้น ในป่า อาตมาก็เดินไปชนต้นไม้ ไม่มีไฟฉาย ลืมไปว่า เขาตาบอดไม่ต้องใช้ไฟฉาย

"วันนั้นไม่มีพระฝรั่งสักคนหนึ่ง พอพบหลวงพ่อชา ท่านพูดคำเดียว เป็นภาษาอังกฤษว่า sleep แต่ไม่มีที่นอน อาตมาต้องนอนข้างนอกกุฏิ แต่อาตมาก็รู้สึกว่า เข้าวัดป่าพงแล้ว อยู่ตรงไหนก็รู้สึกสบายใจ อย่างหนึ่งอาตมาเคยอ่านพระสูตรในสมัยพุทธกาล พระก็อยู่ป่า อยู่กุฏิในป่า ที่วัดหนองป่าพงเหมือนในสมัยพุทธกาลเลย"

หลวงพ่อชา พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่รู้จักภาษาธรรมะ ท่านสอนด้วยการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ไม่พูดมาก เรื่องพุทธ หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องโบราณ หลวงพ่อชาเป็นตัวอย่างให้เราเห็นความทันสมัย ไม่ใช่สมัยพระพุทธเจ้าอย่างเดียว ตอนนี้ทั่วโลกกำลังสนใจพุทธศาสนา หลายแนว

บางคน ได้เคยฝึกโยคะ เขาเห็นว่า ทำสมาธิได้สุขภาพที่ดีขึ้น หัวใจสบาย สุขภาพดีขึ้น บางคนเข้าใจปัญหา และมีทางออก สมัยนี้ คนต้องเรียนหนังสือมากๆ เพื่อให้ได้อาชีพ เรียนมากๆ ก็คิดมากๆ ไปเรียนมหาวิทยาลัย เรียนเรื่องคิดมาก ให้ปรุงแต่ง มหาวิทยาลัยเขาไม่ได้สอนวิธีระงับความคิด

"อาตมาก็เหมือนกัน อ่านหนังสือกลางวัน กลางคืนปรุงแต่งไม่หยุดเลย แต่นั่งสมาธิทำให้จิตสบาย ตอนฝึกที่เมืองไทย คิดว่า ฝึกจิตเดือนหนึ่ง ตรัสรู้แล้วจะกลับบ้าน พอฝึกไปเดือนหนึ่ง ยังไม่ตรัสรู้ ก็ขอต่ออีกเดือนหนึ่ง ผ่านไป 9 ปี ก็ต้องเรียนต่อไปอีก อาจจะต้องหลายชาติก็ได้ อยู่เมืองนอกก็พยายามฝึก เพราะอยู่ประเทศไทยฝึกง่าย ไทยเป็นประเทศสวรรค์ของพระ ไปที่ไหน คนไทยถวายปัจจัยสี่ให้เรียบร้อย อยู่ต่างประเทศ คนมองเราแปลก เอาบาตรไปเดินตามถนน เขาคิดว่าเราจะตีกลอง เขาเห็นเราแปลกประหลาด"

หลังจากนั้น ได้รับนิมนต์ไปสวิตเซอร์แลนด์ เดินบิณฑบาต 3 ปี ได้อาหาร 3 ครั้ง ครั้งแรก เป็นคนมาที่วัด อีกคนเป็นชาวฝรั่งเคยบวชที่เมืองลาว อีกคนเป็นชาวอังกฤษ พระอาจารย์เดินบิณฑบาต เขาถามว่าทำอะไร ท่านบอกว่า กำลังขออาหาร เขาบอกว่า เดี๋ยวก่อน รอก่อน แล้วก็ไปเอาแอปเปิลมาใส่บาตรให้ แต่ท่านไม่ได้อดนะ ในสวิตเซอร์แลนด์มีคนไทยหลายคน เขาก็มาวัดเสาร์อาทิตย์ เอาอาหารมาไว้ในวัด แล้วท่านก็ไปบิณฑบาตที่โรงครัว

"อาตมาเคยไปเดินธุดงค์ในประเทศไทย กับชาวเขาที่เชียงใหม่ ไปเดินบิณฑบาต อาตมาพูดกับชาวเขาไม่ได้ ใช้ภาษามือ ทำมือเอาอาหารเข้าปาก เขาเป็นคนฉลาด เขาก็เอาอาหารให้ ในเมืองนอก บางครั้งต้องสู้กับหิมะ บางที่มีพระบิณฑบาตกลางหิมะ ต้องใส่รองเท้าบูต อยู่เมืองไทย ใส่รองเท้าไม่ได้ เราต้องสู้กับสิ่งแวดล้อม ต้องมีความอดทนคือ อยู่เมืองไทยอดทนความร้อน อยู่เมืองนอกอดทนความหนาว แต่ตอนนี้ที่เราต้องต่อสู้มากที่สุดคือวัตถุนิยม"

ศาสนา VS วัตถุนิยม

หลวงปู่ชา สุภัทโท สังเกต เมืองไทยมีวัตถุสิ่งของ มันเจริญมาก ไม่มีที่สิ้นสุด วัตถุนิยม ไม่ได้สอนให้จิตใจสบายที่สุด แต่ให้เราสบายชั่วคราว เพราะมีความสุขจากของต่างๆ แต่ถ้าของต่างๆ พังไปจิตใจจะเป็นอย่างไร

ศาสนาวัตถุนิยมไม่ได้สอนไว้ อย่าง ตอนนี้มีไอโฟนห้า คนที่มีไอโฟนสี่ ก็ไม่สบายใจแล้ว ต้องเอาเครื่องไปเปลี่ยนใหม่ เมืองนอกไม่มีคำสอนที่ให้จิตใจสบาย นอกจากวัตถุนิยมอย่างเดียว คนไม่รู้จักอย่างอื่น เขาไม่รู้ว่า ความสงบเป็นอย่างไร จะฝึกปฏิบัติอย่างไร ถ้าเราไปตามวัตถุนิยมมากเกินไปจะเจอโทษ เพราะหลายคนไม่รู้จักลักษณะของจิตจริงๆ เวลามีอารมณ์อะไรเกิดขึ้น เช่นไม่สบายใจ ถ้าไม่รู้จักลักษณะของอารมณ์ว่ามันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็จะทุกข์กับมัน

"เราจะสอนกัมมัฏฐานให้ชาวตะวันตกยากหน่อย เพราะเขาติดอารมณ์ เวลานั่งสมาธิสบายหน่อย แล้วพอความสบายหายไป เขาก็ไม่เอาแล้ว"

วิปัสสนากัมมัฏฐานมีหลายแนว มีอุบายมาก อาตมามาอยู่กับหลวงปู่ชา สุภัทโท อยากจะได้อุบายกับท่าน อะไรปฏิบัติแล้ว เร็วที่สุด ดีที่สุด ท่านไม่ให้ บอกว่า ไม่มี (หัวเราะ) ท่านก็มีปัญญารู้ คนสมัยนี้ อยากจะได้อะไรไวๆ มันเป็นกิเลส มันเป็นความโลภ ไม่ใช่เรื่องของพระธรรม

หลวงปู่ชา สุภัทโท ไม่ให้วิธีลัด แต่ท่านมีวิธีที่จะให้มีความสงบ คือปล่อยวางอารมณ์ต่าง และต้องปล่อยวาง ความปล่อยวางด้วย ตอนแรกท่านให้ยึดอารมณ์ความดี ทำความดีก็ให้ยึดอันนี้ไว้ก่อน ให้จิตได้มีอะไรยึด ตอนหลังท่านสอนให้เรารู้จักอารมณ์ในการฝึกจิตด้วย ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่ดี หรืออารมณ์ไม่ดี เราก็ต้องปล่อยวางทั้งสอง

"การปฏิบัติเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง เรามีหน้าที่รดน้ำเท่านั้น ส่วนการเจริญเติบโตเป็นเรื่องของเขา ตอนนี้ สาขาของวัดหนองป่าพง ขยายไปทั่วโลก หลวงพ่อสุเมโธก็ปลดเกษียณแล้ว อาตมาก็จะปลดเกษียณเหมือนกัน แล้วจะธุดงค์ไปทั่วโลก การธุดงค์สมัยนี้ไม่ใช่อาศัยเดินอย่างเดียว อาตมามีมือถือ รู้จักวัดสาขาหนองป่าพงทั่วโลก จะไปออสเตรเลีย แคนาดา ก็คงไม่อดข้าว"

-----------------------------------------------------------------------

พระอธิการเฮนรี่ เกวลี ชาวเยอรมัน เจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ(สาขาวัดหนองป่าพง) อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

ชาวตะวันตกส่วนใหญ่ มักจะเริ่มจากแนวคิดทั่วไปเกี่ยวกับพุทธศาสนา เกี่ยวกับการนั่งสมาธิ ซึ่งเป็นวิธีในการทำให้จิตใจสงบ ไม่มีความเครียดในชีวิต ผ่อนคลาย และหนึ่งในสิ่งที่งดงามคือ การพบพุทธศาสนา เราได้รับสารว่า ให้หยุดพักชั่วครู่ อยู่กับตัวเอง

เหมือนกับเวลาที่คนมาที่นี่ เขาได้ตระหนักว่า นอกจากการทำสมาธิโดยเฉพาะในพุทธศาสนานิการเถรวาทได้เกิดปัญญามหาศาลซึ่งสามารถนำมาใช้ในชีวิต และสำหรับพวกเราหลายคน มันเป็นสิ่งที่มีเหตุผล ทำให้พวกเราคิดได้ทันทีว่านี่แหละสิ่งที่พวกเรากำลังมองหา

เพราะคำสอนต่างๆนั้น ถูกจุด ตรงประเด็น ไม่มีอะไรที่ลึกลับรู้กันในวงจำกัด คือไม่มีสิ่งที่ปิดบังซ่อนเร้น ไม่มีสิ่งที่แปลกประหลาดในนั้น

เหมือนกับสิ่งที่หลวงพ่อชาสกัดออกมา พูดถึงหลวงพ่อชา หลวงปู่มั่น พวกท่านต่างเพ่งไปที่แก่นของคำสอน เช่น อริยสัจ 4 หรือไตรลักษณ์ การลดความเครียด การหยุดพักชั่วคราว การมีสติ การระลึกรู้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นและการค้นพบตัวเอง นั่นเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนชอบในพุทธศาสนา

เราต้องการเกิดปัญญาด้วยตัวเราเอง และพุทธศาสนาก็เป็นคำสอนแห่งปัญญาในทางหนึ่งเรามาที่นี่และรู้สึกถึงความสงบ ความผ่อนคลายของผู้คนในวัดแห่งนี้ เหมือนกับคนทั่วไปในประเทศไทย

ทำให้เรารู้สึกค่อนข้างประทับใจและเกิดแรงบันดาลใจและก็มีหลายสิ่งที่ทำให้เราประทับใจอย่างมาก นั่นคือความโอบอ้อมอารีของคนไทย คนไทยชอบทำบุญ ให้การต้อนรับชาวต่างชาติเป็นอย่างดี ต้อนรับพวกเราต่างชาติที่แบคแพคมา ที่มาเที่ยวชายทะเล เชียงใหม่ หรือแม้แต่มาที่อุบล มายังพุทธศาสนา ไม่รู้สึกว่ามีอคติ ผู้คนทั้งหลายแค่รู้สึกมีความสุขมากๆที่เห็นเรามา และทำให้เห็นได้ว่าพวกเขามีความสุขจริงๆ พวกเขาช่างเป็นมิตรและทำไมถึงใจดีอย่างนี้

แล้วเมื่อออกไปบิณฑบาต ก็มักจะมีชาวต่างชาติที่มาที่วัด ติดตามพระสงฆ์ออกไปบิณฑบาตในตอนเช้าด้วย และพวกเขามักจะรู้สึกซาบซึ้งประทับใจ ได้เห็นเด็กน้อยได้เห็นผู้เฒ่า ผู้แก่ที่ทางประเทศตะวันตกมักจะไม่ค่อยได้เห็นกัน เพราะมักจะไปอยู่บ้านพักคนชราหรือโรงพยาบาลกัน แต่ที่นี่เขาอยู่ร่วมกันในหมู่บ้าน ในเมือง ออกมาเจอกันแล้วก็ได้เห็นการให้ความเคารพ อย่างเด็กน้อยที่พูดว่า นั่งลง นั่งลง ไหว้พระเร็ว นั่นเป็นเรื่องที่ทำให้รู้สึกซาบซึ้งประทับใจจริงๆ แต่ความรู้สึกอบอุ่นแบบครอบครัวที่เราเห็นที่เมืองไทยมันทำให้เราบางคนรู้สึกอิจฉาคนไทยจริงๆ ที่มีแบบนั้นในขณะที่ทางตะวันตกมันสูญหายไปแล้ว

แน่นอนว่าชาวต่างชาติที่มาที่นี่นั้นต่างเป็นลูกชายจากครอบครัวที่ดี ไม่ใช่แค่คนที่หลีกหนีความวุ่นวายมา แต่ยังมีคนที่รู้สึกซาบซึ้งกับวัฒนธรรมของพุทธศาสนาที่เราได้เรียนรู้มาด้วย

สิ่งหนึ่งในนั้นแน่นอนว่าคือปรัชญา คำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งชัดเจนแจ่มแจ้ง อาตมาได้ศึกษาจากตำรามาบ้าง พวกเราชาวต่างชาติได้มีโอกาสอ่านพระสูตรที่ขายอยู่ในร้านหนังสือ อย่างไปฝรั่งเศส ไปร้านหนังสือ ก็สามารถซื้อหนังสือเกี่ยวกับคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ พอได้อ่านแล้วก็รู้สึกได้แรงบันดาลใจ จากนั้นก็รู้ว่า พระทำสมาธิ ชาวพุทธทำสมาธิ พวกเขาใช้ชีวิตอย่างสงบสุข อาศัยอยู่ในสถานที่อย่างหลังคาโลก แล้วก็เกิดอยากทำบ้าง

แล้วประการที่สามคือ จากนั้นก็ได้ค้นพบว่า โอ้ ความเป็นพุทธนี้อยู่ที่นี่ ผู้คนมาที่อุบล หรือมาเมืองไทย แล้วก็เห็นความงดงาม เห็นผู้คนที่นี่ให้ความเคารพกับศาสนา กับพระสงฆ์ เห็นความโอบอ้อมอารี ทั้งหมดทั้งปวงนี้ทำให้เราฉุกคิดว่า เราได้ทำอะไรมาบ้าง ซึ่งอาจจะไม่ค่อยมีคุณค่านัก หรืออยากจะเปลี่ยนชีวิต

นั่นคือเหตุผลว่าทำไมพวกเราชาวต่างชาติถึงมาที่นี่
****
cr.facebook

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น