ภาพจากอินเตอร์เนต
*************
วันอังคารที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สำนักพระราชวังกราบนิมนต์พระอาจารย์ ฌอน ชยสาโร มาแสดงธรรมเทศนา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา เป็นครั้งที่ ๒
ครั้งนี้ท่านไม่ต้องแนะนำตัวและเล่าประวัติการบวชของท่าน เพราะได้เล่าไปในครั้งที่แล้ว จึงมุ่งเข้าสู่เนื้อหาของการเทศน์ครั้งนี้ นั่นคือการสอนให้รู้จักศึกษาจิตและรู้เท่าทันโลกธรรม
ท่านเริ่มว่า นักวิทยาศาสตร์อิสราเอลได้เก็บข้อมูลผลการพิจารณาคดีของพวกผู้พิพากษา ผลการวิจัยพบว่า ในช่วงเวลา ๑๑.๐๐ น. - ๑๒.๐๐ น. ผู้พิพากษาจะตัดสินให้จำคุกผู้ต้องหาเป็นระยะยาวกว่าการตัดสินในช่วงเวลา๑๓.๐๐ น. - ๑๔.๐๐น. เหตุผลก็คือตอนบ่ายผู้พิพากษาได้รับประทานอาหารแล้ว
แต่ถ้าไปถามบรรดาผู้พิพากษา ท่านก็จะบอกว่าไม่เกี่ยวกันเลย ท่านตัดสินไปตามหลักเหตุผล
ตัวอย่างเช่นนี้พบบ่อยในผู้ที่เชื่อมั่นในตนเอง ประหนึ่งว่าสมองของตนสามารถแยกอารมณ์ออกไปจนเหลือแต่เหตุผลล้วนๆ ซึ่งที่จริงแล้วไม่ใช่ ทำนองเดียวกับแพทย์ที่จ่ายยาโน้มเอียงไปทางบริษัทยาที่สนับสนุนตนนั่นเอง
ถ้าเราไม่สนใจศึกษาด้านในของชีวิต จิตของเราจะถูกหลอกได้ง่าย ผู้ที่เรียนจบทางจิตวิทยามักไปทำงานด้านโฆษณา เพื่อชักจูงจิตให้คนบริโภคสินค้าของเขา ดังนั้นผู้ไม่เคยภาวนา ไม่เคยเห็นจิตของตนเอง จะถูกหลอกได้ง่าย
จิตที่รู้จักความเป็นกลางและเหตุผลเป็นจิตที่มีประโยชน์มาก
เราต้องพิจารณาเจตนาที่อยู่เบื้องหลังเหตุผลด้วย หลายกรณีเราทำไปด้วยอารมณ์ แล้วมาหาเหตุผลหักล้างทีหลัง ที่เถียงกันไม่จบบางครั้งก็เป็นเพราะอัตตา ศักดิ์ศรี ความยึดมั่นถือมั่น ทิฐิ ซึ่งเป็นปัญหาของทุกองค์กร
บางคนเชื่อมั่นในทฤษฎีของตนเองมาก ถ้าใครมาค้านก็รู้สึกเหมือนถูกคุกคาม รู้สึกไม่พอใจ
แม้ในประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์เอง พวกนักวิทยาศาสตร์ที่มีความคิดใหม่ๆก็มีอุปสรรคเพราะถูกต่อต้านจากนักวิทยาศาสตร์รุ่นเก่า คือแม้ว่าวิทยาศาสตร์จะมีเหตุผลก็ยังมีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องตลอดเวลา
การศึกษาต้องศึกษาทั้งภายนอกและภายใน พระพุทธเจ้าสอนว่า ผู้ที่สนใจศึกษาแต่ด้านนอกไม่สนใจศึกษาจิตใจของตนเองนั้นไม่ถูกต้อง ส่วนพวกที่นั่งสมาธิอย่างเดียว ละเลยครอบครัวและสังคม ก็เหมือนตาบอดข้างหนึ่งเช่นกัน
กล่าวคือต้องศึกษาทั้งสองด้านไปพร้อมกัน
ท่านเคยไปต่างประเทศ ไปพบพระมหายาน เขาดูถูกพวกหินยานหรือเถรวาทว่าเป็นพวกเห็นแก่ตัว เอาตัวรอดไปตามลำพัง ส่วนพวกเขานั้นมีเมตตา ช่วยโปรดสัตว์ พวกเถรวาทสนใจแต่ทุกข์ยากของตนเอง
แต่ท่านเห็นว่าเถรวาทก็ช่วยทั้งตนเองและผู้อื่นไปพร้อมกัน
ถ้าเราไม่วางความยึดมั่นถือมั่น แม้จะมีอุดมการณ์ที่จะทำเพื่อสังคมหรือประเทศชาติ เมื่อไปทำงานกับผู้ที่คิดเห็นไม่ตรงกันก็จะมีปัญหาทันที โดยเฉพาะผู้ที่หวั่นไหวในโลกธรรม เห็นสรรเสริญเป็นสวรรค์นินทาเป็นนรก จะมีจิตใจเข้มแข็ง ทำงานให้สม่ำเสมอได้อย่างไร
บางคนเป็นคนดี บริสุทธิ์ใจแท้ ต้องการทำดี แต่กลับถูกมองว่าอยากเด่น อยากได้คนดีที่จิตใจอ่อนแอ ก็อาจเลิกทำดีเพราะน้อยใจ สิ่งนี้เกิดเพราะขาดการพัฒนาด้านใน
การถูกตำหนินินทาว่าร้ายนั่นไม่มีใครพ้นไปได้ แม้พระอรหันต์ เช่นพระสารีบุตร พระโมคคัลลาน์ ก็โดนตำหนิมาแล้วทั้งนั้น พระมหากัสสปะผู้เป็นเอกด้านธุดงควัตร ก็ยังโดนนินทาได้
เรื่องมีว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าพาสาวกจำนวนมากไปจำพรรษาในวัดใกล้ที่เกิดของพระมหากัสสป เมื่อออกพรรษาจะเสด็จธุดงค์จึงทรงปรารภจะให้สาวกสักรูปหนึ่งอยู่ต่อเพื่อดูแลวัด ทรงดำริว่าพระมหากัสสปเหมาะสม เพราะเป็นคนท้องถิ่นและรู้จักคนมาก
ก็ยังมีพระบางรูปนินทาว่า พระมหากัสสปสบายล่ะสิคราวนี้ ญาติมาทุกวันคงได้ลาภสักการะเยอะ สรุปว่าพระดีๆอย่างนี้ก็ยังโดนนินทา ดังนั้นพวกเราเองก็เป็นธรรมดาที่จะถูกนินทา
คนดีที่จะมีแต่คนชื่นชมล้วนๆนั้นเป็นไปไม่ได้
คนชื่นชมอาจแบ่งได้เป็น 5 พวก คือ
1. พวกที่อนุโมทนาด้วยใจจริง
2. พวกประจบ
3. พวกเฉยๆ
4.พวกอิจฉา คิดว่าเขาทำไปเพราะอยากมีชื่อเสียง
5.พวกไม่พอใจหรือโกรธ เพราะไปขัดประโยชน์ของเขา
คนเราส่วนใหญ่มักสร้างภาพลักษณ์ตนเองให้ใครๆคิดว่าเป็นคนมีเหตุผล อยากให้คนเคารพตน แต่บางครั้งจิตใจก็ยังอยากทำอะไรที่ไม่ดี ทำแล้วมาอ้างว่าไม่มีทางเลือก หรืออยู่ในสังคมอย่างนี้ต้องทำแบบนี้ เป็นเรื่องธรรมดาหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นเหตุผลที่คนชั่วใช้หลอกตนเอง
ถ้าทุกคนในสังคม ยอมรับเขาก็เคารพตนเองต่อไป แต่ถ้ามีใครสักคนที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกันแต่ไม่ยอมทำชั่ว เพราะมีทางเลี่ยงหรือทางเลือก คนที่หาข้ออ้างทำชั่วนั้นก็จะไม่พอใจ
ดังนั้นคนดีอย่าไปคาดหวังให้คนเห็นความดีของเราหรือชื่นชมเรา ถ้าเราไม่คาดหวัง เราก็อยู่กับโลกได้ การศึกษาโลกธรรมก็คือการศึกษาความเป็นมนุษย์ของเรา โลกธรรมไม่ได้อยู่ภายนอก แต่อยู่ที่ใจ เมื่อปัญหาอยู่ที่ความรู้สึก เราก็ต้องรับผิดชอบดูแลจิตใจของเราเอง
ทางพุทธศาสนาเราแยกเป็นเหตุและปัจจัย เช่นเราปลูกต้นไม้ ต้นไม้เป็นเหตุ ดินและปุ๋ยเป็นปัจจัย ปัจจัยไม่สำคัญเท่าเหตุ
เรามักใช้ภาษาในทางกล่าวโทษผู้อื่นว่าเป็นผู้ทำให้เราเกิดทุกข์ เช่น เขาทำให้ฉันเสียใจ เขาทำให้ฉันผิดหวัง นั่นเป็นการดูถูกตนเอง เพราะให้อำนาจคนอื่นมากไป
ใครว่าเราเป็นคนไม่ดีหักหลัง เบียดเบียนคนอื่น เขาจะเป็นเหตุให้เราทุกข์ได้ไหม ไม่ได้หรอก เพราะเขาเป็นเพียงปัจจัย เราจะทุกข์หรือไม่อยู่ที่เราเอง
คนอื่นทำให้เราลำบากกายได้แต่ไม่มีใครบังคับให้เราทุกข์ใจได้ ใครจะทุกข์ต้องมีตัณหามาผสม คนธรรมดาโดนแกล้งจะทุกข์ใจ แต่พระอรหันต์ท่านไม่ทุกข์
เราจะคาดหวังว่าจะอยู่ในสังคมที่ดี มีแต่ความยุติธรรมนั้นไม่มีหรอก วัดยังไม่มีเลย แต่ถ้าเราฝึกจิตของเราเองแล้วจะหายเครียดและรับมือได้ทุกสถานการณ์
ท่านเล่าว่า เมื่อปี 2521 ท่านอยู่ที่วัดในอังกฤษกับท่านสุเมโธใหม่ๆ มีชาวอังกฤษมาสนทนา ก็ถามอย่างไม่เกรงใจว่า ท่านสุเมโธถือศีล จะต้องไม่เบียดเบียนใครเป็นอันขาดใช่ไหม ท่านสุเมโธก็ว่าใช่ ชาวอังกฤษคนนั้นถามว่า แล้วถ้ามีคนร้ายถือมีดมาจะฆ่าโยมแม่ของท่านล่ะ ท่านจะทำอย่างไร จะยอมให้เขาทำร้ายโดยไม่ยอมผิดศีล อยู่เฉยๆ แผ่เมตตาหรือ
ท่านสุเมโธได้ตอบคำถามนี้ ซึ่งทำให้ท่านชยสาโรประทับใจมากว่า จะบอกล่วงหน้าไม่ได้หรอก แต่อาตมามั่นใจว่า ถ้าตั้งสติให้ดีอาตมาจะทำสิ่งที่ดีที่สุดในเวลานั้นได้ ท่านเชื่อว่าอยู่ที่การดำรงจิตและสติให้มั่น อะไรจะเกิดเราไม่รู้ล่วงหน้า ไม่รู้ปัจจัยต่างๆ แต่ถ้าเราฝึกจิตของเราให้รู้เท่าทัน เราก็จะรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นฉับพลันได้
และปัญหาเฉพาะหน้านี่แหละจะเป็นเครื่องทดสอบว่าใครเป็นผู้มีปัญญาจริง
การรู้เท่าต้องรู้ทุกแง่มุม ถ้ารู้ไม่เท่า จิตใจจะหยาบ ไม่ประณีต มีความรู้สึกชอบไม่ชอบมาบังคับการคิดพิจารณา เช่น คนใดที่เราชอบ เรามักจะมองไม่เห็นข้อเสีย คนใดเราเกลียด ก็จดจ่อในข้อเสียของเขา ยากที่จะยอมรับความดี
ความละเอียดในการพิจารณาจะเกิดในจิตใจที่เหนืออารมณ์ ในจิตที่เป็นกลางไม่ยินดียินร้าย
ท่านเปรียบเทียบถึงการผ่าตัดในสมัยก่อนว่ายังไม่มียาชายาสลบก็ผ่าไม่ได้ เพราะคนไข้ไม่นิ่ง แต่พอมียาสลบก็สามารถผ่าเป็นชั่วโมงๆได้ ทำนองเดียวกับการฝึกสมาธิ ก็เป็นการระงับการดิ้นรนของอารมณ์ ความรัก ชัง และความลำเอียงซึ่งเป็นสิ่งที่คนเห็นได้ยาก
การฝึกสมาธิต้องการให้จิตตื่นรู้อยู่ในปัจจุบันและด้วยความรู้ตัว ไม่ใช่เคลิ้มๆสบายๆ อย่างนั้นคือมิจฉาสมาธิ แต่ก็คลายเครียดได้
คำว่าพุทธะแปลว่าตื่น มีคำเดียวกันนี้ในรัสเซีย แปลว่านาฬิกาปลุก แต่ของเราคือสติปลุก สมาธิต้องรู้ตื่น เบิกบาน หนักแน่น มั่นคง และนุ่มนวล
ฟังดูเหมือนจะคนละเรื่องกัน แต่ผู้ทำสมาธิจะเข้าใจ ถ้าจิตขี้เกียจสบาย ยังไม่ใช่สมาธิ
ต้องอยู่ในบริบทของไตรสิกขา คือศีล สมาธิ และปัญญา
พุทธศาสนาไม่ใช่จะยกเลิกความคิด เพราะความคิดเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่ต้องดูว่าคิดอะไรบ้าง ตั้งแต่เช้าจนถึงเข้านอนเราคิดสิ่งที่มีประโยชน์กี่เปอร์เซ็นต์ เข้าใจว่าส่วนใหญ่คือ 90% มักเป็นขยะสมอง
ความคิดไม่ใช่ศัตรู แต่ถ้าทำให้ซึมเซา บ่อนทำลายการงาน เปรียบเหมือนห้องที่มีเฟอร์นิเจอร์รกมากไป ถ้าเอาออกให้พอดีก็จะดี เหมือนสมองที่มีอะไรรกรุงรัง เมื่อทำสมาธิแล้ว สมองก็จะมีที่ว่าง
จิตมีคุณสมบัติที่จะใช้พลังจิตเพื่อให้เกิดปัญญารู้เห็นความ เป็นจริง สามารถสร้างความสุขและประโยชน์ส่วนรวมได้เต็มที่ การฝึกจิตจึงสำคัญมาก จริงหรือไม่ ต้องฝึกจึงจะรู้
ผู้ที่จะพิสูจน์ได้คือคนที่ยอมฝึกตนให้กายวาจาใจหนักแน่นมั่นคง บางคนถูกใจแต่ไม่ถูกต้องก็ไม่ทำ บางคนถูกต้องแต่ไม่ถูกใจก็ไม่ทำ ที่ไม่ถูกต้องและไม่ถูกใจก็ไม่ทำอยู่แล้ว
ส่วนที่ถูกต้องถูกใจใครๆก็ทำ
ถ้าทำดีเฉพาะที่ถูกใจไม่ถือว่าเป็นปราชญ์ ปราชญ์ต้องเอาความถูกต้องเป็นใหญ่
จบแล้วท่านให้ฝึกสมาธิเป็นเวลา 15 นาทีจากนั้นเปิดให้ถามคำถาม
คำถามที่ 1
ทำไมตามสื่อจึงมีแต่ข่าวคนทำผิดศีล
ท่านตอบว่า เพราะทำชั่วง่ายกว่าทำดี และ สื่อชอบสื่อสารแต่เรื่องที่สร้างอารมณ์
ท่านสอนเพิ่มเติมว่าความสุขคือความรู้สึกปลอดภัย ทำอย่างไรสังคมจึงจะปลอดภัย
ถ้าเราถือศีลก็คือการสัญญากับคนรอบข้างว่า เราจะไม่เบียดเบียนใครด้วยกายวาจาใจ ไม่ทำร้าย ไม่หลอกลวง ไม่นอกใจคู่ครอง ไม่พูดปด ไม่ดื่มเหล้าเสพยาเสพติดทำให้รับผิดชอบต่อความปลอดภัยของใครไม่ได้ เมื่อเราประกาศสัญญาถือศีลห้า และเราอยู่กับใครที่ประกาศอย่างนี้ เราก็จะรู้สึกปลอดภัย การถือศีลห้าจึงเป็นการให้ความปลอดภัยแก่ครอบครัวและชุมชน
คำถามที่ 2
ธรรมะคืออะไร
ท่านตอบว่า คำตอบเรื่องนี้กว้างขวางมากเวลาเท่าที่เหลือนี้คงไม่พอตอบ เพราะธรรมะมีหลายความหมาย
ขอตอบสั้นๆว่า ธรรมะแบ่งเป็นสัจธรรม คือความจริงสากล ไม่ขึ้นอยู่กับใคร สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าเป็นผู้เข้าถึงธรรมะนี้ และเปิดเผยข้อวัตรปฏิบัติที่จะเข้าถึงธรรมะภาคปฏิบัติและทฤษฎี
อีกอย่างหนึ่งคือธรรมที่แปลว่าสิ่ง สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นธรรม มีทั้งกุศลธรรมและอกุศลธรรม การเข้าใจว่าสิ่งทั้งหลายคือธรรม ก็ทำให้เข้าถึงธรรมได้เช่นกัน
ข้าพเจ้าผู้มีปัญญาน้อยจดมาได้เพียงเท่านี้ แต่ก็มีความประสงค์จะส่งธรรมะนี้ให้แก่ญาติพี่น้องและเพื่อนๆ
เพื่อเป็นธรรมทานต่อไป
ขออภัยหากมีข้อผิดพลาดบ้างค่ะ
จากการจดบันทึกของคุณหญิงอุไรวรรณ สวัสดิศานต์
***************
Cr.Fwd line
**************
ธรรมะจากท่านชยสาโร ภิกขุ (คลิก)
**************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น