วันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ปัญญา..ที่ควรรู้ (๙)


...ฯลฯ...
การฝึกจิตใจให้เข้มแข็งและอยู่ในอำนาจการควบคุม
     จิตใจที่เข้มแข็งเป็นอย่างไร ?
     กล่าวโดยสรุป คือ จิตที่ตั้งมั่นเป็น " สมาธิ "
     กล่าวขยายความตามหลักพุทธธรรม เป็น จิตที่มีภาวะผ่องใส(ปริสุทฺโธ = Pureness) ตั้งมั่น (สมาหิโต = Firmness) และคล่องแคล่วว่องไว (กมฺมนีโย = Activeness)
     เป็นจิตที่ไม่มี " นิวรณ์ " รบกวน คือ ไม่ถูกครอบงำด้วยอารมณ์อันเป็นที่แต่งแห่งความรักและความชัง ไม่มีความท้อแท้ ไม่เซื่องซึม ไม่มีความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ไม่มีความกังวลและลังเล เป็นต้น
      และเป็นจิตที่อยู่ในอำนาจการควบคุมของสติ
      วิธีฝึกจิตให้เป็น " สมาธิ "
      โดยหลักการ คือ ให้มีสติระลึกรู้อยู่ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่ไม่มีความหมายต่อจิตในทางที่จะทำให้จิตกระเพื่อมไปทั้งในทางชอบหรือชัง และให้รักษาการระลึกรู้ให้ต่อเนื่องอยู่กับเรื่องหรือสิ่งที่กำหนดนั้น
       โดยมีคุณภาพของ " สติ " หรือวิธีระลึกรู้ที่ถูกต้องคือระลึกรู้อย่างเป็นกลาง ไม่มีอคติทั้งในทางบวก หรือในทางลบ ให้เป็นสักแต่ว่าการระลึกรู้ที่บริสุทธิ์ตามที่เป็นจริงของสิ่งที่ระลึกรู้ และไม่ยึดติดถือมั่นต่อสิ่งที่ระลึกรู้นั้นด้วย
        @...การที่จิตสามารถระลึกรู้อยู่กับสิ่งที่กำหนดนั้น ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง ไม่แว็บออกไปนึกถึงเรื่องอื่น มีความหมายว่า จิตของบุคคลนั้นอยู่ในการควบคุมของสติ
            การที่จิต ทั้งๆ ที่ตั้งใจให้ระลึกรู้อยู่กับสิ่งที่กำหนด แต่ก็ยังแว็บไปนึกถึงอารมณ์อื่น ๆ ไม่สมารถระลึกรู้อยู่กับสิ่งที่กำหนดนั้น ๆ ได้   หมายความว่า จิตของบุคคลนั้นไม่อยู่ในการควบคุมของสติ
            การที่จิตไม่อยู่ในอำนาจการควบคุมของสติ หมายความว่า บุคคลไม่สามารถใช้จิตไปทำงานหรือทำหน้าที่ได้อย่างมีสมรรถภาพและประสิทธิภาพ และยังหมายถึงความอ่อนแอของที่สามารถถูกแทรกแซง หรือเพลี่ยงพล้ำจากอารมณ์หรือสิ่งเร้าต่าง ๆ ที่เข้ามารบกวนได้
         @...การที่จิตสามารถระลึกรู้อยู่กับสิ่งที่กำหนดนั้น ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง ไม่แว็บออกไปนึกถึงเรื่องอื่นหรือในช่องทางการรับรู้อื่น(ช่องทางการรับรู้ มี ๖ คือ ทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ) ยังมีความหมายอีกอย่างว่า จิตของบุคคลนั้นได้ถูกรวบและรวมเข้ามาให้มีพลังที่ เข้มข้น มากขึ้น
           เปรียบเหมือนกับแสงแดดโดยทั่วไป ที่แสงยังกระจัดกระจายยังไม่มีพลังอะไรมากนัก แต่เมื่อนำเลนส์นูนมารับแสงและปรับโฟกัสให้รวมแสงเป็นจุดเดียว จะกลายเป็นจุดแสงที่มีความเข้มข้นสูงและมีพลังมากจนทำให้เกิดการเผาไหม้ได้
...............
          พลังของจิตที่ถูกรวบและรวมให้มากขึ้นและเข้มข้นขึ้น จนเป็นจิตที่พลังสูงมีอนุภาพสูง โดยเฉพาะหากมีความนิ่งและแน่วแน่จนถึงในระดับที่เรียกว่า " ฌาน " ซึ่งในพระพุทธศาสนา เรียกว่า " อธิจิต " คือ จิตที่ควรแก่การงานทุกอย่าง ก็จะเป็นจิตที่มีคุณสมบัติพร้อม ที่สามารถนำไปศึกษาและพิสูจน์ความจริงของธรรมชาติได้ทุกระดับ ทั้งในฝ่ายรูปธรรมและนามธรรม
           @...พิจารณาอีกแง่หนึ่ง การที่จิตสามารถระลึกรู้อยู่กับสิ่งที่กำหนดนั้น ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้จิตปลอดหรือพ้นจากการรบกวนจากอารมณ์ต่าง ๆ เพราะอารมณ์ต่าง ๆ ไม่สามารถเกิดขึ้นในความรับรู้ของจิตได้ จึงทำให้ จิตมีภาวะผ่องใส และมีความสุขเกิดขึ้น เป็นจิตที่มีคุณภาพเหมาะสม และพร้อมที่จะนำไปใช้ในการทำหน้าที่ต่าง ๆ
            อาจเปรียบได้กับน้ำในแก้วที่มีตะกอนลอยคลุ้ง เมื่อจับแก้วนิ่งไว้นานพอ ตะกอนจะค่อย ๆ ตกลงก้นแก้ว ได้น้ำใสที่อยู่ส่วนบน ทำให้สามารถเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในแก้วน้ำได้ชัดเจน และน้ำที่ใสจึงมีความเหมาะสมและคุณค่าที่จะนำไปใช้ในกรณีต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี
            จิตก็เช่นกัน เมื่อมีสติแน่วแน่ระลึกรู้อยู่ในอารมณ์เดียว อารมณ์ต่าง ๆ ที่เป็นเสมือนตะกอนที่ลอยคลุ้งและรบกวนจิต จะสงบตัวลงกลายเป็นจิตที่สงบนิ่งผ่องใสและมีคุณภาพเหมาะสม ที่จะไปทำหน้าที่ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างอีก
...ฯลฯ...
(จากหนังสือ คู่มือ บัณฑิตของแผ่นดิน จัดพิมพ์และเผยแพร่โดย ธรรมสถาน สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย )
................
................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น