หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ความไม่ประมาท...


...ธรรมะจากหลวงปู่..
    มีพระบาลีที่ปรากฏในคัมภีร์วิสุทธิมรรคว่า ชีวิตัง พยาธิ กาโล จะ เทหะนิกเขปะนัง คะติ ปัญเจเต ชีวะโลกัสะมิง อะนิมิตตา  นะ นายะเร ซึ่งแปลว่า สิ่งที่ไม่มีนิมิตรหมาย  สิ่งที่ไม่มีนิมิตรไม่มีเครื่องหมาย มีอยู่ ๕ อย่าง คือ 
    ๑.ชีวิต
    ๒.พยาธิ
    ๓.กาลเวลา
    ๔.ป่าช้า
    ๕.คติที่จะไป
    อะนิมิตตา  นะ นายะเร อนิมิตตาได้แก่ สิ่งที่ไม่มีเครื่องหมาย นะ นายะเร คือ รุ้ไม่ได้ สิ่งที่ไม่มีเครื่องหมายนั้น กำหนดไม่ได้มี ๕ อย่าง คือ ประการที่ ๑ ชีวิต  ชีวิตคือความเป็นอยู่ของเรา จิตของเราคือความเป็นอยู่ ชีวิตคือจิตนี่แหละความเป็นอยู่ ความเป็นอยู่ของ ความรู้สึก ความนึกคิด เป็นชีวิตจิตของเรา สภาวะที่รู้เรียกว่า จิต คือชีวิตคือความเป็นอยู่ อันนี้อย่าไปประมาท ไม่แน่ เวลาชีวิตของเรานี้จะหมดไปเมื่อใด อย่าไปประมาท ถ้าหากว่า ชีวิตนี้เหมือนคล้าย ๆ ไข่ตั้งอยู่บนเข็ม กระพริบเดียว ตัวชีวิตนี้อย่าไปประมาท ถ้ามันจะไปก็ไปเลย กระพริบเดี๋ยวเดียว ชีวิตของเราจิตของเรา
      ประการที่ ๒ พยาธิ พยาธินี้คือโรคของเรา จะเอาชีวิตของเราไปเมื่อใด จะเกิดเมื่อใด โรคนี้ไม่แน่นอนอย่าไปประมาท ว่าเรา เวลานี้ยังไม่พยาธิ เป็นผู้มีอาพาธน้อย เวลาเมื่อยังไม่มีเป็นโรค เมื่อยังไม่เป็นโรคนี้ ไม่อาพาธ มีโรคน้อยนี้อย่าไปประมาท จงรีบทำความดีเจริญสมณธรรม รีบทำเสีย พยาธิ อย่าไปประมาทแล้วกาลเวลาเหมือนกัน
      ประการที่ ๓ กาโล เราจะได้ตายก็ดี จะได้ธรรมะก็ดี ไม่ใช่เป็นกาลเวลา เวลากาลเมื่อใดนี้ มันถึงพร้อมแล้ว อินทรีย์เราพร้อมแล้ว จะได้เมื่อใดก็ได้ ไม่แน่ การที่จะได้บรรลุธรรมนั้น อย่างพระอานนท์นั้น  จะได้ในเวลาเมื่อนอน ก่อนที่ท่านจะนอนท่านมีสติท่านได้ในระหว่างที่กำลังจะนอน เพราะฉะนั้นจึงเป็นอกาลิโก พระสารีบุตร ได้ตอนที่พัด ถวายงานพัดให้พระพุทธองค์ นี้ก็ไม่แน่นอน กาลเวลาที่จะได้ธรรมะนั้นไม่แน่เหมือนกัน ขออย่าไปประมาท ขอให้ทำไป ปฏิบัติไปด้วยสติ เมื่อถึงเวลาแล้ว อินทรีย์ของเราสุก แล้วก็เหมือนผลไม้หล่นลง หล่นออกจากขั้วเลย หลุดไปเลย ไม่จำกัดกาล
       ประการที่ ๔ เทหะนิกเขปนะ คือหมายความว่าร่างของเรานี้ จะไปทอดทิ้งไว้ที่ใด  พระพหิยะ ก็ยังได้ปรินิพพานที่กลางถนน สถานที่ไม่แน่ว่าเราจะตายที่ไหน ไม่แน่นอน การปรินิพพานพระสารีบุตรท่านก็ได้ไปปรินิพพานที่ห้องที่ท่านเกิด ท่านก็เอาห้องที่ท่านเกิดปรินิพพานที่นั่น ได้ปรินิพพาน เพราะฉะนั้นไม่แน่ ร่างของเราจะไปทิ้งที่ใด พระพาหิยะ เป็นพระอรหันต์ ร่างเอาไปไว้อยู่ที่ถนน แต่ได้เป็นพระอรหันต์และบรรลุอรหันต์ในระหว่างหนทางบิณฑบาตของพระพุทธองค์  พระพาหิยะ ไม่แน่ การทอดทิ้งร่างของเราจะไปที่ไหน ป่าช้าใด ไม่แน่ร่างของเราจะไปป่าช้าสันย่าแบนหรือป่าช้าดอยแก้ว หรือว่าในน้ำในอากาศไม่แน่นี้เป็นความไม่แน่
         และประการที่ ๕  คติ  คติการไปแห่งชีวิตเวลา เวลาจะถอดชีวิตจิตจะถอด จิตของเรา มนุษย์เรานี้โดยมาก ไม่แน่ แต่ว่าผู้ปฏิบัติธรรมนี้แน่ ผู้มีอภิญญา ผู้ปฏิบัติธรรมผู้เจริญวิปัสสนานี้แน่ เธอแน่อย่างใด คือว่า ได้สัมผัสกับการสวดมนต์ ทำวัตรสวดมนต์ การเดินจงกลม นั่งสมาธิ และเจริญวิปัสสนาสติปัฏฐานทั้ง ๔ จิตเต สังกิลิฏเฐ ทุคะติ ปาฏิกังขา จิตเต อสังกิลิฏเฐ สุคะติ ปาฏิกังขา  ว่าจิตผู้ใดเศร้าหมองไปนรกเลย จิตของผู้ใดมีความผ่องแผ้ว สัมผัสกับสติปัฏฐานทั้ง ๔ ได้เจริญวิปัสสนา ผู้ที่ได้เจริญวิปัสสนา ได้สัมผัสกับสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ แน่นอนสุคติไปเป็นที่เกิด เพราะฉะนั้นจงหาที่มั่นใจ ว่าที่อุ่นใจที่พึ่งของใจ
        พระพุทธองค์ได้ตรัสอีกตอนหนี่งว่า เธอจงอยู่อย่างมีที่พึ่ง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอจงอยู่อย่างมีที่พึ่ง อย่าอยู่อย่างไม่มีที่พึ่ง อันนี้เราได้ที่พึ่งคือเราได้การปฏิบัติธรรมเจริญวิปัสสนา อันนี้คือที่พึ่งในทางใจ ในหมู่ศรัทธาญาติโยมได้ที่พึ่งแน่นอนสุคติเป็นอันต้องหวัง เพราะฉะนั้นเราอย่าไปประมาท เราจะไหว้พระฟังธรรม เดินจงกลม นั่งสมาธิ และระลึกถึงสติปัฏฐานทั้ง ๔  สติปัฏฐานทั้ง ๔ อยู่เสมอ กาย เวทนา จิต ธรรม พองหนอ ยุบหนอ อยู่เสมอ ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ จะยืน เดิน นั่ง นอน ตัวสติต้องมีสติอยู่ เรียกว่า เป็นผู้มีที่พึ่ง คนใดอยู่ไม่มีที่พึ่ง อยู่อย่างไม่มีที่พึ่ง อยู่เป็นทุกข์ เป็นคนมีความทุกข์มาก คนที่ไม่มีธรรมะ คนนั้นเป็นคนที่ยากจนที่สุด คนที่มีศรัทธา มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา มีการเจริญวิปัสสนา เป็นคนที่มั่งมี เป็นคนที่ไม่ยากจน เพราะฉะนั้นขอให้หาความมั่นใจ และภูมิใจในที่พึ่งทางใจอย่างนี้ ต่อไปเราจะได้หาที่พึ่งทางใจ คือว่าเรากราบสติปัฏฐานแล้วเดินจงกลมนั่งสมาธิต่อไป ฯ
.............
(จากหนังสือ ธรรมะจากหลวงปู่ ๑๖ พระธรรมมังคลาจารย์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๗ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีจอมทอง วรวิหาร)
.................
................
    

วันศุกร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2558

สิ่งที่จะได้บรรลุธรรม



ธรรมะจากหลวงปู่..
     พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ได้ตรัสว่า สิ่งที่จะได้บรรลุธรรมก็มีหลายทางด้วยกัน พระองค์ตรัสไว้ใน ปัญจกนิบาต อังคุตรนิกายว่า
     ๑.ต้องมีการฟังธรรม
     ๒.ต้องมีการแสดงธรรม
     ๓.การสาธยายธรรม
     ๔.ให้พิจารณาธรรม
     ๕.ให้มีการทำกัมมัฏฐาน คือ นั่งสมาธิ
     นี่เป็นหนทางที่จะได้บรรลุธรรม...การฟังธรรมนี้เราจะเห็นได้ว่าอัครสาวกคือพระสารีบุตรได้บรรลุธรรมก็ได้ฟังธรรมที่พระองค์ได้แสดงแก่ ทีฆนขปริพาชก อัคคิเวสสนโคตร ที่เขาคิชกูฏ ท่านเป็นอัครสาวกท่านมีปัญญามากท่านก็ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าท่านก็ได้บรรลุ ท่านได้บรรลุเพราะการฟัง
     ๒.การแสดงธรรม การแสดงธรรมนี้เราก็ให้ธรรมะเป็นทาน เรามีธรรมะของพระพุทธเจ้าเอาธรรมะของพระพุทธเจ้านี้แสดงให้คนที่ไม่รู้ เป็นการให้ทุกสิ่งทุกอย่างการให้ธรรมะ การแนะนำธรรมะ การแสดงธรรม การให้ธรรมะย่อมชนะการให้ทั้งปวง นอกจากนั้นใจผู้ที่ให้นั้นบริสุทธิ์
     ๓.การสาธยายธรรม แสดงธรรมกับสาธยายธรรม มีหัวข้อมาแล้วให้อธิบายนั้นให้แจ่มแจ้งให้เข้าใจ การสาธยายธรรมหัวขัอแสดงธรรมะให้แล้ว แสดงกระทู้แล้วอธิบายกระทู้นั้นให้มันแจ่มแจ้งความหมายการสาธยายธรรม
     ๔.การพิจารณาธรรม บางทีเราพิจารณาเพื่อให้ใจของเราเบิกบาน กิเลสไม่มี ใจบริสุทธิ์ พิจารณาธรรมข้อใดข้อหนึ่งก็ได้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทำไมโลกนี้ไม่แน่นอน โลกนี้เป็นทุกข์ โลกนี้ไม่ใช่ของเราอย่างนี้เป็นต้น 
     ๕.ทำกรรมฐาน สมถะกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ทำสมถะมาแล้ว ทำวิปัสสนาต่อเป็น เจโตวิมุตติ ถ้าหากว่าทำวิปัสสนาอย่างเดียวสมถะไม่เคยผ่านก็เป็น ปัญญาวิมุตติ อันนี้เป็นการนั่งสมาธิ ๑.ทำให้มีความสุขในปัจจุบัน ๒.เราจะรู้สิ่งที่ไม่มีใครรู้ในสมาธิ ๓.เราจะมีสติสัมปชัญญะอย่างสมบูรณ์ และ ๔.ความสิ้นไปแห่งอาสวะกิเลสทั้งปวง นี้การทำกัมมัฏฐานเราต้องเดินจงกลมก่อน
          การเดินจงกลมนั้นมีอานิสงส์อยู่ ๕ ประการ
          ๑.ทนต่อการเดินทางไกล
          ๒.ทนต่อการกระทำความเพียร
          ๓.อาหารที่กินเข้าไปย่อย ท้องไม่ผูก
          ๔.ไล่โรคลม
          ๕.มีกำลังภายใน
        กำลังภายในนี้ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ของเราก็จะบังเกิดขึ้น การเดินจงกลมนี้ต้องเดินทุกครั้งไป อย่าง ๕ นาที ๑๐ นาที หรือ ๑ ชั่วโมง หรือว่า ๓๐ นาที แล้วแต่เวลาและโอกาส ถ้าเราเฒ่าแก่จะเดินเกาะผนังหรือใช้ไม้เท้าก็ได้ ครูบาอาจารย์ก็เดินจงกลม อย่างครูบาเจ้าอินทรจักร ครูบาเจ้าพรหมจักร และครูบาศรีวิชัย ท่านได้สร้างที่เดินจงกลมที่วัดพระสิงห์ ครูบาอาจารย์คนเก่าแก่ท่านเดินจงกลม เราต้องใช้สติปัฏฐาน คัจฉันโต วา คัจฉันมีติ ประชานาติ เวลาเดินเรารู้สึกว่าเราเดิน ฐิโต วา ฐิโตมหีติ ประชานาติ เวลายืนรู้สึกว่าเรายืน นิสินโน วา นิสินโนมหีติ ปะชานาติ เรานั่งรู้สึกว่าเรานั่ง สะยาโน วา สะยาโนมหีติ ปะชาตาติ เรานอนรู้สึกว่าเรานอน 
           อันนี้เป็นธรรมะจะให้บรรลุธรรม อย่างพระอานนท์เถระ ไม่นึกว่าจะได้เวลานอน ศรีษะยังไม่ถึงหมอนก็ได้บรรลุธรรมเพราะฉะนั้นอย่างไปประมาท เราจะพบธรรมะเมื่อใดนี้ความไม่ประมาท อะกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาล เมื่อแบบนั้นเราจะพบเมื่อไรก็ได้ไม่แน่ เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์ว่าอย่าไปประมาท และต่อไปนี้เราจะได้กราบสติปัฏฐาน และเดินจงกลม นั่งสมาธิ ต่อไป ฯ..
............................
(จากหนังสือ ธรรมะจากหลวงปู่ ๑๖ พระธรรมมังคลาจารย์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๗ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีจอมทอง วรวิหาร)
.............................
............................

วันอังคารที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ปัญญา..ที่ควรรู้ (๑๐)

 ...ฯลฯ...
ความสุขที่เกิดจากจิตเป็นสมาธิ
      ความสุขที่เกิดจากจิตเป็นสมาธินี้ มีความสำคัญมาก เพราะโดยธรรมชาติแล้ว ความสุขเป็นอาหารของจิต เหมือนกับข้าวปลาเป็นอาหารของกาย เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ หากขาดไปหก็ทำให้จิตแห้งเฉาไม่มีความสดชื่นร่าเริง  ไม่มีพลังของชีวิตในการสร้างสรรค์ และกระทำการต่าง ๆ
      บุคคลทั่วไป รู้จักแต่เพียงความสุขที่มาจาก รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ซึ่งในทางศาสนาเรียกว่า " กามสุข " หรือ "อามิสสุข"  ดังนั้น พลังชีวิตของบุคคลทั่วไป จึงขึ้นอยู่กับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสซึ่งเป็นสิ่งภายนอก ว่าเป็นอย่างไร กล่าวคือ หากได้รับอย่างที่ต้องการก็จะมีความสุขและมีพลังในการสร้าง สรรค์ และกระทำสิ่งต่าง ๆ สูง แต่หากไม่ได้รับหรือสิ่งที่ได้รับอยู่ นั้น มีอันสูญหายหรือพลัดพรากไปก็จะทำให้เกิดทุกข์ แห้งเฉา ท้อแท้ และขาดพลังของชีวิตที่จะไปกระทำการต่าง ๆ
        ชีวิตของบุคคลทั่วไป จึงอยู่ในลักษณะแกว่งไป-มา ขึ้น ๆ ลง ๆ หาความเป็นปกติสุขที่แท้จริงได้ยาก เพราะต้องขึ้นอยู่กับสิ่งภายนอก ซึ่งควบคุมได้ยาก และยังต้องคอยแย่งชิงและปกป้องในรูป เสียง เป็นต้นนั้นอยู่ตลอดเวลา
          ความสุขที่เกิดขึ้นจากสมาธินี้ เป็นความสุขที่ไม่ต้องอิงอาศัย หรือไม่ต้องเนื่องกับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่เป็นวัตถุหรือรูปธรรมใด ๆ ในทางศาสนาเรียกว่า " นิรามิสสุข " เป็นความสุขที่มาจากความบริสุทธิ์ผ่องใสแห่งจิตของบุคคลนั้นเอง จึงเป็นความสุขที่เป็นเอกเทศของบุคคล เป็นความสุขที่มั่นคง ที่ไม่ต้องหปแย่งชิงกับใครและไม่มีใครสามารถแย่งชิงไปได้ นอกจากนั้นยังมีรสชาติของความสุขที่มีความสุขุมคัมภีรภาพ และไม่ทำให้บุคคลรู้สึกจืดชืดหรือเบื่อหน่าย ดังเช่น ความสุขที่มาจาก รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ทั้งหลาย จึงทำให้บุคคลที่มีจิตเป็นสมาธิ มีจิตใจมั่นคง เป็นตัวของตัวเอง ไม่ถูกอิทธิพลของสิ่งต่าง ๆ ภายนอก ซึ่งส่วนใหญ่คือเรื่องของวัตถุหรือความยียวนจากรสชาติของวัตถุ ครอบงำจิตใจให้หวั่นไหวหรือบีบคั้นให้ต้องไปกระทำในสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควรได้ง่าย
        ดังนั้น " บัณฑิตของแผ่นดิน " นอกจากจะต้องขวนขวายให้มีปัญญารอบรู้ในเรื่องธรรมชาติชีวิตของตนเองและกฏธรรมชาติหรือนิยาม ๕  ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว ยังจะต้องฝึกฝนตนเองในเรื่องของ " สติ " และ " สมาธิ " ด้วย เพื่อให้มีคุณ ภาพ ของจิตใจ ที่พร้อมและเหมาะสม สามารถควบคุมจิตให้กระทำในสิ่งที่ถูกต้องตามที่ปัญญารู้นั้น และมีความมั่นคง ที่สามารถยืนหยัดอยู่เหนืออิทธิพลครอบงำหรืออำนาจความยั่วยวนและบีบคั้นจากสิ่งต่าง ๆ ได้
,,,ฯลฯ...
(จากหนังสือ คู่มือ บัณฑิตของแผ่นดิน  จัดพิมพ์และเผยแพร่โดย ธรรมสถาน สำนักงานบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
...............
................
         

วันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ปัญญา..ที่ควรรู้ (๙)


...ฯลฯ...
การฝึกจิตใจให้เข้มแข็งและอยู่ในอำนาจการควบคุม
     จิตใจที่เข้มแข็งเป็นอย่างไร ?
     กล่าวโดยสรุป คือ จิตที่ตั้งมั่นเป็น " สมาธิ "
     กล่าวขยายความตามหลักพุทธธรรม เป็น จิตที่มีภาวะผ่องใส(ปริสุทฺโธ = Pureness) ตั้งมั่น (สมาหิโต = Firmness) และคล่องแคล่วว่องไว (กมฺมนีโย = Activeness)
     เป็นจิตที่ไม่มี " นิวรณ์ " รบกวน คือ ไม่ถูกครอบงำด้วยอารมณ์อันเป็นที่แต่งแห่งความรักและความชัง ไม่มีความท้อแท้ ไม่เซื่องซึม ไม่มีความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ไม่มีความกังวลและลังเล เป็นต้น
      และเป็นจิตที่อยู่ในอำนาจการควบคุมของสติ
      วิธีฝึกจิตให้เป็น " สมาธิ "
      โดยหลักการ คือ ให้มีสติระลึกรู้อยู่ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่ไม่มีความหมายต่อจิตในทางที่จะทำให้จิตกระเพื่อมไปทั้งในทางชอบหรือชัง และให้รักษาการระลึกรู้ให้ต่อเนื่องอยู่กับเรื่องหรือสิ่งที่กำหนดนั้น
       โดยมีคุณภาพของ " สติ " หรือวิธีระลึกรู้ที่ถูกต้องคือระลึกรู้อย่างเป็นกลาง ไม่มีอคติทั้งในทางบวก หรือในทางลบ ให้เป็นสักแต่ว่าการระลึกรู้ที่บริสุทธิ์ตามที่เป็นจริงของสิ่งที่ระลึกรู้ และไม่ยึดติดถือมั่นต่อสิ่งที่ระลึกรู้นั้นด้วย
        @...การที่จิตสามารถระลึกรู้อยู่กับสิ่งที่กำหนดนั้น ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง ไม่แว็บออกไปนึกถึงเรื่องอื่น มีความหมายว่า จิตของบุคคลนั้นอยู่ในการควบคุมของสติ
            การที่จิต ทั้งๆ ที่ตั้งใจให้ระลึกรู้อยู่กับสิ่งที่กำหนด แต่ก็ยังแว็บไปนึกถึงอารมณ์อื่น ๆ ไม่สมารถระลึกรู้อยู่กับสิ่งที่กำหนดนั้น ๆ ได้   หมายความว่า จิตของบุคคลนั้นไม่อยู่ในการควบคุมของสติ
            การที่จิตไม่อยู่ในอำนาจการควบคุมของสติ หมายความว่า บุคคลไม่สามารถใช้จิตไปทำงานหรือทำหน้าที่ได้อย่างมีสมรรถภาพและประสิทธิภาพ และยังหมายถึงความอ่อนแอของที่สามารถถูกแทรกแซง หรือเพลี่ยงพล้ำจากอารมณ์หรือสิ่งเร้าต่าง ๆ ที่เข้ามารบกวนได้
         @...การที่จิตสามารถระลึกรู้อยู่กับสิ่งที่กำหนดนั้น ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง ไม่แว็บออกไปนึกถึงเรื่องอื่นหรือในช่องทางการรับรู้อื่น(ช่องทางการรับรู้ มี ๖ คือ ทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ) ยังมีความหมายอีกอย่างว่า จิตของบุคคลนั้นได้ถูกรวบและรวมเข้ามาให้มีพลังที่ เข้มข้น มากขึ้น
           เปรียบเหมือนกับแสงแดดโดยทั่วไป ที่แสงยังกระจัดกระจายยังไม่มีพลังอะไรมากนัก แต่เมื่อนำเลนส์นูนมารับแสงและปรับโฟกัสให้รวมแสงเป็นจุดเดียว จะกลายเป็นจุดแสงที่มีความเข้มข้นสูงและมีพลังมากจนทำให้เกิดการเผาไหม้ได้
...............
          พลังของจิตที่ถูกรวบและรวมให้มากขึ้นและเข้มข้นขึ้น จนเป็นจิตที่พลังสูงมีอนุภาพสูง โดยเฉพาะหากมีความนิ่งและแน่วแน่จนถึงในระดับที่เรียกว่า " ฌาน " ซึ่งในพระพุทธศาสนา เรียกว่า " อธิจิต " คือ จิตที่ควรแก่การงานทุกอย่าง ก็จะเป็นจิตที่มีคุณสมบัติพร้อม ที่สามารถนำไปศึกษาและพิสูจน์ความจริงของธรรมชาติได้ทุกระดับ ทั้งในฝ่ายรูปธรรมและนามธรรม
           @...พิจารณาอีกแง่หนึ่ง การที่จิตสามารถระลึกรู้อยู่กับสิ่งที่กำหนดนั้น ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้จิตปลอดหรือพ้นจากการรบกวนจากอารมณ์ต่าง ๆ เพราะอารมณ์ต่าง ๆ ไม่สามารถเกิดขึ้นในความรับรู้ของจิตได้ จึงทำให้ จิตมีภาวะผ่องใส และมีความสุขเกิดขึ้น เป็นจิตที่มีคุณภาพเหมาะสม และพร้อมที่จะนำไปใช้ในการทำหน้าที่ต่าง ๆ
            อาจเปรียบได้กับน้ำในแก้วที่มีตะกอนลอยคลุ้ง เมื่อจับแก้วนิ่งไว้นานพอ ตะกอนจะค่อย ๆ ตกลงก้นแก้ว ได้น้ำใสที่อยู่ส่วนบน ทำให้สามารถเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในแก้วน้ำได้ชัดเจน และน้ำที่ใสจึงมีความเหมาะสมและคุณค่าที่จะนำไปใช้ในกรณีต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี
            จิตก็เช่นกัน เมื่อมีสติแน่วแน่ระลึกรู้อยู่ในอารมณ์เดียว อารมณ์ต่าง ๆ ที่เป็นเสมือนตะกอนที่ลอยคลุ้งและรบกวนจิต จะสงบตัวลงกลายเป็นจิตที่สงบนิ่งผ่องใสและมีคุณภาพเหมาะสม ที่จะไปทำหน้าที่ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างอีก
...ฯลฯ...
(จากหนังสือ คู่มือ บัณฑิตของแผ่นดิน จัดพิมพ์และเผยแพร่โดย ธรรมสถาน สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย )
................
................

วันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ปัญญา..ที่ควรรู้ (๘)


จากนิยาม ๕ ..นำมาสู่การปฏิบัติตนของมนุษย์
         นิยาม ๕ ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว นอกจากจะเป็นกฏธรรมชาติที่ควบคุมความเป็นไปของสิ่งต่าง ๆ ทั้งหมดที่มีในธรรมชาติแล้ว ยังเป็นเสมือนกรอบที่กำกับการกระทำของมนุษย์ ให้รู้ว่าอะไรที่ทำได้และอะไรที่ทำไม่ได้
          กล่าวโดยสรุป มนุษย์สามารถกระทำอะไรก็ได้ เท่าที่ไม่ไปกระทบหรือทำลายระบบความสมบูรณ์ของนิยามทั้ง ๕
           ดังนั้น ผู้ที่นับว่าเป็น " บัณฑิตของแผ่นดิน " ที่แท้จริง จึงต้องมีปัญญาหรือความรอบรู้ในเรื่องธรรมชาติชีวิตของตนเอง และกฏธรรมชาติหรือนิยาม ๕ ที่ควบคุมความเป็นไปของสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติ เป็นพื้นฐานอย่างที่จะขาดเสียมิได้เลย
           ปัญหาที่เกิดขึ้นต่อไปคือ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าอะไรที่ถูก อะไรที่ผิด อะไรที่ทำได้ อะไรที่ทำไม่ได้ มนุษย์ก็ยังไม่สามารถบังคับตนให้กระทำแต่ในสิ่งที่ถูกต้องหรือสิ่งที่ควรทำ  และบ่อยครั้งก็ยังไปกระทำในสิ่งที่ผิดหรือไม่ควรทำ  ทั้งนี้เพราะความอ่อนแอในจิตใจของมนุษย์ที่มีต่ออารมณ์และสิ่งเร้าที่มารบกวน นั่นเอง
            ดังนั้น นอกจากมีปัญญารู้แล้ว ยังจะต้องฝึกฝนตนเองให้มีจิตใจที่เข้มแข็งและอยู่ในอำนาจการควบคุมตัวของตน ที่จะสามารถยืนหยัดและดำรงตนอยู่ในความถูกต้อง ไม่ให้เพลี่ยงพล้ำต่อความไม่ถูกต้องใด ๆ จึงจะบรรลุความเป็น " บัณฑิตของแผ่นดิน " ที่แท้จริง
...ฯลฯ...
(จากหนังสือ คู่มือ บัณฑิตของแผ่นดิน จัดพิมพ์และเผยแพร่โดย ธรรมสถาน สำนักงานบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
.............
ปัญญา..ที่ควรรู้ (๗) คลิก

ปัญญา..ที่ควรรู้ (๙) คลิก
.............

วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ปัญญา..ที่ควรรู้ (๗)


...ฯลฯ...
จากปัญญา จึงมาสู่หน้าที่
         ปัญญาที่รู้เข้าใจในธรรมชาติของตนเอง ตลอดจนนิยาม ๕ ที่ได้กล่าวมาแล้ว อันที่จริงก็คือความรู้เกี่ยวกับกฏธรรมชาติที่เป็นตัวควบคุมความเป็นไปของชีวิต และสิ่งต่าง ๆ ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับชีวิต 
           คำว่า " กฏ " นี้ มีใจความสำคัญว่า " จะต้องปฏิบัติตาม " หากไม่ปฏิบัติตาม ก็จะนำมาซึ่งปัญหาและความเดือดร้อนต่าง ๆ
          กล่าวอีกนัย ; เพราะธรรมชาติมี "กฏ " หรือ " นิยาม ๕ "  ควบคุมความเป็นไปของสิ่งต่าง ๆ นี้เอง สิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติจึงมี " หน้าที่ " ที่จะต้องปฏิบัติตามกฏของธรรมชาติ หรือ นิยาม ๕  ทั้งนี้ เพื่อความอยู่รอดและความเป็นปกติสุขในการดำรงอยู่ของสิ่งต่าง ๆ นั่นเอง
           และสิ่งที่มีหน้าที่ที่จะต้องเรียนรู้และปฏิบัติตามในที่นี้โดยเฉพาะก็คือ " มนุษย์ " ทั้งนี้เพราะ มนุษย์เท่านั้นที่มี " ภาวิตญาณ " ที่สามารถเลือกกระทำสิ่งต่าง ๆ ได้โดยอิสระทั้งในทางที่เกื้อกูลแก่การดำรงอยู่อย่างยั่งยืน ทั้งของมนุษย์เอง รวมไปถึงสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติ ก็จะต้องได้รับการอบรมให้มีความรู้และปฏิบัติให้ถูกต้องต่อกฏธรรมชาติหรือนิยาม ๕ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบการศึกษาจะขาดเรื่องเหล่านี้ไม่ได้เลย
            กล่าวได้ว่าหลักประกันความสงบสุข สันติ ของมนุษย์รวมไปถึงทุกสิ่งในธรรมชาติที่แท้จริงและยั่งยืน ขึ้นอยู่กับมนุษย์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ว่าจะรู้จักและปฏิบัติตนให้ถูกต้องสอดคล้องกับกฏธรรมชาติหรือนิยาม ๕ ดังที่กล่าวไปแล้วได้มากน้อยเพียงไร
             การกระทำใดที่มีผลไปทำลายกฏธรรมชาติหรือนิยาม ๕ นี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก และอย่าเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย แท้จริงเป็นเรื่องใหญ่และนับเป็นการกระทำที่ร้ายแรงที่สุด เสียหายที่สุด อาจเปรียบได้กับการกระทำที่เป็น " อนันตริยกรรม " ในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นกรรมที่เลวร้ายที่สุด ให้ผลหนักที่สุด เทียบได้กับ " ปิตุฆาต - มาตุฆาต " คือการฆ่าพ่อ-แม่ของตนเองเลยทีเดียว
             ทั้งนี้เพราะ " มนุษย์ " เป็นผลผลิตของกฏธรรมชาติหรือ นิยาม ๕ ;พัฒนาการของนิยาม ๕ มองในแง่หนึ่งก็เพื่อสร้าง " มนุษย์ " รวมถึงสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติให้มีภาวะเหมาะสมเพื่อการรองรับการอุบัติและดำรงอยู่ของกฏธรรมชาติหรือ นิยาม ๕ จึงเปรียบได้ว่าเป็น " พ่อ-แม่ " ของมนุษยชาติ วมตลอดถึงสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติทั้งหมด การกระทำที่ไปทำลายกฏธรรมชาติหรือนิยาม ๕ จึงเป็นเสมือนการฆ่าพ่อแม่ที่เป็นผู้สร้างและผู้ให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งจะส่งผลเสียหายร้ายแรงไม่เพียงต่อมนุษย์เท่านั้น แต่รวมไปถึงทุกสิ่งทุกอย่างในธรรมชาติที่เป็นผลมาจากนิยาม ๕ ทั้งหมด
...ฯลฯ...
(จากหนังสือ คู่มือบัณฑิตของแผ่นดิน จัดพิมพ์และเผยแพร่โดย ธรรมสถาน สำนักงานบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
**********


**********

            

วันพุธที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ปัญญา..ที่ควรรู้ (๖)



 ,,,ฯลฯ...
ธรรมนิยาม : กฏธรรมชาติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลาย
       ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า " กรรมนิยม " มี " ความสุขและความทุกข์ " เป็นสิ่งที่ควบคุมการกระทำของมนุษย์ เพื่อให้รู้ว่าอะไรที่ทำได้และอะไรที่กระทำไม่ได้ ซึ่งเมื่อพิจารณาอย่างผิวเผินแล้ว เรื่องทั้งหมดก็น่าจะยุติแต่เพียงเท่านี้ ไม่น่าจะมีนิยามอีกต่อไป
        แต่แล้วมนุษย์กลับมามีปัญหากับเรื่อง " ความสุขและความทุกข์ " ที่เกิดขึ้นนั้นเสียงเอง กล่าวคือ เกิดมีปัญหาที่ว่า " รักสุขเกลียดทุกข์ " ขึ้นมาในจิตใจ ทั้ง ๆ ที่โดยความเป็นจริงแล้ว " สุขและทุกข์ " ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะให้ " รักหรือเกลียด " เลย
         ทั้งนี้เพราะ " ความสุขและความทุกข์ " ที่เกิดขึ้น โดยธรรมชาติแล้วเป็นเสมือนมาตรบอกเพื่อให้ทราบถึงความถูกต้องหรือไม่ถูกต้องของการกระทำของมนุษย์เท่านั้น
 ................
          ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ มีผลทำให้จิตของมนุษย์ตกอยู่ในภาวะขึ้น ๆ ลง ๆ ฟู ๆ แฟบ ๆ ไปตามอำนาจของ " ความสุขและทุกข์ " ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา หาความเป็นปกติสุขที่แท้จริงไม่ได้
          นอกจากนั้นปัญหายังรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยการไปหลงมัวเมากับรสชาติของ " ความสุข " ที่เกิดจากการตอบสนองความอยากของตน จนสามารถกระทำได้ทุกอย่างและทุกวิธีการในทางที่ไม่ถูกต้อง เพื่อให้ได้มาซึ่งรสชาติของความสุขอย่างที่ต้องการนั้น
................
          " ธรรมนิยาม " เป็นกฏธรรมชาติที่ครอบคลุมกฏธรรมชาติอื่น ๆ ทั้งหมด ครอบคลุมทุกสิ่งไม่มีข้อยกเว้น ทั้งสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่ง(สังขตธรรม) และสิ่งที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง (อสังขตธรรม หรือ นิพพาน)
................
             กฏธรรมชาติใน " ธรรมนิยาม " มี ๒ กฏใหญ่ คือ :-
           ๑) กฏอิทัปปัจจยตา  และ
           ๒) กฏไตรลักษณ์
          ๑. กฏอิทัปปัจจยตา มีสาระอย่างที่ได้แสดงไว้ว่า
          " เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี,
             เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น  สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น,
             เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี,
             เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้จึงดับไป "
            กฏอิทัปปัจจยตา แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่เป็นสังขตธรรมย่อมมีการเกิดขึ้นและดำรงอยู่ เป็นไปตามเหตุปัจจัยของธรรมชาติ ไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจการสร้างหรือการดลบันดาล หรือเกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ หรือดำรงอยู่อย่างเป็นเอกเทศที่ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งอื่น 
              นิยามต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไปแล้ว คือ อุตุนิยาม พืชนิยาม จิตตนิยาม และกรรมนิยาม อันที่จริงเป็นเพียงการแสดงให้เห็นถึงรายละเอียดของ " ธรรมนิยาม " ที่ปรากฏในด้านต่าง ๆ เท่านั้นเอง ว่าอะไรเป็นเหตุปัจจัย และทำให้เกิดอะไรขึ้น
          ๒. กฏไตรลักษณ์ คือกฏที่แสดงให้เห็นภาวะหรือสามัญลักษณะ ๓ ประการ ที่เสมอเหมือนกันของสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่งทั้งหลาย กล่าวคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
          " อนิจจัง " คือ ภาวะ " ไม่เที่ยง " หรือ " เปลี่ยนแปลง " หมายความว่า สิ่งต่าง ๆ อยู่ในภาวะที่กำลังเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และมีกรอบของการเปลี่ยนแปลงเป็นที่แน่นอน คือ เป็นไปตามเหตุปัจจัยที่ว่า " เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี "
           " ทุกขัง " คือภาวะ " ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ " หมายความว่า สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในภาวะกำลังเปลี่ยนแปลงนั้น มีภาวะที่ถูกบีบคั้นอยู่ตลอดเวลาเช่นกันให้ไม่สามารถดำรงอยู่ในสภาพเดิมได้
           " อนัตตา " มีความหมายว่า " ไม่ใช่ตัวตน " หมายความว่าไม่มีสิ่งใดที่จะยึดถือเอาเป็นสาระหรือแก่นสารได้ว่าเป็นตนหรือของตนและไม่สามารถบังคับบัญชาให้สิ่งต่าง ๆ เป็นไปตามอำเภอใจตนได้
            จิตของบุคคลผู้รู้และเข้าถึง " ธรรมนิยาม " จะเห็นว่า " ความสุขและความทุกข์ " อันที่จริง เสมอเหมือนกันโดยความเป็นเหตุปัจจัยที่ว่า " เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี "
            เมื่อมีเหตุปัจจัยที่ให้ผลเป็นสุข ก็สุข : เมื่อมีเหตุปัจจัยให้ผลเป็นทุกข์ ก็ทุกข์ และทุกข์ที่เกิดขึ้น ล้วนถูกต้องแล้ว ซึ่งต่างก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย จึงไม่ทำให้เกิดความหลงรักในสุข และหลงเกลียดในทุกข์
             นอกจากนั้นบุคคลผู้รู้แจ้งและเขาถึง " ธรรมนิยาม " เมื่อจะกระทำการใด ๆ ก็จะกระทำด้วยความรู้เท่าทันในความจริง และเป็นไปตามเหตุปัจจัยของธรรมชาติในเรื่องนั้น ๆ (=กฏอิทัปปัจจยตา) และที่สำคัญคือด้วยจิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น กล่าวคือ  ไม่หวังผล ไม่บังคับ ไม่คาดคั้น ไม่เร่งรัดผลให้เกิดขึ้นตามอำเภอใจตน(=กฏไตรลักษณ์) เพราะรู้เท่าทันว่า ผลย่อมเกิดขึ้นตามเหตุ โดยไม่เกี่ยวกับความหวังหรือการคาดคั้นของใคร ๆ 
           เพราะความไม่ยึดมั่นถือมั่นใด ๆ นี้เอง จึงทำให้จิตของบุคคลมีแต่ความปลอดโปร่งโล่งเบา ไม่มีอาการขึ้น ๆ ลง ๆ ฟู ๆ แฟบ ๆ ไม่มีความสะดุ้งหรือหวั่นไหว เป็นอิสระ และเป็นไทปลอดพ้นจากการร้อยรัดเสียดแทงจากสิ่งทั้งปวง ซึ่งในพุทธศาสนาเรียกจิตชนิดนี้ว่า " วิมุตติจิต " หรือ " จิตหลุดพ้น " ซึ่งเป็นอุดมคติแท้จริงและสูงสุดที่มนุษย์จะสามารถพัฒนาไปได้สมดังพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ว่า " บุคคลหมดสิ้นอุปทาน(=ความยึดมั่นถือมั่น)ย่อมปรินิพพาน "
           จิตที่เข้าถึง " ธรรมนิยาม " นี้ เป็นผลของภาวิตญาณ(การเรียนรู้และฝึกฝนตนเอง)สูงสุดในทางจิตใจของมนุษย์ ที่สามารถพัฒนาและบรรลุถึงได้ ทำให้กลายเป็นบุคคลอุดมคติที่อยู่เหนืออำนาจความบีบคั้นที่มาจาก " สัญชาตญาณ " ทั้งหมดได้.. เป็นผู้ที่ไม่มีอะไรที่จะทำให้จิตเกิดความหวั่นไหว หรือเกิดความทุกข์ ได้อีกต่อไปโดยเด็ดขาดและสิ้นเชิง ชีวิตที่ดำรงอยู่มีแต่การกระทำที่ถูกต้องและอำนวยต่อสิ่งที่เป็นประโยชน์และความสุขแก่สรรพสิ่งอย่างไม่มีประมาณ
...ฯลฯ....
(จากหนังสือ คู่มือ บัณฑิตของแผ่นดิน จัดพิมพ์และเผยแพร่โดย ธรรมสถาน สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
**********


วันอังคารที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ปัญญา..ที่ควรรู้ (๕)


...ฯลฯ...
กรรมนิยาม : กฏธรรมชาติเกี่ยวกับการกระทำของมนุษย์
       เมื่อ " จิตตนิยาม " มีความเหมาะสมจนทำให้เกิด"สัตว์"ต่าง ๆ โดยเฉพาะเมื่อมี " มนุษย์ " เกิดขึ้น; นัยสำคัญของความแตกต่างระหว่างสัตว์อื่น ๆ กับมนุษย์ อย่างที่กล่าวไปแล้ว คือ สัตว์อื่น ๆ ดำรงชีวิตอยู่ด้วยสัญชาตญาณเพียงอย่างเดียวเป็นส่วนใหญ่ แต่มนุษย์ดำรงชีพอยู่ด้วยทั้งสัญชาตญาณและภาวิตญาณ
         การดำรงชีพของสัตว์ต่าง ๆ ที่อยู่ด้วย " สัญชาตญาณ " นั้นอันที่จริงก็นับว่ามีผลดีอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในแง่ที่จะไม่มีการกระทำที่เป็นการทำลายระบบนิเวศในสิ่งแวดล้อมเลย
        สำหรับ " มนุษย์ " นั้นมีสิ่งที่เพิ่มขึ้นมา คือเรื่อง " ภาวิตญาณ " จึงทำให้มนุษย์สามารถเรียนรู้และกระทำสิ่งต่าง ๆ ที่แปลกใหม่ซึ่งมีความแปลกแยกไปจากธรรมชาติที่เป็นอยู่และมีอยู่เดิมได้มาก
         สิ่งแปลกใหม่ที่มนุษย์กระทำขึ้นนี้ เป็นสิ่งที่มีนัยสำคัญยิ่ง เพราะสามารถส่งผลกระทบต่อนิยามต่าง ๆ ได้โดยตรง กล่าวคือ สามารถทำให้ภาวะความสมดุลของสิ่งแวดล้อม ตลอดจนพืชและสัตว์ อันเป็นผลมาจากอุตุนิยาม พืชนิยาม และจิตตนิยาม หมดสิ้นหรือสูญสิ้นสภาพที่จะธำรงไว้ซึ่งความเกื้อกูลกันของนิยามต่าง ๆ ที่จะเสริมต่อกันจนเป็นระบบนิยาม ๕ ให้เป็นเสมือนตึก ๕ ชั้น ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว
           นอกจากนั้นกรรมหรือการกระทำของมนุษย์ยังสามารถทำให้เกิดสิ่งที่เป็น " มลพิษ " ขึ้นในสิ่งแวดล้อม ส่งผลและทำอันครายต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายรวมถึงมนุษย์ด้วยอย่างหน้ากลัว
..............
          เรื่อง " กรรมนิยาม " นี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของ"มนุษย์" และเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับ " มนุษย์ " โดยเฉพาะ
          หลักหรือกฏธรรมชาติ ในเรื่อง " กรรมนิยาม " มีอยู่ว่า " การกระทำทุกอย่างย่อมมีผล: การกระทำที่ดีถูกต้อง ย่อมให้ผลเป็นความสุข  และการกระทำที่ไม่ดีไม่ถูกต้อง ย่อมให้ผลเป็นความทุกข์ "
           " กรรมนิยาม " อาศัย " ความสุขและความทุกข์ " เป็นสิ่งควบคุมการกระทำของมนุษย์  กล่าวคือ เมื่อมนุษย์กระทำในสิ่งที่ถูกต้อง ก็จะบังเกิดผลให้เป็นความสุข ความสงบ และสันติ แต่หากกระทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องก็จะบังเกิดผลให้เป็นความทุกข์ ความเดือดร้อน และภัยพิบัติต่าง ๆ
            การกระทำที่ " ถูกต้อง " และ " ไม่ถูกต้อง " ของมนุษย์พิจารณาจากอะไร ? 
           คำตอบ คือ อยู่ที่ความรู้ ความเข้าใจในเรื่อง อุตุนิยาม พืชนิยาม และจิตตนิยาม ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว
           การกระทำที่ " ถูกต้อง " คือการกระทำที่สอดคล้องกับนิยามต่าง ๆ ที่นำไปสู่ผลคือ ความสุข ความสมดุล และยั่งยืน
           การกระทำที่ " ไม่ถูกต้อง "  คือ การกระทำที่มีผล คือความทุกข์ และเป็นการทำลายนิยามต่าง ๆ ให้เกิดปัญหาและความเดือดร้อน
...............
           หากมนุษย์ยังมองไม่เห็นถึงการกระทำที่ไม่ถูกต้องของตนหรือไม่สำนึกแล้วแก้ไขในการกระทำที่ไม่ถูกต้องนั้น และยังมีการกระทำที่ไม่ถูกต้องมากขึ้น  ก็จะมีความทุกข์เป็นผลเกิดขึ้นในการดำรงชีพมากขึ้น หนักขึ้น รุนแรงขึ้นตามลำดับ จนถึงจุดหนึ่ง " กรรมนิยาม " ก็อาจจะต้องถึงกับทำการล้าง " มนุษย์ " ให้แทบหมดสิ้นไป เพราะการกระทำที่ไม่ถูกต้องนั้นได้ไปกระทบต่อนิยามต่าง ๆ ที่มีอยู่ จนทำให้ไม่สามารถรองรับการกระทำของมนุษย์ในลักษณะนี้ได้อีกต่อไป เพื่อที่จะได้เริ่มต้นใหม่ และเป็นเสมือนการเยียวยารักษานิยามต่าง ๆ ให้สามารถยังคงดำรงอยู่และทำหน้าที่ต่อไปได้
...ฯลฯ...
(จากหนังสือ คู่มือ บัณฑิตของแผ่นดิน จัดพิมพ์และเผยแพร่โดย ธรรมสถาน สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
.................
ปัญญา..ที่ควรรู้ (๔)
.................

วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ปัญญา...ที่ควรรู้ (๔)


...ฯลฯ...
จิตตนิยาม : กฏธรรมชาติเกี่ยวกับการทำงานของจิต
       เมื่อ " อุตุนิยาม " และ " พืชนิยาม " มีความเหมาะสมแล้ว กล่าวคือ มีสิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่เหมาะสม มี ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่สมดุล และมีพืชเกิดขึ้นแล้ว ก็จะเป็นพื้นฐานรองรับให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า " สัตว์ " และจะมี " จิตตนิยาม " หรือกฏธรรมชาติเกี่ยวกับการทำงานของจิตมารับช่วงต่อเป็นลำดับถัดไป
        สาระสำคัญของ " สัตว์ " ในที่นี้คือ การมีสิ่งที่เรียกว่า " ความรู้สึกนึกคิด " หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่า " จิต " เกิดขึ้น
        ทัศนะทางพระพุทธศาสนานั้น " พืช " ไม่มี " จิต " และได้อาศัย " จิต " เป็นเครื่องจำแนกความแตกต่างระหว่าง " พืช " กับ " สัตว์ " และยังได้แสดงไว้ชัดว่า " จิต " เป็นธรรมชาติอีประเภทหนึ่ง จัดเป็นธรรมชาติฝ่ายนามธรรม ที่แตกต่างออกไปจาก ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ซึ่งเป็นธรรมชาติฝ่ายรูปธรรม แต่สามารถทำงานหรือทำหน้าที่ร่วมกับธรรมฝ่ายรูปธรรมได้โดยผ่านสิ่งที่เรียกว่า " ประสาท " หรือ " ระบบประสาท "
         ดังนั้น สาระสำคัญของ " สัตว์ " ที่นอกจากจะมีจิตแล้ว ยังต้องมีสิ่งที่เรียกว่า " ประสาท " อีกด้วย
         จิตตนิยาม ที่เป็นพื้นฐานควบคุมการทำงานของจิตหรือพฤติกรรมความเป็นไปของสัตว์ต่าง ๆ ก็คือสิ่งที่เรียกว่า " สัญชาตญาณ "
          "สัญชาตญาณ"คือความรู้ที่มีมาพร้อมจิต เป็นความรู้ที่มีมาแต่กำเนิด และเกิดขึ้นได้เองโดยไม่ต้องมีใครสั่งสอน เพื่อที่จะควบคุมความเป็นไปต่าง ๆ ของสัตว์ และทำให้สัตว์ทั้งหลายสามารถรักษาตัวรอดและดำรงชีวิตอยู่ได้
           สัตว์ทุกชนิดจะต้องที"สัญชาตญาณ"ที่ " จิตนิยาม " หรือกฏธรรมชาติเกี่ยวกับการทำงานของจิตให้มา
.................
           เรื่องของ"จิตตนิยาม" ในกรณีของ"มนุษย์" มีความแตกต่างจากสัตว์อื่น ๆ เป็นอย่างมาก เนื่องจากมนุษย์มีระบบประสาทที่มีความสมบูรณ์พิเศษ ประกอบกับมีคุณภาพของ "จิต" ที่มีศักยภาพสูง
            ดังนั้น " มนุษย์ " นอกจากจะมีเรื่องของ " สัญชาตญาณ " ดังที่กล่าวไปแล้ว ก็ยังมี " ภาวิตญาณ " คือความรู้ที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ฝึกฝน ไม่ได้มีมาเองหรือเกิดขึ้นองมาแต่กำเนิด เพิ่มเติมมากไปกว่าสัตว์อื่น ๆ
          และจาก " จิตตนิยาม " ในเรื่อง " ภาวิตญาณ " นี้เองจึงทำให้" มนุษย์ " มีพัฒนาการในการดำรงอยู่ที่มากไปกว่าและแปลกไปกว่าที่เป็นไปเองตามสัญชาตญาณ เมื่อนานเข้า " ภาวิตญาณ " นี้ได้เข้าไปแทนที่และถึงกับลบล้าง " สัญชาตญาณ " อะไรบางอย่าง จนถึงจุดหนึ่งได้ทำให้มนุษย์ไม่สามารถดำรงอยู่โดยลำพังเพียงสัญชาตญาณเช่นสัตว์อื่น ๆ อีกต่อไป ต้องมีการเรียนรู้่และฝึกฝนอบรมจนมีความรู้อะไรบางอย่างเพิ่มเติม จึงจะทำให้สามารถดำรงอยู่ได้ และกลายเป็นชีวิตที่ต้องขึ้นกับการฝึกฝนอบรมตนเป็นสำคัญ จนในที่สุดกลายเป็นชีวิตที่นำเอาผลจากการฝึกอบรมมาเป็นเครื่องวัดและตัดสินคุณค่า - ความสำเร็จในความเป็นมนุษย์ ซึ่งสอดคล้องกับพุทธพจน์บทหนึ่งที่ตรัสว่า " ทนฺโต เสฎโฐ มนุสฺโสสิ " แปลว่า " ในหมู่มนุษย์ คนที่ประเสริฐ คือคนที่ฝึกแล้ว " ซึ่งมีนัยสำคัญว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่จะต้องได้รับการเรียนรู้และฝึกฝนตน และเพราะการเรียนรู้และฝึกฝนตน จึงทำให้มนุษย์มีความประเสริฐ เลิศและวิเศษ ไม่ได้หมายความอย่างที่อาจเข้าใจผิดกันมากว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ กล่าวคือ พอเกิดเป็นมนุษย์เท่านั้นก็ประเสริฐขึ้นมาทันที
         จิตตนิยาม คือ " ภาวิตญาณ " จึงเป็นสิ่งกำหนดให้ชีวิตของมนุษย์ ต้องมีการเรียนรู้และฝึกฝนตนเอง
         หากมนุษย์ไม่เรียนรู้และฝึกฝนตนเอง หรือเรียนรู้และฝึกฝนที่ไม่ถูกวิธี ก็จะกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถเอาตัวรอด หรือดำรงชีวิตอยู่ได้ และอาจกลายเป็นชีวิตที่ก่อปัญหาให้เกิดขึ้นทั้งต่อตนเอง สังคม ตลอดจนสิ่งแวดล้อมได้อย่างกว้างขวาง
        แต่หากมนุษย์ได้เรียนรู้และฝึกฝนตนเองอย่างถูกวิธีแล้วจะกลายเป็นชีวิตที่มีความประเสริฐ และเลิศลำ้สุดประมาณ
         สัตว์ที่ดำรงชีพอยู่ด้วย " สัญชาตญาณ " อีกนัยหนึ่งมีความหมายว่า สัตว์นั้น ๆ ไม่สามารถพัฒนาตนให้มากไปกว่าที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติ จึงมีวิถีชีวิตและรูปแบบการดำรงอยู่ที่ไม่มีความแตกต่างกันนักในสัตว์แต่ละประเภท
          ส่วนมนุษย์ซึ่งมี " ภาวิตญาณ "ทำให้สามารถเรียนรู้และฝึกฝนพัฒนาตนได้อย่างไม่มีขีดจำกัด ทั้งในทางที่เจริญขึ้นหรือเสื่อมลงกว่าที่เป็นไปตามสัญชาตญาณก็ได้  เราจึงสามารถเห็นความแตกต่างในชีวิตและสังคมของมนุษย์ ทั้งในด้านรูปธรรมและนามธรรมคือจิตใจได้มากมายเหลือเกิน กล่าวเฉพาะในด้านจิตใจ มีตั้งแต่คนดีที่สุดจนถึงคนเลวที่สุด  คนมีน้ำใจกรุณามหาศาลอย่างที่เรียกว่า พระโพธิสัตว์ จนถึงคนที่มีจิตใจอำมหิตโหดเหี้ยม สามารถฆ่าล้างเผ่าพันธู์มนุษย์ได้
...ฯลฯ...
(จากหนังสือ คู่มือ บัณฑิตของแผ่นดิน จัดพิมพ์และเผยแพร่โดย ธรรมสถาน สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย )
********



**************

วันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ปัญญา..ที่ควรรู้(๓)


...ฯลฯ...
พืชนิยาม :  กฏธรรมชาติเกี่ยวกับการสืบพืชพันธุ์
    เมื่อ " อุตุนิยาม "  หรือกฏธรรมชาติที่ทำให้ภาวะของสิ่งแวดล้อมทางกายภาพมีความเหมาะสมแล้ว โดยเฉพาะทำให้ " ธาตุดิน " มีคุณสมบัติที่จะก่อเกิดเป็น " สารอินทรีย์ " ได้ ธรรมชาติก็จะมี " พืชนิยาม " หรือกฏธรรมชาติเกี่ยวกับการสืบพืชพันธุ์ มารับช่วงต่อ กล่าวคือ ทำให้เกิดสิ่งที่เป็น " สารอินทรีย์ " ที่เรียกว่า " พืช " ขึ้น ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษมากขึ้นไปกว่าเรื่องของ " อุตุนิยาม " คือมีความสามารถในการสร้างสิ่งที่เหมือนกับตัวเองขึ้นและเพิ่มปริมาณมากขึ้นได้เรียกความสามารถนี้ว่า " การสืบพันธุ์พืช " หรือ " การสืบพันธุ์ "
      การเกิดขึ้นของพืช ในแง่หนึ่งเป็นดัชนีชี้วัดให้รู้ว่า " อุตุนิยาม " หรือกฏธรรมชาติเกี่ยวกับอุณหภูมิหรือสิ่งแวดล้อมทางกายภาพนั้นมีความเหมาะสมจริง พื้นที่ใดมีพืชเกิดขึ้นอุดมสมบูรณ์ ย่อมหมายความว่า อุตุนิยามหรือสิ่งแวดล้อมทางกายภาพของพื้นที่นั้นทๆ มีความเหมาะสมแล้วหรือมีความสมดุลอย่างดี
        ในทางตรงข้าม หากพื้นที่ใด " ไม่มีพืช " หรือ " พืช " ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ย่อมเป็นเครื่องแสดงว่า " อุตุนิยาม " ในพื้นที่บริเวณนั้น ไม่มีความเหมาะสม เป็นพื้นที่ที่สภาวะแวดล้อมทางกายภาพไม่ดีไม่รองรับต่อสิ่งมีชีวิตที่จะอาศัยและดำรงอยู่ได้อย่างปกติสุข
          นัยสำคัญของการเกิดขึ้นของ "พืช" คือการแบ่งสารวัตถุ(ดิน- น้ำ-ลม-ไฟ ที่อยู่ในภาวะสมดุล)ที่เป็น " สารอนินทรีย์ "  ให้อยู่ในสภาพของ " สารอินทรีย์ " ซึ่งเป็นสารที่เป็นโครงสร้างของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย และ " พืชนิยาม " ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นและกระจายตัวของ " พืช " ไปในส่วนต่าง ๆ บนพื้นพิภพอย่างทั่วถึง ทั้งนี้เพื่อเตรียมการอะไรบางอย่าง ให้นิยามในลำดับถัดไปคือ " จิตตนิยาม " สามารถเกิดขึ้นและดำเนินต่อไปได้
           การเกิดขึ้นของ " พืช " นอกจากเป็นเรื่องของ " สารอินทรีย์ " ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว พิจารณาอีกแง่หนึ่ง เป็นการตระเตรียมให้เกิดมีสิ่งที่เรียกว่า " ปัจจัย ๔ " (อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค) ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นไปในลำดับถัดไปด้วย
           นอกจากนั้น " พืช " ยังสามารถย้อนกับมามีบทบาทต่อ " อุตุนิยาม " ด้วย  โดยช่วยรักษาระบบความสมดุลของสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ หรือความสมดุลของ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ให้สามารถดำรงอยู่อย่างมั่นคงและยั่งยืนยิ่งขึ้นโดยการ...
        @.. เป็น "ป่าไม้" ซึ่งเป็นแหล่งให้ความชุ่มชื้นและความเย็นทำหน้าที่ควบคุม " ธาตุไฟ " หรือเป็นตัวปรับอุณหภูมิหรืออาจเรียกว่าเป็นแอร์คอนดิชั่นของโลก ทำให้ลมฟ้าอากาศ และฤดูกาล เป็นไปโดยปกติ
        @..เป็น " ป่าต้นน้ำ " ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร เพื่อควบคุม " ธาตุน้ำ " หรือควบคุมและจัดระบบการจัดสรรของน้ำในธรรมชาติ
        @..ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ " ธาตุลม " กล่าวได้ว่า " พืช " เป็นแหล่งผลิด " อ๊อกซิเจน " หรือ " ปราณ " ซึ่งเป็นพลังงานสำคัญในการจัดเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย
       @..การเกิดและตายของพืช อันที่จริงเป็นกลวิธีการปรับปรุงสภาพของดินที่สำคัญ ทำให้ " ธาตุดิน " มีคุณภาพที่ดีและเหมาะสมยิ่งขึ้น ๆ ตลอดเวลา
        ดังนั้น การกระทำใดที่มีผลต่อ " พืช " ดังเช่นที่ปรากฏชัดในปัจจุบันโดยเฉพาะเรื่อง " การตัดไม้ทำลายป่า " จึงเป็นมหันตภัยที่หน้ากลัวและใหญ่หลวงที่สุดอีกเรื่องหนึ่ง เพราะไปทำลายสิ่งที่เป็นตัวการรักษาความสมดุลของสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ
       " การตัดไม้ทำลายป่า " โดยเฉพาะที่ไปทำลายแอร์คอนดิชั่นของโลก เรื่องนี้จึงเป็นสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งของ " ภาวะโลกร้อน " นอกเหนือจากสาเหตุที่มาจากการเผาผลาญพลังงานที่มากมายมหาศาล จนเกิดภาวะเรือนกระจก
       " การทำลายป่าต้นน้ำ " ทำให้แหล่งต้นน้ำลำธารถูกทำลาย ซึ่งจะส่งผลให้น้ำในแม่น้ำลำคลองแห้งลง เกิดภาวะแห้งแล้งอย่างมากในฤดูแล้ง เพราะไม่มีป่าต้นน้ำคอยดูดซับน้ำฝน แล้วค่อย ๆ ปล่อยลงมาเติมแก่แม่น้ำลำคลอง : และยังทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างรุนแรงในฤดูฝน เพราะฝนตกมาเท่าไรก็ไหลลงสู่พื้นราบเท่านั้น ไม่มีป่าต้นน้ำคอยซับน้ำไว้ และยิ่งหากมีการตัดไม้ทำลายป่าในบริเวณภูเขาอื่น ๆ ด้วย ก็เท่ากับเป็นการเปิดหน้าดิน ไม่มีรากไม้คอยยึดเหนี่ยวหน้าดินไว้  เมื่อมีฝนตกหนัก ก็จะมีการพัดพาเอาหน้าดินดังกล่าวให้ไหลงมาพร้อมกับต้นไม้ที่ถูกตัด เกิดเป็นดินโคลนถล่มพร้อมท่อนซุง ดังที่มีข่าวให้ได้ยินบ่อย ๆ ซึ่งเป็นเรื่องหน้ากลัวอีกมากเช่นกัน
...ฯลฯ....
(จากหนังสือ คู่มือ บัณฑิตของแผ่นดิน  จัดพิมพ์และเผยแพร่โดย ธรรมสถาน สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
..........
..........

วันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ปัญญา..ที่ควรรู้ (๒) ธรรมชาติ





ขอบคุณคลิป ธรรมชาติ จาก Fwd Line

...ฯลฯ...
อุตุนิยาม : กฎธรรมชาติเกี่ยวกับอุณหภูมิ
      อุตุนิยาม เป็นกฏธรรมชาติพื้นฐานที่สุด เป็นเสมือนบันไดขั้นแรกที่สุด หมายความว่า จะต้องมีอุตุนิยามหรือสิ่งแวดล้อมทางกายภาพด้านรูปธรรมที่เหมาะสมเบื้องต้นก่อน สิ่งต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลของนิยามในลำดับถัดไปคือ พืช สัตว์ และมนุษย์ หรืออาจเรียกรวมว่า สิ่งมีชีวิตทั้งหลายจึงจะสามารถอุบัติขึ้นและดำรงอยู่ได้
      " อุตุ " แปลว่า " อุณหภูมิ " หรือ " ฤดู "
        ดังนั้น สาระสำคัญของ " อุตุนิยาม " ในที่นี้จึงมีความหมายว่าจะต้องมีอุณหภูมิ หรือความร้อนความเย็นที่พอเหมาะ  ที่สามารถเป็นปัจจัยทำให้เกิดเป็นฤดูกาล หรือ ดิน ฟ้า อากาศที่เหมาะสมและลงตัวเสียก่อน จึงจะเป็นปัจจัยก่อกำเนิดให้สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ขึ้นมาได้
         ความหมายของ " ฤดูกาล " หากพิจารณาให้ละเอียดยิ่งขึ้นหลักธรรมทางพุทธศาสนาแสดงไว้ว่าคือ " ภาวะที่เป็นความสมดุลของธาตุพื้นฐานในฝ่ายรูปธรรมทั้ง ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ จนเกิดเป็นระบบของดิน ฟ้า อากาศ ที่ลงตัวและมีความแน่นอนเป็นฤดูต่าง ๆ นั่นเอง "
...............
         เมื่อมีฤดูกาลเกิดขึ้นเวียนเป็นวงจรที่แน่นอนในแต่ละช่วงเวลาจึงทำให้วงจรการกระจายน้ำของธรรมชาติเป็นไปได้อย่างสม่ำเสมอ และยังทำให้สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นสามารถปรับตัวเพื่อดำรงชีวิตอยู่ได้
         เมื่อธาตุ ๆ อยู่ในสภาวะที่เหมาะสม จะทำให้ " ธาตุดิน " เกิดภาวะที่เหมาะสมไปด้วย กล่าวคือ ทำให้เกิดคุณสมบัติพร้อมที่จะรวมตัวกันและก่อกำเนิดเป็น " สารอินทรีย์ " ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตต่อไป
         ดังนั้น กล่าวได้ว่า ดาวเคราะห์ดวงใดหากมีวิวัฒนาการจนมี " ธาตุไฟ "หรือ "อุณหภูมิ" ที่เหมาะสมทำให้ " ธาตุน้ำ " สามารถมีสถานะในบรรยากาศธรรมชาติเกิด " ปราณ " ขึ้นใน " ธาตุลม "  และทำให้ลมพัดในทิศทางที่สม่ำเสมอ จนเกิดเป็นฤดูกาล และทำให้ " ธาตุดิน " พร้อมที่จะมีคุณสมบัติก่อเกิดเป็น " สารอินทรียฺ " ได้ นั่นหมายความว่าดาวเคราะห์นั้นมี " อุตุนิยาม " ที่เหมาะสม พร้อมที่จะรองรับการเกิดขึ้นของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ได้ และสิ่งมีชีวิตอันดับแรกทึ่จะเกิดขึ้นคือ " พืช " ซึ่งจะมี " พืชนิยาม "  เป็นกฏธรรมชาติที่รองรับและควบคุมต่อไป
         ดังนั้น การกระทำใดที่มีผลต่อ " อุณหภูมิ " หรือ "ธาตุไฟ" โดยเฉพาะการเผาผลาญพลังงานอย่างมหาศาล( อันเกิดจากการที่มนุษย์ " กิน - อยู่ "อย่างสุรุ่ยสุร่าย มุ่งตอบสนองความต้องการของตนอย่างไม่มีขึดจำกัด ไม่ได้เป็นไปตามความจำเป็นหรือความต้องการที่แท้จริงของธรรมชาติิ)  จนเกิดภาวะเรือนกระจก ดังเช่นที่ปรากฏชัดในปัจจุบันในเรื่อง " ภาวะโลกร้อน " จึงเป็นมหันตภัยที่น่ากลัวและใหญ่หลวงที่สุด เพราะไปกระทบถึง " ธาตุไฟ " ซึ่งเป็นธาตุพื้นฐาน ที่เป็นตัวควบคุมการเปลี่ยนแปลงของธาตุอื่น ๆ
         เมื่อ "ธาตุไฟ"สียความสมดุลไป จะส่งผลทำให้ " ธาตุน้ำ " เสียความสมดุลไปด้วย กล่าวคือ ทำให้เกิดการเสียความสมดุลของ ๓ สถานะของน้ำในธรรมชาติ น้ำเข็งบริเวณขั้วโลกทั้งสอง และที่ปกคลุมอยู่ตามยอดเขาสูง จะมีอัตราการละเลายที่เร็วขึ้น ซึ่งส่งผลให้น้ำในมหาสมุทรมีปริมาณเพิ่มขึ้น ทำให้เกาะแก่งตลอดจนแผ่นดินที่อยู่ในพื้นที่ต่ำตามชายฝั่ง จมอยู่ใต้น้ำ และอาจถึงกับหายไปจากแผนที่โลก พื้นที่บางแห่งอาจเกิดภัยพิบัติจากน้ำท่วมอย่างรุนแรง นอกจากนั้นยังส่งผลถึง " ธาตุลม " ทำให้เกิดพายุต่าง ๆ มากขึ้นละรุนแรงขึ้น รวมทั้งทำให้ทิศทางการพัดของลมเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลทำให้ฤดูกาลของภูมิภาคต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก และกระเทือนถึง " อุตุนิยาม "อย่างรุนแรง มีผลกระทบทำให้ " ธาตุดิน " รวมไปถึงพืช สัตว์และมนุษย์ มีสภาพและวิถีการดำรงชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป สิ่งมีชีวิตหลายอย่างที่ไม่สามารถปรับตัวให้ดำรงอยู่ต่อไปได้  ก็อาจจะล้มหายตายจากและสูญพันธุ์ไป  นอกจากนั้นยังมีผลทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บที่แปลก ๆ ใหม่ ๆ ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก
....ฯลฯ.....
(จากหนังสือ คู่มือ บัณฑิตของแผ่นดิน จัดพิมพ์แและเผยแพร่โดย ธรรมสถาน สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
*********
ปัญญาที่..ควรรู้ (๑) (คลิก)
ปัญญาที่..ควรรู้ (๓)

***********