หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

" อนัตตา "

เนรัญชรา พุทธคยา อินเดีย
*****
.... ฯลฯ ......
     พระพุทธเจ้า เสด็จไปแสดง " อนัตตา " โปรดชฏิลตระกูลกัสสปะ
      เวลาตอนพลบค่ำของวันขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๑๒ พระพุทธองค์เสด็จถึงอุรุเวลาเสนานิคมอันเป็นที่อยู่ของชฏิล ๓ พี่น้อง แล้วตรัสว่า  " อุรุเวลกัสสปะ เราขอพักแรม ณ ที่นี้ด้วย "
      ท่านอุรุเวลกัสสปะกล่าวว่า " ใครหรือบังอาจมาเรียกเราด้วยชื่อ ไม่เคยมีใครเรียกเราอย่างนี้มาก่อนเลย มีแต่เรียกเราว่า ท่านเจ้าคะ ท่านพระคุณเจ้า ท่านอาจารย์ อย่างนี้เท่านั้น "
       "ท่านนี้เย่อหยิ่งด้วยมานะเสียเหลือเกิน ท่านต้องการอะไร" 
       "ต้องการที่จะขอพักแรมที่นี่"
       " ที่นี่ไม่มีกุฏิที่พัก"
       " หากไม่มีกุฏิที่พัก จะขอพักในโรงบูชาไฟได้ใหม"
       " ได้อยู่ หากท่านไม่กลัวตาย เพราะว่าในโรงไฟนี้มีพญานาคตัวหนึ่ง ชอบเข้ามาในตอนกลางคืน เกรงว่ามันจะฉกกัดท่านตายเสียเท่านั้นแหละ "
       " นั่นไม่สำคัญ ขอเพียงท่านอนุญาตให้พักก็พอ "
       " อยากจะตายก็เชิญ "
      เมื่อได้รับอนุญาตให้พักแล้ว พระพุทธองค์ทรงสรงน้ำเสร็จแล้วก็เข้าไปในโรงไฟ ประทับนั่นเข้าผลสมาบัติอยู่ เวลา ๒๒ นาฬิกา พอพญานาคเข้ามาเห็นก็กระโจนพุ่งใส่พระพุทธองค์ทันที กระโจนพุ่งกี่ครั้งกี่หนก็ไม่ถึง กระโจนจนหมดแรงไปเอง เมื่อไม่สามารถทำร้ายพระพุทธองค์ จึงน้อมตัวลงถวายบังคม 
       รุ่งเช้าท่านอุรุเวลกัสสปะหัวหน้าชฏิลจึงเข้ามาตรวจดูโดยเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าถูกพญานาคฆ่าตายแล้ว  เมื่อมาถึงก็เห็นพญานาคนอนขดตัวหันหัวไปทางพระพุทธองค์ จึงกล่าวว่า " ท่านนี้มีอนุภาพไม่เบา แต่ว่ายังไม่เป็นพระอรหันต์เช่นเรา ท่านจงเพียรปฏิบัติให้บรรลุเป็นพระอรหันต์ด้วยเถิด"
        ในคืนที่สอง พระพุทธองค์ทรงย้ายไปพักตรงเชิงเขาใกล้กุฏิท่านอุรุเวลปัสสปะ ค่ำคืนนั้นมีเทวดาพากันมาฟัง อนัตตา รัศมีของเทวดาทำให้บริเวณนั้นสว่างไสวไปหมด ท่านอุรุเวลปัสสปะจึงว่า " เรามาอยู่ที่นี่ตั้ง ๓๐ ปี แล้ว ไม่เคยมีเทวดามาเฝ้าอย่างนี้สักครั้ง ท่านมีอนุภาพมาก แต่ว่ายังไม่เป็นพระอรหันต์เช่นเรา ท่านจงเพียรปฏิบัติให้บรรลุเป็นพระอรหันต์เหมือนเราเถิด"
         พระพุทธองค์ทรงใช้วิธีมากมายหลายอย่าง เพื่อกำจัดทำลายทิฐิมานะของท่านอุรุเวลปัสสปะ จนไม่สามารถจะนำมากล่าวให้หมดสิ้นในที่นี้ได้
........
         " ทิฐิ และมานะ" มีความหมายดังนี้ มานะคือความเห็นผิดว่า กูมี กูเป็น เช่น กูมีการเรียนรู้มามาก มีอายุมาก มีพรรษามาก มีลูกศิษย์มาก มีบริวารมาก มียศ มีตำแหน่ง กูมีคนนับหน้าถือตา กูเป็นพระ กูเป็นอาจารย์ เป็นต้น ทิฐิ ได้แก่อัตตา เป็นความมเห็นผิดว่าเป็นกู มีกู โลภะคือความอยากได้ " อัตตา โลภะ และมานะ " รวมเรียกว่า ตัณหา
........
        ในวันเพ็ญเดือน ๑๒ เกิดพายุฝนตกลงมาอย่างหนัก จนน้ำท่วม  ชฏิล ๕๐๐ ท่านต้องใช้เรือพายในการเดินทาง ส่วนพระพุทธองค์เสด็จบนน้ำได้ เมื่ออุรุเวลกัสสปะเห็นเข้าจึงกล่าวแก่พระพุทธองค์ว่า " ท่านยังไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนกับเรา จงพยายามปฏิบัติให้บรรลุเป้นพระอรหันต์ให้ได้ด้วยเถิด "                      พระพุทธองค์จึงตรัสถามว่า
          ๑. หา เห็นอะไรจึงเรียกว่า "เป็นพระอรหันต์
          ๒. เอาอะไรมาทำเป็น(มาวัด)ว่า "เป็นพระอรหันต์"
          ๓. จิตพระอรหันต์มีกี่ดวง
          ๔.งานของพระอรหันต์มีอะไรบ้าง
         ท่านอุรุเวลปัสสปะถูกถามด้วยคำถามอย่างนี้ก็ได้แต่นิ่งไป เพราะว่าไม่หา ไม่เห็นมาด้วยตนเองจึงตอบไม่ได้ เมื่อสำนึกได้จึงทิ้งมานะทางกาย ที่เย่อหยิ่งว่าตนมีอายุมาก มีพรรษามาก มีลูกศิษย์บริวารมาก แล้วถวายบังคมพระพุทธเจ้า ทิ้งมานะทางวาจา ที่เย่อหยิ่งไม่ยอมพูดจา แล้วหยิบยกนำเอาคำถามของพระพุทธเจ้าทูลถามกลับคืน
..........
         ฯลฯ
        ......จิต เจตสิก รูป และนิพพาน เรียกว่า " ปรมัตถธาตุ " แปลว่าธาตุไม่เปลี่ยนแปลง กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ รูป วิญญาณ เวทนา สุญญตะ  เป็นสภาวะอนัตตา...
        ฯลฯ
...........
        เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาอธิบายให้เห็นแจ่มชัดถึงอนัตตาจบลง ท่านอุรุเวลปัสสปะพร้อมด้วยบริวาร ๕๐๐ คน รับธรรมศรัทธา(เชื่ออนัตตา) แล้วต้ดวิจิกิจฉา(ความเชื่อผิด)ตาย อัตตาก็ดับลงพร้อมกัน ในทันใดนั่นเองสกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหันตมรรค ก็เกิดขึ้นมากำจัดตัดกิเลสที่เหลือทั้งหมดแล้วก้าวสู่ความเป็นพระอรหันต์ (คำว่า อรหันต์ แปลว่า ผู้ตัดกิเลสตายหมดแล้ว) พระพุทธองค์จึงทรงเปล่งวาจาว่า " เอหิ ภิกขุ" แปลว่า เป็นภิกขุแล้วมาเถิด (คำว่า ภิกษุแปลว่า ตัดทำลายกิเลสแล้ว) ดังนี้ ๓ ครั้ง ทันใดนั้น ผม หนวด เคราก็เกลี้ยงเกลาไปเอง จีวร บาตรก็สำเร็จด้วยฤทธิ์ ขณะนั้น พระอรหันต์เกิดขึ้นมาในโลกอีก ๕๐๐ องค์แล้ว.....
..........
จาก หนังสือ  อนัตตาสุดยอด หลวงพ่อธี วิจิตฺตธัมโม เขียน  พระมหายาจินต์ ธมฺมธโร ป.ธ.๙ สส.ม.แปล
******        

     

*********
ขนสมบัติ...ลอยน้ำทิ้ง (คลิก)

วันพุธที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ญาติโดยธรรม

" ญาติโดยธรรม "

*******

       คนเราเกิดมาย่อมมีญาติพี่น้อง คนในวงศ์วานที่ยังนับรู้กันได้ทางเชื้อสายทั้งทางฝ่ายพ่อและฝ่ายแม่นั้น ทางโลกเขาจัดเป็นพี่น้องกัน โดยปกติของคนทั่ว ๆ ไปแล้ว ย่อมเห็นแก่ญาติพี่น้องของตนเองดีกว่าของผู้อื่น ยกเว้นในบางกรณีที่อาจเห็นผู้อื่นดีกว่าญาติพี่น้องก็มี อันนี้ขึ้นอยู่กับความพอใจและไม่พอใจในเรื่องนั้น ๆ
      ความสนิทของญาติพี่น้องนั้น เกิดจากความเป็นญาติทางเชื้อสายหรือวงศ์ตระกูล ความสนิทแบบนี้อาจลบเลือนได้ด้วยความขัดข้องหมองใจกันบางอย่าง  ถ้ายิ่งเป็นเรื่องของผลประโยชน์ด้วยแล้ว ก็มีสิทธิ์ที่จะขัดข้องหมองใจกันได้ง่าย   
       ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์ได้ทรงถามพระเถระผู้ใหญ่องค์หนึ่งว่า พระองค์เองได้ทำบุญอย่างมากมายในพระพุทธศาสนาถึงขนาดนี้ จะจัดว่าพระองค์นี้เป็นญาติกับพระพุทธศาสนาได้หรือไม่ พระเถระผู้ใหญ่ได้กล่าวว่า ยังไม่จัดเป็นญาติกับพระพุทธศาสนาได้ ถ้าจะให้เป็นญาติกับพระพุทธศาสนานั้น ต้องให้บุตรบวชในพระพุทธศาสนาเสียก่อน จึงจะจัดว่าเป็นญาติกับพระพุทธศาสนาได้                                                             แต่การเป็นญาติกับพระพุทธศาสนาแบบนี้ ก็ยังจัดว่าเป็นญาติภายนอกเพราะถึงจะมีลูกบวชเป็นพระ และสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในพระพุทธศาสนาก็ตาม แต่ถ้าตนเองยังไม่ตกกระแสแห่งพระนิพพานแล้ว ก็ยังมีโอกาสไปเกิดในอบายภูมิได้ เพราะในสมัยพุทธกาลนั้น บางคนมีลูกสำเร็จเป็นพระอรหันต์แต่บิดายังมีกรรมอยู่จึงต้องไปตกนรกก็มี
       แต่ถ้าเป็นญาติกันโดยธรรม จะเป็นอีกแบบหนึ่ง คือเป็นญาติกันโดยมีธรรมเป็นตัวเชื่อม เพื่อให้เกิดความสนิทสนม และสามารถช่วยเหลือกันได้ด้วยใจที่เป็นธรรม อย่างนี้จัดว่าเป็นญาติกันโดยคุณธรรม ในจิตใจอันดีงามถึงภายนอกจะเป็นญาติหรือไม่เป็นญาติกันก็ตาม แต่ภายในใจเป็นผู้มีคุณธรรมความดีย่อมเสียสละด้วยจิตใจอันงาม
*****
          * ญาติแบบโลกนั้นนับกันตามเชื้อสายของบิดา - มารดา
          * ญาติแบบธรรมภายนอกนั้นมีคุณธรรมเป็นตัวเชื่อม
          * ญาติธรรมภายในนั้นหมายถึง บุคคลซึ่งปฏิบัติจนมีสภาวธรรมปรากฏขึ้นภายในจิตใจของตนเอง และสภาวะธรรมนั้นเป็นที่พึ่งของใจได้ บุคคลผู้มีภาวะแห่งกระแสธรรมที่เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ ผู้นั้นก็จัดว่าเป็นญาติกับธรรมะภายในใจตน           
           * ญาติภายนอกนั้นดี แต่ยังไม่ยิ่ง
           * ญาติภายในนั้นประเสริฐเลิศหนักหนา
           * จงพากันพบญาติธรรมพร้อมนำพา
           * เพื่อนำมาซึ่งความสุขนิรันดร
*****
จากหนังสือ ประทีปส่องชีวิต โดย อริโย ภิกขุ



วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

สีของใจ


ใจต่างผิวจึงทำให้โลกแบ่งแยก
       คนในส่วนต่าง ๆ ของโลก มีวรรณะ คือผิวต่างกัน เช่น ผิวดำ ผิวขาว ผิวเหลือง และมีการถือผิวกัน เช่น คนผิวขาวดูหมิ่นเหยียดหยามคนผิวดำ  ทั้งในปัจจุบันนี้ ซึ่งต้องการให้ทุก ๆ คน ทุก ๆ ผิว มีสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์เสมอกัน ก็ยังมีข่าวว่าได้มีการรังเกียจผิวแม้ในประเทศที่เจริญ นอกจากนี้ในบางประเทศ เช่น ในชมพูทวีปสมัยโบราณ (คือ อินเดีย ปากีสถานในปัจจุบัน)ก็ได้มีการแบ่งวรรณะเป็นอันมาก ในปัจจุบันนี้ แม้จะต้องการไม่ให้มีการถือผิวกาย ก็มี การแบ่งผิวทางการเมือง เกิดขึ้นแทนอย่างรุนแรง
        การถือผิวต่าง ๆ นี้ ถ้ามีมูลเหตุเกิดจากผิวกายเพียงอย่างเดียวก็แก้ได้ง่าย แต่ถ้ามีมูลเหตุเกิดจากกิเลสในใจคน เช่น อหังการ(การทำให้เป็นเรา) เช่นว่า เราต้องใหญ่โตข่มผู้อื่นลงให้ได้ ก็เป็นสิ่งที่แก้ยาก ฉะนั้น ผิวของใจนี่แหละจึงสำคัญกว่าผิวกาย  เมื่อผิวของใจเป็นอย่างไร ก็แสดงออกมาเป็นอย่างนั้น เป็นดังนี้เหมือนกันแก่คนทุกชาติชั้นวรรณะ
       พระพุทธเจ้าทรงแบ่งบุคคลในโลกออกเป็น ๖ จำพวก ตามสีผิวของใจ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรด ฯ ให้เขียนเป็นภาพอธิบายความหมายไว้ที่ต้นเสาในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ดังนี้
           ๑. กัณหาภิชาติ ชาติคนดำ คือใจหยาบช้าทารุณ เช่น พรานใจบาปต่าง ๆ (ตลอดถึงล่า ฆ่าสัตว์เล่นเป็นการสนุก)
           ๒. นีลาภิชาติ ชาติคนเขียว คือคนที่มีใจประกอบด้วยยุติธรรมมากขึ้น เช่น พิจารณาก่อนจึงนำไปลงโทษ
           ๓.โลหิตาภิชาติ ชาติคนสีเลือด คือคนมีจิตใจสูงขึ้นใฝ่หาศาสนาที่ถูกต้อง เหมือนดัง กษัตริย์ พราหมณ์ พ่อค้า คนรับใช้  กำลังเดินไปเฝ้าพระพุุทธเจ้า
          ๔.หลิททาภิชาติ ชาติคนเหลือง คือคนที่มีจิตใจบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น เช่น ผู้มีศีลธรรม เปรียบเหมือนคนนุ่งขาวห่มขาวหรืออุาสกอุบาสิกา
          ๕.สุกกาภิชาติ ชาติคนขาว คือคนที่มุ่งปฏิบัติให้ละเอียดยิ่งขึ้นกว่าคฤหัสถ์ เหมือนอย่างพระภิกษุสงฆ์ ฤาษีหรือนักบวชผู้ปฏิบัติชอบทั่วไป
          ๖.ปรมสุกกาภิชาติ ชาติคนขาวอย่างยิ่ง คือ ท่านผู้บริสูทธิ์ทั้งหมด ได้แก่ พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย
           รวมเรียกว่า ฉฬาภิชาติ อภิชาติ ๖ ย่นลงเป็น ๓ คือ
          ๑.กัณหะ คนดำ ได้แก่คนชั่วโดยส่วนเดียว
          ๒.กัณหะสุกกะ คนดำ ๆ ขาว ๆ ได้แก่คนทำชั่วบ้างดีบ้าง
          ๓.สุกกะ คนขาว ได้แก่คนที่บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว
          คนสามัญทั่วไปอยู่ในประเภท ๒ แต่บางคนขาวแล้วค่อย ๆ ดำ เป็นคนต้นตรงปลายคด  บางคนดำแล้ว ค่อย ๆ ขาว เป็นคนต้นคดปลายตรง พระพุทธเจ้าได้ทรงอบรมพระบารมีสูงขึ้นโดยลำดับ จึงได้ทรงเปลี่ยวผิวของใจให้สูงขึ้น จนถึงขาวอย่างยิ่ง จะเรียกว่าลอกผิวออกหมดก็ได้ เพราะขาวอย่างยิ่งนั้นไม่ควรนับว่าเป็นสีอะไร
******
(จาก หนังสือ โลกและชีวิตในพุทธธรรม พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร)

วันอาทิตย์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

บทพระมหาปัฏฐาน


๗.ปฏฺฐาน
เหตุปจฺจโย   เหตุเป็นปัจจัย เหตุที่ตั้งอยู่เฉพาะแห่งผล มี ๖ อย่าง ได้แก่ อกุศลเหตุ ๓ คือ โลภะ โทสะ โมหะ กุศลเหตุ ๓ คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ อกุศลเหตุเป็นปัจจัยแดนเกิดแห่งผล คืออุดหนุนให้เกิดนาม รูป หรือ จิต เจตสิก และรูปฝ่ายอกุศล กุศลเหตุเป็นปัจจัยแห่งนามรูปฝ่ายกุศล เหมือนอย่างรากแก้วของต้นไม้ใหญ่ เป็นที่ตั้งอยู่ได้ของต้นไม้ และช่วยอุดหนุนต้นไม้ให้งอกงาม
อารมฺมณปจฺจโย   อารมณ์เป็นปัจจัย อารมณ์เป็นเรื่องเจตสิกทั้งหลายยึดหน่วง มี ๖ อย่าง ได้แก่
รูปารมณ์ อารมณ์คือรูป
สัททารมณ์ อารมณ์คือเสียง
คันธารมณ์ อารมณ์คือกลิ่น
รสารมณ์ อารมณ์คือรส
โผฏฐัพารมณ์ อารมณ์คือโผฏฐัพพะ สิ่งที่กายถูกต้อง
ธัมมารมณ์ อารมณ์คือ ธรรม ได้แก่เรื่องของรูปเป็นต้นที่ได้ประสบแล้วในอดีต
อารมณ์เหล่านั้นเป็นปัจจัยแห่งเหตุ ๖ ประการเหล่านั้น เพราะจิตและเจตสิกทั้งปวงต้องอาศัยยึดหน่วงอารมณ์จึงเกิดขึ้นได้ เหมือนอย่างคนชราหรือทุพพลต้องอาศัยไม้เท้าหรือเชือกเป็นเครื่องยึดหน่วง จึงทรงตัวลุกขึ้นเดินไปได้
อธิปติปจฺจโย   อธิบดีเป็นปัจจัย อธิบดีคือธรรมที่เป็นใหญ่กว่าสัมปยุตตธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับตน แบ่งเป็น ๓ ประเภทก่อนคือ
อารัมมณาธิปติ อธิบดีคืออารมณ์ชนิดที่น่าปรารถนาอย่างแรง ๑
สหชาตาธิปติ อธิบดีคือธรรมที่เกิดร่วมกัน ๑
สหชาตาธิปติ มี ๔ อย่างคือ
ฉันทาธิปติ อธิบดีคือฉันทะเจตสิก ความพอใจที่เกิดขึ้นในใจ
วิริยาธิปติ อธิบดี คือวิริยะเจตสิก ความเพียรที่เกิดขึ้นในใจ
จิตตาธิปติ อธิบดี คือความเอาใจใส่จดจ่อ
วิมังสาธิปติ อธิบดีปัญญาเจตสิก ปัญญาใคร่ครวญพิจารณาเกิดขึ้นในใจอารมณ์อย่างแรงเป็นอธิปติปัจจัย เพราะทำให้นามธรรม คือจิตและเจตสิกน้อมไปยึดอย่างหนักหน่วง ส่วน อธิบดี ๔ มีฉันทะเป็นต้น เป็นอธิปติปัจจัยเพราะสามารถยังธรรม ซึ่งเกิดร่วมกับตน และนามธรรมอื่นซึ่งไม่สามารถจะเป็นอธิบดีได้ ให้น้อมไปตามอำนาจของตน
อนนฺตรปจฺจโย   ธรรมที่เกิดเป็นลำดับไม่มีระหว่างคั่นเป็นปัจจัย คือสามารถยังจิตตุปบาท (ความเกิดแห่งจิต) อันสมควรกันให้เกิดขึ้นในลำดับของตน ได้แก่ นามธรรม คือ จิตและเจตสิกที่เกิดก่อน เป็นปัจจัยอุดหนุนแก่นามธรรม คือจิตและเจตสิกที่เกิดทีหลัง ได้แก่ช่วยอุปการะให้เกิดขึ้นสืบต่อกันไปโดยไม่ว่างเว้น คือไม่มีระหว่างคั่นเว้นไว้แต่จุติจิตของพระอรหันต์
สมนนฺตรปจฺจโย
ธรรมที่เกิดเป็นลำดับสืบต่อกันเรื่อยไป ไม่มีธรรมอื่นมาคั่นระหว่างเลยทีเดียวเป็นปัจจัย ได้แก่นามธรรมที่เกิดก่อนเป็น สมนันตรปัจจัยแก่นามธรรมที่เกิดภายหลัง คล้ายกับอนัตรปัจจัย
สหชาตปจฺจโย
ธรรมที่เกิดร่วมเป็นปัจจัย คือ ธรรมที่เกิดร่วมกันต่างเป็นปัจจัยอุดหนุนกันเอง ด้วยอำนาจที่ยังธรรมที่เกิดร่วมกันให้เกิดพร้อมกัน เพราะเมื่อตนไม่เกิด แม้ธรรมที่เกิดร่วมกันก็ไม่เกิดขึ้นได้ เหมือนอย่างดวงไฟเกิดพร้อมกับแสงไฟ เมื่อไม่มีดวงไฟ แสงไฟก็มีขึ้นไม่ได้ เช่น นามขันธ์ ๔ มหาภูตรูป ๔ ปฏิสนธิหทัยวัตถุ เป็นสหชาตปัจจัย
อญฺญมญฺญปจฺจโย
ธรรมแต่ละอย่างต่างต้องอาศัยกันและกันเป็นปัจจัย คือธรรมที่เป็นอุปการะโดยอุดหนุนกันและกันให้เกิดขึ้น เหมือนอย่างไม้ ๓ อัน ต่างพิงอาศัยกันจึงตั้งอยู่ได้ ได้แก่นามขันธ์ ๔ช่วยอุดหนุนกันและกันเกิดขึ้นมหาภูตรูป ๔ ช่วยอุดหนุนกันและกันเกิดขึ้น ปฏิสนธินามขันธ์ ๔ และปฏิสนธิหทัยวัตถุ ช่วยอุดหนุนกันและกันเกิดขึ้น
นิสฺสยปจฺจโย
ธรรมเป็นปัจจัยโดยเป็นนิสัยที่อาศัย คือเป็นที่อาศัยโดยอธิษฐานการ คืออาการที่ตั้งมั่น ๑ เป็นที่อาศัยโดยนิสสยาการ คืออาการที่อ้างอิงอาศัย ๑ ธรรมเป็นนิสัยปัจจัยที่อาศัยโดยอาการที่ตั้งมั่นนั้นได้แก่ปฐวีธาตุ เป็นที่อาศัยตั้งมั่นแห่งธาตุอื่น วัตถุ ๖ มีจักขุเป็นต้น เป็นที่อาศัยตั้งมั่นแห่งจักขุวิญญาณเป็นต้น เหมือนอย่างแผ่นดินที่อาศัยตั้งมั่นของต้นไม้เป็นต้นบนแผ่นดิน ธรรมเป็นนิสัยที่อาศัยโดยอาการที่อิงอาศัยนั้น ได้แก่นามขันธ์ ๔ เป็นที่อิงอาศัยกันและกัน อาโป เตโช วาโยก็
เหมือนกัน เหมือนอย่างแผ่นผ้าเป็นที่อาศัยแห่งจิตกรรมภาพวาดเขียน
อุปนิสฺสยปจฺจโย
ธรรม เป็นปัจจัยโดยเป็นอุปนิสัยที่อาศัยอย่างแรงกล้า ได้แก่อารมณ์อย่างแรงกล้า เหมือนอย่างอารมณ์ที่เป็นอธิปติปัจจัยเป็นที่อาศัย อย่างแรงกล้าให้เกิดธรรมที่เกิดจากอารมณ์นั้นเป็นปัจจัย เรียกว่าอารัมมณูปนิสสยปัจจัย ธรรมเป็นปัจจัยโดยอุปนิสัยที่อาศัยอย่างแรงกล้าคือ อารมณ์ ธรรมที่เกิดเป็นลำดับ ไม่มีระหว่างคั่นอย่างแรงกล้าเหมือนอย่าง อนันตรปัจจัย เป็นอุปนิสสยปัจจัยให้เกิดธรรมที่เกิดจากธรรมนั้นเป็นปัจจัยโดยไม่มีระหว่างคั่น เรียกว่า อนันตรูปนิสสยปัจจัย ธรรมเป็นปัจจัยโดยเป็นอุปนิสัยที่อาศัยอย่างแรงกล้า คือธรรมที่เกิดเป็นลำดับไม่มีระหว่างคั่น เหตุที่มาจนเป็นปกตินิสัยแล้ว ไม่เกี่ยวข้องด้วยอารัมณปัจจัย เป็นเหตุที่ตนทำให้เกิดขึ้นเอง เช่นกุศลธรรม อกุศลธรรมต่างๆ ก็ดี เป็นเหตุฝ่ายกุศลและอกุศล ที่เนื่องจากการเสวนาซ่องเสพบุคคลและอาหารเป็นต้นของตนก็ดี เรียกว่า ปกตูปนิสสยปัจจัย ธรรมเป็นปัจจัยโดยอุปนิสัยที่อาศัยอย่างแรงกล้า คือเหตุที่ทำมาจนเป็นอุปนิสัยแล้ว
ปุเรชาตปจฺจโย
ธรรมที่เกิดก่อนเป็นปัจจัย คือธรรมที่เกิดขึ้นก่อนแล้วยังคงมีอยู่ไม่ดับไป ได้แก่รูปธรรมที่เกิดขึ้นก่อนแล้วยังไม่ดับไป เป็นปัจจัยอุดหนุนนามธรรม คือจิตและเจตสิกให้เกิดขึ้น เปรียบเหมือนพระอาทิตย์และพระจันทร์เกิดขึ้นก่อนยังไม่ดับ สัตว์โลกทั้งหลายจึงได้อาศัยเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ในโลก
ปจฺฉาชาตปจฺจโย
ธรรมที่เกิดภายหลังเป็นปัจจัย ได้แก่ นามธรรมคือจิตและเจตสิกที่เกิดทีหลัง เป็นปัจจัยปัจจัยอุดหนุนแก่รูปธรรมที่เกิดก่อนให้ตั้งอยู่ได้จนครบอายุ อายุของรูปธรรมเท่ากับอายุของจิต ๑๗ ดวง รูปธรรมที่เกิดก่อนจะตั้งอยู่ได้ตลอด ๑๗ ขณะจิตนี้ ก็เพราะจิตและเจตสิกที่เกิดทีหลังอุปถัมภ์ให้ตั้งอยู่และให้เจริญ มีอุปมาเหมือนอย่างต้นไม้ที่ปลูกไว้แล้ว จะตั้งอยู่และเจริญขึ้นได้ ก็ด้วยอาศัยน้ำฝนที่ ตกลงมา หรือเอาน้ำรดในภายหลัง หรือมีอุปมาเหมือนอย่างลูกนกแร้งที่ยังเล็ก บินไปหาอาหารมิได้ ก็ได้อาศัยเจตนาที่หวังอาหารนั่นเองบำรุงเลี้ยง จนกว่าจะบินออกไปหาอาหารเองได้
อาเสวนปจฺจโย
ธรรมที่ทำหน้าที่เสพอารมณ์บ่อย ๆ เป็นปัจจัย ได้แก่โลกิยชวนจิตที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ชื่อว่าเสพอารมณ์บ่อย ๆ เป็นปัจจัยอุดหนุนธรรมที่เป็นเชื้อสายชาติเดียวกันให้เกิดขึ้น เช่น เมื่อกุศลชวนจิตดวง ๑ เกิดขึ้น ก็เป็นปัจจัยอุดหนุนกุศลชวนจิตชนิดเดียวกันให้เกิดขึ้นเป็นดวงที่ ๒ เป็นปัจจัยอุดหนุนต่อกันไปดังนี้ จนถึงดวงที่ ๗ ซึ่งเป็นตัวเจตนาลงสันนิษฐานให้สำเร็จกิจอย่างหนึ่ง ๆ เหมือนอย่างบุคคลที่เรียนวิชาใดอย่างหนึ่งมาแล้ว ย่อมเรียนวิชาอย่างเดียวกันต่อขึ้นไปได้ง่าย และเร็วขึ้นจนกระทั่งสำเร็จการเรียนวิชาอย่างนั้น
กมฺมปจฺจโย
กรรมเป็นปัจจัย กรรมได้แก่เจตสิกธรรม คือเจตนา ความจงใจ เป็นปัจจัยปรุงแต่งจัดแจงจิต เจตสิกธรรมที่เกิดในจิต กัมมชรูป รูปที่เกิดแต่กรรม และจิตตชรูป รูปที่เกิดแต่จิต ที่เกิดรวมกันเป็นสหชาตธรรม เช่นเมื่อจิตและเจตสิกรับรูปารมณ์เป็นต้น เกิดโลภจิตขึ้น กรรมคือเจตนาที่เป็นสหชาตเกิดร่วมอยู่ด้วย ก็เป็นปัจจัยปรุงแต่งจัดแจงโลภจิตนั้นให้เข้ารับรูปารมณ์เต็มที่ เป็นเหตุให้แสดงอาการของโลภะออกมาทางกายวาจา ด้วยอำนาจโลภมูลเจตนา อีกอย่างหนึ่ง กรรมที่เป็น นานาขณิกะเกิดขึ้นในขณะต่าง ๆกัน เป็นปัจจัยเพาะพืชพันธุ์ไว้ เมื่อกุศลเจตนา และอกุศลเจตนาเกิดขึ้นพร้อมกับจิตนั้นดับไปแล้ว กรรมคือเจตนานี้ยังเพาะพืชพันธุ์ไว้ มีอำนาจส่งผลให้ปรากฏขึ้ในภายหลัง
วิปากปจฺจโย
วิบากเป็นปัจจัย วิบากคือธรรมที่เป็นผลของกุศล และอกุศล ได้แก่วิบากนามขันธ์ ๔ หรือวิบากจิตเจตสิก เป็นปัจจัยอุดหนุนซึ่งกันและกัน และเป็นปัจจัยอุดหนุนปฏิสนธิกัมมชรูปและจิตตชรูป วิบากเป็นปัจจัยอุดหนุนวิบากนี้ มีอุปมาเหมือนอย่างชราซึ่งเป็นวิบาก เกิดสืบมาจากชาติชรา ในตอนแรก ๆ ที่ติดมาตั้งแต่เป็นทารก เป็นปัจจัยอุดหนุนชราในตอนหลัง ๆ โดยลำดับ
อาหารปจฺจโย
อาหารเป็นปัจจัย สภาพที่นำผลมา คือประมวรมาซึ่งผลของตน ๆ ชื่อว่าอาหาร เป็นปัจจัยอุปถัมภ์รูปธรรมและนามธรรมทั้งหลาย อาการปัจจัยนี้มี ๔ อย่างคือ
กวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าว ได้แก่โอชาภายนอกที่อยู่ในอาหารต่าง ๆ เป็นรูปอาหาร เป็นปัจจัยอุดหนุนรูปกาย
ผัสสาหาร อาหารคือผัสสะ
มโนสัญเจตนาหาร อาหารคือเจตนาจงใจ
วิญญาณาหาร อาหารคือวิญญาณ
สามข้อ(หลัง)นี้เป็นนามอาหาร เป็นปัจจัยอุดหนุนนามธรรม คือจิตเจตสิกที่ประกอบด้วยตน และอุดหนุนจิตตชรูปและปฏิสนธิกัมมชรูป ซึ่งมีนามอาหารและจิตเจตสิกนั้นเป็นสมุฏฐาน อาหารเหล่านี้ เป็นปัจจัยอุดหนุนรูปธรรมและนามธรรมของสัตว์ทั่วทั้ง ๓๑ ภูมิ เพราะสัตว์ทั้งปวงดำรงอยู่ได้เพราะอาหาร
อินฺทฺริยปจฺจโย
อินทรีย์เป็นปัจจัย ธรรมที่เป็นใหญ่ คือกระทำซึ่งความเป็นใหญ่ยิ่งชื่อว่าอิทรีย์ มี ๒๒คือ
จักขุนทรีย์ อินทรีย์คือ ตา
โสตินทรีย์ อินทรีย์คือ หู
ฆานินทรีย์ อินทรีย์ คือจมูก
ชิวหินทรีย์ อินทรีย์ลิ้น
กายินทรีย์ อินทรีย์คือกาย
มนินทรีย์ อินทรีย์คือใจ
อิตถินทรีย์ อินทรีย์คือหญิง
ปุริสินทรีย์ อินทรีย์คือชาย
ชีวิตินทรีย์ อินทรีย์คือชีวิต
สุขินทรีย์ อิทรีย์คือสุข
ทุกขินทรีย์ อินทรีย์คือทุกข์
โสมนัสสินทรีย์ อินทรีย์คือโสมนัส
โทมนัสสินทรีย์ อินทรีย์คือโทมนัส
อุเปกขินทรีย์ อินทรีย์คืออุเบกขา
สัทธินทรีย์ อินทรีย์คือศัทธา
วิริยินทรีย์ อินทรีย์คือเพียร
สตินทรีย์ อินทรีย์คือสติ
สมาธินทรีย์ อินทรีย์คือสมาธิ
ปัญญินทรีย์ อินทรีย์คือปัญญา
อนัญญตัญญัสสามีตินทรีย์ อินทรีย์คือโสดาปัตติมรรค
อัญญินทรีย์ อินทรีย์คือโสดาปัตติผลจนถึงอรหัตมรรค
อัญญาตาวินทรีย์ อินทรีย์คืออรหัตผล
อินทรีย์เหล่านี้ทำหน้าที่เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน ๆ เช่นตา ทำหน้าที่เป็นใหญ่ในการเห็นรูป และยกเว้นอิตถีภาวะเสีย เหลือ ๒๐ เป็นปัจจัยและเป็นผลแห่งปัจจัยของกันและกัน
ฌานปจฺจโย
ฌานเป็นปัจจัย ฌานคือการเพ่งอารมณ์อย่างแน่วแน่ประกอบด้วยองค์เป็นปฐม คือ วิตก วิจาร ปีติ เวทนา เอกัคคตา เป็นปัจจัยอุดหนุนนามขันธ์ ๔ และจิตชรูป ปฏิสนธิกัมมชรูป ที่เกิดพร้อมกับตน อีกอย่างหนึ่ง ฌานมี ๒ คือ
อารมมณูปนิชฌาน เพ่งอารมณ์ทางสมถภาวนา
ลักขณูปนิชฌาน เพ่งลักษณะทางวิปัสสนาภาวนา คือไตรลักษณ์ ต่างเป็นปัจจัยอุดหนุนตามอำนาจของตน
มคฺคปจฺจโย
มรรคเป็นปัจจัย มรรคคือธรรมที่เป็นประดุจหนทาง เพราะเป็นธรรมนำให้มุ่งหน้าไปสู่สุคติ ทุคติ และนิพพาน องค์มรรค ๙ได้แก่
ปัญญา
วิตก
สัมมาวาจา
สัมมากัมมันตะ
สัมมาอาชีวะ
วิริยะ
สติ
เอกัคคตา
ทิฏฐิ
องค์มรรคเหล่านี้ เว้น ทิฏฐิ(ความเห็นผิด)ข้อที่ ๙ เหลือ ๘ เป็นฝ่ายกุศล องค์มรรค ๔ คือ วิตก วิริยะ เอกัคคตา ทิฏฐิ เป็นฝ่ายอกุศล และองค์มรรค ๘ ฝ่ายอัพยากฤต เป็นปัจจัยอุดหนุนให้ไปสู่ สุคติ ทุคติ และนิพพานตามประเภท และอุดหนุนสหชาตธรรมที่เกิดขึ้นพร้อมกับตนให้ ไปสู่อารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องกันตน และ ให้ทำกิจ ตามหน้าที่ของตนๆ
สมฺปยุตฺตปจฺจโย
ธรรมที่สัมปยุตกันเป็นปัจจัย ธรรมที่ประกอบพร้อมกัน ๔ ประการ คือธรรม ๒ อย่าง
เมื่อเวลาเกิด ก็เกิดพร้อมกัน
เมื่อเวลาดับ ก็ดับพร้อมกัน
มีอารมณ์เป็นอันเดียวกัน
มีที่อาศัยอันเดียวกัน
เรียกสัมปยุต ได้แก่ จิต และ เจตสิก ที่เป็นนามธรรมด้วยกัน เป็นปัจจัย และผลของปัจจัยของกันและกัน แม้จะมีหน้าที่ ต่างกันแต่ก็สัมปยุตประกอบกันได้สนิท ดังจะยกตัวอย่างนามขันธ์ ๔ เวทนาขันธ์ทำหน้าที่เสวยอารมณ์ สัญญาขันธ์ ทำหน้าที่จำอารมณ์ สังขารขันธ์ทำหน้าที่ปรุงแต่งอารมณ์ วิญญาณขันธ์ ทำหน้าที่รู้อารมณ์ แม้จะต่างหน้าที่กันแต่ก็สัมปยุตกันสนิท เหมือนอย่างเภสัชจตุมธุรส ประกอบด้วยของ ๔ อย่าง คือ น้ำมันเนย ๑ น้ำมันงา ๑ น้ำผึ้ง ๑ น้ำตาล ๑ มีรสเข้ากันสนิทจนไม่อาจจะแยกรสออกจากกันได้
วิปฺปยุตฺตปจฺจโย
ธรรมที่วิปปยุตกันเป็นปัจจัย ธรรมที่ไม่สัมปยุตกันดังกล่าวในข้อก่อน เรียกวิปปยุตธรรม ได่แก่นามและรูป นามเป็นวิปปยุตธรรมของรูป รูปก็เป็นวิปปยุตตธรรมของนาม เพราะไม่ประกอบด้วยลักษณะของสัมปยุตธรรมครบทุกอย่าง ดังเช่น เมื่อจิตเกิด แม้จิตตชรูปจะเกิดด้วย แต่ก็ขาดลักษณะข้ออื่น ทั้งรูปและนามแม้จะเป็นวิปปยุตธรรมของกัน แต่ก็เป็นปัจจัยอุดหนุนกันและกัน เพราะต่างอาศัยกันเป็นไป เหมือนต่างอาศัยกันเป็นไป เหมือนอย่างคน ๒ คน มิใช่ญาติกัน แต่ก็อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน อีกอย่างหนึ่ง วิปปยุตปัจจัยนี้ เปรียบเหมือนรส ๖ อย่างคือ หวาน๑ เปรี้ยว ๑ ฝาด ๑ เค็ม ๑ ขม ๑ เผ็ด ๑ รวมเป็นรสเดียวกันไม่ได้ แต่ก็อาศัยปรุงเป็นแกงอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงเป็นปัจจัยอุดหนุนกันได้
อตฺถิปจฺจโย
ธรรมที่มีอยู่เป็นปัจจัย ธรรมที่มีอยู่คือธรรมที่ปรากฏมีอยู่ในระหว่างอุปปาทะ (ความเกิด) ฐิติ (ความตั้งอยู่) ภังคะ (ความดับ) คือยังมีอยู่ในระหว่างนั้นยังไม่ดับไป ธรรมที่ชื่อว่ามีอยู่อย่างมีกำลังกล้า คือยังมีอยู่ในฐิติ ความตั้งอยู่ เป็นปัจจัยอุดหนุนธรรมที่เป็นผลของตนให้เกิดขึ้น ข้อสำคัญเป็นปัจจัยอุปถัมภ์ธรรมที่เป็นผลของตนให้ดำรงอยู่ เหมือนอย่างพื้นดินที่มีอยู่ อุปถัมภ์ต้นไม้ที่มีอยู่เหมือนกันให้งอกงามและตั้งอยู่ เช่นนามขันธ์ ๔ เป็นอัตถิปัจจัยกันและกัน มหาภูตรูป ๔ เป็นอัตถิปัจจัยกันและกัน นามรูปในขณะปฏิสนธิเป็นอัตถิปัจจัยกันและกัน
นตฺถิปจฺจโย
ธรรมที่ไม่มีเป็นปัจจัย ธรรมที่ไม่มีคือธรรมที่ดับไปแล้วเป็นปัจจัย อุดหนุนธรรมเช่นเดียวกันให้เกิดขึ้น สืบต่อไปในลำดับ ดังที่กล่าวแล้วในอนันตรปัจจัย เช่นจิต เจตสิกดวงที่ ๑ ดับไป ก็เป็นปัจจัยให้ดวงที่ ๒ เกิดสืบต่อไปในลำดับ ถ้าดวงที่ ๑ ไม่ดับ ดวงที่ ๒ ก็เกิดขึ้นมิได้ เหมือนอย่างแสงสว่างกับความมืด เมื่อแสงสว่างดับไป ความมืดจึงปรากฎขึ้นได้
วิคตปจฺจโย
ธรรมที่ปราศจากไปเป็นปัจจัย ธรรมที่ปราศจากไป คือธรรมที่ถึงความดับ เป็นปัจจัยอุดหนุนธรรมเช่นเดียงกันให้เกิดขึ้นในลำดับเช่นเดียวกับนัตถิปัจจัย
อวิคตปจฺจโย
ธรรมที่ไม่ปราศจากไปเป็นปัจจัย ธรรมที่ไม่ปราศจากไป คือธรรมที่ยังไม่ถึงความดับ เป็นปัจจัยอุปการะที่ยังมีอยู่ด้วยกัน เช่นเดียวกับ อัตถิปัจจัย 
********
คำแปลพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์
(สมเด็จพระญาณสังวร-เจริญ สุวฑฺฒโน วัดบวรนิเวศวิหาร)
จาก http://www.watsacramento.org/w-article-074B-t.htm
********

วันศุกร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

บทพระยะมะกะ


******

๖. ยมก
เย เกจิ กุสลา ธมฺมา   ธรรมทั้งหลายเป็นกุศลเหล่าใดเหล่าหนึ่ง
สพฺเพ เต กุสลมูลา    ธรรมทั้งหลายนั้นเป็นกุศลมูล คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ทั้งสิ้น
เย วา ปน กุสลมูลา  ก็หรือว่า ธรรมทั้งหลายเหล่าใดเป็นกุศลมูล
สพฺเพ เต ธมฺมา กุสลา   ธรรมทั้งหลายเหล่านั้นเป็นกุศลทั้งสิ้น
เย เกจิ กุสลา ธมฺมา   ธรรมทั้งหลายเป็นกุศลเหล่าใดเหล่าหนึ่ง
สพฺเพ เต กุสลมูเลน   ธรรมทั้งหลายเหล่านั้นทั้งสิ้น มีมูลเป็น
เอกมูลา    อันเดียวกันกับกุศลมูล
เย วา ปน กุสลมูเลน    ก็หรือว่า ธรรมทั้งหลายเหล่าใดมีมูลเป็น
เอกมูลา   อันเดียวกันกับกุศลมูล
สพฺเพ เต ธมฺมา กุสลา   ธรรมทั้งหลายเหล่านั้นเป็นกุศลทั้งสิ้น
******
คำแปลพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์
(สมเด็จพระญาณสังวร-เจริญ สุวฑฺฒโน วัดบวรนิเวศวิหาร)
จาก http://www.watsacramento.org/w-article-074B-t.htm
*******

*******


วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ความฉลาด..



...โลกนี้เต็มไปด้วยความฉลาด..??!!
...ใช้ความฉลาดเป็นทาสของกิเลส...
...ยิ่งฉลาดเท่าไร ยิ่งสร้างปัญหาได้มาก..
...ยิ่งฉลาดเท่าไร ยิ่งโกงได้ลึกซึ้ง...
...การศึกษาในโลก ยิ่งทำให้ฉลาด..
...โลกยิ่งฉลาดเท่าไรยิ่งคดโกงกันมากเท่านั้น..
...เบียดเบียนกันลึกซึ้งมากเท่านั้น..
...ฯลฯ.....
http://youtu.be/_6UE4_4umlw

บทพระกะถาวัตถุ



๕. กถาวตฺถุ
ปุคฺคโล อุปลพฺภติ สจฺฉิกตฺถปรมตฺเถนาติ  สกวาที ถามว่า สัตว์ บุคคล ชายหญิงย่อมมีได้โดยอรรถแจ่มแจ้งเป็นจริง โดยอย่างยิ่งสูงสุด คือปรมัตถ์หรือ
อามนฺตา   ปรวาที ตอบว่า ย่อมมีได้ เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถึง สัตว์บุคคล ชายหญิงไว้ในพระสูตร โดยสมมติสัจจะ คือความจริงโดยสมมุติ
โย สจฺฉิกตฺโถ ปรมตฺโถ ตโต โส ปุคฺคโล อุปลพฺภติ สจฺฉิกตฺถปรมตฺเถนาติ สกวาที ถามว่า อรรถแจ่มแจ้งเป็นจริง อรรถอย่างยิ่งสูงสุดคือปรมัตถ์ใด สัตว์ บุคคล ชาย หญิง นั้นย่อมมีได้โดยอรรถแจ่มแจ้งเป็นจริง โดยอรรถอย่างยิ่งสูงสุด คือปรมัตถ์นั้นหรือ
น เหวํ วตฺตพฺเพ   ปรวาที ตอบว่า ไม่พึงกล่าวอย่างนั้นเลย เพราะสัตว์ บุคคล ชาย หญิง นั้นไม่มีได้โดยปรมัตถ์สัจจะ คือความจริงโดยปรมัตถ์
อาชานิ นิคฺคหํ  สกวาทีกล่าวว่า ท่านจงยอมรับนิคคหะโทษ ควรข่มขี่ เพราะคำต้นกล่าวรับรองแล้ว แต่คำหลังกลับกล่าวปฏิเสธ
หญฺจิ ปุคฺคโล อุปลพฺภติ สจฺฉิกตฺถปรมตฺเถน   ถ้าสัตว์ บุคคล ชาย หญิง ย่อมมีได้โดยอรรถแจ่มแจ้งเป็นจริง โดยอรรถอย่างยิ่งสูงสุด คือปรมัตถ์ไซร้
เตน วต วตฺตพฺเพ โย สจฺฉิกตฺโถ ตโต โส ปุคฺคโล อุปลพฺภติ สจฺฉิกตฺถปรมตฺเถนาติ   ท่านผู้เจริญ เพราะเหตุนั้นแล พึงกล่าวว่าอรรถแจ่มแจ้งเป็นจริง อรรถอย่างยิ่งสูงสุด คือปรมัตถ์ใด สัตว์ บุคคล ชาย หญิง นั้นย่อมมีได้โดยอรรถแจ่มแจ้งเป็นจริง โดยอรรถอย่างยิ่ง คือปรมัตถ์นั้น

มิจฺฉา    สัตว์ บุคคล ชาย หญิงซึ่งท่านปรวาทีกล่าวแล้วในข้อนั้น ท่านกล่าวรับรองในปัญหาต้นว่า สัตว์ บุคคล ชาย หญิง ย่อมมีได้โดยอรรถแจ่มแจ้งเป็นจริง โดยอรรถ อย่างยิ่งสูงสุด คือปรมัตถ์ แต่ท่านกลับไม่กล่าวรับรองในปัญหาหลังว่า อรรถแจ่มแจ้งเป็นจริง อรรถอย่างยิ่ง คือ ปรมัตถ์ใด สัตว์ บุคคล ชาย หญิง นั้นย่อมมีได้ โดยอรรถแจ่มแจ้งเป็นจริง โดย อรรถอย่างยิ่ง คือปริมัตถ์นั้น คำของท่านนี้จึงผิด เพราะขัดแย้งกันเอง ถ้าจะไม่พึงกล่าวรับรองในปัญหาหลัง ก็ไม่พึงกล่าวรับรองในปัญหาต้นเสียก่อน ฉะนั้นสัตว์บุคคลชายหญิงซึ่งท่านกล่าวแล้ว อันท่านกล่าวรับรองในปัญหาต้น แต่ไม่กล่าวรับรองในปัญหาหลัง จึงผิดพลาดขัดแย้งกันแย้ง
*****
คำแปลพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์

(สมเด็จพระญาณสังวร-เจริญ สุวฑฺฒโน วัดบวรนิเวศวิหาร)
จาก http://www.watsacramento.org/w-article-074B-t.htm
*****


วันพุธที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

มนุษย์ผู้รู้จบโลก


********

   พระพุทธเจ้า:มนุษย์ผู้รู้จบโลก
          คำว่า ผู้ตรัสรู้  เป็นคำที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า หมายถึง พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้มีพระปัญญาอย่างสูงสุด และตามที่เข้าใจกัน จะเรียกว่าตรัสรู้ได้ก็ต้องเป็นความรู้จริงแท้ถูกต้องทั้งหมด ถ้อยคำของท่านผู้ตรัสรู้ก็ต้องเป็นถ้อยคำที่จริงแท้ถูกต้องทั้งหมดเช่นเดียวกัน เช่นว่า ในเรื่องที่เกี่ยวกับกาลเวลาก็รู้หมด ทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน รู้เหตุรู้ผลทั้งสายเกิดสายดับ และรู้ตลอดถึงส่วนที่พ้นจากกาลเวลา หรือจะยกโลกขึ้นเป็นที่ตั้ง ก็เป็นผู้รู้โลก ตลอดถึงรู้ส่วนที่พ้นโลก เหนือโลก ฉะนั้น คำว่า ผู้ตรัสรู้ จึงเป็นคำที่ลึกซึ้งกว้างขวางไม่อาจจะนิยามให้สมบูรณ์ได้
         เพื่อที่จะให้เห็นความถนัดขึ้น ก็น่าจะลองตรวจดูถึงความรู้ของบุคคลโดยทั่ว ๆไป
         ลองตั้งคำถามดูว่า รู้อะไร ?
         ก็ต้องตอบว่า รู้วิชาต่างๆ ตามที่เรียน ตามที่ฝึกฝนในสมัยวิทยาศาสตร์นี้ ก็รู้เหตุผลทั้งกฏเกณฑ์ต่าง ๆ แห่งปรากฏการณ์ของธรรมชาติ เป็นต้น อาจบำบัดแก้ไขหรือประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ ขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ อาจรู้อดีต อนาคต ปัจจุบัน ของวัตถุหรือของโลกในทางวัตถุ แต่ถ้าจะย้อนเข้ามาถามว่า รู้หรือไม่ว่า
         ตัวเราเองคืออะไร ?
         เป็นอะไรมาแล้ว ?
         กำลังเป็นอะไรอยู่ ? และ
         จักเป็นอะไรต่อไป ?
         มีใครบ้างรู้ได้ ในส่วนอดีตอาจรู้ตั้งแต่จำความได้และเฉพาะที่จำได้ นอกจากนั้นก็ไม่รู้ ในปัจจุบันเรากำลังเป็นอะไรอยู่ ก็อาจจะรู้ตามที่เราเข้าใจ
         แต่ถ้าถามว่า ความรู้ของเราถูกต้องหรือไม่ ?  ก็จะคิดสงสัย ถึงความรู้ในอดีตที่เข้าใจว่ารู้ก็เช่นเดียวกัน ยิ่งในส่วนที่เป็นอนาคตก็อาจจะไม่รู้เลย เช่นว่า พรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร แต่ทุก ๆคน อาจคิดว่ารู้ เพราะได้กำหนดว่าจะทำนั่นทำนี่ไปตามปกติธรรมดา ซึ่งเป็นเพียงกำหนดไว้เท่านั้น แต่จะเป็นจริงแน่นอนอย่างนั้นหรือไม่ เป็นเรื่องของอนาคต
          ฉะนั้น ที่เข้าใจกันว่า รู้ หรือว่า รู้มาก เมื่อคิดดูแล้วก็อาจจะไม่รู้เลยหรือรู้น้อยที่สุด จึงปรากฏว่า ได้มีคนที่มีความคิดหลักแหลมหลายคน ซึ่งเป็นที่นับถือกันว่าเป็นนักปราชญ์กล่าวว่า ตัวเขาเองยิ่งรู้สึกว่าไม่รู้ แต่คนเป็นอันมากก็นับถือว่าเขาเป็นผู้รู้  ก็น่าจะตรงกับคำที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ แปลความว่า " ผู้ใดเป็นคนเขลา รู้จักตนว่าเป็นคนเขลา ผู้นั้นเป็นบัณฑิตได้บ้าง เพราะรู้จักตนเอง "
          พระพุทธเจ้าทรงเป็นศาสดาเอกในโลก มีบุคคลซึ่งได้รับแสงสว่างจากพระองค์กล่าวสรรเสริญว่า เหมือนทรงชูประทีปในที่มืด เพื่อผู้มีจักษุจักได้มองเห็นรูปทั้งหลาย ข้อนี้บ่งว่าพระองค์เป็นผู้ตรัสรู้ เพราะได้ทรงแสดงธรรมให้ผู้อื่นรู้แจ้งเห็นจริงได้ แต่ว่าใครเล่าจักหยั่งถึงความตรัสรู้ของพระองค์ เพราะได้รับแสงธรรมจากพระองค์เพียงใด ก็รู้ได้เพียงเท่านั้น เหมือนอย่างคนตกลงในมหาสมุทร ก็รู้สึกว่ามหาสมุทรลึกเท่าที่ตัวตกลงไปเท่านั้น
         ความตรัสรู้ กับ ความรู้ธรรมดา ต่างกันอย่างไร ?
         อาจเทียบกันได้อีกอย่างหนึ่ง ความรู้ที่ทุก ๆ คนรู้กันอยู่นี้ เริ่มด้วยรู้ทางตา หู เป็นต้น ถ้าจะถามว่าตาหูของเรารายงานให้เรารู้อะไรได้ถูกต้องหรือไม่ ก็ต้องตอบได้ว่า  ไม่ถูกต้องทีเดียว เหมือนอย่างตามมองดูทางรถไฟ จะมองเห็นเล็กลงทุกที จนถึงรวมเป็นเส้นเดียวกันในที่สุด ความจริงเป็นดังที่ตาเห็นนั้นหรือไม่ ? ทุกคนย่อมตอบได้ ฉะนั้นถ้าใครเชื่อตาหูก็ย่อมจะผิดพลาด แต่ปรากฏว่า โดยมากยังเชื่อตาหู หรือว่าเชื่อตามความรู้ทางตาหูอยู่เป็นปกติ ดังที่ทุก ๆ คนก็ย่อมรู้สึกว่า ยังพากันชอบหรือชังในสิ่งที่ตาเห็น ในเสียงที่หูได้ยินอยู่นั่นแหละ ทั้งที่พอจะทราบว่า โดยที่แท้เป็นมายา ไม่ใช่เป็นตัวสัจจะ คือความจริง แต่ความรู้นี้ก็เป็นเพียงหลักทฤษฎีที่จำมาตามสัญญาเท่านั้น ยังไม่เป็น ญาณที่หยั่งถึงสัจจะ
          มีผู้เขียนเล่าไว้ว่า นักศึกษาผู้หนึ่งถาม ไอน์สไตน์ ว่า ต้นไม้นั่น(ชี้มือไปที่ต้นไม้) ว่ามีหรือไม่ ?
          ไอน์สไตน์ตอบว่า  ไม่มี
           นักศึกษาถามว่า  จะเข้าใจได้อย่างไร
          ไอน์สไตห์ตอบว่า ให้หมั่นนึกคิดอยู่เสมอ จะแล่นเข้าไปถึง(penetrate) ได้เอง
           ญาณคือความหยั่งรู้ (intuitive insight) มิใช่เกิดจากการคำนาณ(mathematic) แต่ต้องอาศัยความรู้แจ้งแทงตลอดอันตรงกับคำว่า ปฏิเวธ หรือ penetration
           การมองเห็นอะไรของผู้ทรงความรู้ แม้ในทางวิทยาศาสตร์ปัจจุบันของคนทั่วไปย่อมต่างกัน พระพุทธเจ้ายิ่งทรงต่างไปอีกมาก เพราะได้ทรงเป็นผู้สิ้นกิเลส จึงทรงมีพระปัญญาจักษุอันแจ่มใส ซึ่งคนที่ยังมีกิเลสเทียบไม่ได้เลย
********
(จากหนังสือ โลกและชีวิตในพุทธธรรม พระนิพนธ์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร)       
         



บทพระปุคคะละบัญญัติ



๔. ปุคฺคลปญฺญตฺติ
ฉ ปญฺญตฺติโ  บัญญัติ คือการแสดงประกาศแต่งตั้งทั้งหลาย ๖
ขนฺธติปญฺญตฺ  บัญญัติว่า ขันธ์
อายตนปญฺญตฺติ  บัญญัติว่า อายตนะ
ธาตุปญฺญตฺติ   บัญญัติว่า ธาตุ
สจฺจปญฺญตฺติ   บัญญัติว่า สัจจะ
อินฺทฺริยปญฺญตฺติ   บัญญัติว่า อิทรีย์
ปุคฺคลปญฺญตฺติ   บัญญัติว่า บุคคล
กิตฺตาวตา ปุคคลานํ ปุคฺคลปญฺญตฺติ  บัญญัติซึ่งบุคคลทั้งหลายว่า เป็นบุคคล กำหนดประมาณเท่าไร
สมยวิมุตฺโต   บุคคลผู้พ้นแล้วโดยสมัย คือบุคคลผู้ได้วิโมกข์ หรือสมาบัติ ๘ ตามกาล ตามสมัย และมีอาสวะบางเหล่าสิ้นแล้วเพราะเห็นด้วยปัญญา ได้แก่พระอริยบุคคล ๓ จำพวกเบื้องต้นผู้ได้สมาบัติ ๘
อสมยวิมุตฺโต   บุคคลผู้พ้นโดยไม่มีสมัย คือบุคคลผู้มิได้มีวิโมกข์ ๘ ตามกาล ตามสมัย แต่มีอาสวะทั้งหลายสิ้นแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา ได้แก่พระอรหันต์ สุกขวิปัสสก อีกอย่างหนึ่ง พระอริยบุคคลทั้งปวง ชื่อว่าอสมยวิมุตต์ เพราะได้อริยวิโมกข์ตามลำดับขั้น อริยวิโมกข์ไม่มีสมัยกำเริบอีกได้
กุปฺปธมฺโม   บุคคลผู้มีธรรมยังกำเริบ คือบุคคลผู้ได้รูปสมาบัติ หรืออรูปสมาบัติ ยังไม่คล่องแคล่วชำนาญ มีฐานะโอกาสจะอาศัยความประมาทเสื่อมจากสมาบัตินั้นได้
อกุปฺปธมฺโม  บุคคลอันมีธรรมอันไม่กำเริบได้ คือบุคคลผู้ได้รูปสมาบัติ หรืออรูปสมาบัติคล่องแคล่วชำนาญ ไม่มีฐานะโอกาสจะประมาทเสื่อมจากสมาบัตินั้นได้ ได้แก่พระอนาคามีและพระอรหันต์ผู้ได้สมาบัติ อีกอย่างหนึ่งพระอริยบุคคลทั้งปวง ชื่อว่าอกุปปธัมมะ เพราะอริยวิโมกข์ของท่านเป็นธรรมไม่กำเริบอีกได้
ปริหานธมฺโม  บุคคลผู้มีธรรมยังเสื่อมได้ คือบุคคลผู้มีธรรมยังกำเริบได้นั่นแล
อปริหานธมฺโม   บุคคลผู้มีธรรมอันไม่เสื่อมได้ คือบุคคลผู้มีธรรมอันไม่กำเริบได้นั่นแล
เจตนาภพฺโพ บุคคลผู้ควรเพื่อถึงความไม่เสื่อม เพราะเจตนาเอาใจใส่ คือ บุคคลผู้ได้รูปสมาบัติ ยังไม่คล่องแคล่วชำนาญ เมื่อเอาใจใส่อยู่ย่อมไม่เสื่อมจากสมาบัตินั้น
อนุรกฺขนาภพฺโพ  บุคคลผู้ควรเพื่อถึงความไม่เสื่อมด้วยคอยรักษาไว้ คือบุคคลได้รูปสมาบัติหรืออรูปสมาบัติ ยังไม่คล่องแคล่วชำนาญเมื่อคอยรักษาอยู่ย่อมไม่เสื่อมจากสมาบัตินั้น
ปุถุชฺชโน  บุคคลผู้เป็นปุถุชนมีกิเลสเกิดหนาแน่น คือบุคคลผู้ยังละสังโยชน์ ๓ เบื้องต้นยังไม่ได้ และไม่ปฏิบัติเพื่อละสังโยชน์เหล่านั้น
โคตฺรภู   บุคคลผู้ถึงญาณครอบโคตร คือบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรมก่อน แต่จะก้าวเข้าสู่อริยธรรม โดยไม่มีธรรมอื่นขั้นระหว่าง ได้แก่ผู้ล่วงโคตร คือมณฑลบัญญัติปุถุชน จะย่างสู่โคตรอริยชน กำลังอยู่ในภาวะที่มิใช่ปุถุชน มิใช่อริยชน
ภยูปรโต    บุคคลผู้งดเว้นเพราะความกลัว ได้แก่พระเสขบุคคล ๗ และปุถุชนผู้มีศีล ปุถุชนกลังภัย ๔ คือทุคคติภัย ภัยคือทุคคติ วัฏฏภัย ภัยคือวน กิเลส กรรม วิบาก กิเลสภัย ภัยคือกิเลส อุปวาทภัย ภัยคือความติเตียน จึงงดเว้นบาป พระเสขบุคคลแม้ตั้งอยู่ในอริยมรรค อริยผล ก็ยังกลัวภัย ๓ เว้นทุคคติภัย
อภยูปรโต   บุคคลผู้งดเว้นเพราะความไม่กลัว ได้แก่พระอรหันต์ขีณาสพ ผู้ตัดภัยได้เด็ดขาด
ภพฺพาคมโน   บุคคลผู้ควรเพื่อมาแน่แท้ในกุศลธรรมทั้งหลาย คือบุคคลผู้ไม่ประกอบด้วยกัมมาวรณ์เครื่องกั้น คือกรรม ได้แก่ อนันตริยกรรม ๕ ไม่ประกอบด้วยกิเลสสาวรณ์ เครื่องกั้นคือกิเลส ได้แก่ นิตยมิจฉาทิฏฐิไม่ประกอบด้วยวิปากาวรณ์ เครื่องกั้นคือวิบาก ได้แก่อเหตุกปฏิสนธิ และทุเหตุกปฏิสนธิ เป็นผู้มีศรัทธา มัฉันทะ มีปัญญา ไม่บ้าใบ้เป็นภัพพบุคคล สมควรบรรลุมรรคผลได้
อภพฺพาคมโน   บุคคลผู้ไม่ควรเพื่อมาแน่แท้ในกุศลธรรมทั้งหลาย คือบุคคลผู้ประกอบด้วยเครื่องกั้น ๓ อย่างนั้น เป็นผู้ปราศจากศรัทธาเป็นต้น เป็นอภัพพบุคคล ไม่สมควรบรรลุมรรคผล
นิยโต  บุคคลผู้เที่ยงแน่แท้ คือบุคคลทำอนันตริยกรรม ๕ และบุคคลผู้เป็นมิจฉาทิฐิ ๒จำพวก เที่ยงแน่แท้ที่จะไปสู่นรก พระอริยบุคคล ๘จำพวก เที่ยงแน่แท้ต่อมรรคผลสูง ๆขึ้นไป และเที่ยงแน่แท้ต่อ อนุปปาทาปรินิพพาน
อนิยโต   บุคคลผู้ไม่เที่ยงแน่แท้ คือบุคคลนอกจากนิยตบุคคลเหล่านั้นเพราะมีคติไม่แน่นอน
ปฏิปนฺนโก   บุคคลผู้ปฏิบัติแล้ว คือบุคคลผู้มีความพร้อมเพรียงด้วยมรรค ๔ ได้แก่ตั้งอยู่แล้วในมรรค ๔ มีโสดาปัตติมรรค เป็นต้น
ผเลฏฺฐิโต   บคคลผู้ตั้งอยู่แล้วในผล คือบุคคลผู้มีความพร้อมเพรียงด้วยผล ๔ มีโสดาปัตติผลเป็นต้น
อรหา  บุคคลผู้เป็นพระอรหันต์ คือบุคคลผู้ละสังโยชน์ได้ทั้ง ๑๐ ด้วยการละโดยไม่มีส่วนเหลือ
อรหตฺตาย ปฏิปนฺโน   บุคคลปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอรหันต์ คือบุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อละสังโยชน์เบื้องปลายทั้ง ๔มี รูปราคะเป็นต้น
******
คำแปลพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์
(สมเด็จพระญาณสังวร-เจริญ สุวฑฺฒโน วัดบวรนิเวศวิหาร)
จาก http://www.watsacramento.org/w-article-074B-t.htm