วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ความเสียสละ

 

(ภาพประกอบนี้ไม่เกี่ยวข้องกับบทความแต่อย่างใด)

Cr.Fwd.line

"A society that can produce a 9-year-old who understands the concept of sacrifice for the greater good must be a great society, a great people"

เรื่องราวของเด็ก9ขวบที่สอนบทเรียนอันยิ่งใหญ่แก่สังคมโลก


มาฟังของจริงดีกว่าที่มีหลักฐานมั่นคงชัดแจ้งพิสูจน์ได้เลยครับคือเรื่องจากเมืองฟุคุชิมาที่โดนสึนามิถล่มเสียราบไปเลยนั่นแหละ


โดยตำรวจญี่ปุ่นแต่เป็นคนเวียดนามอพยพซึ่งได้สัญชาติญี่ปุ่นแล้วนะครับชื่อนายฮาหมิ่นถาน ได้เขียนจดหมายถึงเพื่อนที่เวียดนามเล่าถึงประสบการณ์ของการปฏิบัติหน้าที่ของเขาที่โรงเรียนประถมเล็กๆ แห่งหนึ่งซึ่งเรื่องนี่เผยแพร่โดยสำนักข่าวนิวอเมริกันมีเดีย (New America Media-NAM) ซึ่งเป็นสำนักข่าวที่ที่มีชื่อเสียงได้รับการยอมรับในทางเสนอข่าวทางชาติพันธุ์ที่ไม่ใช่ฝรั่งตะวันตกพูดง่ายๆ คือสำนักข่าวที่มุ่งเสนอข่าวสำหรับคนในโลกที่ไม่ใช่ฝรั่งนั่นเอง


ฮาหมิ่นถามเขียนเล่าว่า ตำรวจของเมืองฟุคุชิมาต้องทำงานกันวันละ 20 ชั่วโมง งานหลักคือการขนย้ายศพผู้ตายจากสึนามิแบบว่าลืมตาขึ้นมาก็เห็นศพ จนหลับพอตื่นขึ้นมาก็ขนย้ายศพต่อ


นายฮาหมิ่นถานบอกเพื่อนว่า น่าแปลกใจในความสงบและการปฏิบัติตัวที่สุภาพมีมารยาทของชาวญี่ปุ่นที่สูญสิ้นแทบทุกอย่าง อย่างมีศักดิ์ศรีตลอด 1 สัปดาห์ภายหลังสึนามิ แต่เขากังวลว่าหากนานไปอีกความอดอยากก็จะทำให้เกิดมีสัญชาติดิบของการเอาตัวรอดขึ้นมาได้เนื่องจากอาหารน้ำยังขาดแคลนอย่างสุดแสนในช่วงแรกทั้งๆ ที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้พยายามอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม


ฮาหมิ่นถานเขียนเล่าว่า เขาได้รับบทเรียนที่มีค่าที่สุดจากเด็กญี่ปุ่นอายุ 9 ขวบ ที่สอนให้เขาซึ่งเป็นผู้ใหญ่รู้ถึงการปฏิบัติตนว่ามนุษย์ควรจะปฏิบัติตนอย่างไร!


ฮาหมิ่นถานเล่าว่า เมื่อคืนที่แล้วเขาไปปฏิบัติหน้าที่ตำรวจในการดูแลความสงบของการแจกอาหารให้แก่ผู้ประสบภัยสึนามิที่โรงเรียนประถมเล็กๆ แห่งหนึ่งในเขตฟุคุชิมาโดยมีอาหารวางกองรวมกันอยู่เพื่อแจกให้ตามคิวที่จัดเป็นแถววกวนสลับกันเหมือนกับการเข้าคิวเข้าสวนสนุกซึ่งมีคนเป็นจำนวนมากและฮาหมิ่นถานเห็นเด็กนักเรียนชายใส่กางเกงขาสั้นและเสื้อยืดคอกลมตัวเล็กอายุประมาณ 9 ขวบ ยืนอยู่เป็นคนสุดท้ายซึ่งคะเนจากจำนวนคนแล้วอาหารที่กองอยู่อาจจะหมดเสียก่อนถึงคิวเด็กเสียด้วยซ้ำ


ฮาหมิ่นถานจึงเดินเข้าไปชวนเด็กคนนั้นคุยซึ่งก็ได้ความว่าในช่วงที่สึนามิโถมตัวเข้าฝั่งนั้นเด็กคนนี้อยู่บนชั้นสามของโรงเรียนมองเห็นรถยนต์ที่พ่อของเขาที่ขับมารับเขาที่โรงเรียนถูกน้ำพลัดหายไปต่อหน้าต่อตา


เมื่อถามถึงแม่เด็กก็บอกว่าบ้านเขาอยู่ใกล้ชายหาดแม่และน้องสาวก็คงตกเป็นเหยื่อของคลื่นสึนามิอย่างไม่ต้องสงสัย เด็กเบือนหน้าหนีในขณะที่เล่าถึงเรื่องเศร้าสลดของตนเพื่อเช็ดน้ำตาอย่างสงบ


เด็กเล็กคนนั้นเริ่มตัวสั่นเทาด้วยความหนาวเย็นในยามค่ำคืน ฮาหมิ่นถานจึงถอดเสื้อแจ๊คเก็ตของเขาคลุมไหล่ให้เด็กโดยที่กล่องอาหารที่ฮาหมิ่นถานได้รับแจกก่อนมาปฏิบัติงานที่ร่วงลงจากกระเป๋าเสื้อแจ๊คเก็ต ฮาหมิ่นถานก้มลงเก็บกล่องอาหารแล้วยื่นให้กับเด็กผู้นั้นพร้อมพูดว่า


"นี่เป็นอาหารส่วนของฉันซึ่งฉันกินเรียบร้อยแล้ว หนูเอาไปกินเถอะเพราะว่ากว่าจะถึงคิวหนูได้รับแจกอาหาร อาหารกองนั้นอาจจะหมดก่อนก็ได้"


เด็กอายุ 9 ขวบคนนั้นโค้งอย่างสุภาพแล้วรับเอากล่องอาหารไปพร้อมกับโค้งแล้วโค้งอีกเสร็จแล้วจึงเดินเอากล่องอาหารนั้นไปวางรวมไว้กับกองอาหารรวมที่เอาไว้แจกตามคิวทำให้ฮาหมิ่นถานประหลาดใจถามเด็กเมื่อเขากลับมาอยู่ท้ายคิวตามเดิมว่า


"ทำไมหนูไม่กินอาหารเสียเล่า? ไม่หิวหรือไง? ทำไมถึงเอากล่องอาหารไปรวมกับกองอาหารส่วนกลาง?"


เด็กญี่ปุ่นอายุ 9 ขวบคนนั้นตอบอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า


"เพราะว่าผมเห็นว่ามีคนมากมายทีเดียวที่หิวมากกว่าผม ถ้าผมเอากล่องอาหารไปวางรวมเป็นส่วนกลางแล้วทุกคนก็จะได้รับแบ่งเฉลี่ยไปกินเท่าๆ กัน"


ฮาหมิ่นถานต้องหันหน้าไปอีกทางหนึ่งเพื่อไม่ให้ใครเห็นเขาร้องไห้ เขาสรุปในจดหมายถึงเพื่อนชาวเวียดนามของเขาว่า


A society that can produce a 9-year-old who understands the concept of sacrifice for the greater good must be a great society, a great people


พากษ์ไทยว่า "สังคมที่สามารถผลิตเด็กอายุ 9 ขวบให้เข้าใจในความหมายของการเสียสละเพื่อความไพบูลย์ของสังคมส่วนรวมได้ต้องเป็นสังคมที่ยิ่งใหญ่และเป็นผู้คนที่ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง"


โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์


มติชน


วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 34 ฉบับที่ 12100 มติชนรายวัน

******

Cr.Fwd.line

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น