สติไม่ใช่คุณธรรมที่ฝึกแยกออกมาต่างหากและไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการรับรู้เฉยๆ ต้องมีคุณธรรมอื่นๆ ประกอบกันไปด้วย นั่นคือ ปัญญาและความเพียร คุณธรรมทั้งสองนี้มีชื่อในภาษาบาลีต่างกันไปแล้วแต่บริบทและหน้าที่ในการนั้นๆ อย่างการเจริญสติปัฏฐาน คุณธรรมทั้งสองนี้จะเรียกว่า สัมปชัญญะ (มักแปลกันว่า ‘ความรู้ชัด ความเข้าใจชัด’) และ อาตาปี (‘ความเพียร’) ดังในสติปัฏฐานสูตร พระพุทธองค์ทรงสอนว่า ด้วยการรู้ชัด (ด้วยสัมปชัญญะ) ถึงความละโมบโลภหลงในโลกว่าเป็นอกุศลธรรม และด้วยการเจริญความเพียร (อาตาปี) เพื่อจะละอกุศลธรรมนั้น ผู้ปฏิบัติย่อมพิจารณากาย เวทนา จิต และธรรมอย่างมีประสิทธิผล
ในอีกแห่ง คุณธรรมอันเชื่อมโยงกันสองประการนี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิและสัมมาวายามะ ในมหาจัตตารีสกสูตร สัมมาสติมีความหมายตามหลักอริยมรรคมีองค์ ๘ ทรงอธิบายสัมมาทิฏฐิว่าคือความรู้ในสัมมาทิฏฐิว่าเป็นสัมมาทิฏฐิและรู้ว่ามิจฉาทิฏฐิเป็นมิจฉาทิฏฐิ รู้ในสัมมาสังกัปปะว่าเป็นสัมมาสังกัปปะและมิจฉาสังกัปปะว่าเป็นมิจฉาสังกัปปะ เป็นต้น และทรงอธิบายสัมมาวายามะว่าเป็นเพียรในการละธรรมในฝ่าย ‘มิจฉา’ ๘ ประการ และเจริญในธรรมในฝ่าย ‘สัมมา’ ๘ ประการ ส่วนสัมมาสตินั้นทรงหมายถึงการมีสติในการละธรรมฝ่าย ‘มิจฉา’ ๘ ประการ และมีสติในการเข้าถึงและทรงไว้ซึ่งธรรมอันเป็นฝ่าย ‘สัมมา’ ๘ ประการ
ธรรมะคำสอน โดย พระอาจารย์ชยสาโร
แปลถอดความ โดย ศิษย์ทีมสื่อดิจิทัลฯ
******
Cr.https://www.facebook.com/100064337808864/posts/pfbid0d1rigMeguEH5VbvsZiRKLSCXvaQdH31K9xUJGDoxiPyhSdUGymi8KKWGoFkpCKVAl/?mibextid=Nif5oz
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น