หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2566

กำลังใจจากคนในกระจก

 


ไม่ผิดที่เธอ (คุณ) จะล้าจะเหนื่อย

It's not wrong that  you are tired.

จะท้อจะแท้เป็นธรรมดา

It's normal to be discouraged.

ฟ้าย่อมมีฝน เหมือนคนมีน้ำตา

The sky will have rain, like people with tears.

หลับตาสักคืน ตื่นมายังมีพรุ่งนี้

Close your eyes for a night and wake up to tomorrow.

คนเราแพ้ได้ แต่ไม่ใช่ยอมแพ้

People can lose, but not give up.

มีวันอ่อนแอ ต้องมีวันเข้มแข็ง

There are weak days, there are strong days.

หมดแรงบันดาลใจ ก็ต้องใช้ใจบันดาลแรง

out of inspiration Must use inspiration.

ไม่มีอะไรจะแกร่งกว่าหัวใจ

Nothing is stronger than the heart

มีคนคนเดียวเท่านั้นบนโลกใบนี้

There is only one person on this planet.

ที่จะบอกจะชี้ว่าเธอเป็นคนแพ้

to tell, to point that she is a loser

ถ้าคนในกระจกเงา เขาไม่คิดไม่แคร์

If the person in the mirror He didn't think he didn't care.

ก็ไม่มีคำว่าแพ้ในหัวใจ

There is no such word as defeat in the heart

และไม่ใช่เธอเท่านั้นบนโลกใบนี้

And you're not the only one in this world.

เหลียวมองให้ดี ๆ แล้วเธอจะเข้าใจ

Take a good look then you will understand

ฉันเองก็เป็นอย่างเธอ ฉันก็เคยร้องไห้

I'm just like you I  have to cry

ไม่ว่าใคร ๆ หัวอกเดียวกัน

No matter who it is... the same 

ออกเดินไปแล้ว ก็ต้องเดินต่อ

went out have to keep walking

โลกนี้ไม่รอ ไม่หยุดให้ใคร

This world does not wait, does not stop for anyone.

ถ้าล้อไม่หมุน จักรยานคงล้มไป

If the wheel does not turn The bike fell

อย่ามัวเสียดาย อย่ามัวเสียดายให้เสียเวลา

Don't be sad Don't be sad, don't waste time

คนเราแพ้ได้ แต่ไม่ใช่ยอมแพ้

People can lose, but not give up.

มีวันอ่อนแอ ต้องมีวันเข้มแข็ง

There are weak days, there are strong days.

หมดแรงบันดาลใจ ก็ต้องใช้ใจบันดาลแรง

out of inspiration Must use inspiration.

ไม่มีอะไรจะแกร่งกว่าหัวใจ

Nothing is stronger than the heart

มีคนคนเดียวเท่านั้นบนโลกใบนี้

There is only one person in this world.

ที่จะบอกจะชี้ว่าเธอ (คุณ)เป็นคนแพ้

to say, to point out that  you  loser

ถ้าคนในกระจกเงา เขาไม่คิดไม่แคร์

If the person in the mirror He didn't think he didn't care.

ก็ไม่มีคำว่าแพ้ในหัวใจ

There is no such word as defeat in the heart.

และไม่ใช่เธอเท่านั้นบนโลกใบนี้

And you're not the only one in this world.

เหลียวมองให้ดี ๆ แล้วเธอจะเข้าใจ

Take a good look then you will understand

ฉันเองก็เป็นอย่างเธอ ฉันก็เคยร้องไห้

I'm just like you I used to cry

ไม่ว่าใคร ๆ หัวอกเดียวกัน

Anyone with the same 

ฉันเองก็เป็นอย่างเธอ แต่เราต้องผ่านมันให้ได้

I'm just like you  But we have to get through it.

เมื่อหมดแรงบันดาลใจ ก็ต้องใช้ใจบันดาลแรง

when inspiration is exhausted

You have to use your heart...inspired.

******

Cr.fwd.line

วันพุธที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2566

ผู้มีปัญญา


 ความแตกต่างระหว่างคนฉลาดและคนมีปัญญาเห็นชัดในการเบียดเบียนตัวเอง  คนฉลาดจำนวนมากดำเนินชีวิตอย่างไม่รู้จักตน จึงเบียดเบียนตนอยู่เรื่อย  ส่วนผู้มีปัญญารู้จักตนจึงไม่ยอมเบียดเบียนตน


การเบียดเบียนตนทางร่างกาย มีตั้งแต่การใช้ยาเสพติดทั้งที่ผิดกฏหมายและที่ไม่ผิดกฏหมาย เช่น สุราและบุหรี่เป็นต้น (ผู้มีปัญญารู้ว่าโทษที่เกิดนั้นเกิดกับกาย ไม่เกี่ยวกับกฏหมาย)  การกินอาหารที่มีโทษต่อร่างกาย เช่น อาหารขยะทั้งหลาย  การพักผ่อนไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย  การไม่ออกกำลังกายให้พอดีกับความต้องการของร่างกาย เป็นต้น


ส่วนการเบียดเบียนตนทางจิต คือ การปล่อยให้กิเลสคือเหตุให้เกิดทุกข์ ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า ได้ครอบงำและบงการความรู้สึกนึกคิด  จนในที่สุด ชีวิตตนกลายเป็นหุ่นเชิดของกิเลส ต้องยึดทรัพย์สมบัติ ฐานะทางสังคม ชื่อเสียง ฯลฯ เป็นเครื่องปลอบใจ


พระอาจารย์ชยสาโร

*****

Cr.https://www.facebook.com/photo.php?fbid=684384520382802&set=a.410133041141286&type=3&mibextid=Nif5oz

วันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2566

พิจารณาให้มาก


 เมื่อจิตหมกมุ่นกับสิ่งที่หมายปอง เรามักจะคิดปรุงแต่งเกินจริงไปสารพัด  เราฝังใจกับข้อดีต่างๆ หรือสิ่งสุดยอดที่เคยเกิดขึ้น แล้วตั้งความคาดหวังเอาไว้สูง “คราวนี้แหละ! …”  เราลืมไปเลยว่าเคยผิดหวังในเรื่องนั้นอย่างไร  ลืมคิดว่าจะรู้สึกอย่างไรเมื่อความเพลิดเพลินนั้นหมดสิ้นไป  เสียงแห่งสติปัญญาถูกกลบไปหมด เหมือนเป็นเสียงคนแก่ขี้บ่น คอยห้ามโน่นห้ามนี่ในงานปาร์ตี้  พอหลงอยู่ในความอยาก เราก็หลงลืมสิ่งที่ควรคิด ลืมคุณค่า เป้าหมายและหลักการของชีวิตที่เราควรยึดถือ


การอยู่ในโลกแห่งกามสุข เราจะขาดการตั้งจิตพิจารณาสิ่งต่างๆ ให้ถ่องแท้ไปไม่ได้  ขณะนี้ เรารู้สึกอย่างไร? ความรู้สึกจริงๆ เป็นอย่างไรบ้าง?  เวลาจิตเกิดสันโดษพอดี ไม่ขาดอะไรและไม่ต้องการอะไรอีก ความรู้สึกแบบนั้นเป็นอย่างไรบ้าง?  ความรู้สึกที่ว่านี้สำคัญกับเราอย่างไร?  เราควรแบ่งเวลาแค่ไหนในการไล่ตามความสุขทางเนื้อหนังอันเปราะบาง  และควรแบ่งเวลาแค่ไหนในการแสวงหาความสุขด้านใน โดยฝึกปล่อยวางสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อความสงบทั้งปวง?  


เมื่อเทียบกับความสุขแบบสันโดษแล้ว เวลาอยากได้อะไรสักอย่าง เรารู้สึกอย่างไรบ้าง?  มีอาการทางกายอย่างไร?  มีอาการทางจิตอย่างไร?  มีความผาสุกดีไหม?  เวลาที่ได้ตามปรารถนา เรารู้สึกอย่างไรบ้าง?  


ลองพิจารณาให้ดีว่าเป็นความสุขที่ไม่มีอะไรเจือปนจริงหรือไม่?  มีบางขณะไหมที่เรารู้สึกเฉยๆ หรือแม้กระทั่งไม่พอใจในความสุขนั้น?  ความกลัวการพลัดพรากสูญเสียทำให้รู้สึกอย่างไรบ้าง?  พอเกิดความสูญเสีย เรารู้สึกอย่างไรบ้าง?


หากจิตของเราติดกับดักความเพลิดเพลินทางเนื้อหนัง ก็ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นคนเลว  แต่หมายถึงว่าเรายังไม่ได้ฝึกสังเกตและพิจารณาให้มากพอเท่านั้นเอง


ธรรมะคำสอน โดย พระอาจารย์ชยสาโร

แปลถอดความ โดย ศิษย์ทีมสื่อดิจิทัลฯ

******

Cr.https://www.facebook.com/100064337808864/posts/pfbid0KYVZHT4vAQhx5CiS4wAxTpyqrNAGtsvorjR6uMNCSSjeG4km4tuvatij8V6fuXmhl/?mibextid=Nif5oz

อยู่กับปัจจุบัน


 ธรรมะอรุณสวัสดิ์...รับวันใหม่ 

.............................

ความรู้ในทุกข์ สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ 

ถามว่าเห็นอย่างไรจึงเรียกว่าความเห็นชอบ

พระองค์ก็ขยายความว่า

คือความรู้ในทุกข์ ความรู้ในเหตุแห่งทุกข์

ความรู้ในความดับทุกข์ 

ความรู้ในข้อปฏิบัติถึงความดับแห่งทุกข์

เป็นสัมมาทิฏฐิ 


ถ้าเรารู้ทุกข์โดยความเป็นทุกข์ 

ตั้งแต่ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่ ความตาย

ความเศร้าโศกพิไรรำพัน 

ทุกข์กายทุกข์ใจ คับแค้นใจ

ว่าโดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้งห้าเป็นตัวทุกข์ 

มองให้เห็นสิ่งเหล่านี้

มันจะทำให้เราไม่เอาแล้ว ไม่หลงไม่ติด 

ไม่ปรารถนาในขันธ์ห้า ในกองทุกข์อีก


ทำไฉนถึงจะทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ได้

น้อมไปจิตใจจะต้องน้อมไปสู่ความหลุดพ้น

ถ้าใจไม่เห็นทุกข์เห็นโทษ 

มันก็ไม่ปรารถนาจะพ้น ก็ไม่ได้พ้น 

ต้องเห็นโทษ เห็นทุกข์เห็นโทษ เห็นภัย

การเกิด แก่ เจ็บ ตาย 


ฉะนั้น พระโพธิสัตว์ตอนที่

พระพุทธเจ้าตอนที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์ชาติสุดท้าย

ที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ก็พระองค์เห็นคนแก่

คนเจ็บ คนตาย สละเลย ออกบวชเลย

คือความสลดสังเวชสูงมาก 

มองเห็นหมด เห็นทุกข์หมด

เห็นทุกข์ทั้งหลาย สละเลย ออกบวช 


ฉะนั้น ถ้าเราพิจารณาบ่อย ๆ 

พิจารณามาก ๆ เนือง ๆ

เป็นเรื่องดี อย่างน้อยก็บรรเทาความหลงใหล 

ความประมาท ประมาทในชีวิตลงได้ 

อาศัยความเกิดมาแก้กิเลส 

เกิดมาแล้วไม่หาหนทาง

ตัดกิเลสมันก็เสียโอกาส 


อาศัยเกิดเป็นคนต้องมา

ฝึกฝนตนเอง เดี๋ยวหมดโอกาส

อาศัยความแก่เพื่อพบจริงแท้แห่งสังขาร

ถ้าเราแก่แล้วเราพิจารณาความแก่ได้ประโยชน์

มันอยู่กับตัวได้พิจารณาได้ลึกซึ้ง 

อาศัยความตายเพื่อสลายตัวตน 

พิจารณาเกิดความไม่ประมาทในชีวิต

ขวนขวายพากเพียร 

ที่สุดละความเป็นตัวตน

แล้วที่ตายนี่มันก็ไม่ใช่ตัวตน 

ขันธ์ห้าแตกดับไป ขันธ์ห้าก็เป็นอนัตตา 


อาศัยความเจ็บป่วยช่วยเราไม่ประมาท

ถ้าไม่พิจารณามันก็ป่วยไปฟรี ๆ 

ป่วยแล้วก็พิจารณา

บางคนป่วยมากจะได้ไม่ประมาท 

ขวนขวายพากเพียร ประพฤติคุณงามความดี

 

อาศัยความพลัดพรากเพื่อจากจะได้ไม่เจ็บ

พิจารณาให้มันดี เราได้ธรรมะ 

ถึงเวลาพลัดพราก

ต้องจากก็จะได้ไม่ต้องมาทุกข์ 


อาศัยความทุกข์เพื่อให้เห็นธรรม

บางคนไม่ทุกข์ หลงชีวิตไปตลอดจนตาย

คนบางคนพอทุกข์ถึงหันเข้าหาธรรม เลยได้ดี

ก็ต้องขอบคุณความทุกข์ หรือแม้การปฏิบัติ

เราก็ยังต้องดูความทุกข์ ต้องรู้กองทุกข์

รู้ขันธ์ห้าคือรู้ทุกข์ ถึงจะไปสู่ความพ้นทุกข์


ฉะนั้น ธรรมะทั้งหลายเราก็รู้หมด เข้าใจ

เหลือแต่จะนำมาปฏิบัติ 

การปฏิบัติก็ไม่ได้ทำอะไร

ให้มันยุ่งยากมากเรื่อง มีแต่ทำให้มันน้อยลง

ไม่ต้องไปคิดอะไรมาก 

มีแต่เลิกคิด หยุดความคิดถึงอดีต

หยุดความคิดถึงอนาคต 

อยู่กับปัจจุบันอย่างไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน


คำสอนพระพุทธเจ้าตรัส 

อย่าอาลัยในอดีต 

อดีตคือสิ่งที่ผ่านไปแล้ว 

ถ้าเราคิดถึงอดีตด้วยความอาลัย

จิตเป็นอกุศล เศร้าหมอง 

แต่ถ้าคิดเอามาเป็นประโยชน์เป็นครู

เห็นทุกข์เห็นโทษเป็นครู เป็นประสบการณ์ก็ได้

คิดถึงอดีตด้วยความอาลัย อาลัยอาวรณ์ 

คร่ำครวญกับสิ่งที่ผ่าน ท่านไม่ให้ไปอย่างนั้น 


อย่าพะวงถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึง 

แล้วก็ต้องอยู่กับปัจจุบัน

อย่างไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน

อยู่กับปัจจุบันอย่างดีคือมีสติ วางใจให้เป็น

ฉะนั้น การภาวนาก็จะเป็นอย่างนี้

รู้ ละ รู้ปล่อย รู้วาง วางลง ปลงได้ เท่านั้น

.............................

ธัมโมวาท โดยหลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี

เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา

*****

Cr.https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid0372a6qsYeRrNfSgQqqLUiDfLJhSKGhdnfo1kiaJhhErydmWkNPGsJjMYQTz6wU6hal&id=100050180992815&mibextid=Nif5oz

วันเสาร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2566

ระลึกรู้อยู่เสมอ


 ธรรมะอรุณสวัสดิ์...รับวันใหม่

.............................

รู้แจ้งแทงตลอดก็ต้องรู้เจอคือระลึกรู้อยู่เสมอ

รู้เจอเพราะว่าต้องรู้จักก่อน 

รู้จักก็ต้องไประลึกรู้อยู่เสมอ

การรู้จักก็ต้องอาศัยรู้จำ จากการฟัง 

จากสุตตมยปัญญา

ความรู้จากการฟัง จำได้ เข้าใจ 

แต่ว่ายังเป็นรู้แบบสัญญา

นำมาสู่การรู้จัก ก็คือต้องลงมือเจริญสติ 

เจริญสติที่ถูกต้อง 

ระลึกรู้ได้ตรงเข้าไปตรงต่อสภาวะ

รูปนามขันธ์ห้าที่ปรากฏ 


พอรู้จักแล้วก็ต้องไปรู้เจอ 

รู้กันอยู่เสมอเนือง ๆ รู้รูปอยู่เนือง ๆ 

เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอยู่เนือง ๆ

ที่เรียกว่าสภาวะ ที่สุดมันก็รู้แจ้ง 

เมื่อรู้แจ้งแทงตลอด ก็ถึงไปสู่การรู้จบ 


ที่เรามาปฏิบัติเนี่ยได้เข้าถึงการรู้จักหรือยัง

รู้จักสภาวะ รู้จักรูปจักนาม รู้จักขันธ์ห้า 

รู้จักการเจริญสติ ไม่ใช่การคิดนึก

รูปปรากฏอยู่อย่างไร

ต้องเข้าไปรู้จักด้วยการเจริญสติ

เข้าไปหยั่งถึง เจอเย็น ร้อน 

อ่อน แข็ง หย่อน ตึง

สุข ทุกข์ อย่างนึ้ก็คือเข้าไปรู้จัก 


สัญญาความจำได้ สังขารความปรุงแต่ง

วิญญาณเป็นธาตุรู้ 

การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น

การรู้รส รู้สัมผัส 

คิดนึกอยู่ที่กำลังปรากฏต้องเข้าไปรู้

เข้าไปเจริญระลึกรู้สิ่งเหล่านี้ที่ปรากฏ 


เมื่อรู้จักแล้วต้องเข้าไประลึก 

ต้องรู้เจออยู่เสมอ ๆ

วางใจให้ถูกต้อง 

#วางใจที่ถูกต้องคือวางใจอย่างไร

วางใจเป็นกลางก็คือวางเฉยเป็นอย่างดี

เฉยในที่นี้ไม่ใช่เฉยเมยอย่างไม่รู้ไม่ชี้ 


วางเฉยในที่นี้ก็คือ

ไม่ยินดียินร้าย แต่รู้อยู่ ตื่นรู้อยู่ ดูอยู่ เห็นอยู่

พิจารณาอยู่ แต่ไม่ยินดียินร้าย 

เรียกว่าวางใจได้ถูกต้อง

แล้วก็พิจารณาเห็นตามความเป็นจริง 

ทุกสิ่งเป็นเช่นนั้นเอง


เป็นเช่นนั้นเองเป็นไฉน 

ก็คือเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของเขา

เมื่อมีเหตุมีปัจจัยประกอบขึ้นมา 

รูปนามขันธ์ห้า แต่ละอย่างก็เกิดขึ้น 

หรือสภาวะนั้น ๆ ที่เป็นผลเกิดขึ้น

เมื่อเหตุปัจจัยหมดไป 

สภาวะที่เป็นผลนั้นก็ต้องหมดไป


ธรรมดาไหมแบบนี้ 

เหตุเกิดผลต้องเกิดเป็นเรื่องธรรมดา

เหตุดับผลก็ต้องดับเป็นเรื่องธรรมดา 

ชีวิตนี้มันมีเหตุมีปัจจัยทำให้เกิดทุกสิ่งทุกอย่าง

เห็นแต่ละครั้งก็มีเหตุปัจจัย ได้ยินแต่ละครั้ง

รู้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัส คิดนึก 

ทุกอย่างมีเหตุปัจจัยทำให้เกิด

ประสบการณ์ทางตาเห็นภาพ 

ประสบการณ์ทางหูได้ยินเสียง

มันเป็นผล เป็นวิบาก มีเหตุมีปัจจัยทำให้เกิด


ถ้าปัญญาไปรู้เห็นความจริง 

ว่าทุกสิ่งมันต้องเป็นของมันอย่างนี้

ฝืนได้ไหม จะให้มันคงที่ 

จะให้มันเที่ยงแท้ จะให้มันคงอยู่

มันก็ไม่ได้ รู้ว่ามันไม่ได้ ทำไง 

มันก็ต้องยอม ยอมรับ

ไม่ได้ไปทำให้สิ่งทั้งหลาย

ให้มันได้อย่างที่เราต้องการ

แต่ทำความต้องการให้มันหมดไป 


ความอยากได้

อยากมี อยากเป็น อยากไม่มี ไม่เป็น 

มันสิ้นไปเพราะว่า มันนำมาซึ่งความทุกข์ 

ตัณหาเป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์

พออยากแล้วก็ไม่ได้อย่างต้องการก็ทุกข์แล้ว  

............................

ธัมโมวาท โดย‎หลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี

เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา

******

Cr.https://www.facebook.com/100050180992815/posts/pfbid0cNHSLahudKMByjgq4hVAdeqWXHzitPuco7fcmNC2UEDXRHk6Gy35acsRqnovNqNEl/?mibextid=Nif5oz

วิริยะบารมี

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความเพียร พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นหลักคำสอนประเภทวิริยวาท คือ เน้นว่าการพ้นทุกข์ไม่เคยเกิดเพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาล ไม่เกิดด้วยพิธีกรรม ไม่เกิดด้วยการอ้อนวอนหรือบูชายัญ แต่เกิดจากความเพียรของมนุษย์เราเอง ผู้ตั้งมั่นในสัมมาทิฐิ อดทน และฝึกตนตามหลัก ศีล สมาธิ และปัญญา เท่านั้น ที่มีโอกาสพ้นจากบ่วงแห่งมาร


พระอาจารย์ชยสาโร

******

Cr.https://www.facebook.com/photo.php?fbid=685426353611952&set=a.410133041141286&type=3&mibextid=Nif5oz

 

ขันธ์วิมุตติ

 



ธรรมะอรุณสวัสดิ์...รับวันใหม่

.............................

ความไม่ประมาทเป็นทางแห่งความไม่ตาย 

อมตแปลว่าไม่ตาย ถึงอมตธรรม ถึงนิพพาน 

ก็เป็นสภาพที่ไม่ตาย เพราะว่าเป็นขันธ์วิมุตติ 

คือหลุดพ้นจากขันธ์ทั้งห้า 


ขันธ์ห้ายังมีการเกิด 

การเสื่อม การแตกดับ จึงเป็นทุกข์

สิ่งใดเปลี่ยนแปลง สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ 

สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นก็เป็นอนัตตา 

แต่นิพพานเป็นขันธ์วิมุตติ คือพ้นไปแล้ว

ไม่ใช่รูป ไม่ใช่เวทนา ไม่ใช่สัญญา

ไม่ใช่สังขาร ไม่ใช่วิญญาณ 

เป็นวิสังขาร เป็นอสังขตธรรม 

เป็นธรรมที่ไม่ถูกปรุงแต่ง 

เป็นวิสังขารอะไรเข้าไปปรุงแต่งไม่ได้

จึงไม่มีการเกิด จึงไม่มีการดับ 

เพราะว่าเป็นอสังขตธรรม

ไม่ถูกปรุงแต่ง ไม่มีเกิดไม่มีดับ 


แต่ถ้ามันเป็นสังขาร

ขันธ์ห้าเป็นสังขาร เป็นสังขารธรรม 

เป็นธรรมที่ถูกปรุงแต่ง

มันก็เกิดดับ เปลี่ยนแปลง เป็นทุกข์

ฉะนั้น ตราบใดที่ยังมีขันธ์อยู่ 

ตราบนั้นก็คือมีทุกข์


ผู้ยินดีในรูป ชื่อว่ายินดีในทุกข์ 

พระพุทธเจ้าตรัสไว้

ผู้ใดยินดีในเวทนา ชื่อว่ายินดีในทุกข์

ผู้ใดยินดีในสัญญา สังขาร วิญญาณ 

ก็ชื่อว่ายินดีในทุกข์   

เพราะนี่มันคือก้อนทุกข์ ขันธ์ห้าเป็นทุกข์ 


เมื่อมีความไม่ประมาท 

ขวนขวายพากเพียรภาวนา

ก็เกิดปัญญารู้แจ้งแทงตลอดในสัจธรรม

เห็นขันธ์ห้าเป็นอนัตตา 

เห็นขันธ์ห้าไม่ใช่ตัวตน


ปุถุชนเราก็จะเห็นขันธ์ห้าเป็นตัวตน 

เห็นรูปร่างกาย ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นตัวเรา 

หรือเห็นว่าเป็นของเรา

หรือเห็นว่าอยู่ในเรา 

หรือเห็นว่ามีเรามาอยู่ในรูป

นั่นก็เป็นอุปาทานทั้งหมด 

เป็นความเห็นผิดยึดผิด


เห็นว่าเวทนา ความสุข 

ความทุกข์ เฉย ๆ เป็นตัวเรา 

หรือเป็นของเรา หรืออยู่ในเรา 

หรือมีเรามาอยู่ในเวทนา

มันก็เป็นความเห็นผิด ยึดผิด 

สัญญา สังขาร วิญญาณ 

เห็นว่าเป็นเราหรือเราเป็น

หรือว่าเป็นของเรา 

หรือว่ามีเรามาอยู่ในสัญญา สังขาร วิญญาณ 

ก็เป็นความยึดผิดเห็นผิดอยู่


การละการถอนความเห็นผิดออกจากจิตใจ

เราต้องมีปัญญา ปัญญารู้แจ้ง 

ความรู้แจ้งจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร 

ก็ต้องอาศัยการเจริญสติ เจริญแล้วทำให้มากแล้ว

เข้าไปรู้จัก รู้จักขันธ์ห้า รู้จักรูปนาม

เมื่อรู้จักแล้วก็ต้องไปรู้เจอ 

คือระลึกรู้อยู่เสมอเนือง ๆ จึงจะเกิดความรู้แจ้ง 

เมื่อรู้แจ้งแทงตลอดสูงสุดก็จะรู้จบ

............................

ธัมโมวาท โดย‎หลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี

เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา

*****

Cr.https://www.facebook.com/100050180992815/posts/pfbid038Hjw1xJLv3NDzf1rcxsjDCdZqEMjUKim5jGCm97bNcKyuUa9Hs3qny2DF8dZRKFZl/?mibextid=Nif5oz

วันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2566

ความสุข


อาจารย์คนหนึ่งเอาลูกโป่งที่เขียนชื่อเด็กนักเรียนทั้งหมดวางไว้เต็มทางเดิน และให้เด็กๆ หาลูกโป่งที่มีชื่อตัวเอง ภายในเวลา 5 นาที


เมื่อหมดเวลา...

ไม่มีเด็กคนไหนหาลูกโป่งที่มีชื่อตัวเองเจอ อาจารย์จึงให้เด็กๆ หยิบลูกโป่งตรงหน้า แล้วเอาไปให้เพื่อนที่มีชื่อบนลูกโป่ง ภายใน 5 นาที ทุกคนก็มีลูกโป่งที่มีชื่อตัวเอง


อาจารย์จึงบอกกับนักเรียนว่า "ลูกโป่งเหล่านี้เปรียบเสมือน #ความสุข เราจะไม่มีวันหาเจอ ถ้ามัวแต่หาของตัวเอง แต่ถ้าเราสนใจความสุขของคนอื่นบ้าง เราก็จะเจอความสุขของเราเช่นกัน"

*****

Cr.https://www.facebook.com/100044733570428/posts/pfbid0XtukBFDAkUGEqTbHiyRQqyJ1wCo5L8BSrNy2Pq5LzxrJ4t3Zp6EuWSYEczmbT5u2l/?mibextid=Nif5oz

 

พระพุทธเจ้า

 


หากตัวเอกในบทละครโศกนาฏกรรมของเช็คสเปียรส์เป็นเจ้าชายอินเดีย ไม่ใช่เจ้าชายเดนมาร์ก  แฮมเล็ตอาจมีบทรำพึงรำพันเชิงปรัชญาว่า "จะ(มีชีวิต)อยู่หรือจะไม่อยู่ นั่นคือข้อกังขา หรือจะทั้งอยู่และทั้งไม่อยู่ หรือจะอยู่ก็ไม่ใช่ไม่อยู่ก็ไม่ใช่"  เพราะปรัชญาอินเดียมีทางเลือกที่ละเอียดกว่าปรัชญาตะวันตก  


ในวัยนั้น แฮมเล็ตคงจะครุ่นคำนึงถึงปัญหาโลกแตกที่มีทางเลือกสี่ทางนี้ระหว่างเรียนในสำนักตักศิลาเป็นแน่แท้ และหากได้พบพระภิกษุในพระพุทธศาสนา แฮมเล็ตก็อาจจะยิ่งสับสนไปใหญ่ หรือว่าบางทีอาจจะไม่สับสนเท่านี้ก็ได้  เนื่องจากพระรูปนั้นคงสอนว่า ทางเลือกทั้งสี่นี้ไม่อาจใช้กับผู้บรรลุธรรมได้


ครั้งหนึ่ง โทณพราหมณ์รู้สึกทึ่งเมื่อเห็นรอยพระบาทของพระพุทธองค์ จึงทูลถามว่าทรงเป็นเทวดา คนธรรพ์ หรือยักษ์ ทรงตอบว่าไม่ได้เป็น  พราหมณ์จึงทูลถามอีกว่า ถ้าอย่างนั้นทรงเป็นมนุษย์ธรรมดาหรือ ทรงรับสั่งว่าไม่ได้เป็น  ทรงเป็น 'พระพุทธเจ้า'  ต่างหาก  พุทธดำรัสนี้แสดงว่าไม่ได้ทรงแยกหมวดหมู่ของความเป็นพุทธะออกมาอีกประเภท  แต่ทรงกล่าวถึงโลกุตรธรรมอันพ้นไปจากความเข้าใจของมนุษย์


การจัดประเภทและหมวดหมู่เป็นอุบายอันมีประโยชน์ในการจัดระเบียบข้อมูลให้นำไปใช้ได้  ทว่า  ความจริงสูงสุดอยู่นอกเหตุเหนือผลจนไม่อาจจัดลงในกรอบความคิดอันจำกัดของมนุษย์ได้  จึงเหลือวิสัยที่มนุษย์จะใช้ภาษาไปอธิบายสิ่งที่อยู่เหนือภาษาได้


มีทางเดียวที่วางใจได้ว่าจะช่วยให้เราเข้าถึงปัญหาลึกซึ้งของความเป็นพุทธะ นั่นคือการลงมือปฏิบัติธรรม  ดังที่พระพุทธองค์ทรงสอนพระวักกลิว่า "ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นพระตถาคต" 


ธรรมะคำสอน โดย พระอาจารย์ชยสาโร

แปลถอดความ โดย ปิยสีโลภิกขุ

******

Cr.https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid038FzZTUarDupKLosiHKJ5hhSV3Ym7MJosnjU73S1o7BpsDZjchqU1R3B7EuAVVdnfl&id=100064337808864&mibextid=Nif5oz

วันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2566

สิ่งศักดิ์สิทธิ์


สังคมไทยจะเอาอย่างไรกับเรื่องเหล่านี้?

เราพูดกันว่าสังคมไทยนับถือพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่ แต่เวลานี้อาจจะต้องถามว่าคนไทยนับถือพุทธศาสนาเป็นหลัก หรือนับถือไสยศาสตร์เป็นหลัก?

.

.... “สิ่งหนึ่งที่ขอย้ำเสมอในขณะนี้คือ สภาพความคิดความเชื่อของผู้คน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่อง“รากฐานของสังคม” สภาพความคิดความเชื่อของสังคมเป็นตัวบ่งชี้ถึงชะตากรรมของสังคมด้วย

.

.... ได้เคยเสนอว่า เวลานี้สังคมไทยมีสภาพอย่างหนึ่งเกิดขึ้นคือ ความแพร่หลายของ“ความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์” โดยเฉพาะความเชื่อเกี่ยวกับไสยศาสตร์ สิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลต่อสังคมมาก จะปล่อยทิ้งให้คลุมเครืออยู่ไม่ได้ แต่เราก็ปล่อยกันมานานแล้ว 

.

.... การพัฒนาสังคมเกี่ยวข้องโดยตรงกับการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องของ“ปัญญา” ปัญญานั้นเป็นสิ่งที่มีความชัดเจน ส่วนความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเทพเจ้าและไสยศาสตร์เป็นเรื่องที่พร่ามัว เราจะจมอยู่กับความไม่ชัดเจน และความคลุมเครือกระนั้นหรือ?

.

.... จริงอยู่ คนเรานั้นจะให้รู้ชัดเจนในทุกเรื่องย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่เราได้พยายามแสวงหาความชัดเจนหรือไม่ หรือยอมอยู่ภายใต้อำนาจความคลุมเครือ และความพร่ามัวนั้น สิ่งสำคัญคือ อย่างน้อยเราจะต้องมีท่าทีที่ชัดเจนต่อเรื่องเหล่านี้ สังคมไทยจะเอาอย่างไรกับเรื่องเหล่านี้ ถึงเวลาแล้วที่ควรจะนำมาพูดจาถกเถียงกันให้ชัดเจน มิฉะนั้น สังคมไทยจะอยู่ด้วยความพร่ามัวและความคลุมเครือเหล่านี้เรื่อยไป สังคมที่ไม่มีความชัดเจนและพร่ามัวนั้นพัฒนาได้ยาก ฉะนั้นอย่าได้ถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กน้อย มันมีความสำคัญมาก

.

.... ความเชื่อถือและปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องเทพเจ้า ผีสาง อิทธิ ฤทธิ์ปาฏิหาริย์ และไสยศาสตร์ อย่างที่เป็นอยู่เวลานี้ มีสาระสำคัญอย่างเดียวกัน คือการหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลของผู้อื่น หรือหวังพึ่งปัจจัยภายนอก การหวังพึ่งความช่วยเหลือของผู้อื่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นการหวังพึ่งคนมีอำนาจ หรือหวังพึ่งอำนาจลี้ลับก็ตาม ก็มีผลทำนองเดียวกัน คือทำให้อ่อนแอลงและเพาะนิสัยประมาท

.

.... แม้แต่ในกรณีที่ควรมีการช่วยเหลือกันตามบทบาทหน้าที่ (โดยเฉพาะในสังคมมนุษย์ เช่น ผู้ปกครองกับราษฎร) ถ้าอำนาจดลบันดาลภายนอกนั้นให้ความหวังเกี่ยวกับความช่วยเหลือที่คลุมเครือ มีขอบเขตไม่ชัดเจนว่า..ฝ่ายที่ช่วยจะช่วยแค่ไหน และฝ่ายถูกช่วยจะต้องทำเองเท่าใด จะเกิดภาวะรีๆ รอๆ ครึ่งๆ กลางๆ จะทำอะไรก็ไม่ทำ การช่วยเหลือในกรณีอย่างนี้เป็นโทษมาก ถ้าให้รู้แน่นอนลงไปว่าไม่มีใครช่วย จะดีกว่า คนที่รู้ชัดว่าไม่มีใครช่วย และจะต้องช่วยตัวเองอย่างเดียวแน่นอน แม้แต่สิ้นไร้ที่สุดก็จะดิ้นสุดฤทธิ์ เขาจะเข้มแข็งขึ้นมาและก้าวต่อไปได้ ดีกว่าคนที่มิใช่จะยากไร้นักหนา แต่มัวรีรอหันรีหันขวางอยู่กับความหวังที่ไม่ชัดเจน

.

.... เราพูดกันว่าสังคมไทยนับถือพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่ แต่เวลานี้อาจจะต้องถามว่าคนไทยนับถือพุทธศาสนาเป็นหลัก หรือนับถือไสยศาสตร์เป็นหลัก ขยายความอีกหน่อยก็ได้ว่า เวลานี้เรานับถือพุทธศาสนาเป็นหลัก และเอาไสยศาสตร์เป็นส่วนประกอบ หรือว่านับถือไสยศาสตร์เป็นหลัก และเอาพุทธศาสนาเป็นส่วนประกอบ ถ้าตั้งคำถามอย่างนี้อาจจะมีข้อพิจารณาที่ชัดเจนมากขึ้น

.

.... ลักษณะอย่างหนึ่งของสังคมที่อยู่ใต้อำนาจครอบงำของความเชื่อในสิ่งเหล่านี้ ก็คือ นอกจากความพร่ามัว และคลุมเครือแล้ว ยังมีการหวังลาภลอยจากสิ่งที่เลื่อนลอย คนไทยจำนวนมากเวลานี้หวังลาภลอยจากสิ่งที่เลื่อนลอย โดยเฉพาะจากไสยศาสตร์ต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผลุบๆ โผล่ๆ ไม่ชัดเจน จะเอาแน่ลงไปก็ไม่ได้ จะว่าไม่มีก็ไม่ใช่ จะว่ามีก็ไม่เชิง พุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธความเป็นไปได้ของสิ่งเหล่านี้ แต่สิ่งที่พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญก็คือการมีท่าทีที่ชัดเจนว่า ถึงแม้สิ่งเหล่านี้จะมีจริงหรือเป็นจริง เราก็ไม่หวังพึ่ง”

.

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )

ที่มา : ธรรมนิพนธ์ “การศึกษากับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์”

*****


 

ไม่ประมาท


ธรรมะอรุณสวัสดิ์...รับวันใหม่

.............................

การอยู่อย่างขาดสติ 

มันก็ประมาทแล้ว ประมาทในชีวิต 

ทำอย่างไรเราถึงจะไม่ประมาทในชีวิต

ถึงจะละความประมาทในชีวิตเสียได้

ต้องปฏิบัติอะไร ต้องเจริญมรณานุสติ

ระลึกถึงความตายให้มาก 

เป็นตัวแก้ความประมาทในชีวิตได้


ยิ่งนึกถึงความตายนี่มันตายได้ 

ตัวเราก็ตายได้ตลอดทุกเวลา 

กลางวันผ่านไป กลางคืนมาถึงมันก็จะตาย 

กลางคืนก็ตายได้

บางทีก็เป็นลม บางทีก็หกล้ม หรืออุบัติเหตุ 

หรือว่าถูกสัตว์ร้ายกัด งูกัดตายก็มี 

ตายได้ทุกเวลา 


หัวใจล้มเหลว เส้นเลือดแตก

กินข้าวคำเดียวตายได้ไหม

สำลัก ตาย ติดคอตาย

หายใจเข้าออกครั้งเดียวตายได้ไหม 

เข้าไปแล้วไม่ออก ออกแล้วไม่เข้า ตาย 

บางทีเสลดปิดคอ หายใจไม่เข้า

ถ้าเราพิจารณาความตายมาก ๆ 

เป็นเหตุให้ไม่ประมาทในชีวิต


พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า 

การระลึกถึงความตาย หยั่งลงสู่อมตธรรมได้ 

อมตธรรมเป็นชื่อของนิพพาน

ก็คือเมื่อไม่ประมาท 

เพราะรู้ว่าความตายมาถึงเราได้

เดี๋ยวเราจะไม่ได้ปฏิบัติ 

เดี๋ยวเราจะหมดโอกาส

ไปในภพภายภาคหน้า

จะได้เจอธรรมะอย่างนี้ก็ยาก

ก็จะเกิดความขวนขวาย พากเพียร 

ขะมักเขม้นในการปฏิบัติ

ที่สุดก็เลยได้รู้แจ้งสัจธรรม เข้าถึงอมตธรรม 

............................

ธัมโมวาท โดย‎หลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี

เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา

*****

Cr.https://www.facebook.com/100050180992815/posts/pfbid02rnqAr6A5zFALsWrLGhmTzJ9zjf7R5V6ptwwaQ33TxBGLgZourFCpmkeLq4rk29h9l/?mibextid=Nif5oz

 

วันอังคารที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2566

ศีล...


 ธรรมะอรุณสวัสดิ์...รับวันใหม่ 

.............................

ศีลเปรียบเหมือนอาภรณ์ 

คนไหนมีศีลก็ดูงาม  

คนต่อให้หน้าตาอย่างไรก็ตาม 

แต่ถ้าเป็นคนมีศีล มันก็ดูงาม 

ตรงกันข้าม คนต่อให้รูปร่างสวยงาม 

แต่เป็นคนไม่มีศีล มันก็ดูไม่งาม 

ฉะนั้นศีลเปรียบเหมือนเครื่องอาภรณ์ 

อย่างคนเราสวมใส่เสื้อผ้า 

ก็ต้องหาเสื้อผ้าที่เหมาะสมสวยงาม ถึงจะทำให้ดูดี 

แต่งเสื้อผ้าดูงาม 

ฉะนั้นศีลเปรียบเหมือนกับเสื้อผ้า 


คนหนึ่งสวมใส่เสื้อผ้า แล้วผ้าขาด 

อีกคนหนึ่งกลัวผ้าขาด เลยไม่นุ่งผ้า 

ไม่นุ่งผ้า จะได้ไม่มีผ้าขาด 

กลัวจะผิดศีล เลยไม่สมาทานทานศีลดีกว่า 

กลัวผ้าขาด ไม่นุ่งผ้าดีกว่า 

เอาอันไหน?   

นุ่งผ้าดีกว่า ถึงผ้าขาดก็ปะได้ 

แต่ถ้ามันขาดจนกะรุ่งกะริ่ง ก็ปะไม่ไหวแล้ว 

ศีลขาดมากจัด 


สมาทานไปแล้วเมื่อกี้นี้ศีล ๕ 

อย่างน้อยก็ผ่านมาหลายนาทียังบริสุทธิ์อยู่ 

ผ่านไปอีกวันหนึ่งก็ยังดี ยังบริสุทธิ์ดี 

นอนไปคืนหนึ่งยังบริสุทธิ์ดี 

เพราะว่าถ้าเกิดว่าปุบปับชีวิตหมดไป 

คนเป็นผู้มีศีลอยู่ 

สีเลนะ สุคะติง ยันติ 

ศีลทำให้เข้าถึงสุคติ 

ถ้ามีศีลอยู่ก็ไปสุคติ เกิดที่ดี 


ถ้าเกิดไม่สมาทานศีล ไม่มีศีลเลย 

หรือศีลขาด ไม่ยอมต่อศีล 

เกิดปุบปับตายไปวันนั้นทำอย่างไร 

ก็ไปทุคติ 

เพราะฉะนั้นต้องไม่ประมาท 

อย่างน้อยก็มีศีลเอาไว้ก่อน 

ศีล ๕ รักษาอยู่เป็นประจำ 

.............................

ธัมโมวาท โดยหลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี

เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา

******

Cr.https://www.facebook.com/100050180992815/posts/pfbid02Er7qctk2fH8mNN2g1ADvbfBSiJANC6SEWKbhkdhq5S8Xs6txh168wuvdrMxz9m1gl/?mibextid=Nif5oz

วันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2566

ปัญญา


 #ปัญญา

#คือแสงสว่างที่จะนำพาชีวิตของพวกเรา


ใน "วัฏฏะ" คือ ความมืด

ในทางสภาวธรรม ก็เหมือนกายภาพ

ถ้ามันมืด.. ก็มองอะไรไม่เห็น

ก็หลงอยู่อย่างนั้นแหละ


#สิ่งที่เป็นคู่ปรับกับความมืด

#คือความสว่าง


เมื่อสว่างมองอะไร

มันก็เห็นหมด อะไรเป็นอะไร

ที่ไม่รู้.. อะไรเป็นอะไร

เพราะว่าไม่มีความสว่างในตัวเอง

ที่เรียกว่าไม่มีปัญญานั่นเอง


เมื่อไม่มีปัญญา

ก็หลงคิดผิด พูดผิด ทำผิดอยู่ร่ำไป

เพราะฉะนั้นพอเราฝึกปฏิบัติ

ถึงจุดหนึ่งมองด้วยปัญญาได้

มันพลิกคว่ำ พลิกจากของที่คว่ำอยู่

เป็นของที่หงายขึ้น


การมองทุกอย่างจะเปลี่ยนไป

อันนี้เป็นผลจากการปฏิบัติ

ที่เราต้องเพาะบ่มขึ้นมาอยู่เนือง ๆ


#วิถีของพระพุทธศาสนา

#จึงเป็นวิถีของผู้ที่มีสติปัญญา


การที่เราจะละกิเลสเครื่องเศร้าหมองต่าง ๆ

ก็ละกันด้วยสติปัญญานี่แหละ

เรียกว่าดำเนินชีวิตด้วยปัญญา

ซึ่งการเพาะบ่มในด้านปัญญานั้น

มีอยู่ 3 ระดับ ด้วยกัน


#สุตมยปัญญา

ปัญญาที่เกิดจากการสดับตรับฟัง

.. จากการฟังธรรม 

.. จากการศึกษาเล่าเรียน

.. ข้ออรรถ ข้อธรรมต่าง ๆ 


นี้ก็เพาะบ่มให้เกิดปัญญาเช่นกัน

.. เกิดความรู้ความเข้าใจ

.. เกิดความเห็นที่ถูกต้อง


สมัยพุทธกาลสำหรับผู้ที่มีบารมี

ฟังธรรมครั้งเดียวก็สามารถ

บรรลุธรรมฉับพลันได้เลย


#จินตามยปัญญา

ปัญญาเกิดจากการขบคิด

พิจารณาโดยแยบคาย

ภาษาธรรมท่านเรียกว่า "โยนิโสมนสิการ"

การพิจารณาโดยการแยบคาย


ส่วนใหญ่แล้วในชีวิตประจำวัน

ก็จะเกิดจาก "โยนิโสมนสิการ"

มองด้วยปัญญา พิจารณาโดยแยบคาย

มันจะพลิกจากของที่คว่ำอยู่

จากใจเราที่มันคว่ำอยู่


การที่ใจเรามีกิเลส มีความหลงอยู่

มองอะไรก็เป็นกิเลสไปหมด

ความโลภ ความโกรธ ความหลง ไปหมด

แต่เมื่อพลิกเป็นปัญญาได้ปุ๊บ

มันหลุดออกจากกรอบเหล่านี้


สมัยพุทธกาล... 

ผู้ที่ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า

จึงเปล่งอุทานว่า พระองค์ชี้ทางสว่างให้

#เหมือนพลิกจากของที่คว่ำ

#เป็นของที่หงายขึ้นมา

บอกทางจากผู้ที่หลงทาง

นี่แสงสว่างแห่งปัญญา


การมองโลกมันจะเปลี่ยนไป

จากที่เคยจมไปกับความทุกข์

ก็หลุดออกจากทุกข์ได้เลย

จากความมืดก็กลายเป็นความสว่าง


#สิ่งที่จะชะความมืดก็คือความสว่าง

#สิ่งที่จะชะความหลงก็คือปัญญา


เพาะบ่มปัญญา ในชีวิตประจำวัน

ส่วนใหญ่จะใช้ในเรื่องโยนิโสมนสิการมาก

การพิจารณาโดยปัญญา

จากปกติเรามองอะไรด้วยตาเนื้อ

สัมผัสด้วยหู อายตนะ

แล้วก็ใช้สมอง ใช้ตรรกะ


#แต่มองด้วยปัญญา

#ก็คือมองด้วยใจที่มีสติปัญญา

.. มันทะลุไปหมด

.. มันเข้าใจ รู้ว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด

.. สิ่งใดควรละ สิ่งใดควรทำนั่นเอง

.


ธรรมบรรยาย โดย พระมหาวรพรต กิตฺติวโร

บ่ายวันที่ 6 พฤษภาคม 2566

*******

Cr.https://www.facebook.com/100044526665714/posts/pfbid0sKdNXXLHs1DPSazFVZPbqUEfarvPLpHuDueA8ipWu48RN1ijWXBCkcYZsi6bjC6el/?mibextid=Nif5oz

สำรวมอินทรีย์

 


ธรรมะอรุณสวัสดิ์...รับวันใหม่ 

.............................

การรักษาทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย 

คือการรู้จักสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรา 

ถ้าปล่อยเนื้อ ปล่อยหู ปล่อยตา ไปมอง ไปฟัง 

มันก็เกิดเรื่องขึ้น 


เราต้องรู้จักสำรวมอินทรีย์ของเรา 

ถ้าจำเป็นต้องมอง ก็ต้องมองอย่างมีสติ 

ถ้าจำเป็นต้องฟัง ก็ให้ฟังอย่างมีสติ 


พระพุทธเจ้าสอนไว้ก่อนจะปรินิพพาน 

พระอานนท์ถามพระพุทธเจ้าว่า 

จะปฏิบัติตัวอย่างไรกับสตรี 


พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า 

ไม่เห็นได้เลยเป็นการดี อานนท์ 


ถ้าจำเป็นต้องเห็นเล่าพระเจ้าข้า 


ถ้าเห็นก็ไม่พูดด้วยเป็นการดี 


ถ้าจำเป็นต้องพูดด้วย 


ก็พึงสำรวมอินทรีย์ พึงรักษาสติเราให้ดี 

พระพุทธเจ้าสอนพระไว้ให้ป้องกัน 


การเจรจาแต่เรื่องที่สัปปายะ 

ถ้าเราคุยแต่เรื่องทางกาม มันก็ไปเรื่องกาม 

แต่ถ้าเราคุยไปในเรื่องไม่งามบ้าง ซากศพบ้าง 

คุยในเรื่องที่เป็นไปแห่งการละ 

มันก็ช่วยกันละกามฉันทะ 


อีกประการหนึ่งก็คือ 

กามฉันทะเกิดมาจากความดำริ หรือความนึกคิดนั่นเอง 

ถ้าจิตไม่ไปนึกคิด ก็ไม่เกิดอะไร 


ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระองค์เองว่า 

ดูก่อนเจ้ากาม 

เรารู้จักเจ้าเสียแล้วว่าเจ้านี้เกิดมาจากความดำริ 

จะไม่คิดถึงเจ้าอีกต่อไป 

ดูก่อนเจ้ากาม 

ด้วยเหตุเช่นนี้ เจ้าจะไม่มีต่อเราอีกต่อไป 

จิตถ้าไม่ดำริถึง ก็ไม่เกิดกามราคะ 

.............................

ธัมโมวาท โดยหลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี

เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา

*******

Cr.https://www.facebook.com/100050180992815/posts/pfbid02gGTJcSPHyQVvGtUi7NEa7b28EvFMyEYaCd9FdaHbZLKwyPTM4dUghR6nq3TUFQ3Rl/?mibextid=Nif5oz

วันอาทิตย์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2566

ไม่ต้องใจร้อน


 ความสะอาดอยู่ที่ไหน หาไม่เจอหรอกถ้าเราไม่ขจัดความสกปรก 

ขจัดความสกปรกแล้ว ความสะอาดย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา


ในทำนองเดียวกัน ความบริสุทธิ์อยู่ที่ไหน เราจะรู้ได้ต่อเมื่อเราขจัดความไม่บริสุทธิ์  ความสงบอยู่ที่ไหน หาไม่เจอ นอกจากว่าเราสามารถขจัดสิ่งที่ไม่สงบให้ได้  ผู้ที่ขจัดความสกปรกออกได้แล้ว ย่อมเจอกับความสะอาด


นักปฏิบัติจึงไม่ต้องใจร้อน ไม่ต้องเป็นห่วงว่าความสงบจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่ให้เราขยัน ให้เราตั้งอกตั้งใจกับการจัดการกับสิ่งที่ไม่สงบ ในที่สุดความสงบย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา


พระอาจารย์ชยสาโร

******

Cr.https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid02cHuqWc94BheSQv2RigenaHusDR3ufcEYYT9WGUcsJfdShepjpCo8oRQZXT4YvraXl&id=100064337808864&mibextid=Nif5oz

วันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2566

จิต...


 ธรรมะอรุณสวัสดิ์...รับวันใหม่ 

.............................

จิตนี้ถ้าเราไม่ฝึก ก็จะกวัดแกว่งดิ้นรน 

ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสกับภิกษุรูปหนึ่ง 

ภิกษุรูปนี้เป็นผู้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้า 

ในคราวหนึ่งก็ไปกับพระองค์ 

ชื่อว่าพระเมฆิยะ 

ปกติก็จะตามพระพุทธเจ้าไป 

อย่างไปบิณฑบาตก็ไปด้วย ถือบาตรถือจีวร 

แสดงว่าเวลาเดินออกจากป่า ยังเปียกยังแฉะ ก็จะยังไม่นุ่งห่ม 

พอจะเข้าเขตบ้านก็จะมีการนุ่งห่ม 

ก็ถือบาตรถือจีวรอย่างนี้ 

พอเข้าเขตบ้านก็ส่งบาตร 

ขากลับจากบิณฑบาตก็รับบาตรพระพุทธเจ้าเดินกลับมา 


พระเมฆิยะได้ผ่านสวนมะม่วงที่อยู่ริมแม่น้ำก็รู้สึกชอบใจ 

ที่นี่ร่มรื่น น่าประพฤติปฏิบัติ 

ระหว่างที่เดินตามพระพุทธเจ้ามา ก็เลยกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า 

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ 

ขอพระองค์โปรดรับบาตรของพระองค์ไปเถิด 

ข้าพระองค์จะขออนุญาตไปนั่งปฏิบัติที่สวนมะม่วง"  


พระพุทธเจ้าก็รับสั่งว่า 

"เมฆิยะ เธอจงรอก่อน 

คอยให้ภิกษุอื่นมาก่อน 

ตถาคตอยู่องค์เดียว" 

ที่จริงพระพุทธเจ้าก็รู้ว่าเมฆิยะยังอินทรีย์อ่อน 

ถ้าปล่อยออกไปก็ปฏิบัติไม่ได้ 

พระองค์ก็บอกว่า "รอให้ภิกษุมาผลัดเปลี่ยนก่อน เธอค่อยไป" 


เมฆิยะก็ไม่ฟัง อ้อนวอนถึง ๓ ครั้ง 


พระพุทธองค์ก็บอกว่า 

"รอก่อน รอให้ภิกษุมาเปลี่ยนก่อน 

ตถาคตอยู่องค์เดียว" 


เมฆิยะก็บอกว่า 

"ข้าพระองค์ยังเป็นผู้ที่จะต้องปฏิบัติ เพราะยังมีกิเลส 

ส่วนพระองค์ไม่มีภาระเรื่องการจะละกิเลสแล้ว"  


แม้พระพุทธองค์จะห้ามไว้ก็ไม่ฟัง 

เอาบาตรคืนให้พระองค์ 

แล้วก็ไปนั่งปฏิบัติที่สวนมะม่วงริมแม่น้ำ 

ปฏิบัติไปแล้วก็ไม่ได้ความอะไร 

จิตก็เกิดกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก 

กามวิตก คือจิตแล่นไปในกามคุณอารมณ์ 

เกิดความกำหนัดยินดีในกาม 

จิตแล่นไปในความพยาบาทอาฆาตเคียดแค้น 

บางทีเรื่องอะไรผ่านมาแล้ว 

จิตแวบไปถึง ก็ยังเคียดแค้นอยู่ 

คิดไปในการที่จะเบียดเบียน 

วุ่นวายใจมาก ทำอะไรไม่ได้ 

ที่สุดก็ต้องกลับมา 

กลับมาแล้วก็มากราบทูลพระพุทธเจ้าว่า 

ตนเองไปปฏิบัติแล้ว ก็มีแต่กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก 


พระพุทธเจ้าก็จึงตรัสว่า 

"เมฆิยะ ตถาคตก็บอกเธอแล้วว่าให้รอก่อน  

ให้ภิกษุอื่นมาก่อน เธอค่อยไป 

เธอก็ไม่ฟังถึง ๓ ครั้ง 

เธอได้ทำกรรมอันหนัก"  


แล้วบอกว่า 

"ธรรมดาภิกษุไม่ควรทำตามใจตนเอง 

ไม่ควรตกอยู่ในอำนาจของจิต 

เพราะจิตนี้เป็นธรรมชาติที่แล่นไปเร็ว 

ควรทำจิตให้อยู่ในอำนาจของตน" 


แล้วพระพุทธองค์ก็ได้ตรัสเป็นคาถาขึ้นว่า 

ผนฺทนํ จปลํ จิตฺตํ 

ทุรกฺขํ ทุนฺนิวารยํ 

อุชุ กโรติ เมธาวี 

อุสุกาโรว เตชนํ 

วาริโชว ถเล ขิตฺโต 

โอกโมกตอุพฺภโต 

ปริผนฺทติทํ จิตฺตํ 

มารเธยฺยํ ปหาตเวฯ 


ซึ่งแปลว่า 

จิตนี้ดิ้นรนกวัดแกว่ง รักษายาก ห้ามยาก 

บัณฑิตผู้มีปัญญาย่อมทำจิตให้ตรง 

เหมือนช่างศรดัดลูกศร 

จิตนี้เมื่อผู้ทำความเพียร ยกขึ้นจากกามคุณทั้ง ๕ 

แล้วซัดไปด้วยวิปัสสนากรรมฐานเพื่อให้ละบ่วงแห่งมาร 

ย่อมดิ้นรนเหมือนปลาที่พรานเบ็ดยกขึ้นจากน้ำวางไว้บนบก ดิ้นรนอยู่ 


จิตมันดิ้นรน ผนฺทนํ 

ดิ้นรนคือไม่ยอมอยู่ในอารมณ์เดียว 

ชอบดิ้นไปหาอารมณ์นั้นอารมณ์นี้ 

โดยเฉพาะไปในอารมณ์ในรูปสวย เสียงเพราะ 

กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสน่าใคร่น่าปรารถนา 

เรื่องราวเรื่องนั้นเรื่องโน้น 

แล้วก็ไปเกลือกกลั้วอยู่กับอารมณ์นั้น ๆ 

จิตแล่นไป แล้วก็ไปเกลือกกลั้วอยู่กับอารมณ์นั้น 

ทั้งเรื่องไม่ดีก็แล่นไปจมอยู่กับอารมณ์เหล่านั้น 


จิตนี้กวัดแกว่ง 

คือไม่สามารถจะดำรงอยู่ในอารมณ์เดียว 

ไม่สามารถจะอยู่นิ่ง ๆ ได้ 

เหมือนเด็กอยู่นิ่งไม่ได้ ไปมาลุกลนอยู่เรื่อย 

หรือเหมือนลิง ลิงมันไม่ยอมอยู่นิ่ง 

มันก็กระโดดโลดเต้นของมันอยู่อย่างนั้น 

ฉะนั้นจิตนี้ถ้าไปกระทบโลกธรรม 

มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ 

มีสรรเสริญ มีนินทา มีสุข มีทุกข์ 

ก็ดิ้น กวัดแกว่ง 

แม้ได้อารมณ์ดี มันก็กวัดแกว่ง 

ชอบใจ ติดใจ ลิงโลด ฟู 

พออารมณ์ไม่ดี เปลี่ยนไป แฟบลงมาอีก 

จิตเป็นอย่างนี้ 


ฉะนั้นจิตถ้าถูกราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กลุ้มรุม 

จิตใจก็กวัดแกว่งซัดส่าย 

รักษายากที่จะไม่ให้ตกไปในอารมณ์ที่ชั่ว 

มันจะไปท่าเดียว 


แล้วจะทำอย่างไร? 

ก็ต้องมีสติ มีสติเป็นเชือกผูกไว้ 

เหมือนกับโคป่าที่ยังไม่ได้รับการฝึก 

มันก็จะดิ้นรน 

เจ้าของโคก็ต้องเอาเชือกผูกไว้กับหลัก 

ดิ้นไปดิ้นมา ขาด ก็ต้องไปตามมาผูกไว้ 

.............................

ธัมโมวาท โดยหลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี

เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา

*****

Cr.https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid032ySH1UHZjcdUJbK73bVFQcgiASBWsMCDfC5bfHVwe7DtcZrmLhuQRKHCAcoAaaUKl&id=100050180992815&mibextid=Nif5oz

วันศุกร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2566

ความสงสัยลังเลใจ


 ธรรมะอรุณสวัสดิ์...รับวันใหม่ 

.............................

วิจิกิจฉานิวรณ์ ความสงสัยลังเลใจ 

ละได้โดยการเป็นผู้สดับมาก 

สดับธรรมะ ฟังธรรมะ สอบถามธรรมะ 

แก้ความสงสัย ชำนาญในวินัย 

มีกัลยาณมิตร มีมิตรที่ดี 

เจรจาแต่เรื่องที่สัปปายะ 

แล้วก็มากไปด้วยความน้อมใจเชื่อ 

มันก็แก้ความสงสัย 


ในทางการปฏิบัติวิปัสสนา 

ให้กำหนดรู้เวลาจิตมันรู้สึกสงสัย 

อย่าปล่อยให้มันสงสัยเรื่อยไป คิดไปมาก แล้วก็คิดไม่จบ 


ให้กำหนดรู้ความรู้สึกสงสัย ดูความสงสัย 

มันก็จะละกันไป ตัดกันไป 

ไม่ต้องคอยให้มันจบเรื่อง 

ไม่ต้องคอยให้คิดจนหมดเรื่อง 

พอรู้สึกสงสัยอะไรขึ้นมาก็กำหนดรู้ 

ความสงสัยเป็นสภาพธรรม 

.............................

ธัมโมวาท โดยหลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี

เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา

*****

Cr.fwd.line PNI maditation

วันพฤหัสบดีที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2566

จิต...


ธรรมะอรุณสวัสดิ์...รับวันใหม่ 

.............................

จิตมันมีการรับอารมณ์อยู่เสมอ 

แต่ว่ามันมีสภาพเป็นไปแตกต่างหลายประเภท 

ก็ด้วยมีสิ่งเข้ามาผสม เรียกว่าเจตสิก 

เจตสิกเป็นธรรมชาติที่เข้ามาผสม เข้ามาประกอบกับจิต 


ถ้าอุปมาแล้ว จิตเหมือนกับน้ำสะอาด 

เจตสิกก็เหมือนสีต่าง ๆ 

เอาสีเขียวไปผสมน้ำ น้ำก็เขียวไปด้วย 

เอาสีแดงไปผสม น้ำก็แดงไปด้วย 


เพราะฉะนั้นเจตสิกที่เป็นฝ่ายอกุศล 

เช่น มีราคะ โทสะ มานะ ทิฏฐิ อิจฉาริษยา เข้าไปผสมกับจิต 

จิตก็แปรสภาพไปเป็นอย่างนั้น เป็นอกุศล 


ถ้าเกิดเจตสิกฝ่ายดีเข้าไปผสมกับจิต 

มีศรัทธา มีเมตตา มีความสงสาร พลอยยินดี 

มีสติ สมาธิ เหล่านี้ 

จิตก็ดีงามไปด้วย 

จึงอยู่ที่เครื่องผสมเหมือนกัน 


จิตนี้จึงจัดเป็นประเภทใหญ่ ๆ คือ 

จิตที่เป็นฝ่ายอกุศลอย่างหนึ่ง 

จิตที่เป็นกุศลก็อย่างหนึ่ง 

จิตที่เป็นวิบากอย่างหนึ่ง 

จิตที่เป็นกิริยาอย่างหนึ่ง 


จิตที่เป็นอกุศล 

ก็คือจิตที่ไม่ดี จิตที่จะให้ผลเป็นความทุกข์ 

เช่น จิตที่เป็นไปในความโลภ 

จิตที่เป็นไปในความโกรธ 

จิตที่เป็นไปในความหลง 

จิที่เป็นไปในมานะ ทิฏฐิ ฟุ้งซ่าน อิจฉาริษยา 

เหล่านี้เป็นอกุศลที่จะนำมาซึ่งความทุกข์ 


ถ้าจิตที่เป็นฝ่ายกุศล 

ก็คือจิตที่ประกอบด้วยเจตสิกฝ่ายกุศล 

มีศรัทธา มีความละอายต่อบาป 

มีความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลงในนั้น 

มีเจตนาในทางที่ดี 

ก็ประกอบการกุศล 

มีการให้ทาน รักษาศีล 

ช่วยเหลือการงานที่ชอบที่ควร 

เหล่านี้เพราะจิตที่เป็นกุศลเกิดขึ้น 


ส่วนจิตที่เป็นวิบาก มันเป็นผล 

อย่างเห็นภาพเป็นวิบาก 

ได้ยินเสียงก็เป็นวิบาก 

จิตได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัสทางกาย เป็นจิตวิบาก 

แล้วแต่ว่าบุญส่งมาดี ก็ได้รับวิบากดี 

ได้เห็นภาพดี ได้ฟังเสียงเพราะ 

ได้กลิ่นหอม ได้ลิ้มรสอร่อย 

ได้สัมผัสเครื่องสัมผัสที่ดี สบายกายขึ้นมา 


ถ้าบาปส่งผล ก็เห็นภาพไม่ดี ฟังเสียงหนวกหูเสียงด่า 

ได้กลิ่นเหม็น ได้ลิ้มรสไม่อร่อย 

ได้สัมผัสที่ไม่ดี ทำให้ร้อนเกินไป หนาวเกินไป 

เจ็บปวดร่างกาย ประสบอุบัติเหตุ ไม่สบายกาย 

นี่เขาเรียกว่าบาปส่งผลมาทางกาย 


ส่งมาทางใจก็ต้องรับรู้เรื่องราวต่าง ๆ 

ดีไม่ดี แล้วแต่บุญแต่บาป 

.............................

ธัมโมวาท โดยหลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี

เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา

*****

Cr.https://www.facebook.com/100050180992815/posts/pfbid07vfHHhQ4NLjRMCKwVkcQ5QBT8Ju41hTZSQYu1B2Ss4UtKHqQijKGQQNZut398U9ql/?mibextid=Nif5oz

 

ถ้า..ฟุ้งซ่าน


ถ้าจิตฟุ้งซ่านระหว่างเจริญสมาธิ การพยายามห้ามจิตให้หยุดคิดแทบจะไม่ช่วยอะไร  ยังมีวิธีรับมือกับปัญหาดังกล่าวอีกหลายวิธีที่ให้ผลดีกว่า  ดังเช่น แทนที่จะดิ้นรนชักลากจิตให้กลับไปยังอารมณ์กรรมฐาน เราอาจจะแค่ลองลดความเร็วของกระแสความคิดลง  ปล่อยให้ความคิดดำเนินไปตามเรื่องของมัน แต่มีข้อแม้อย่างเดียวว่าต้องคิดช้าๆ ทีละความคิด  เจตนาที่จะทำให้กระแสความคิดช้าลงจัดเป็นความเพียรชอบ  ไม่ช้าไม่นาน จิตก็จะเบื่อกระแสความคิดเหล่านี้ไปเองและยินดีจะปล่อยวางด้วยความเต็มอกเต็มใจ  ลองทำวิธีนี้ซ้ำอีกเมื่อจำเป็น 


หากความฟุ้งซ่านเป็นปัญหาระยะยาวในการภาวนา สาเหตุส่วนใหญ่มักจะมาจากท่าทีที่เราปฏิบัติกับจิตในเวลาที่ไม่ได้ภาวนา  โดยเฉพาะการเปิดรับข้อมูลจนล้นเกินพิกัด


ในกรณีเช่นนี้ เราควรเมตตาสมองของเราบ้าง  พึงมีสติ ระมัดระวังสิ่งที่เราปล่อยให้จิตรับรู้ทางอายตนะทั้งหลาย โดยเฉพาะทางตาและทางหู


ธรรมะคำสอน โดย พระอาจารย์ชยสาโร

แปลถอดความ โดย ปิยสีโลภิกขุ

*****

Cr.https://www.facebook.com/100064337808864/posts/pfbid04ATaSmSMVGjHygVRdhE55sXwzKiV7LnQeVWWGhbrftdZ6sHmwWRzTjmSaiA37xG7l/?mibextid=Nif5oz

 

วันพุธที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2566

การใช้ชีวิตประจำวัน

 


การใช้ชีวิตประจำวัน สมมุติง่ายๆ ว่าเราทำแว่นหาย ปกติคนทำแว่นหายจะรู้สึกอย่างไร พอแว่นหายก็จะรำคาญ "เอาอีกแล้ว" จิตใจก็จะคิดปรุงแต่ง บางครั้งก็ตำหนิตัวเองว่า "ทำไมเราถึงโง่อย่างนี้" จะดูนาฬิกาก็ไม่เห็น "โอ้...ตายแล้ว ถึงเวลาแล้ว เสียเวลาจริงๆ" จิตใจจะคิดปรุงแต่งต่างๆ นานา ถึงแม้ว่าต่อมาเราจะหาแว่นพบแล้ว แต่ก็ยังไม่วายจะรู้สึกเสียใจว่าเราเสียเวลาไปเปล่าๆ


หากเราลองเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ว่า ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องเป็นการภาวนา ลองถามตัวเองว่าตอนนี้งานที่กำลังทำคือหาแว่น อะไรคือกิเลสอกุศลธรรมที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างการหาแว่น ก็จะได้คำตอบว่าเป็นความหงุดหงิดรำคาญฟุ้งซ่าน ความรู้สึกอคติต่อตัวเอง เป็นต้น เพราะฉะนั้น ตอนนี้ก็จะพบว่าเรามีงานอยู่ ๒ อย่างพร้อมกัน หนึ่ง คือ ต้องหาแว่น สอง คือ ระวังไม่ให้กิเลสเกิดขึ้นในจิตใจ เห็นอย่างนี้แล้วมันก็กลายเป็นเรื่องสนุกได้ อันที่จริง พอเราตั้งใจอย่างนี้ก็มักจะหาแว่นได้ง่ายขึ้น เพราะความคิดปรุงแต่งต่างๆ มักทำให้เสียเวลาจนทำให้เราต้องหาอยู่หลายรอบ


พระอาจารย์ชยสาโร


*****

Cr.https://www.facebook.com/photo.php?fbid=674815574673030&set=a.410133041141286&type=3&mibextid=Nif5oz



พึงรักษาจิต


 ธรรมะอรุณสวัสดิ์...รับวันใหม่ 

.............................

มีภิกษุรูปหนึ่งบวชมาแล้วก็สู้ไม่ไหว อยากจะสึก 

ภิกษุรูปนี้ตอนเป็นฆราวาสก็อยากบวช 

เป็นลูกเศรษฐีอยู่ที่เมืองสาวัตถี 

ก็มีความคุ้นเคยอยู่กับพระเถระ 

ปรนนิบัติอุปัฏฐากพระเถระ 

ก็เข้าไปถามว่า ทรัพย์สมบัติควรจะทำอย่างไร 

ให้เป็นประโยชน์ เป็นบุญเป็นกุศล หรือเป็นความดี 

พระเถระก็แนะว่า คุณก็เอาทรัพย์แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน 

ส่วนหนึ่งก็ไว้ลงทุน 

ส่วนหนึ่งก็เลี้ยงบุตรภรรยาครอบครัวของตนเอง 

อีกส่วนหนึ่งก็ทำบุญทำกุศล ให้ทาน 

ถวายทานสลากภัต เป็นต้น 

เขาก็ปฏิบัติตาม 

แบ่งทรัพย์อย่างนั้น ปฏิบัติทำบุญสุนทาน 


แล้วก็เข้าไปถามพระเถระอีกว่า 

ผมก็ได้ปฏิบัติตามพระเดชพระคุณแล้ว 

จะมีอะไรที่ทำให้มันยิ่งกว่านี้บ้างไหม

นอกจากจะบำเพ็ญทานอย่างนี้ 

พระเถระก็เลยบอกว่า 

ถ้าเช่นนั้นคุณก็จงสมาทานไตรสรณคมน์ 

จงสมาทานศีล ๕ 

อุบาสกนี้ก็รับไตรสรณคมน์ 

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ 

ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ 

สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ 

ตั้งจิตระลึกถึงพระพุทธเจ้า 

พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ 

เป็นที่เป็นที่พึ่งที่ระลึก 

สมาทานศีลทั้ง ๕ 

ตั้งเจตนาที่จะงดเว้น

จากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม 

เว้นจากการโกหก เว้นจากการดื่มสุราเมรัย 

เขาก็ทำได้ด้วยดี 


แล้วก็เข้าไปถามพระเถระอีกว่า จะมีธรรมอะไรยิ่งกว่านี้ 

ถ้าอย่างนั้นคุณก็รักษาศีล ๑๐ เพิ่มเข้าไปอีก 

ถือศีล ๘ ศีล ๑๐ 

เว้นการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล 

เว้นแต่งเนื้อแต่งตัวด้วยเครื่องประดับ 

เว้นดูฟ้อนรำขับร้อง ดูการละเล่น 

เว้นที่นั่งที่นอนยัดด้วยนุ่น สำลี 

เขาก็กระทำ 

ก็เลยได้ชื่อว่าอนุปุพพิกเศรษฐีบุตร 

ผู้กระทำไปตามลำดับ 


ก็เข้าไปถามพระเถระอีกว่า 

ผมก็ปฏิบัติศีล ๘ ก็ทำได้แล้ว 

จะมีอะไรที่ให้มันยิ่งกว่านี้ขึ้นไปอีก 

พระเถระก็บอกว่า ถ้าเช่นนั้นคุณก็บวช 

มาบวชประพฤติพรหมจรรย์เป็นภิกษุ 

ก็ตกลง ออกมาบวช 

มีอุปัชฌาย์มีอาจารย์ผู้ทรงวินัยผู้ทรงอภิธรรมมา 

อาจารย์ก็แนะนำให้เว้นอย่างนั้น ๆ 

อุปัชฌาย์ก็ให้ทำอย่างนั้น เว้นอย่างนั้น 


พอออกมาบวชแล้ว 

ก็รู้สึกว่าความเป็นพระนี้อยู่ยากเหลือเกิน 

ดู ๆ ไป อะไรก็จะผิดไปหมด 

นั่นก็เว้น นี่ก็เว้น นี่ก็ทำไม่ได้ 

ความรู้สึกของท่านก็รู้สึกว่า 

เหมือนกับจะเหยียดมือเหยียดเท้าออกไปไม่ได้แล้ว 

ไม่มีที่จะเหยียดมือเหยียดเท้าเลย มันผิดไปหมดเลย 

ทำให้รู้สึกว่าทำไม่ได้ 

เกิดความท้อใจ เบื่อหน่าย อยากจะสึก  

ที่สุดก็ผอม ร่างกายเต็มสะพรั่งไปด้วยเอ็น 

คนเราถ้าจิตใจไม่น้อม ไม่ศรัทธาในธรรม 

อยู่ไปก็ผอมสะพรั่งไปด้วยเอ็น 

แล้วก็เกลื่อนกล่นไปด้วยหิดเปื่อย 

จมอยู่ในความเกียจคร้านอยู่อย่างนั้น 

ถูกความเกียจคร้านครอบงำ 


เพื่อนภิกษุทั้งหลายก็เลยมาถาม 

ท่านเป็นอะไร 

ดูท่านผอมซูบซีด เกลื่อนกล่นไปด้วยหิดเปื่อย 

ท่านก็รับว่าผมอยากจะสึก 

เพื่อนภิกษุก็เลยพาไปหาอาจารย์ไปหาอุปัชฌาย์ 

อาจารย์อุปัชฌาย์ก็พาไปเฝ้าพระพุทธเจ้า 


พระพุทธเจ้าก็ถามว่า 

เธอมีความปรารถนาจะสึกหรือ 


ก็กราบทูลรับตามความเป็นจริง 


ทำไมเธอจึงคิดอย่างนั้น 


ข้าพระพุทธองค์รู้สึกว่า 

มันมีสิ่งที่จะต้องรักษา ที่จะต้องเว้น 

ที่จะต้องสมาทานมากมายเหลือเกินข้อวัตรปฏิบัตินี้ 

รู้สึกว่าเหมือนจะเหยียดมือเหยียดเท้าไม่ได้ 

หาที่เหยียดมือเหยียดเท้าไม่ลงแล้ว 

ดูมันจะผิดไปหมด 


พระพุทธองค์ก็จึงตรัสว่า 

ถ้าเช่นนั้นเธอรักษาอย่างเดียวได้ไหม 


ถ้าอย่างเดียวก็พอได้ 

อย่างเดียวได้ ทำได้แน่ ขออย่างเดียว 


ถ้าเช่นนั้น เธอจงรักษาจิต 

ถ้าเธอรักษาจิตได้ ก็เท่ากับเธอจะรักษาได้ทุกอย่าง 


แล้วพระพุทธองค์ก็ได้ตรัสเป็นคาถาขึ้นว่า 

สุทุทฺทสํ สุนิปุณํ 

ยตฺถ กามนิปาตินํ 

จิตฺตํ รกฺเขถ เมธาวี 

จิตฺตํ คุตฺตํ สุขาวหํ 


แปลว่า 

ผู้มีปัญญาพึงรักษาจิตอันเห็นได้ยาก ละเอียดยิ่งนัก 

มักตกไปในอารมณ์ตามความใคร่ 

เพราะจิตที่คุ้มครองดีแล้วย่อมนำความสุขมาให้ 


ให้ไปรักษาจิตไว้ 

แม้ว่าจะเป็นธรรมชาติที่ละเอียด 

มักจะตกไปในอารมณ์ ตามความใคร่ก็ตาม 

ถ้าจิตนั้นรักษาได้ 

จิตได้รับการคุ้มครองดีแล้ว ย่อมนำความสุขมาให้ 


พระอนุปุพพิกเศรษฐีบุตร 

เมื่อได้รับคำสอนจากพระพุทธเจ้าว่า

ให้รักษาจิตอย่างเดียว ก็พอใจ 

คอยระมัดระวังจิตใจตัวเอง 

ก็ต้องมีสติคอยดูคอยรู้ รักษาจิต 

มันก็รักษาได้ทุกอย่างถ้าจิตเรามีการดูแลรักษาได้ 

เพราะอะไรต่าง ๆ มันก็ออกมาจากจิต 

ถ้าจิตเราดี ทำก็ดี พูดก็ดีไปด้วย 

ถ้าจิตไม่ดี ทำก็ไม่ดี พูดก็ไม่ดี 

ที่สุดท่านก็ได้บรรลุธรรม 

ด้วยการอาศัยคำสอนพระพุทธเจ้าให้ตามดูรักษาจิตไว้อย่างเดียว 


เพราะฉะนั้นจิตเป็นเรื่องสำคัญ 

ถ้าเราไม่รักษา ไม่ปฏิบัติ ไม่เจริญภาวนา 

จิตนี้ก็จะพาเราเป็นไปต่าง ๆ 

โดยเฉพาะกลายเป็นบุคคลที่กระทำผิดศีลผิดธรรม 

นำความทุกข์มาสู่ตนเอง 

.............................

ธัมโมวาท โดยหลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี

เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา


******

Cr.https://www.facebook.com/100050180992815/posts/pfbid02gZhxV3o5cqS9rMcetRM8MQBagoqNHpZyeJZfaRmdXQAVSf6zp1cMAoGrn33F1Frrl/?mibextid=Nif5oz

ทุกข์


ความเปลี่ยนแปลงของชีวิตหรือของโลก
เป็นทุกข์ประจำชีวิตหรือประจำโลก
ไม่เป็นเรื่องแปลกประหลาดอันใด
เมื่อจะสรุปกล่าวให้สั้น
ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย
ทั้งสี่นี้ย่อลงเป็นสอง
คือความเกิดและความดับ
ซึ่งเป็นสิ่งที่สกัดหน้าสกัดหลังของโลกของทุกชีวิต
นี่เรียกคติธรรมดา แปลว่า ความเป็นไปตามธรรมดา
ความไม่สบายใจทุกๆอย่าง
พระพุทธเจ้าทรงชี้ว่าเป็นทุกข์
ทุกคนคงเคยประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก
พลัดพรากกับสิ่งที่เป็นที่รัก
ปรารถนาไม่ได้สมหวัง
เกิดทุกข์โศกต่างๆ
นี่แหละพระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่าเป็นทุกข์
โลกหรือชีวิต ประกอบด้วยทุกข์ดังกล่าวมาแล้ว
ฉะนั้นทุกข์จึงเป็นความจริง
ที่โลกหรือทุกชีวิตต้องเผชิญ

*******
Cr. ๑๐๐ คำสอนสมเด็จพระสังฆราช

 

วันจันทร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2566

กล้าหาญใจเย็นอดทน

ความชอบความชังเป็นอันธพาลคอยบูลลี่โลกด้านในของเรา  มันจะตวาด จับตัวเราเขย่าและข่มขู่เรา  พร้อมตะคอกใส่เราว่า “ทำอันนี้สิ!”  “อย่าทำอันนั้นนะ!”  ความชอบความชังกลบเสียงอื่น ๆ ที่ละเอียดกว่าภายในใจ   กี่ครั้งต่อกี่ครั้งแล้วที่เราถูกบูลลี่ให้ทำหรือพูดในสิ่งที่ทำให้เรานึกเสียใจภายหลัง เพียงเพราะมันส่งเสียงสั่งการว่า “ข้าอยากได้สิ่งนี้  เดี๋ยวนี้! ไม่ต้องคิด ไม่ต้องลังเล ลงมือทำเดี๋ยวนี้!”  กี่ครั้งต่อกี่ครั้งแล้วที่เราถูกบูลลี่โดยกระแสของความชังที่ยับยั้งเราจากการกระทำหรือคำพูดที่เมื่อคิดย้อนหลัง น่าจะส่งผลดีต่อประโยชน์สุขอันยั่งยืนของเรา


ความกล้าหาญ ใจเย็นและอดทนเป็นหัวใจสำคัญของการตัดสินใจทำเรื่องต่างๆ อย่างมีปัญญา   ถ้าเราไม่กล้าเผชิญกับการบุลลี่ภายในใจโดยความชอบความชัง เราจะไม่มีทางเป็นอิสระได้อย่างแท้จริง  ความชอบความชังจะทำให้ชีวิตเราจำกัดและอ่อนแอลงเรื่อยๆ 


ให้เราลุกขึ้นเผชิญหน้ากับมัน แล้วความชอบความชังก็จะเผยตัวว่าเป็นแค่เสือกระดาษ  เมื่อเรามุ่งมั่นดำเนินชีวิตตามวิถีแห่งธรรม ความชอบความชังก็จะกลายเป็นเสียงที่เกิดขึ้นดับไปในฉากหลังเท่านั้น


ธรรมะคำสอน โดย พระอาจารย์ชยสาโร

แปลถอดความ โดย ศิษย์ทีมสื่อดิจิทัลฯ

*****

Cr.https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid022ZdLR6pFk7dxV4CNvWoauiZuAHGAkrMYpEWaw8oYsVkXsfRDv4yhmTjsNMGi5udGl&id=100064337808864&mibextid=Nif5oz



 

วันอาทิตย์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2566

เอาชนะความโกรธ


 ธรรมะอรุณสวัสดิ์...รับวันใหม่ 

.............................

ที่เราชนะความโกรธด้วยการเจริญสติ 

ก็คืการอเมื่อเวลาโกรธ ให้มีสติระลึกรู้ 

อย่างพระพุทธองค์ตรัสไว้ในสติปัฏฐาน 

ให้กำหนดดูจิตใจตัวเอง 

เมื่อโกรธ ก็รู้ว่าโกรธ 

ใจมีโทสะ ก็รู้ว่าใจกำลังมีโทสะ 

กำหนดรู้ในใจ 


แทนที่จะไปมัวเพ่งเล็งมองคนอื่น 

ว่าคนนั้นทำไม่ดีกับเรา คนนี้ทำไม่ดี 

เรามองที่ใจตัวเอง 


เวลาที่เกิดความโกรธ 

มองลงไปที่ใจของเรา ดูอาการของมัน 

โกรธหนอ โกรธหนอ โกรธหนอ 

ดูที่ใจ ดูมันไปเฉย ๆ อย่างนั้นแหละ ไม่ต้องไปบังคับมัน 

ดูอย่างสักแต่ว่า ดูอย่างปล่อยวาง ดูอย่างไม่ว่าอะไร 

แต่กำหนดดู โดยไม่ต้องไปบังคับให้มันหายโกรธ 

เพียงแต่กำหนดรู้ ดูอาการของใจที่กำลังโกรธอย่างวางเฉย 

เราจะพบอาการโกรธนั้นคลี่คลายลง 

แสดงอาการคลายตัว แล้วก็หายไป 

จิตหายจากโทสะ ก็รู้ว่าจิตหายจากโทสะ 

พระองค์จึงตรัส  

จิตเมื่อหายจากโทสะ ก็กำหนดรู้ว่าจิตหายจากโทสะ 

เมื่อจิตหายจากโกรธ ก็กำหนดรู้ 


วิธีอย่างนี้เป็นการเจริญสติ 

จะเป็นวิปัสสนาด้วย จะทำให้เราเกิดปัญญาด้วย 

จะทำให้เห็นสภาวะของจิตว่า 

จิตมันมีอาการโกรธได้ มีการหายได้ 

มันไม่เที่ยง 

ความโกรธนี้มันก็ไม่เที่ยง 

ความโกรธนี้มันก็เป็นทุกข์ บีบคั้น เร่าร้อน 

ความโกรธนี้ก็บังคับไม่ได้ 

มันมีเกิดได้ มีดับได้ ไม่ใช่ตัวตน 

กำหนดไป ความโกรธก็เป็นเพียงสิ่งหนึ่ง ธรรมชาติอย่างหนึ่ง 

ไม่ใช่ตัวเราของเรา 


อย่างนี้ไม่ต้องเสียเวลานึกคิดอะไรทั้งหมด 

แต่เราต้องเป็นคนหัดฝึก 

ต้องเป็นคนที่ฝึกสติอยู่เสมอ 


(วิธีคลายโกรธตามแนวทางพระพุทธเจ้า ตอนที่ ๕) 

.............................

ธัมโมวาท โดยหลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี

เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา

*****

Cr.https://www.facebook.com/100050180992815/posts/pfbid034SwmhWmPmfF7QhwwTfixJ6uPZHu2yi2HKHjQfc2tXXjsMuecSijgfWxA8ntQkfjWl/?mibextid=Nif5oz

ชีวิต


คำว่า "ชีวิต" มิได้มีความหมายเพียงแค่ความเป็นอยู่แห่งร่างกาย
แต่หมายถึงความสุข ความทุกข์ ความเจริญ ความเสื่อม
ของบุคคลในทางต่างๆ ด้วย
บางคนมีปัญหาว่า จะวาดภาพชีวิตของตนเป็นอย่างไรในอนาคต
หรืออะไรควรจะเป็นจุดมุ่งหมายของชีวิต
และจะไปถึงจุดมุ่งหมายนั้นหรือ ที่นึกที่วาดภาพไว้นั้นด้วยอะไร
ปัญหาที่ถามคลุมไปดังนี้ 
น่าจะตอบให้ตรงจุดเฉพาะบุคคลได้ยาก
เพราะไม่รู้ว่าทางแห่งชีวิตของแต่ละบุคคล
ตามที่กรรมกำหนดไว้เป็นอย่างไร
และถ้าวาดภาพของชีวิตอนาคตไว้เกินวิสัยของตนที่จะพึงถึง
แบบที่เรียกว่าสร้างวิมานบนอากาศ
ก็จะเกิดความสำเร็จขึ้นมาไม่ได้แน่
หรือแม้วาดภาพชีวิตไว้ในวิสัยที่พึงได้พึงถึง
แต่ขาดเหตุที่จะอุปการะให้ไปถึงจุดหมายนั้น
ก็ยากอีกเหมือนกันที่จะเกิดเป็นความจริงขึ้นมา

********
Cr. ๑๐๐ คำสอน สมเด็จพระสังฆราช

 

วันศุกร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2566

โลกธรรม


 พระพุทธองค์เคยตรัสคำอวยพรที่มีความหมายมากประโยคหนึ่งว่า ขอให้เราใช้ชีวิตอย่างสม่ำเสมอบนเส้นทางที่ไม่สม่ำเสมอ คือ คนเราต้องการชีวิตที่ราบรื่นสม่ำเสมอ เมื่อชีวิตไม่ราบรื่นก็มักจะท้อแท้ซึมเศร้าหมดกำลังใจ แต่ไม่ว่าชีวิตใครๆ ก็ไม่เคยราบรื่นถึงขนาดนั้น แม้แต่พระซึ่งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อความสงบ ก็ใช่ว่าชีวิตท่านจะราบรื่นเสียทีเดียว พระพุทธองค์จึงทรงให้พร ขอให้เราใช้ชีวิตอย่างสม่ำเสมอบนเส้นทางที่ไม่สม่ำเสมอ สิ่งที่เราเจอในชีวิตมีทั้งขึ้นทั้งลง มีโลกธรรม มีสรรเสริญ มีนินทา มีสุข มีทุกข์ มีได้ มีเสีย เป็นต้น เรื่องนี้เราแก้ไม่ได้ มันเป็นเรื่องของโลก แต่เราสามารถรักษาจิตใจของเราให้สม่ำเสมอได้ด้วยการรู้เท่าทัน


พระอาจารย์ชยสาโร

*****Cr.https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid025bZcNf8mzH6QiieTVE3hg2poMvRQjsGxRkFdtd4bLHG5hPXvYycBTpzM8zFE7SGol&id=100064337808864&mibextid=Nif5oz

วันพุธที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2566

โลกธรรม

คนดีเข้าป่ายุงไม่ได้กัดน้อยกว่าคนชั่ว การทำความดีไม่ได้ป้องกันปัญหาเสมอไป เพราะฉะนั้นเราจำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องของโลกให้ชัดเจน โดยเฉพาะโลกธรรม ถ้าเรารู้เท่าทันโลกธรรมทั้งแปด ใจเราจะไม่ต้องไปขุ่นมัวกับมัน สัมผัสสิ่งใดอย่างไม่รู้เท่าทัน สิ่งนั้นจะนำทุกข์มาให้ สัมผัสสิ่งใดอย่างรู้เท่าทัน สิ่งนั้นจะนำสุขมาให้


การรู้เท่าทัน คือรู้ว่าโลกธรรมเช่น สรรเสริญ หรือนินทาเกิดอย่างไร มันอยู่ได้อย่างไร มันดับอย่างไร มันมีคุณหรือข้อดีอะไรบ้าง มีโทษอะไรบ้าง การรักษาจิตใจไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้นต้องวางใจอย่างไร มันไม่ง่าย แต่การพยายามทำสิ่งที่ไม่ง่าย ก็ไม่ยากสำหรับผู้มีศรัทธา


พระอาจารย์ชยสาโร

*****

Cr.https://www.facebook.com/photo.php?fbid=674804068007514&set=a.410133041141286&type=3&mibextid=Nif5oz


 

วันอังคารที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2566

แพ้กับชนะ..

 

... แพ้ กับ ชนะ ...


ซามูไรคนหนึ่งกำปลาในมือ 

เดินเข้าห้องอาจารย์เซนอิ๊กคิว กล่าวว่า


"เรามาพนันกัน อาจารย์ว่า ปลาในมือข้านี้ตายหรือเป็น?"


อิ๊กคิวรู้ว่า ถ้าเขาตอบว่าตาย ซามูไรจะต้องรีบคลายมือ แต่ถ้าบอกว่าเป็น ซามูไรจะต้องแอบบีบปลาให้ตาย


จึงตอบว่า "ตาย"


ซามูไรคลายมือทันที หัวเราะลั่น กล่าวว่า "อาจารย์แพ้แล้ว ดูนี่ ปลาเป็นๆ"


อิ๊กคิวยิ้มบางๆ กล่าวว่า "ถูก ข้าแพ้แล้ว"


อิ๊กคิวแพ้ แต่ได้ชีวิตปลา


บางครั้ง การเอาชนะอาจไม่ใช่ชัยชนะที่แท้

การยอมแพ้ก็อาจไม่ใช่การแพ้จริง ...


... "วางลงเป็นสุข" - 放下自在

... คำจีน : ไม่ทราบผู้เขียน

... จาก "เส้นทางสู่ด้านใน : เพื่อจิตใจสุขสงบ" [#บทกวี_สู่ด้านใน #เล่ม2]

... คัด/แปล : วิภาดา กิตติโกวิท #MADMANBOOKS #เส้นทางสู่ด้านใน_เพื่อจิตใจสุขสงบ #วิภาดา_กิตติโกวิท #MADMAN_BOOKS #คนบ้าหนังสือ

... ภาพ : ที่มาเดียวกัน


... 輸 與 贏 ... 


一位武士手裡握著一條魚

來到一休禪師的房間


他說道:


「 我們打個賭,禪師說我手中的這條魚是死是活?」


一休知道如果他說是死的

武士肯定會鬆開手

而如果他說是活的

那武士一定會暗中使勁把魚捏死


於是,一休說:


「 是死的。」


武士馬上把手鬆開,笑道:


「 哈哈,禪師你輸了,你看這魚是活的。」


一休淡淡一笑,說道:


「 是的,我輸了。」


一休輸了

但是他卻贏得了

一條實實在在的魚


感悟:


有時候

爭贏未必能真正的贏

而認輸也未必真正的輸…

*****

Cr.

กรอบ

กรอบคืออะไรและเป็นอย่างไร หลวงพ่อชาท่านเคยเปรียบเทียบอุปมาไว้ดังนี้ สมมุติว่าเราเดินไปตามถนน สวนทางกับคนคนหนึ่ง พอเขาเห็นหน้าเราเขาก็ด่าด้วยภาษาที่หยาบคายเหลือเกิน ด่าจนเรารู้สึกทุกข์ใจ สะเทือนใจ จากนั้นก็มีเพื่อนคนหนึ่งมาบอกว่า "อย่าไปถือสาเขาเลย เขาเป็นโรคจิต" พอเรารู้ว่าเขาเป็นโรคจิต ความรู้สึกทุกข์ใจหายไปหลายสิบเปอร์เซ็นต์ เกือบไม่มีเหลือเลย ทั้งๆ ที่เขาก็กำลังพูดอยู่ กำลังแสดงอาการอยู่เหมือนเดิม


นอกตัวเราไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่กรอบความหมายที่สร้างไว้ให้กับสิ่งที่เกิดขึ้นนอกตัวและเข้าใจสิ่งนั้นเปลี่ยนไป สิ่งนั้นเลยหมดฤทธิ์ ทำให้จิตใจของเราเป็นปกติได้ นี่เป็นตัวอย่างง่ายๆ ชัดๆ


พระอาจารย์ชยสาโร

*****

Cr.https://www.facebook.com/photo.php?fbid=674798871341367&set=a.410133041141286&type=3&mibextid=Nif5oz

 

วันจันทร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2566

ซามูไรกับชาวประมงญี่ปุ่น

 ****Cr.Fwd.line


นิทานนี้ชื่อเรื่อง "ซามูไรกับชาวประมงญี่ปุ่น" 


กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ซามูไรคนหนึ่งได้ไปเก็บหนี้จากชาวประมงคนหนึ่ง 


"ขอโทษจริงๆ ข้าเสียใจที่ต้องบอกท่านว่า ข้ายังไม่มีเงินจ่ายเพราะปีที่ผ่านมาเป็นปีที่แย่ที่สุดปีหนึ่งของข้า" ชาวประมงกล่าว


เมื่อซามูไรได้ยินดังนั้นก็โกรธมาก จึงชักดาบออกมาเพื่อจะลงมือฆ่าชาวประมงคนนั้นทันที 


ส่วนชาวประมงก็คิดหาทางเอาตัวรอดทันทีเช่นกัน โดยพูดอย่างกล้าหาญว่า


"ข้ากำลังศึกษาเกี่ยวกับศิลปะการต่อสู้อาจารย์ของข้าสอนว่า ไม่ควรจู่โจมคู่ต่อสู้เพราะความโกรธ"


ซามาไรหยุดมองชาวประมงชั่วขณะ แล้วค่อยๆ ลดดาบลงและพูดขึ้นว่า "อาจารย์ของเจ้าฉลาดมาก " อาจารย์ของข้าก็สอนเช่นนั้นเหมือนกัน บางครั้งความโกรธก็มักพรากเอาสิ่งที่ข้าควรจะได้มากกกว่านั้นหรือดีกว่านั้นไป 


เอาล่ะ ข้าจะให้โอกาาสเจ้าไปหาเงินมาใช้หนึ้อีกหนึ่งปี แต่ถ้าเจ้าจ่ายคืนไม่ครบแม้สตางค์แดงเดียว รับรองว่าข้าฆ่าเจ้าแน่"


ในคืนนั้น ซามูไรกลับมาถึงบ้านดึกมาก เขาค่อยๆ คลานขึ้นเตียงอย่างเงียบเชียบ เพราะไม่อยากทำให้ภรรยาตื่น 


แต่เขาก็ตกใจแทบสิ้นสติเมื่อพบว่ามีคนสองคนนอนอยู่บนเตียง คนหนึ่งนั้นคือภรรยา อีกคนเป็นชายแปลกหน้าในชุดซามูไร!!


ด้วยความโกรธและความหึงที่ถาโถมเข้ามาเขาคว้าดาบขึ้นมาหมายเข่นฆ่าคนทั้งสอง 


ฉับพลันคำพูดของชาวประมงก็ดังขึ้น "อย่าจู่โจมเพราะความโกรธ" 


ซามูไรชะงักไปชั่วขณะ เขาสูดลมหายใจเข้าลึกๆ แล้วตะโกนออกมาด้วยเสียงอันดัง ภรรยาของเขาตกใจตื่นขึ้นพร้อมคนแปลกหน้า!!! 


พอชายผู้สวมใส่ชุดซามูไรหันมา.. ถึงกับตกใจ! 


“ ซึ่งแท้จริงแล้วก็เป็นแม่ของเขานั่นเอง ”


"นี่หมายความว่าอย่างไงกัน ข้าเกือบจะฆ่าเจ้าทั้งสองไปแล้ว" ซามูไรตะโกน


"เรากลัวพวกหัวขโมย ข้าก็เลยขอให้แม่ของท่านแต่งตัวด้วยชุดซามูไร เพื่อหลอกหัวขโมย" ภรรยาของเขาอธิบาย

.


หนึ่งปีผ่านไป ชาวประมงได้เดินทางมาหาซามูไร "ปีนี้เป็นปีที่ดีของข้า ข้าจึงนำเงินพร้อมดอกเบี้ยมาใช้คืนท่าน" ชาวประมงพูดกับซามูไรอย่างยิ้มแย้ม


"เอาเงินของเจ้าเก็บไว้ เพราะเจ้าได้ใช้คืนข้ามานานแล้ว" ซามูไรตอบ

.


นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า อย่าจู่โจมเพราะความโกรธ 

เพราะความโกรธอาจจะพรากเอาบางสิ่งบางอย่างจากเราไปตลอดกาล


ถ้าซามูไรคนนั้นได้ลงดาบไป.. เอาจะสุญเสียคนที่เขารักและรักเขามากที่สุดไปตลอดกาล


นิทานเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่านไม่มากก็น้อย "เมื่อทุกท่านเกิดความโกรธ อย่าลืมนึกถึงคำพูดของชาวประมงนะคะ”


ความโกรธทำให้หูหนวกตาบอด ความกลัวทำให้เป็นอัมพาตและความรู้สึกผิดทำให้อ่อนแอ


หนังสือ"THE" POWER OF A POSITIVE NO"

*****

Cr.Fwd.line

วันศุกร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2566

มรรคองค์แปด

ธรรมะอรุณสวัสดิ์...รับวันใหม่ 

............................. 

ตอนที่พระพุทธเจ้าบำเพ็ญทุกรกิริยา 

ทรมานตนเองด้วยประการต่าง ๆ 

ที่เขาดงคสิริ อุรุเวลาเสนานิคม 

บำเพ็ญทุกรกิริยากลั้นลมหายใจบ้าง 

การไม่นุ่งห่ม 

การทรมานตัวเองด้วยการอดอาหารบ้าง 

ทำสารพัดอย่างที่ในสมัยนั้นเขาทำกัน 

ปัญจวัคคีย์จึงไปช่วยดูแลรับใช้อุปัฏฐาก 

ก็คิดว่าพระองค์ตรัสรู้แล้ว 

ก็จะได้แสดงธรรมให้กับเราได้ฟัง ได้เห็นธรรม 


พระองค์บำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่ ๖ ปีด้วยวิธีการต่าง ๆ 

จนกระทั่งอดอาหารจนผอมชนิดที่เรียกว่า 

เอาพระหัตถ์แตะที่ท้องก็กระทบกระดูกสันหลัง 

แตะกระดูกสันหลังก็กระทบหน้าท้อง 

แสดงว่าผอม ท้องแฟบติดกระดูกสันหลัง 

ซี่โครงขึ้นเป็นเหมือนกลอนเรือน 

หนังพระเศียรเหี่ยวย่นเหมือนผลน้ำเต้าอ่อนตัดมาโดนแดดเหี่ยวย่น 

สะโพกแหลมเหมือนเท้าอูฐ ความผอม 

ดวงตาลึกลงไปเหมือนดวงดาวในน้ำ 

พอพระหัตถ์ลูบพระวรกาย โลมาขนก็หลุดร่วง เพราะขาดอาหาร 

แต่พระองค์ก็ทรงตั้งมั่นเด็ดเดี่ยวบำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่ จนกระทั่งสลบไป 


พอได้ฟื้น พระองค์ก็เห็นว่า 

การทรมานตนเองเป็นการนำมาซึ่งความทุกข์ 

ก็ไม่สามารถจะบรรลุธรรมได้ ไม่สามารถจะตรัสรู้ได้ 

เป็นทุกข์เปล่า ๆ 

ก็นึกถึงการบำเพ็ญทางจิตใจที่จะต้องเจริญสมาธิภาวนา 

ร่างกายที่อ่อนแออย่างนี้ จะเจริญภาวนาเห็นจะไปไม่ได้ 

ต้องทำร่างกายให้แข็งแรงขึ้นมา 

พระองค์ก็เริ่มเสวยพระกระยาหารหยาบขึ้น 

ให้ร่างกายฟื้นตัวกลับคืนมา 

ทำให้ปัญจวัคคีย์หนีไป 

เข้าใจว่าพระองค์คลายความเพียร หันมาเป็นคนมักมาก 

หนีไปปฏิบัติอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี 


เมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้ว 

พระองค์ก็เห็นว่าปัญจวัคคีย์เป็นบุคคลที่สมควรจะโปรดก่อน 

พระองค์ก็เสด็จไป 


ฉะนั้นการแสดงธรรม พระองค์จึงต้องชี้ถึงทางสุดโต่ง 

ทางปฏิบัติที่สุดโต่ง 

ที่สุดของการปฏิบัติ ๒ อย่างที่ไม่ใช่ข้อปฏิบัติที่จะทำให้พ้นทุกข์ได้ คือ 


๑. กามสุขัลลิกานุโยค 

การประกอบตนพัวพันด้วยความใคร่ในกามทั้งหลาย 

พระองค์ตรัสว่า 

หีโน … เป็นของต่ำทราม 

คัมโม … เป็นของชาวบ้าน 

โปถุชชะนิโก … เป็นของคนชั้นปุถุชน 

อะนะริโย … ไม่ใช่ข้อปฏิบัติของพระอริยะ 

อะมัตถะสัญหิโต  … ไม่ประกอบด้วยประโยชน์เลย 

บรรพชิตไม่ควรเข้าไปข้องแวะ 

ในการพัวพันด้วยอำนาจความใคร่ในกามทั้งหลาย 


แล้วพระองค์ก็ได้ตรัสทางสุดโต่งข้อที่ ๒ คือ 

๒. อัตตกิลมถานุโยค 

การประกอบตนทรมานตนให้ลำบาก 

ทุกโข … เป็นสิ่งนำมาซึ่งความทุกข์

อะนะริโย … ไม่ใช่ข้อปฏิบัติของพระอริยะ 

อะมัตถะสัญหิโต … ไม่ประกอบด้วยประโยชน์เลย 


แล้วพระองค์ก็ได้แสดงทางสายกลาง 

ที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ว่า 

ภิกษุทั้งหลาย 

มัชฌิมาปฏิปทา หนทางสายกลางนี้ 

เป็นข้อปฏิบัติที่ตถาคตตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว 

เป็นข้อปฏิบัติที่ทำให้เกิดจักษุ ทำให้เกิดญาณ 

เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้พร้อม 

เป็นไปพร้อมเพื่อพระนิพพาน 

ข้อปฏิบัติอันประเสริฐประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ 


๑. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ 

คือเกิดความรู้เห็นในทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ 


๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ 

ดำริออกจากกาม ดำริออกจากการเบียดเบียน ดำริออกจากการพยาบาท 


๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ 

เป็นการพูดที่เว้นจากวจีทุจริตทั้ง ๔ 

เว้นพูดเท็จ เว้นพูดส่อเสียด เว้นพูดหยาบคาย เว้นพูดเพ้อเจ้อ 


๔. สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ 

คือการงานที่เว้นจากทุจริตทั้ง ๓ 

เว้นฆ่าสัตว์ เว้นลักทรัพย์ เว้นประพฤติผิดในกาม 


๕. สัมมาอาชีวะ ประกอบอาชีพชอบ สุจริต 

เป็นอาชีพที่เว้นจากกายทุจริต วจีทุจริต 


๖. สัมมาวายามะ เพียรชอบ 

เป็นความเพียรที่ละบาปที่เกิดขึ้น เพียรระวังไม่ให้บาปใหม่เกิด 

เพียรเจริญกุศล เพียรรักษากุศลให้เจริญขึ้น 


๗. สัมมาสติ ความระลึกชอบ 

คือความระลึกเป็นไปในสติปัฏฐานทั้ง ๔ 

กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม 


๘. สัมมาสมาธิ ตั้งมั่นชอบ 

ซึ่งเป็นความที่จิตตั้งมั่น แน่วแน่ เป็นสมาธิ 

ปราศจากนิวรณ์ ปราศจากอกุศลธรรม 


นี่แหละภิกษุทั้งหลาย 

มัชฌิมาปฏิปทา หนทางสายกลาง 

คือมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ 

ที่ตถาคตได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว 

เพื่อความสงบ ทำให้เกิดจักษุ ทำให้เกิดญาณ 

เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้พร้อม เป็นไปพร้อมเพื่อพระนิพพาน 

มัชฌิมาปฏิปทา เจริญมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้ 

............................. 

ธัมโมวาท โดยหลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี 

เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา

*****

Cr.https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid0VYVdSHzjsFwn17m8z9xiUGP4NUeS5MQH47tC4U4zLhycYJgmMYHF8VAJ5mt2KUtUl&id=100050180992815&mibextid=Nif5oz

 

วันอังคารที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2566

วันอาสาฬหบูชา


 ธรรมะอรุณสวัสดิ์...รับวันใหม่

...................................

ป ฐ ม เ ท ศ น า 

วันนี้เป็นวันสำคัญยิ่งอีกวันหนึ่ง

ในทางพระพุทธศาสนา

เป็นวันที่บังเกิดมี

พระรัตนตรัยครบ ๓ ประการ

เรียกกันว่า #วันอาสาฬหบูชา

ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘

วันนี้เป็นวันบังเกิดมีขึ้นของ

พระธรรมและพระสงฆ์

จากการประกาศธรรมเป็นครั้งแรก

ของพระผู้มีพระภาคเจ้า

หลังการตรัสรู้ของพระพุทธองค์

และ #มีผู้ได้ดวงตาเห็นธรรมแล้วขอบวช

#เป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา

คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ

พระสูตรนี้มีชื่อว่า“#ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร”

พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕

ซึ่งเป็นนักบวช ๕ ท่าน ที่คอยติดตาม

ปฏิบัติรับใช้พระองค์ในคราว

ที่ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา

ประกอบด้วย โกณฑัญญะ วัปปะ

ภัททิยะ มหานามะ และอัสชิ

ครั้งนั้นพระองค์

ทรงทรมานร่างกายตนเอง

ด้วยวิธีการต่างๆ ตามความเชื่อ

ของคนในสมัยนั้นว่า

การทรมานตนเองเท่านั้น

เป็นหนทางที่จะทำให้บรรลุธรรมสูงสุดได้

พระองค์จึงทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา

ทุกวิธีอย่างยวดยิ่ง

ไม่ว่าจะเป็นการยืนขาเดียว

นอนบนขวากหนาม เอาตัวย่างไฟ

กลั้นลมหายใจ

อดอาหารจนพระวรกายผ่ายผอม

มีก้นแหลมเหมือนเท้าอูฐ

เวลาเอาพระหัตถ์แตะที่ท้อง

ก็กระทบกระดูกสันหลัง

เมื่อสัมผัสผิวหนังโลมา(ขน)ก็หลุดร่วง

พอลุกขึ้นยืนก็เซล้มสลบไป

ในที่สุดพระองค์ทรงคิดว่า

นี่คงไม่ใช่ทางพ้นทุกข์แน่

เพราะกระทำถึงที่สุดเช่นนี้แล้ว

ก็ยังไม่สามารถสิ้นอาสวกิเลสได้

พระองค์จึงหยุดการทรมานพระวรกาย

กลับมาเสวยพระกระยาหารดังเดิม

ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ จึงเข้าใจผิด

คิดว่าพระองค์ทรงคลายความเพียรแล้ว

เลยพากันหนีพระองค์ไป

ครั้นถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖

พระองค์ก็ทรงประสบความสำเร็จ

ในการตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ณ เมืองคยา

เรียกกันว่า วันวิสาขบูชา

ซึ่งวันนั้นเป็นวันที่บังเกิดมีพระรัตนตรัย

ประการแรก คือ พระพุทธเจ้า

(ทรงมีพระนามว่า

”พระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าฯ)

เมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้วก็ดำริ

ที่จะประกาศธรรมแก่บุคคลที่สมควร

ได้รับฟังธรรมะจากพระองค์

เพื่อจะได้รู้ตามเห็นตาม

นี่คือพระมหากรุณาอันยิ่งของพระพุทธองค์

จากนั้นจึงทรงพิจารณาถึงบุคคล

ที่พระองค์จะเสด็จไปโปรด

ในเบื้องแรกทรงนึกถึงอาจารย์สองท่าน

ที่เคยสอนฌานสมาบัติให้ก่อน

ที่จะบำเพ็ญทุกรกิริยา

คือ อาฬารดาบส กาลามโคตร

และอุททกดาบส รามบุตร

ซึ่งอาจารย์ ๒ ท่านนี้ ได้สมาบัติชั้นสูง

หากว่าได้รับฟังธรรมจากพระองค์

ก็น่าจะสามารถเข้าใจในธรรมที่ทรงแสดงได้

แต่เมื่อพระองค์ทรงตรวจดู

ด้วยทิพพจักขุญาณแล้วก็ทราบว่า

อาจารย์ทั้ง ๒ ได้มรณภาพเสียแล้ว

ไปเกิดในชั้นของอรูปพรหม

ที่มีขันธ์ ๔ ขันธ์ มีแต่นามขันธ์

ไม่มีรูปขันธ์ที่จะรับคำสอนของพระองค์ได้

(ไม่มีตา หู ฯลฯ)


พระองค์ทรงตรัสแสดงทางสายกลาง

หรือมัชฌิมาปฏิปทา หรือ มรรค ๘

อันเป็นหนทางให้ถึงซึ่งพระนิพพาน

ที่พระองค์ทรงตรัสรู้แล้วดังนี้

๑. ความเห็นชอบ ได้แก่ ความรู้ในอริยสัจ ๔

(ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค)

หรือเห็นไตรลักษณ์(อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)

หรือการเห็นปฏิจจสมุปบาท

(การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันจึงเกิดมีขึ้น)

๒ ความดำริชอบ ได้แก่ เนกขัมมะ

การดำริออกจากกาม

อพยาบาท ดำริออกจากการพยาบาท

อวิหิงสา ดำริออกจากการเบียดเบียน

๓ การเจรจาชอบ ได้แก่ วจีสุจริต ๔

ไม่พูดโกหก ไม่พูดคำหยาบ

ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อไร้สาระ

๔ การกระทำชอบ ได้แก่ กายสุจริต ๓

ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม

๕ การเลี้ยงชีพชอบ ได้แก่ เว้นจากมิจฉาชีพ

ประกอบสัมมาชีพในการเลี้ยงชีวิต

๖ ความเพียรชอบ ได้แก่ สัมมัปปธาน ๔

คือ การเพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว

เพียรระวังบาปไม่ให้เกิดขึ้น

เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดมีขึ้น

เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้น

แล้วให้ตั้งมั่นและให้เจริญยิ่งขึ้นไป

๗ ความระลึกชอบ ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔

คือ การตั้งสติกำหนดพิจารณา

สิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นตามความเป็นจริง

โดยการมีสติสัมปชัญญะ

ระลึกรู้อยู่ที่ฐานทั้ง ๔

คือ กาย เวทนา จิต และธรรม อยู่เนืองๆ

เพื่อให้เห็นตามความจริงว่า

ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา

๘ ความตั้งจิตมั่นชอบ ได้แก่

ความสงัดจากกาม

ความสงัดจากอกุศลธรรม

เข้าถึง ปฐมฌาน ทุติยฌาน

ตติยฌาน และจตุตถฌาน

มรรค ๘ ดังกล่าวนี้ถ้าย่อให้เหลือ ๓

คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

(ข้อ ๑-๒ อยู่ในส่วนของปัญญา,

ข้อ ๓-๕ อยู่ในส่วนของศีล,

ข้อ ๖-๘ อยู่ในส่วนของสมาธิ)

ดังนี้แล้วพระพุทธองค์ทรงยืนยันว่า

ทางสายกลางได้ก่อให้เกิดดวงตาเห็นธรรม

ทำให้พระองค์เกิดปัญญาญาณ

ที่เป็นไปเพื่อความดับไม่เหลือแห่งทุกข์

แล้วได้ตรัสแสดงถึง อริยสัจ ๔

เป็นลำดับๆ ไปว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางสายกลาง

ที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว

ก่อให้เกิดดวงตาเห็นธรรม ก่อให้เกิดปัญญา

ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบกิเลส

เพื่อความรู้ยิ่ง ความรู้แจ้ง

และเพื่อความดับทุกข์

“#ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

#ก็อริยสัจ คือ #ทุกข์ นี้มีอยู่

คือ ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์

ความตายเป็นทุกข์

ความโศก ความร่ำไรรำพัน

ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ

ความคับแค้นใจ ก็เป็นทุกข์

ความประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจ

ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักที่พอใจ

มีความความปรารถนาสิ่งใด

ไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์

ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตัวทุกข์”

“ขันธ์ ๕” อันเป็นที่ตั้งแห่งอุปทาน

(ความยึดมั่นถือมั่น)

ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ

๑ รูป คือ ส่วนที่เป็นสรีระร่างกาย

๒ เวทนา คือ ส่วนที่เป็นการเสวยอารมณ์

ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือ เฉยๆ

๓ สัญญา คือ ส่วนที่เป็นความกำหนดหมาย

ให้รู้อารมณ์นั้นๆได้ (ความจำได้หมายรู้)

๔ สังขาร คือ ส่วนที่ปรุงแต่งจิตให้ดีหรือชั่ว

หรือเป็นกลางๆ (ความปรุงแต่ง คิดนึกต่างๆ)

๕ วิญญาณ คือ ส่วนที่เป็นความรู้แจ้งทางอารมณ์

เป็นความรู้อารมณ์ทางอายตนะทั้ง ๖

มีการเห็น การได้ยิน การรู้กลิ่น การรู้รส

การรู้สัมผัสทางกาย การรู้ธรรมารมณ์ทางใจ

ขันธ์ ๕ นี้ ย่อลงมาแล้วเหลือ ๒ คือ รูป และนาม

(ข้อ ๑ จัดเป็นรูปขันธ์, ข้อ ๒ ถึง ๕ จัดเป็นนามขันธ์)

หากจะจัดขันธ์ ๕ เข้าเป็นประเภท

ของ ปรมัตถธรรม ๔ คือ

จิต เจตสิก รูปและนิพพาน

จะได้ดังนี้คือ

*วิญญาณขันธ์ จัดเป็น จิตปรมัตถ์

*เวทนาขันธ์,สัญญาขันธ์,สังขารขันธ์

จัดเป็น เจตสิกปรมัตถ์(ส่วนที่ประกอบกับจิต)

*รูปขันธ์ จัดเป็น รูปปรมัตถ์

*ในส่วนของนิพพาน เป็นขันธวิมุตติ

คือพ้นจากขันธ์ ๕

จากนั้นพระองค์ได้ตรัสแสดงอริยสัจข้อที่ ๒

คือ #สมุทัย หรือเหตุให้เกิดทุกข์ ไว้ว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

#อริยสัจคือเหตุให้เกิดทุกข์

(สมุทัย)นี้มีอยู่ คือความทะยานอยาก(ตัณหา)

อันเป็นความผูกพันให้เกิดภพใหม่

ประกอบด้วยความยินดีพอใจ

ความเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ ได้แก่

ความทะยานอยาก ในอารมณ์ที่ใคร่(กามตัณหา)

ความทะยานอยาก

ในความอยากมีอยากเป็น(ภวตัณหา)

ความทะยานอยาก ในความอยากไม่มี

อยากไม่เป็น(วิภวตัณหา)”

แล้วพระองค์ได้ตรัสแสดงอริยสัจข้อที่ ๓

คือ #นิโรธ หรือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ไว้ว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย #อริยสัจคือความดับ

#ไม่เหลือแห่งทุกข์(นิโรธ)นี้มีอยู่

คือความดับสนิทแห่งตัณหานั้นทั้งหมด

เป็นความสละทิ้ง สลัดคืน

เป็นความปล่อยและไม่พัวพันกับตัณหานั้น”

จากนั้นพระพุทธองค์ได้ตรัสแสดงถึงอริยสัจข้อ ๔

คือ #มรรค หรือข้อปฏิบัติที่ทำให้ถึง

ซึ่งความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ไว้ว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย #อริยสัจคือข้อปฏิบัติ

#ที่ทำให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งทุกข์(มรรค)นี้มีอยู่

คือข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางอันประเสริฐ

อันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้นั่นเอง

ได้แก่ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ วาจาชอบ

การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ เพียรชอบ

ระลึกชอบและตั้งจิตมั่นชอบ”

เมื่อพระองค์ได้ตรัสแสดงอริยสัจทั้ง ๔ แล้ว

พระองค์ได้ทรงประกาศว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

ดวงตาเห็นธรรมได้เกิดขึ้นแล้ว

ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว

วิชชาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้ว

แก่ตถาคต ในธรรมที่ไม่เคยสดับมาก่อนว่า

อริยสัจคือทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ

ก็อริยสัจคือทุกข์นั้น

เป็นธรรมที่ควรกำหนดรู้

และเราได้กำหนดรู้อริยสัจคือทุกข์นั้นแล้ว”

จากนั้นพระองค์ได้ประกาศ

ถึงความหลุดพ้น

และไม่กลับมาเกิดอีกของพระองค์ดังนี้

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

ตราบเมื่อปัญญาเครื่องรู้เห็น

ตามความเป็นจริง

อันมี ปริวัฏฏ์ ๓ อาการ ๑๒ ในอริยสัจ

ได้หมดจดแก่ตถาคตแล้ว

เราได้ปฏิญาณว่า

ได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว

ซึ่งอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

อันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก

มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์

พร้อมทั้งสมณพราหมณ์

พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์”

ปัญญารู้เห็นได้เกิดแก่ตถาคตว่า

ความหลุดพ้นของตถาคตไม่กลับมากำเริบอีก

“#ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา

#บัดนี้ความเกิดอีกย่อมไม่มีแก่เราตถาคต”

นี่คือคำตรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า

ที่พระองค์ทรงประกาศยืนยัน

แก่ปัญจวัคคีย์ว่า พระองค์ได้ตรัสรู้แล้วจริงๆ

เพราะมีญาณหยั่งรู้เห็น

อันมีปริวัฏฏ์ ๓ อาการ ๑๒

ไม่ได้ทรงประกาศแบบเลื่อนลอย

ปริวัฏฏ์ แปลว่า หมุนรอบ

คือญาณทั้ง ๓ หมุนรอบอริยสัจทั้ง ๔ แต่ละข้อ

โดยสัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณ

จึงรวมเป็นอาการ ๑๒

ญาณ ๓ คือ ความหยั่งรู้ มี ๓ ได้แก่

๑ #สัจจญาณ คือญาณหยั่งรู้สัจจะ

คือ รู้ว่าทุกข์เป็นอย่างนี้ ๆ

เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างนี้ ๆ

ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ

ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ

๒ #กิจจญาณ คือญาณหยั่งรู้กิจหรือหน้าที่

ที่จะต้องกระทำ

-กิจที่ควรกระทำต่อทุกข์

คือ ปริญญากิจ(กำหนดรู้)

-กิจที่ควรกระทำต่อเหตุให้เกิดทุกข์(ตัณหา)

คือ ปหานกิจ(การละ)

-กิจที่ควรกระทำต่อความดับทุกข์(นิโรธ)

คือ สัจฉิกริยากิจ (การทำให้แจ้ง)

-กิจที่ควรกระทำต่อข้อปฏิบัติ

ให้ถึงความดับทุกข์ (มรรค)

คือ ภาวนากิจ (การทำให้เกิดขึ้น เจริญขึ้น)

๓ #กตญาณ คือญาณหยั่งรู้การอันทำแล้ว

คือหยั่งรู้ว่า กิจอันควรกระทำในอริยสัจ ๔

แต่ละอย่างนั้นได้ทำเสร็จแล้ว

ในข้อนี้ได้แก่ ญาณที่พระองค์ทรงรู้ว่า

พระองค์ทรงกำหนดรู้ทุกข์แล้ว

พระองค์ทรงละตัณหาได้แล้ว

พระองค์ทรงกระทำนิโรธให้แจ้งแล้ว

และมรรคนั้นพระองค์ทรงภาวนา

จนกระทั่งถึงที่สุดแล้ว

นี่คือพระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์

ทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕

ในวันอาสาฬหบูชา

ในครั้งนั้น ๑ ใน ๕ คือโกณฑัญญะ

ได้เกิดดวงตาเห็นธรรม ว่า

“#สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

#สิ่งทั้งปวงนั้นมีความดับไปเป็นธรรมดา”

เมื่อท่านโกณฑัญญะ

ได้บรรลุโสดาปัตติผล

สำเร็จเป็นอริยบุคคลชั้นที่ ๑

คือ โสดาบันแล้ว

จึงได้ขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรก

ในพระพุทธศาสนา

พระพุทธองค์ทรงประทานการบวช

ให้แก่ท่านอัญญาโกณฑัญญะ

โดยทรงเปล่งพระวาจาว่า

“ท่านจงมาเป็นภิกษุเถิด

ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว

ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์

เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด”

วิธีอุปสมบทที่พระพุทธองค์

ทรงประทานด้วยพระองค์เอง

โดยการเปล่งพระวาจาเช่นนี้

เรียกว่า “เอหิภิกขุอุปสัมปทา”

ในการแสดงปฐมเทศนาครั้งนั้น

ของพระผู้มีพระภาคเจ้า

ได้ทำให้มีผู้รู้ตามเห็นตามพระองค์

เทวดาทั้งหลายที่ทราบต่างพากัน

กล่าวแซ่ซ้องยังเสียงให้บันลือลั่นไปทั่วว่า

“พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรง

แสดงธรรมอันยอดเยี่ยม

ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี

เป็นธรรมที่สมณะพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม

หรือใครๆ ในโลกจะคัดค้านไม่ได้”

ดังนี้แล้วจึงยังให้เหล่าทวยเทพ

และพรหมทั้งหลาย

ที่ได้ทราบเปล่งเสียงให้บันลือ

แพร่สะพัดต่อ ๆ กันไปทุกชั้น

ยังให้ทั่วหมื่นโลกธาตุสั่นสะเทือนหวั่นไหว

และเกิดโอภาสคือแสงสว่าง

อันใหญ่หลวงหาประมาณมิได้

เพราะฉะนั้นวันอาสาฬหบูชา

จึงเป็นวันสำคัญยิ่ง

เป็นวันที่บังเกิดมีพระรัตนตรัย

ครบทั้ง ๓ ประการ ดังได้กล่าวแล้ว

พระรัตนตรัยเป็นสรณะที่พึ่งอันสูงสุด

ของเหล่าสัตว์ทั้งหลาย

ผู้ใดมีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ

และได้เข้าถึงอริยสัจ ๔

ผู้นั้นชื่อว่าได้ที่พึ่งอันเกษม

ได้ที่พึ่งอันประเสริฐสุด

หากใครได้อาศัยที่พึ่งนี้แล้ว

จะสามารถนำพาชีวิตจิตใจ

ให้พบกับสันติสุขอันไพบูลย์ได้

ก็ขอให้ท่านทั้งหลายมีศรัทธา

มีกำลังใจที่จะพากเพียรในการเรียนรู้

และประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรม

คำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า

เพื่อถึงซึ่งความพ้นทุกข์คือพระนิพพาน


............................

ธัมโมวาท โดย‎หลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี

เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา

*****

Cr.https://www.facebook.com/100050180992815/posts/pfbid037Za7txs1rmT5uLvm5XqLxEXK1gFdBF4BSjNunS9g3MnZ6S96aiVQz3CpTFmL9fzcl/?mibextid=Nif5oz