ธรรมะอรุณสวัสดิ์...รับวันใหม่
.............................
ตอนที่พระพุทธเจ้าบำเพ็ญทุกรกิริยา
ทรมานตนเองด้วยประการต่าง ๆ
ที่เขาดงคสิริ อุรุเวลาเสนานิคม
บำเพ็ญทุกรกิริยากลั้นลมหายใจบ้าง
การไม่นุ่งห่ม
การทรมานตัวเองด้วยการอดอาหารบ้าง
ทำสารพัดอย่างที่ในสมัยนั้นเขาทำกัน
ปัญจวัคคีย์จึงไปช่วยดูแลรับใช้อุปัฏฐาก
ก็คิดว่าพระองค์ตรัสรู้แล้ว
ก็จะได้แสดงธรรมให้กับเราได้ฟัง ได้เห็นธรรม
พระองค์บำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่ ๖ ปีด้วยวิธีการต่าง ๆ
จนกระทั่งอดอาหารจนผอมชนิดที่เรียกว่า
เอาพระหัตถ์แตะที่ท้องก็กระทบกระดูกสันหลัง
แตะกระดูกสันหลังก็กระทบหน้าท้อง
แสดงว่าผอม ท้องแฟบติดกระดูกสันหลัง
ซี่โครงขึ้นเป็นเหมือนกลอนเรือน
หนังพระเศียรเหี่ยวย่นเหมือนผลน้ำเต้าอ่อนตัดมาโดนแดดเหี่ยวย่น
สะโพกแหลมเหมือนเท้าอูฐ ความผอม
ดวงตาลึกลงไปเหมือนดวงดาวในน้ำ
พอพระหัตถ์ลูบพระวรกาย โลมาขนก็หลุดร่วง เพราะขาดอาหาร
แต่พระองค์ก็ทรงตั้งมั่นเด็ดเดี่ยวบำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่ จนกระทั่งสลบไป
พอได้ฟื้น พระองค์ก็เห็นว่า
การทรมานตนเองเป็นการนำมาซึ่งความทุกข์
ก็ไม่สามารถจะบรรลุธรรมได้ ไม่สามารถจะตรัสรู้ได้
เป็นทุกข์เปล่า ๆ
ก็นึกถึงการบำเพ็ญทางจิตใจที่จะต้องเจริญสมาธิภาวนา
ร่างกายที่อ่อนแออย่างนี้ จะเจริญภาวนาเห็นจะไปไม่ได้
ต้องทำร่างกายให้แข็งแรงขึ้นมา
พระองค์ก็เริ่มเสวยพระกระยาหารหยาบขึ้น
ให้ร่างกายฟื้นตัวกลับคืนมา
ทำให้ปัญจวัคคีย์หนีไป
เข้าใจว่าพระองค์คลายความเพียร หันมาเป็นคนมักมาก
หนีไปปฏิบัติอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี
เมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้ว
พระองค์ก็เห็นว่าปัญจวัคคีย์เป็นบุคคลที่สมควรจะโปรดก่อน
พระองค์ก็เสด็จไป
ฉะนั้นการแสดงธรรม พระองค์จึงต้องชี้ถึงทางสุดโต่ง
ทางปฏิบัติที่สุดโต่ง
ที่สุดของการปฏิบัติ ๒ อย่างที่ไม่ใช่ข้อปฏิบัติที่จะทำให้พ้นทุกข์ได้ คือ
๑. กามสุขัลลิกานุโยค
การประกอบตนพัวพันด้วยความใคร่ในกามทั้งหลาย
พระองค์ตรัสว่า
หีโน … เป็นของต่ำทราม
คัมโม … เป็นของชาวบ้าน
โปถุชชะนิโก … เป็นของคนชั้นปุถุชน
อะนะริโย … ไม่ใช่ข้อปฏิบัติของพระอริยะ
อะมัตถะสัญหิโต … ไม่ประกอบด้วยประโยชน์เลย
บรรพชิตไม่ควรเข้าไปข้องแวะ
ในการพัวพันด้วยอำนาจความใคร่ในกามทั้งหลาย
แล้วพระองค์ก็ได้ตรัสทางสุดโต่งข้อที่ ๒ คือ
๒. อัตตกิลมถานุโยค
การประกอบตนทรมานตนให้ลำบาก
ทุกโข … เป็นสิ่งนำมาซึ่งความทุกข์
อะนะริโย … ไม่ใช่ข้อปฏิบัติของพระอริยะ
อะมัตถะสัญหิโต … ไม่ประกอบด้วยประโยชน์เลย
แล้วพระองค์ก็ได้แสดงทางสายกลาง
ที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ว่า
ภิกษุทั้งหลาย
มัชฌิมาปฏิปทา หนทางสายกลางนี้
เป็นข้อปฏิบัติที่ตถาคตตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว
เป็นข้อปฏิบัติที่ทำให้เกิดจักษุ ทำให้เกิดญาณ
เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้พร้อม
เป็นไปพร้อมเพื่อพระนิพพาน
ข้อปฏิบัติอันประเสริฐประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ
๑. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ
คือเกิดความรู้เห็นในทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์
๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ
ดำริออกจากกาม ดำริออกจากการเบียดเบียน ดำริออกจากการพยาบาท
๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ
เป็นการพูดที่เว้นจากวจีทุจริตทั้ง ๔
เว้นพูดเท็จ เว้นพูดส่อเสียด เว้นพูดหยาบคาย เว้นพูดเพ้อเจ้อ
๔. สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ
คือการงานที่เว้นจากทุจริตทั้ง ๓
เว้นฆ่าสัตว์ เว้นลักทรัพย์ เว้นประพฤติผิดในกาม
๕. สัมมาอาชีวะ ประกอบอาชีพชอบ สุจริต
เป็นอาชีพที่เว้นจากกายทุจริต วจีทุจริต
๖. สัมมาวายามะ เพียรชอบ
เป็นความเพียรที่ละบาปที่เกิดขึ้น เพียรระวังไม่ให้บาปใหม่เกิด
เพียรเจริญกุศล เพียรรักษากุศลให้เจริญขึ้น
๗. สัมมาสติ ความระลึกชอบ
คือความระลึกเป็นไปในสติปัฏฐานทั้ง ๔
กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม
๘. สัมมาสมาธิ ตั้งมั่นชอบ
ซึ่งเป็นความที่จิตตั้งมั่น แน่วแน่ เป็นสมาธิ
ปราศจากนิวรณ์ ปราศจากอกุศลธรรม
นี่แหละภิกษุทั้งหลาย
มัชฌิมาปฏิปทา หนทางสายกลาง
คือมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ
ที่ตถาคตได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว
เพื่อความสงบ ทำให้เกิดจักษุ ทำให้เกิดญาณ
เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้พร้อม เป็นไปพร้อมเพื่อพระนิพพาน
มัชฌิมาปฏิปทา เจริญมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้
.............................
ธัมโมวาท โดยหลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี
เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา
*****
Cr.https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid0VYVdSHzjsFwn17m8z9xiUGP4NUeS5MQH47tC4U4zLhycYJgmMYHF8VAJ5mt2KUtUl&id=100050180992815&mibextid=Nif5oz
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น