หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2566

พิจารณาให้มาก


 เมื่อจิตหมกมุ่นกับสิ่งที่หมายปอง เรามักจะคิดปรุงแต่งเกินจริงไปสารพัด  เราฝังใจกับข้อดีต่างๆ หรือสิ่งสุดยอดที่เคยเกิดขึ้น แล้วตั้งความคาดหวังเอาไว้สูง “คราวนี้แหละ! …”  เราลืมไปเลยว่าเคยผิดหวังในเรื่องนั้นอย่างไร  ลืมคิดว่าจะรู้สึกอย่างไรเมื่อความเพลิดเพลินนั้นหมดสิ้นไป  เสียงแห่งสติปัญญาถูกกลบไปหมด เหมือนเป็นเสียงคนแก่ขี้บ่น คอยห้ามโน่นห้ามนี่ในงานปาร์ตี้  พอหลงอยู่ในความอยาก เราก็หลงลืมสิ่งที่ควรคิด ลืมคุณค่า เป้าหมายและหลักการของชีวิตที่เราควรยึดถือ


การอยู่ในโลกแห่งกามสุข เราจะขาดการตั้งจิตพิจารณาสิ่งต่างๆ ให้ถ่องแท้ไปไม่ได้  ขณะนี้ เรารู้สึกอย่างไร? ความรู้สึกจริงๆ เป็นอย่างไรบ้าง?  เวลาจิตเกิดสันโดษพอดี ไม่ขาดอะไรและไม่ต้องการอะไรอีก ความรู้สึกแบบนั้นเป็นอย่างไรบ้าง?  ความรู้สึกที่ว่านี้สำคัญกับเราอย่างไร?  เราควรแบ่งเวลาแค่ไหนในการไล่ตามความสุขทางเนื้อหนังอันเปราะบาง  และควรแบ่งเวลาแค่ไหนในการแสวงหาความสุขด้านใน โดยฝึกปล่อยวางสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อความสงบทั้งปวง?  


เมื่อเทียบกับความสุขแบบสันโดษแล้ว เวลาอยากได้อะไรสักอย่าง เรารู้สึกอย่างไรบ้าง?  มีอาการทางกายอย่างไร?  มีอาการทางจิตอย่างไร?  มีความผาสุกดีไหม?  เวลาที่ได้ตามปรารถนา เรารู้สึกอย่างไรบ้าง?  


ลองพิจารณาให้ดีว่าเป็นความสุขที่ไม่มีอะไรเจือปนจริงหรือไม่?  มีบางขณะไหมที่เรารู้สึกเฉยๆ หรือแม้กระทั่งไม่พอใจในความสุขนั้น?  ความกลัวการพลัดพรากสูญเสียทำให้รู้สึกอย่างไรบ้าง?  พอเกิดความสูญเสีย เรารู้สึกอย่างไรบ้าง?


หากจิตของเราติดกับดักความเพลิดเพลินทางเนื้อหนัง ก็ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นคนเลว  แต่หมายถึงว่าเรายังไม่ได้ฝึกสังเกตและพิจารณาให้มากพอเท่านั้นเอง


ธรรมะคำสอน โดย พระอาจารย์ชยสาโร

แปลถอดความ โดย ศิษย์ทีมสื่อดิจิทัลฯ

******

Cr.https://www.facebook.com/100064337808864/posts/pfbid0KYVZHT4vAQhx5CiS4wAxTpyqrNAGtsvorjR6uMNCSSjeG4km4tuvatij8V6fuXmhl/?mibextid=Nif5oz

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น