ครูบาอาจารย์สายวัดป่ามักจะเลี่ยงศัพท์เทคนิคและพยายามสอนธรรมะด้วยภาษาง่ายๆ ธรรมดา บางครั้งท่านก็ใช้คำหรือวลีที่ใช้กันอยู่ทุกวันเพื่อสรุปหลักคำสอนสำคัญๆ ให้ฟังดูแปลกใหม่ ท่านจะใช้คำนั้นต่อเนื่องไปสักระยะ พอเริ่มเก่าหรือล้าสมัย ท่านก็หาคำใหม่มาแทน
ในช่วงบั้นปลายที่หลวงพ่อชายังพูดสอนได้ ท่านชอบใช้คำว่า ‘ไม่แน่’ ถ้าใช้กับเรื่องอนาคต อาจสื่อความหมายได้ว่า "บางทีก็ใช่" หรือ "บางทีก็ไม่ใช่" แต่พอใช้กับเรื่องปัจจุบัน ก็จะชี้ไปยังความไม่มั่นคง ไว้ใจไม่ได้ซึ่งมีอยู่ในสิ่งทั้งหลายที่เกิดตามเหตุตามปัจจัย
การที่หลวงพ่อย้ำถึงความเป็นธรรมดาของสิ่งทั้งปวงอันคาดเดาไม่ได้ ไม่ว่าภายในหรือภายนอก เป็นการแนะให้เราพิจารณาความไม่เที่ยงในมุมมองใหม่ ซึ่งหมายรวมถึงไตรลักษณ์อีกสองข้อที่เหลือด้วย สิ่งทั้งปวงล้วนเกิดขึ้นแล้วดับไป แต่จะเกิดดับเมื่อไหร่ อย่างไรให้แน่ๆ นั้น เราไม่อาจเดาได้ นี่ก็คือความหมายของ ‘ไม่แน่’
ไม่มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ใดๆ เป็นผู้ชี้นำหรือควบคุมสิ่งต่างๆ มีเพียงเครือข่ายโยงใยของเหตุและปัจจัยอันกว้างใหญ่สลับซับซ้อนเกินจะคิด ไม่มีส่วนใดในเครือข่ายนี้จะเป็นสรณะที่พึ่งอันแน่นอนได้ คำสั้นๆ ว่า ‘ไม่แน่’ ได้รวมเอา อนิจจัง ทุกขังและอนัตตาไว้ในนั้นเพียงคำเดียว
ธรรมะคำสอน โดย พระอาจารย์ชยสาโร
แปลถอดความ โดย ศิษย์ทีมสื่อดิจิทัลฯ
Cr.https://www.facebook.com/100064337808864/posts/pfbid02XgsdyW2ZYJLwPkkiy9ooWW4PdLBV4NnjQuBE5HyCFkgzv7JfvSzc67DtL81tpQNEl/?mibextid=Nif5oz
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น