(มีเรื่องอยากเล่า) "หนึ่งในคุณสมบัติที่ดีที่สุดของสังคมไทย คือความเคารพที่พวกเขามีต่อผู้สูงอายุ"
.
เมื่อชายชาวต่างประเทศเลือก "บ้านกำลังใจ" ซึ่งเป็นศูนย์พักพิงคนชรา 24 ชั่วโมง ให้ภรรยาอยู่ในบั้นปลายชีวิต ขณะที่คนอื่นไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าเอาเธอมาทิ้งลำพัง และสำนักข่าวดังอัลจาซีร่าห์นำมาเสนอเป็นสารคดี และยังมีอีกหลายกรณีที่มีแต่เสียงชื่นชม
.
วันที่ 30 เมษายน 2020 สำนักข่าว Al-Jazeera ได้เผยแพร่รายการสารคดี Thailand's Last Resort | 101 East ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวของผู้สูงอายุชาวต่างชาติหลายคน ที่ตัดสินใจเลือกมาอยู่ที่ "บ้านกำลังใจ" ในบั้นปลายของชีวิต ซึ่งเป็นศูนย์พักพิงคนชรา 24 ชั่วโมงครบวงจร ที่กล่าวกันว่านอกจากราคาที่ถูกกว่าแล้ว ยังมีประสิทธิภาพและมีความดูแลเอาใจใส่ มากกว่าศูนย์พักพิงคนชราหลายๆแห่งในประเทศตะวันตก
.
ประเทศไทยไม่ใช่แค่ได้รับความนิยมด้านการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่สารคดีซีรีย์ 101 East ของสำนักข่าว Al-Jazeera ชี้ว่ายังมีอีกเหตุผลหนึ่งที่ดึงดูดผู้คนทั่วโลกมาสู่ประเทศไทย นั่นก็คือระบบการดูแลคนแก่คนชรา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยที่คนหนุ่มสาว และบุคลากรบ้านพักคนชรา ให้ความดูแลเอาใจใส่ และให้เกียรติผู้สูงอายุ เปรียบเสมือนกับคนในครอบครัว
...
Walter Gloor และ Maya สามีภรรยาชาวสวิตเซอร์แลนด์ เคยเป็นเจ้าของร้านอาหารมิชิลินสตาร์ แต่เมื่อปี 2011 Maya ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ (alzheimer) และในปี 2018 Walter และ Tanya ผู้เป็นลูกสาว ตัดสินใจพา Maya มาอยู่ที่ "บ้านกำลังใจ" ในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งไม่ใช่แค่บ้านพักคนชรา แต่เป็นสถานพยาบาลที่ดูแลผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านสมอง (ความจำเสื่อม) มีผู้ดูแลปรนนิบัติตลอด 24 ชั่วโมง
.
แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อนๆของ Maya ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่ Walter พาภรรยาของตนเอง มาไว้ที่ "บ้านกำลังใจ" ทั้งยังต่อว่า Walter อย่างรุนแรง คล้ายกับว่า Walter พา Maya มาทิ้งไว้ในประเทศไทย แต่ Walter ให้เหตุผลว่า เพื่อนของ Maya ไม่รู้ว่าตัวของ Maya และผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์คนอื่นๆ มีอาการรุนแรงขนาดไหน ซึ่ง Walter ยังคงยืนยันคำตอบเช่นเดิมว่า "บ้านกำลังใจ" คือสถานที่ที่ดีที่สุดในโลกสำหรับภรรยาของเขา และทุกคนในครอบครัวของ Walter Gloor ก็เห็นด้วยเช่นกัน
.
Mary Ellen หญิงชราชาวอังกฤษ เธอป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม (dementia) ครอบครัวของเธอพาเธอมาอยู่ที่ "บ้านกำลังใจ" เมื่อปี 2017 ลูกชายชื่อ Michael ลูกสะใภ้ชื่อ Emily ให้สัมภาษณ์ว่า พวกเขาเคยมองหาบ้านพักคนชราในอังกฤษ ซึ่งมีบ้านคนชราที่ดูดีมีคุณภาพมากๆ แต่เป็นบ้านคนชราที่มีลักษณะของอาคารและห้องพัก คล้ายกับโรงพยาบาลเสียมากกว่า ทำให้พวกเขากังวลว่า บรรยากาศที่มีกลิ่นน้ำยาฆ่าเชื้อและการจัดการที่คล้ายกับโรงพยาบาล อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีสำหรับมารดาที่ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม
.
แต่เมื่อพวกเขาเสนอประเทศไทย พร้อมกับโชว์รูปภาพให้แม่ของพวกเขาได้เห็น แม่ของพวกเขาก็รู้สึกชอบและอยากจะมาอยู่ที่ "บ้านกำลังใจ" ในเชียงใหม่ และเมื่อได้มาอยู่จริงๆ Michael และ Emily ก็พบว่า บุคลากรของ "บ้านกำลังใจ" ดูแลเอาใจใส่แม่ของพวกเขาเป็นอย่างดี จนมีความคุ้นเคยต่อกัน เสมือนกับว่า "ลูกสาวดูแลแม่" และแม่ของเขาก็มีความรู้สึกเป็นกันเองกับบุคลากรของ "บ้านกำลังใจ" มากเสียกว่า Michael และ Emily เพราะโรคสมองเสื่อมทำให้ Mary Ellen แทบจะไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับลูกชายและลูกสะใภ้หลงเหลืออยู่
.
Dusko Doder อดีตสื่อมวลชนของสำนักข่าว Washington Post เมื่อ 2 ปีก่อน Dusko เกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลัน และมีอาการเลือดคั่งในสมอง Louise ภรรยาของ Dusko ต้องคอยดูแลเขามาโดยตลอดในบ้านของพวกเขาที่กรุงวอชังตัน ดี.ซี. ซึ่ง Dusko ไม่อยากไปอาศัยอยู่ที่บ้านคนชรา เพราะนอกจากจะไม่มีกิจกรรมอะไรให้ทำแล้ว คุณภาพในการดูแลเอาใจใส่ผู้สูงอายุ ก็ไม่ดีเท่าที่ควรอีกด้วย จนกระทั่งต้นปี 2020 Louise ตัดสินใจพาสามีของเธอ มาอยู่ที่เชียงใหม่ และนาทีที่เธอพาสามีของเธอมาถึง "บ้านกำลังใจ" เธอก็ตกหลุมรักสถานที่แห่งนี้ทันที โดยที่เธอเห็นว่าศูนย์พักพิงคนชราแห่งนี้ สามารถดูแล Dusko ได้เป็นอย่างดี และตัวเธอเองก็ย้ายมาอยู่ที่เชียงใหม่ด้วยเช่นกัน เพราะนอกจากจะชื่นชอบบรรยากาศและวัฒนธรรมของเมืองเชียงใหม่แล้ว เธอต้องการที่จะอยู่ช่วยดูแลสามีของเธอในช่วงบั้นปลายของชีวิต
.
Peter Brown นักธุรกิจโรงแรมชาวอังกฤษ ซื้อรีสอร์ตแห่งนี้เมื่อ 11 ปีก่อน แล้วปรับปรุงให้เป็นสถานพักพิงคนชรา ที่ให้การดูแลผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านความจำเสื่อม ตลอด 24 ชั่วโมง และอยู่อาศัยกับบรรยากาศป่าไม้ธรรมชาติ ไม่อยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ ซึ่งก่อนที่เขาจะก่อตั้ง "บ้านกำลังใจ" นั้น มารดาของ Peter เป็นมะเร็งในลำคอขณะที่อาศัยอยู่ในบ้านพักคนชราในอังกฤษ โดยที่ Peter บอกอีกด้วยว่า ว่าบุคลากรบ้านพักชราในอังกฤษ ไม่มีใครสามารถดูแลมารดาของเขาได้ จนกระทั่งพบว่ามารดาของเขาเป็นมะเร็ง และการบริการดูแลผู้สูงอายุในอังกฤษนั้น ไม่ดีพอและไม่เพียงพอ เพราะหลัง 6 โมงเย็นเป็นต้นไป บุคลากรบ้านพักคนชราจะกลับบ้านกันหมด ทำให้ผู้สูงอายุชาวอังกฤษต้องดูแลตนเอง จึงเป็นเหตุให้ Peter ตัดสินใจพาแม่มาอยู่ที่เชียงใหม่ แล้วก่อตั้ง "บ้านกำลังใจ" สำหรับแม่ของเขา รวมถึงผู้สูงอายุคนอื่นๆ
.
ไม่ว่าจะมีโรคความจำเสื่อมหรือไม่ก็ตาม แต่ในบั้นปลายชีวิตของผู้สูงอายุ การใช้ชีวิตอย่างมีความสุขท่ามกลางบรรยากาศดีๆ ย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพ ทั้งกายและใจ และย่อมดีกว่าการให้ผู้สูงอายุ อยู่แต่ภายในห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ ตลอดทั้งวันทั้งคืน ซึ่ง Peter มีความพอใจที่ได้ก่อตั้ง "บ้านกำลังใจ" ซึ่งสามารถดูแลผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดีและมีคุณภาพ และจังหวัดเชียงใหม่ของประเทศไทยก็เหมาะสมที่สุด ด้วยปัจจัยค่าเงิน ค่าครองชีพ การรักษาพยาบาล สภาพแวดล้อม การดูแลปรนนิบัติ ความเอาใจใส่ และวัฒนธรรมของคนไทยที่มีความรักและความเคารพต่อผู้สูงอายุ แต่หากย้อนกลับไปที่สหราชอาณาจักร Peter จะไม่สามารถก่อตั้งศูนย์พักพิงคนชราได้เช่นนี้ เนื่องด้วยค่าเงินและค่าครองชีพที่สูงกว่าประเทศไทยมากๆ
.
Martin Woodtli ผู้ร่วมก่อตั้ง "บ้านกำลังใจ" ซึ่งมีมารดาที่ป่วยเป็นโรคความจำเสื่อมเช่นกัน เขาตัดสินใจพามารดาของเขา มาที่ศูนย์พักพิงผู้สูงอายุของเขา ซึ่งนอกจากจะสามารถดูแลมารดาของเขาได้แล้ว ศูนย์พักพิงฯที่เขาร่วมก่อตั้งนี้ ยังสามารถช่วยเหลือผู้คนได้อีกมากมาย โดย Martin ชื่นชมบุคลากรชาวไทยที่ทำงานที่ "บ้านกำลังใจ" เพราะทุกคนดูแลเอาใจผู้สูงอายุ และทำงานด้วยความรักและความเคารพต่อผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของคนไทยที่ Martin ชอบมากๆ คือการที่คนไทยมีความเป็นห่วงเป็นใยและมีความเคารพต่อกัน ในขณะที่ระบบการดูแลผู้สูงอายุในบ้านพักคนชราทั่วยุโรป ไม่มีประสิทธิภาพ และกำลังมีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ
.
Eileen Chubb ผู้ก่อตั้ง Compassion in Care องค์กรปกป้องสิทธิผู้สูงอายุในสหราชอาณาจักร และอดีตเจ้าหน้าที่ศูนย์พักพิงคนชรา ให้สัมภาษณ์กับผู้ดำเนินรายการว่า เธอเคารพการตัดสินใจของผู้สูงอายุชาวอังกฤษ ที่ย้ายไปอยู่บ้านพักคนชราในต่างประเทศ แต่มันก็เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่า ระบบการดูแลผู้สูงอายุของสหราชอาณาจักรกำลังมีปัญหา โดย Eileen ได้นำหลักฐานเป็นคลิปวีดีโอจากกล้องที่แอบถ่ายในศูนย์พักพิงคนชรา ทั้งของรัฐและของเอกชน ซึ่งภาพในคลิปวีดีโอพิสูจน์ให้เห็นว่า ศูนย์พักพิงคนชราหลายแห่งในสหราชอาณาจักร ขาดการดูแลคนชราที่ถูกสุขลักษณะอนามัย มีการด่าทอ-ดูหมิ่นผู้สูงอายุ มีการลักขโมยทรัพย์สินของผู้สูงอายุ และมีการทำร้ายร่างกายผู้สูงอายุ และเคสด้านสุขอนามัยที่น่าเศร้ามากที่สุดคือ ศูนย์พักพิงฯแห่งหนึ่งในสหราชอาณาจักร ปล่อยให้บาดแผลของหญิงชรา มีหนอนแมลงวันชอนไชอยู่ในบาดแผล
.
นอกจากนี้ Eileen Chubb ยังชี้ให้เห็นอีกด้วยว่า วัฒนธรรมการให้ความเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน คือสิ่งที่ขาดหายไปในโลกตะวัน กลายเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา ระหว่างบุคลากรศูนย์พักพิงฯและผู้สูงอายุ แล้ว Eileen Chubb ก็ยังชี้อีกว่า ปัจจัยสำคัญที่ช่วยแก้ปัญหาภายในศูนย์พักพิงฯทั่วราชอาณาจักร ก็คือวิธีการสื่อสาร โดยต้องเป็นการสื่อสารระหว่างผู้สูงอายุและบุคลากรศูนย์พักพิงฯ ที่ถูกต้องและเข้าใจตรงกันได้อย่างทั่วถึง ซึ่งคุณสมบัติของบุคลากรศูนย์พักพิงฯในส่วนนี้ Walter Gloor ให้สัมภาษณ์ว่า กลุ่มบุคลากรสาวชาวไทยที่ดูแลภรรยาของเขา มีคุณสมบัติในการสื่อสารที่ดีเยี่ยม แม้ว่าจะไม่ใช่เจ้าของภาษา แต่เธอสามารถพูดคุยและพา Maya ทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ได้อย่างเพลิดเพลินและราบรื่น ทั้งยังสามารถอธิบายให้ Walter Gloor เข้าใจได้อีกด้วยว่า ภรรยาของเขาใช้ชีวิตอย่างไรบ้าง
.
หนึ่งในบุคลากรผู้ดูแล Maya ให้สัมภาษณ์ว่า การได้มาดูแลผู้สูงอายุชาวต่างชาติอย่าง Maya ทำให้เธอมีความผูกพัน เปรียบเสมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน แต่การได้มาทำงานดูแลผู้สูงอายุ ก็ทำให้เธอคิดเหมือนกันว่า แม้ปัจจุบันบิดากับมารดาของเธอจะยังแข็งแรงดี ยังสามารถประกอบอาชีพและดูแลตัวเองได้ แต่ถ้าพ่อกับแม่แก่ชรา เธอจะดูแลพ่อกับแม่เธอเอง ซึ่งในหมู่บ้านของเธอ ไม่มีใครที่พาพ่อแม่ไปฝากไว้ที่บ้านพักคนชรา และเธอก็ไม่คิดที่จะฝากเช่นกัน แต่เมื่อถามว่า ถ้าหากเป็นตัวของเธอเอง ที่แก่ชราในอนาคต เธอก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่า ลูกๆของเธอจะเลี้ยงดูเธอเอง หรือจะพาเธอไปฝากไว้ที่บ้านพักคนชรา
...
ทั้งนี้ ในส่วนของคอมเม้นต์ มีผู้ใช้บัญชียูทูบหลายคนเข้ามาแสดงความคิดเห็น ทั้งอธิบายลักษณะของสังคมไทยและวัฒนธรรมไทย ทั้งยังชื่นชมประเทศไทยที่มีการดูแลเอาใจใส่ผู้สูงอายุ โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติหรือสีผิว อาทิเช่น
.
"One of the strongest attributes of Thai society, their respect for the elderly."
.
"หนึ่งในคุณสมบัติที่ดีที่สุดของสังคมไทย คือความเคารพที่พวกเขามีต่อผู้สูงอายุ"
.
"God bless thai people. They are oone the kindest and compationate people in the world. ❤"
"ขอพระเจ้าอวยพรให้กับคนไทย พวกเขาเป็นคนที่เมตตากรุณามากที่สุดในโลก และพวกเขาเป็นคนที่เห็นอกเห็นใจผู้อื่น ❤"
.
"Thailand retirement resorts is way better than American retirement center."
"รีสอร์ตสำหรับผู้เกษียณอายุในไทย ดีกว่าศูนย์ดูแลผู้เกษียณอายุในอเมริกามากๆ"
.
"This made me so sad but honestly I'd rather live there in Thailand instead of a hospital setting."
.
"เรื่องนี้ทำให้ฉันเศร้า แต่ขอพูดตรงๆว่า ฉันขออยู่ประเทศไทยดีกว่าไปอยู่สถานที่คล้ายโรงพยาบาล."
.
"At 63, I live in Thailand. This report has me thinking of starting a care home, and I speak Japanese, French , and English. Th future is going to be loving care, not old world institutions."
.
"ผมอายุ 63 ปี ผมอาศัยอยู่ในประเทศไทย รายงานชิ้นนี้ทำให้ผมอยากลองสร้างบ้านพักคนชราดูบ้าง และผมพูดภาษาญี่ปุ่น ภาษาฝรั่งเศส และภาษาอังกฤษ อนาคตของประเทศไทยจะไม่ได้เป็นแค่สถาบันเก่าแก่ของโลก แต่จะเป็นบ้านพักที่ให้ความรัก"
.
"He did the right thing. I love Thailand for the gentleness of it's people."
.
"เขาทำในสิ่งที่ถูกต้อง ฉันรักประเทศไทย เพราะผู้คนมีความสุภาพอ่อนโยน"
-------------------------------
แหล่งข่าว
https://youtu.be/i7yeiO-UZoM
-------------------------------
(เครดิต ... Thailand Vision)
วันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2563
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น