วันเสาร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2566

ส่งท้ายปีเก่า


 "บทความที่ทรงคุณค่า"​


อาตมาวิเคราะห์ปัญหาการศึกษาในเมืองไทยว่า


คนที่มีฐานะดีมาก จะส่งลูกไปเรียนเมืองนอก ถ้าฐานะปานกลางก็ส่งลูกไปโรงเรียนคริสต์ จบแล้วก็ไปเรียนมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ


ก็แปลว่า ชนชั้นนำของเมืองไทย ปัญญาชนเติบโตโดยเข้าใจหลักพุทธศาสนาน้อยมาก คำสั่งสอนเพื่อพัฒนาตนหรือสังคมแทบจะไม่รู้จักเลย​ อาตมาว่า เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย และไม่น่าเป็นไปได้


ปัจจุบัน ในอังกฤษ ได้เพิ่มหลักสูตรการเรียนรู้เรื่องความฉลาดในเรื่องพฤติกรรม ความสามารถในการปรับตัวอยู่กับชุมชน การควบคุมบริหารอารมณ์ตัวเอง


ในเมืองนอกตอบรับเรื่องพวกนี้ หลายโรงเรียนมีคอร์สสอนเรื่องสติ การรู้จักตัวเอง เพื่อให้อยู่ในปัจจุบันขณะ เราอยู่ในยุคที่ทางตะวันตกกำลังสำนึกถึงความบกพร่องในระบบการศึกษา ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาชีวิตมีอยู่ในพุทธศาสนา


ถ้าหากมีการพัฒนาการศึกษาตามแนวพุทธิปัญญา​ เมืองไทยก็เป็นผู้นำเรื่องนี้ แต่คนยังขาดความรู้และความศรัทธาในภูมิปัญญาตัวเอง กลับไปยกย่องตะวันตก แทนที่จะเป็นผู้นำก็เป็นผู้ตามตลอด


ถ้าเข้าใจการพัฒนาจิตใจ พฤติกรรม และการอยู่ในสังคม ต้องทำแบบองค์รวม ไม่ใช่การศึกษาแยกส่วน

มีเด็กฉลาด ๆ ติดยา ติดเกม เยอะมาก ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ขึ้นกับความฉลาด


เราอยู่ในยุคที่หวังว่า ถ้าคนมีการศึกษาที่ดี ประเทศชาติก็เจริญ มันเป็นความเชื่องมงาย โดยถือว่า การศึกษาวัดด้วยปริญญาบัตร


ถ้าจะแก้ปัญหาคอรัปชั่น ก็บังคับกันว่า คนต้องมีการศึกษาจบปริญญาตรี ปริญญาโท แล้วมันจะมีผลอะไร


คนส่วนใหญ่เข้าใจเปลือกพุทธศาสนามากกว่าหัวใจพุทธศาสนา


คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นระบบการศึกษาที่สมบูรณ์บริบูรณ์ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์

แล้วความฉลาด คืออะไร


เครื่องวัดความฉลาดที่แน่นอนที่สุด ก็คือ ศีล 5

เพราะคนเราต้องการสุข ไม่ต้องการทุกข์


กฎแห่งกรรมมีจริง


การผิดศีล คือ การสร้างความทุกข์ ความเดือดร้อนให้ชีวิตเราในระยะยาว​ เพราะฉะนั้นคนฉลาดจริงๆ ไม่มีทางผิดศีล 5 นี่คือ แง่มุมหนึ่งที่ว่า ความฉลาดอยู่ตรงไหน


ทุกวันนี้เรารู้ว่า คนฉลาด ไอคิวสูง แล้วมีผลดีต่อสังคมตรงไหน


แต่ถ้าทำให้สังคมเสียหาย ฉลาดในการเอารัดเอาเปรียบ แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว​ เราไม่อยากให้เกียรติว่า คนที่ทำแบบนี้เป็นปัญญาชน


ถ้าใช้ไอคิวเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ตนและครอบครัว และสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น อาตมาไม่ยอมรับว่า เป็นพฤติกรรมของปัญญาชน


เพราะฉะนั้นเราใช้คำว่า ปัญญาชนง่ายเกินไป


คนที่ไม่ศึกษาศีล สมาธิ ปัญญา ก็จะบอกว่า แล้วเกี่ยวอะไรกับการศึกษา ฟังๆ แล้วมันเกี่ยวกับพระมากเกินไป


ที่อาตมานำไปใช้ในโรงเรียนมีการภาวนา​  4 ข้อ เนื้อหาเหมือนไตรสิกขา เพราะการภาวนา ไม่ได้หมายความว่านั่งหลับตา ความหมายเดิมแปลว่าพัฒนา ดังนั้น


1. เน้นการพัฒนาความสัมพันธ์ ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ

2. พัฒนาความสัมพันธ์ ระหว่างมนุษย์กับสังคม

3. พัฒนาทางจิตใจ

4. พัฒนาทางปัญญา


ถ้าระบบการศึกษาไปตามแนวนี้จะครบทุกด้าน​ อย่างเช่น การพัฒนาความสัมพันธ์ ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ


ก็เริ่มจากธรรมชาติใกล้สุดคือ ร่างกายของเรา ต้องเรียนรู้ความฉลาดในร่างกาย ต้องกินให้พอดี ใช้ตา หู ลิ้น กาย ใจในทางที่เหมาะสม ซึ่งจะนำไปสู่ความสัมพันธ์ของเทคโนโลยีการใช้อินเตอร์เน็ต


เรื่องเงินทอง เสื้อผ้า แฟชั่น ก็ขยับไปสู่ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม


การภาวนาคือ การพัฒนาจิตใจ ซึ่งสอนให้เด็กสามารถแก้ปัญหาตัวเอง เวลาน้อยใจ วิตกกังวล กลัว ซึมเศร้า จะทำอย่างไร


คนเรามีเรื่องชวนให้เครียด ชวนให้โกรธ ชวนให้มีปัญหาตลอดชีวิต


สิ่งที่จำเป็นในชีวิตอย่างการเลือกคู่ ผู้ชายจะเป็นพ่อที่ดี สามีที่ดีอย่างไร เวลาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เราเดือดร้อน จะรักษาจิตใจของตนให้ปกติได้อย่างไร​ สิ่งเหล่านี้สำคัญมาก


ทำไมสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต ระบบการศึกษาไม่สอนเลย อันนี้เป็นจุดบอดใหญ่ ทั้งๆ ที่แนวทางพุทธมีวัตรปฎิบัติที่ชัดเจน​ มีคำสอนที่จะช่วยเรื่องนี้ ถือว่าเรามีบุญมากที่ได้เปรียบตะวันตก ซึ่งไม่มีหลักแบบนี้


Credit : พระอาจารย์ชยสาโร

(นามเดิม ฌอน ชิเวอร์ตัน ชาวอังกฤษ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น