วันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2564

มหาปุริสวิตก ๘



 #ความเป็นผู้มักน้อย 

#ความเป็นผู้สันโดษ

ก็คือ สันโดษในปัจจัยทั้ง 4

อาหารบิณฑบาต

จีวร เครื่องนุ่งห่ม

เสนาสนะ ที่อยู่อาศัย

เภสัช ยารักษาโรค


ก็ตามมีตามได้ ใช้แต่น้อย

ใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้นเอง

ใช้เพียงเพื่อยังอัตภาพให้เป็นไป


ถ้าเราสะสมมาก ก็กลายเป็น

พอกกิเลสในใจของเรา

แล้วห้วงน้ำแห่งตัณหาเนี่ย

มันไม่เต็ม แต่จะมากขึ้นเรื่อย ๆ


เราก็ต้องพิจารณาตนเอง

เตือนตนเองอยู่เสมอ

เราเข้ามาบวชเพื่ออะไร ?


เป็นวิถีของการขัดเกลา

เพื่อละออก เพื่อสละออก

ไม่ใช่สะสมเข้า


ถ้ามีความจำเป็นต้องพูดคุย

ก็พูดเท่าที่จำเป็น

ที่เรียกว่า กถาวัตถุ 10


ก็คือ พูดเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับ..

ความมักน้อย ความสันโดษ ความสงบสงัด

ความไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ

การปรารภความเพียร ความมีสติ มีสมาธิ

มีปัญญา มีวิชชา มีวิมุตติ

คือ พูดในเรื่องที่น้อมไป

พื่ออรรถเพื่อธรรมเท่านั้นเอง

ก็ละเรื่องทางโลกเสีย


#ความเป็นผู้ปรารภความเพียร

ก็เพียรละอกุศลธรรมต่าง ๆ

เพียรยังกุศลธรรม ให้ถึงพร้อม


#ความเป็นผู้มีสติตั้งมั่น

ก็เป็นผู้มีการระลึกในกายตนเองอย่างมั่นคง

เป็นผู้มีความรู้ได้อย่างมั่นคง

แม้กิจ หรือคำพูดที่เราทำไปแล้ว

แม้นาน ก็ยังสามารถระลึกได้


ระลึกได้ไหมว่า ในแต่ละวันเราทำกิจอะไรไป

เราพูดอะไรไป เรามีสติในทุกการกระทำ

ในทุกคำพูดหรือเปล่า ?


ผู้ที่มีสติตั้งมั่น พระองค์ตรัสว่า...

" ย่อมระลึกถึงกิจ และคำที่เราพูดไป

แม้นานแล้วได้ "


ไม่ใช่หลง ๆ ลืม ๆ ไม่ใช่เป็นผู้หลงลืมสติ

รู้ตัวอยู่ตลอดเวลา รู้ว่ากำลังทำอะไร

กำลังคิดอะไร กำลังพูดอะไร


แม้ย้อนกลับก็สามารถระลึกได้

ไม่ใช่เป็นผู้มีสติหลงลืม

อันนี้คือความหมาย ของผู้ที่มีสติตั้งมั่น


#ความเป็นผู้มีจิตมั่นคง

ก็คือ บำเพ็ญสมณธรรม

จนสงัดจากกาม และอกุศลธรรม

ก็เข้าถึงปฐมฌาน ทุติยฌาน

ตติยฌาน จตุตถฌาน


เป็นผู้ที่มีสติมั่นคง มีจิตตั้งมั่น

เข้าถึงสัมมาสมาธิ มีความสงบระงับ

อันเกิดจากความวิเวกนั่นเอง


#ความเป็นผู้มีปัญญา

ก็เป็นผู้รู้ความเป็นไปของสังขาร

การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

มีปัญญา น้อมไปเพื่อการปล่อยวาง

เพื่อการหลุดพ้น


#ความเป็นผู้ที่ชอบใจในธรรมที่ไม่เนิ่นช้า

ก็คือ ถ้าเราบำเพ็ญอย่างนี้

ก็สามารถหลุดพ้นได้ไว

เข้าถึงธรรมที่หลุดพ้นจากธรรม

เครื่องเนิ่นช้าทั้งหลายทั้งปวง

ก็คือ พวกกิเลส ตัณหา อุปาทาน


เพราะฉะนั้น วิถีของสมณะ

ก็จะเป็นเรื่องของการฝึกฝน

ขัดเกลาตนเองอยู่เนือง ๆ


มหาปุริสวิตก เอาไปตรึกนึกอยู่เป็นประจำได้

คุณสมบัติที่จะทำให้เข้าถึงความเป็นมหาบุรุษ

ก็คือ ผู้แกล้วกล้าในธรรม


ผู้ที่สามารถชนะข้าศึกที่ชนะได้ยากยิ่ง

ก็คือ ข้าศึกภายในใจของเรา

กิเลสตัณหา ภายในใจเรานั่นเอง


ท่านผู้รู้ท่านกล่าวไว้ว่า…

ท่านมองไปทั่วจักรวาล ทั้งมหาจักรวาล

ก็ไม่เห็นข้าศึกอะไรที่ร้ายกาจ

เท่าข้าศึกภายในใจของเรานี่แหละ 


กิเลส ตัณหา อุปาทาน

ชนะกิเลสในใจตัวเอง ชนะตนเองได้

จึงจะได้ชื่อว่า เป็นมหาบุรุษนั่นเอง


เพราะฉะนั้น มหาปุริสวิตก

เอาไปตรึกนึกอยู่เป็นประจำ

ท่านพระอนุรุทธะ นำพระพุทธดำรัสนี้

ไปตรึกนึก จนบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์


มหาปุริสวิตก 8 ประการ จำกันได้ไหม ?

• ความเป็นผู้มักน้อย

• ความสันโดษ

• ความสงบสงัด

• ความปรารภความเพียร

• ความเป็นผู้มีสติตั้งมั่น

• มีจิตมั่นคง

• มีปัญญา

• เป็นผู้ชอบใจในธรรมที่ไม่เนิ่นช้า

ยินดีในธรรมที่ไม่เนิ่นช้า

ธรรมบรรยาย โดย พระมหาวรพรต กิตฺติวโร

2 กันยายน 2564

*****

Cr. https://www.facebook.com/707600716067818/posts/2012855018875708/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น