วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2561

ปฏิบัติแล้วได้อะไร


ปฏิบัติธรรมแล้ว สุดท้ายเราจะได้แต่ความหลุดพ้นจากสิ่งทั้งหลาย
.....ผู้คนส่วนมากปฏิบัติธรรมด้วยความอยาก ความหวัง อยากให้จิตสงบ อยากได้บุญ อยากเห็นโน้นเห็นนี่เห็นสวรรค์ เห็นนรก อยากบรรลุ อยากไปนิพพาน ในความเป็นจริงหากเรายังปฏิบัติธรรมด้วยความอยาก เหมือนกับเรากำลังเติมเชื้อเพลิงแห่งกิเลสลงไปในจิตใจของเรา ยิ่งภาวนาแล้วเกิดความอยากขึ้นมา จิตใจของเรายิ่งวุ่นวาย ไม่มีวันที่จะพบความสงบที่แท้จริง หากเราลองปล่อยวางทุกอย่างในชีวิตลง แล้วมีสติดูกาย ดูใจของตนเองตามสภาพที่มันเป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ต้องหวังว่าจะเกิดความสงบ เกิดสมาธิขั้นโน้นขั้นนี้ จิตใจของเราจะเริ่มปล่อยวาง และกลับมารู้กาย ใจตามความเป็นจริงของมัน
.....มีคนถามพระพุทธองค์ว่า ปฏิบัติธรรมแล้ว สุดท้ายเราจะได้อะไร?...พระพุทธองค์ตอบว่าไม่ได้อะไรเลย...จึงถามต่อไปว่า...ถ้าเช่นนั้นท่านจะปฏิบัติไปเพื่ออะไร? พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า...ตถาคตสามารถบอกเธอถึงสิ่งที่หายไปจากชีวิตหรือกายกับใจก็ คือ ความโกรธได้หายไป ความหม่นหมองวิตกกังวลก็หายไป  ความเศร้าโศกท้อแท้ก็หายไป ความกังวลไม่สบายใจได้หายไป  ความเห็นแก่ตัว ความโลภ ความหลงได้หายไป ความไม่รู้(อวิชชา)ได้หายไป คงเหลือแต่ความว่างเปล่า(สุญตา) จิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลาย มีแต่ความหลุดพ้น(วิมุตติ) เท่านั้นที่เราได้ ปฏิบัติธรรมแล้ว สุดท้ายเราจะได้แต่ความหลุดพ้นจากสิ่งทั้งหลาย
.....สร้างเหตุ  แต่อย่าหวังผล  มีสิ่งหนึ่งที่นักปฏิบัติธรรมต้องจำให้ขึ้นใจก็คือ  เวลาปฏิบัติธรรมได้ผลดีก็อย่าดีใจ  เวลาปฏิบัติธรรมได้ผลไม่ดีก็อย่าเสียใจ  เพราะถ้าทำได้ผลดีแล้วเราดีใจก็จะทำให้เราติดในผลของการปฏิบัติ  พอตอนหลังปฏิบัติได้ผลไม่ดีเท่าเดิมก็จะเกิดความไม่พอใจ  เกิดความลังเลสงสัยว่าแต่ก่อนเคยทำได้ดี  มาตอนนี้ทำไมจึงทำไม่ได้อีก  เราต้องรู้ในเหตุในผลว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอนบางครั้งสติมีกำลังสมาธิดี เราก็สามารถทำสติสัมปชัญญะให้เกิดขึ้นได้ง่าย  บางครั้งมีความฟุ้งซ่านมาก  กังวลมาก  เราก็ไม่สามารถทำสติสัมปชัญญะให้เกิดขึ้นได้  แม้ตั้งใจทำเท่าไรสติสัมปชัญญะก็ไม่เกิด  บางครั้งเราอาจจะมีความรู้สึกว่าสภาพจิตของเราตกต่ำมาก  เหมือนกับไม่เคยปฏิบัติธรรมมาก่อนเลย  มีแต่ความหงุดหงิด  ฟุ้งซ่านรำคาญใจอยู่ตลอดเวลา  ถ้าเราไม่เข้าใจก็อาจจะเกิดความท้อแท้  น้อยใจ  ทำให้การปฏิบัติธรรมเสื่อมถอยลง  หรืออาจจะถึงกับเลิกราไปเลยก็ได้  ก็ขอให้เราเข้าใจในเหตุในผลว่าเป็นธรรมดาของการปฏิบัติธรรม  ที่ย่อมมีแพ้มีชนะ  ผู้ที่ชนะตลอดก็มีแต่อรหันต์เท่านั้น  แม้แต่โสดาบันก็ยังมีแพ้มีชนะ  หน้าที่ของเราไม่ใช่การคิดมาก  กังวล  ท้อแท้  น้อยใจ  แต่หน้าที่ของเราก็คือการฝึกหัดละอุปาทาน  โดยการทำสติสัมปชัญญะให้เกิดขึ้นเสมอ ๆ  ทำบ่อย ๆ   ทำให้มาก ๆ  เมื่อปฏิบัติได้ผลดีก็อย่าดีใจ  เมื่อปฏิบัติได้ผลไม่ดีก็อย่าเสียใจ  พยายามหาทางแก้ไขด้วยเหตุ  ด้วยผล  เพื่อให้การปฏิบัติธรรมก้าวหน้าต่อไป  ให้เราพยายามสร้างเหตุให้ดีที่สุดแต่ผลลัพธ์ที่ได้จะดีหรือไม่ดีก็ช่างมัน เรียกว่า สร้างเหตุให้มากแต่อย่าหวังผล  ถ้าเราทำได้อย่างนี้ก็เป็นการละความยินดียินร้ายในผลของการปฏิบัติ  ตลอดทางของการปฏิบัติธรรม  เราจะพบความจริงว่า  ตราบใดที่เรามีความยินดียินร้ายในผลของการปฏิบัติ  การปฏิบัติก็จะไม่ก้าวหน้า  ต่อเมื่อเราละความยินดียินร้ายเสียได้  การปฏิบัติธรรมจึงจะก้าวหน้าต่อไป

ธรรมะห่มดอย
ขอบคุณข้อมูลจาก  Fwd.Line

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น