หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2558

พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนอะไร


....ฯลฯ....

           ได้มีบางคนเข้าใจว่าพระพุทธศาสนามองในแง่ร้าย เพราะแสดงให้เห็นแต่ทุกข์ และสอนสูงเกินกว่าคนทั่วไปจะรับได้ เพราะสอนให้ดับความดิ้นรนทะยานอยากเสียหมด  ซึ่งจะเป็นไปยาก เห็นว่าจะต้องมีผู้เข้าใจดังนี้  ถึงต้องซ้อมความเข้าใจไว้ก่อนที่จะแจกอริยสัจออกไป  พระพุทธศาสนามิได้มองในแง่ร้ายหรือแง่ดีทั้งสองแต่อย่างเดียว แต่มองในแง่ของสัจจะ คือความจริงซึ่งต้องใช้ปัญญาและจิตใจที่บริสุทธิ์ ประกอบกันพิจารณา
            ตามประวัติพุทธศาสนา พระพุทธเจ้ามิได้ทรงแสดงอริยสัจแก่ใครง่าย ๆ แต่ได้ทรงอบรมด้วยธรรมข้ออื่น จนผู้นั้นมีจิตใจบริสุทธิ์พอที่จะรับเข้าใจได้แล้ว.... จึงทรงแสดง  อริยสัจธรรม  ......ข้ออื่นที่่ทรงอบรมอยู่เสมอ สำหรับคฤหัสถ์นั้น คือ ทรงพรรณนาทาน พรรณนาศีล พรรณนาผลของทาน ศีล ที่เรียกว่า สวรรค์( หมายถึงความสุขสมบูรณ์ต่าง ๆ ที่เกิดจากทาน ศีล แม้ในชีวิตนี้ ) พรรณนาโทษของกาม (สิ่งที่ผูกใจให้รักใคร่ปรารถนา) และ อานิสงส์ คือผลดีของการที่พรากใจออกจากกาม
              เทียบด้วยระดับการศึกษาปัจจุบัน ก็เหมือนอย่างทรงแสดงอริยสัจแก่นักศึกษาชั้นมหาวิทยาลัย  ส่วนนักเรียนที่ต่ำลงมาก็แสดงธรรมข้ออื่นตามสมควรแก่ระดับ  พระพุทธเจ้าจะไม่ทรงแสดงธรรมที่สูงกว่าระดับของผู้ฟัง ซึ่งจะไม่เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย แต่ผู้ที่มุ่งศึกษาแสวงหาความรู้ แม้จะยังปฏิบัติไม่ได้ ก็ยังเป็นทางเจริญความรู้ในสัจจะที่ตอบได้ตามเหตุผล และอาจพิจารณาผ่อนลงมาปฏิบัติทั้งที่ยังมีตัณหา  คือความอยากดังกล่าวอยู่นั่นแหละ ทางพิจารณานั้นพึงมีได้ เช่น ที่จะกล่าวเป็นแนวคิดดังนี้...
             ๑. ทุก ๆ คนปรารถนาสุข ไม่ต้องการทุกข์ แต่ทำไมคนเราจึงยังต้องเป็นทุกข์ และไม่สามารถจะแก้ทุกข์ของตนเองได้  บางทียิ่งแก้ก็ยิ่งเป็นทุกข์มาก ทั้งนี้ก็เพราะไม่รู้เหตุผลตามเป็นจริงว่า อะไรเป็นเหตุของทุกข์ อะไรเป็นเหตุของสุข
            ถ้าได้รู้แล้วก็จะแก้ได้ คือละเหตุที่ให้เกิดทุกข์ ทำเหตุที่ให้เกิดสุข อุปสรรคที่สำคัญอันหนึ่งก็คือใจของตนเอง เพราะคนเราตามใจตนเองมากไป จึงต้องเกิดเดือดร้อน
              ๒. ที่พูดกันว่าตามใจตนเองนั้น โดยที่แท้ก็คือ ตามใจตัณหา คือความอยากของใจ ในขั้้นโลก ๆ นี้ยังไม่ต้องดับความอยากให้หมด เพราะยังต้องอาศัยความอยากเพื่อสร้างโลกหรือสร้างตนเองให้เจริญต่อไป แต่ก็ต้องมีการควบคุมความอยากให้อยู่ในขอบเขตที่สมควร และจะต้องรู้จักอิ่ม รู้จักพอในสิ่งที่ควรอิ่มควรพอ ดับตัณหาได้เพียงเท่านี้ ก็พอครองชีวิตอยู่เป็นสุขในโลก
             ผู้ก่อไฟเผาตนเองและเผาโลกอยู่ทุกกาลสมัยก็คือ ผู้ที่ไม่ควบคุมตัณหาของใจให้อยู่ในขอบเขต ถ้าคนเรามีความอยากจะได้วิชา ก็ตั้งใจพากเพียรเรียน มีความอยากจะได้ทรัพย์  ยศ ก็ตั้งใจเพียรทำงานให้ดี ตามกำลังตามทางที่สมควร ดังนี้แล้วก็ใช้ได้ แปลว่า ปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ในทางโลก และก็อยู่ในทางธรรมด้วย
             ๓. แต่คนเราต้องการมีการพักผ่อน ร่างกายก็ต้องมีการพัก ต้องให้หลับ ซึ่งเป็นการพักทางร่างกาย จิตใจก็ต้องมีเวลาที่ปล่อยให้ว่าง ถ้าจิตใจยังมุ่งคิดอะไรอยู่ ไม่ปล่อยความคิดนั้นแล้วก็หลับไม่ลง
             ผู้ที่ต้องการมีความสุขสนุกสนาน จากรูป เสียงทั้งหลาย เช่น ชอบฟังดนตรีที่ไพเราะ หากจะถูกเกณฑ์ให้ต้องฟังอยู่นานเกินไป เสียงดนตรีที่ไพเราะที่ดังจ่อหูอยู่นานเกินไปนั้น จะก่อให้เกิดความทุกข์อย่างยิ่ง จะต้องการหนีไปให้พ้น ต้องการกลับไปอยู่กับสภาวะที่ปราศจากเสียง คือความสงบ จิตใจของคนเรา ต้องการความสงบดังนี้อยู่ทุกวัน วันหนึ่งเป็นเวลาไม่น้อย นี้คือความสงบใจ กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความสงบความดิ้นรนทะยานอยากของใจ  เป็นความดับทุกข์นั่นเอง
             ๔. ควรคิดต่อไปว่า ใจที่ไม่สงบนั้น ก็เพราะเกิดความดิ้นรนขึ้น และก็บัญชาให้ทำ พูด คิด ไปตามใจที่ดิ้นรนนั้น เมื่อปฏิบัติตามใจไปแล้วก็อาจสงบลงได้ แต่การปฏิบัติไปแล้วนั้น บางทีชั่วเวลาประเดี๋ยวเดียวก็ให้เกิดทุกข์โทษอย่างมหันต์ บางทีเป็นมลทินโทษทำให้เสียใจไปช้านาน คนเช่นนี้ควรทราบว่า  ท่านเรียกว่า " ทาสของตัณหา "
            ฉะนั้น จะมีวิธีทำอย่างไรที่จะไม่แพ้ตัณหา หรือจะเป็นนายของตัณหาในใจของตนเองได้ วิธีดังกล่าวนี้คือ มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
....ฯลฯ.....
(จากหนังสือ พระพุทธเจ้า ทรงสั่งสอนอะไร พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวรท สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
*******
*******

*******
            



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น