หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558

ศีล ๕ ทางมาของบุญ


ทาน...ศีล...ภาวนา ธรรมทั้ง ๓ นี้
เป็นรากแก้วของความเป็นมนุษย์
และเป็นรากเหง้าของพระศาสนา
ผู้เกิดมาเป็นมนุษย์
ต้องเป็นผู้สั่งสมธรรมเหล่านี้มาอยู่ในนิสัย
ของผู้จะมาสวมร่างเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์
ด้วยมนุษย์อย่าแท้จริง

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
ฯลฯ
                  การให้ทาน การรักษาศีล และการเจริญภาวนา  ถือเป็นวิธีการทำบุญที่เป็นหลักใหญ่ที่สุด ๓ วิธี นิยมเรียกกันว่า " ทาน ศีล ภาวนา "
           การให้ทาน เป็นการทำบุญเบื้องต้นทำได้โดยการสละทรัพย์สิ่งของของตนที่มีอยู่ให้แก่ผู้อื่น ซึ่งจะช่วยขัดเกลาความเห็นแก่ตัว ความคับแคบ ความตระหนี่ถี่เหนียว
            การรักษาศีล เป็นการทำบุญที่เหนือกว่าการให้ทาน เพราะเป็นการฝึกฝนที่จะลด ละ เลิก ความชั่วและการเบียดเบียนกัน ซึ่งจะต้องมีความเพียรพยายามที่จะรักษาทั้งกายและวาจาให้สงบเพื่อที่จะได้ไม่ก่อให้เกิดทุกข์เกิดโทษทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น
            การเจริญภาวนา เป็นการทำบุญที่สูงที่สุด เพราะมุ่งไปที่การรักษาใจ รักษาจิต และซักฟอกจิตให้เบาบางจนหมดกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ และความหลง อันเป็นเครื่องร้อยรัดให้บรรดาสรรพสัตว์ต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ
            เพราะฉะนั้น นอกจากการทำบุญโดยวิธีการให้ทานที่ชาวพุทธคุ้นเคย และปฏิบัติกันเป็นประจำอยู่แล้ว ก็สมควรที่จะต้องทำบุญด้วยวิธีการรักษาศีล  และการเจริญภาวนาด้วย  ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สุขแก่ตนเองและผู้อื่น และจนถึงการสามารถนำพาตนเองไปสู่ความพ้นทุกข์ได้ในที่สุด
                ฯลฯ
        (จากหนังสือ ศีล ๕ ทางมาของบุญ พิมพ์แจกเป็นธรรมมาทาน โดยคุณบุศรินทร์ มธุรภัทร์และคณะ)
******

******



2 ความคิดเห็น:

  1. พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์และประมวลธรรมของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต ) ให้ความหมายของศีลไว้ดังนี้
    ศีล:เป็นความประพฤติดีทางกายและวาจา , การรักษากายและวาจาให้เรียบร้อย, ข้อปฏิบัติ สำหรับควบคุมกายและวาจาให้ตั้งอยู่ในความดีงาม , การรักษาปกติตามระเบียบวินัย , ปกติมารยาทที่ปราศจากโทษ , ข้อปฏิบัติในการฝึกกาย วาจา ให้ดียิ่งขึ้น , ความสุจริตทางกายวาจาและอาชีพ , ข้อปฏิบัติในการเว้นจากความชั่ว , การควบคุมให้ตั้งอยู่ในความไม่เบียดเบียน

    ตอบลบ
  2. พระพุทธเจ้าตรัสว่า ศีลนั้นมีความสำคัญเหมือนกับเป้นแผ่นดิน พื้นนั้นมีความสำคัญอย่างไร ท่านบอกว่า คนเรานั้นจะทำงานทำการอะไรก็ตาม จะต้องมีพื้นที่เหยียบยันเสียก่อน ถ้าไม่มีพื้นเหยียบยันแล้ว เราก็ไม่สามารถทำงานนั้นได้เลย
    ทีนี้ ถึงแม้มีพื้นที่เหยียบแล้ว บางคราวพื้นนั้นก็ไม่มั่นคง ถ้าพื้นที่คลอนแคลนก็ทำงานไม่สะดวก ทำงานไม่ถนัด งานก็อาจจะสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง
    เช่น ในการตัดต้นไม้ ถ้าพื้นตรงนั้นไม่มั่นคง เหยียบอยู่บนพื้นกระดานที่ปูไว้ไม่ดีคลอนแคลนโยกไปโยกมา เราอาจจะตัดไม่สำเร็จ หรือถ้ากำลังของเราดีและมีดคมมากก็อาจตัดได้ แต่ถ้ามีดเกิดไม่คมกำลังของเราก็ไม่ดี ก็ไม่มีทางตัดได้สำเร็จ ทั้งหมดนี้ก็สัมพันธ์กัน
    ถ้าเปรียบให้ชัด พื้นดินนั้นก็เหมือนศีล กำลังที่ดัดเหมือนสมาธิ ส่วนมีดที่คมเหมือนกับปัญญา ถ้าศีลมั่นคงแล้วก็จะเป็นเหตุช่วยให้สมาธิที่เป็นกำลังของเราดีขี้น แม้เราจะกำลังไม่แข็งแรงเท่าไร แต่พื้นที่มั่นคงนั้นแหละช่วยเราได้ และมีดคือปัญญานั้นถึงแม้จะไม่คมนักก็ยังใช้งานได้สำเร็จ แต่ถ้าศีลของเราไม่มั่นคงคลอนแคลน เราก็ต้องอาศัยปัญญามีดอันคมกริบ และกำลังคือสมาธิที่เข้มแข็งอย่างมาก
    ...ฯลฯ...
    เพราะฉะนั้น จึงต้องสร้างศีลไว้เป็นพื้นฐานอันมันคงในจิตใจ และในสังคมแล้ว ก็จะทำให้เกิดความพร้อม ที่จะดำเนินก้าวหน้าไปในกิจการงานทั้งที่เรียกว่าทางโลกและทางธรรม ทั้งในทางสังคมและในจิตใจของแต่ละคน ศีลจึงมีความสำคัญและอานิสงส์ ดังกล่าวมานี้(พระธรรมเทศนา เรื่อง เล่าเรื่องให้โยมฟัง โดยพระพรหมคุณาภรณฺ (ป.อ.ปยุตโต)

    ตอบลบ