หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2557

สิริมงคลของชีวิต


       ชีวิตของทุก ๆ คนที่ผ่านพ้นไปในรอบปีหนึ่ง ๆ นับว่าเป็นลาภอย่างยิ่ง เมื่อถึงวันเกิด บรรดาผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาจึงถือเป็นปรารภเหตุทำบุญน้อยหรือมาก เพื่อฉลองอายุที่ผ่านมาและเพื่อความเจริญอายุ พร้อมทั้งวรรณะ สุขะ พละ ยิ่งขึ้น
       ความเจริญอายุ วรรณะ สุขะ พละ เป็นพรที่ทุก ๆ คนปรารถนา แต่พรเหล่านี้หาได้เกิดขึ้นด้วยลำพังความปรารถนาเท่านั้นไม่ ย่อมเกิดจากการทำบุญ ฉะนั้น คนไทยเราส่วนมากจึงยินดีในการทำบุญ และยินดีได้รับพรอนุโมทนาจากพระสงฆ์หรือผู้ใหญ่ ยินดีประพรมน้ำพระพุทธมนต์ในที่สุดแห่งการทำบุญ ถือว่าเป็นสิริมงคล
       พิจารณาดูพฤติกรรมในเรื่องนี้โดยตลอดแล้ว จะเห็นว่าพึงเป็นสิริมงคลจริง เพราะสาระสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่ว่าได้ทำบุญแล้ว คำอวยพรต่าง ๆ จึงตามมาทีหลัง สนับสนุนกันให้จิตใจมีความสุขขึ้นในปัจจุบันทันที ความสุขอันบริสุทธิ์นี้แหละคือบุญดังมีพุทธภาษิตตรัสไว้แปลความว่า " ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย คำว่าบุญนี้เป็นชื่อแห่งความสุข " หมายถึงความสุขที่บริสุทธิ์ คือความสุขอันเกิดจากกรรมที่บริสุทธิ์ ซึ่งก็เรียกว่าบุญเช่นเดียวกัน พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้แปลความว่า " ผู้ที่ได้ทำบุญไว้บันเทิงเบิกบานเพราะเห็นความบริสุทธิ์แห่งกรรมของตน ผู้ที่ทำบาปไว้อับเศร้า เพราะเห็นความเศร้าหมองแห่งกรรมของตน "
       อันกรรมบริสุทธิ์เกิดจากจิตใจที่บริสุทธิ์ เพราะสงบความโลภโกรธหลง ประกอบด้วยธรรมมีเมตตากรุณาเป็นต้น จะเห็นได้จากจิตใจของผู้ที่ได้ทำการบริจาคในการบุญต่าง ๆ ของผู้รักษาศีลและอบรมจิตใจกับปัญญา ใคร ๆที่เคยทำทาน รักษาศีล และอบรมจิตกับปัญญาดังกล่าว ย่อมจะทราบได้ว่ามีความสุขอย่างไร
       ตรงกันข้ามกับจิตใจที่เร่าร้อนจากกิเลสต่าง ๆ และแม้จะได้อะไรมาด้วยกิเลสมีความสุขตื่นเต้น ลองคิดดูให้ดีแล้วจะเห็นว่าเป็นความสุขจอมปลอม เพราะเป็นความสุขของคนที่หลงไปแล้ว เหมือนความสุขของคนที่ถูกเขาหลอกลวงนำไปทำร้าย ด้วยหลอกให้ตายใจด้วยเครื่องล่ออย่างใดอย่างหนึ่ง คนที่ตายใจเสียเพราะเหตุนี้คือคนที่ประมาทไปแล้ว ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า " คนประมาทเหมือนคนตาย " ไม่อาจจะเห็นสัจจะคือความจริงตามธรรมของพระพุทธเจ้า อาจคัดค้านคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้ อย่างที่คิดว่าตนฉลาด ไม่มีอะไรจะช่วยบุคคลประเภทนี้ได้   นอกจากการทำบุญ   เพราะการทำบุญทุกครั้งไปย่อมเป็นการฟอกชำระจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาดขึ้นทุกที เหมือนอย่างการอาบน้ำชำระร่างกาย ซึ่งทำให้ร่างกายสะอาดสบาย เมื่อจิตใจมีความสะอาดบริสุทธิ์ขึ้นตามสมควรแล้ว จะมองเห็นได้เองว่า ความสุขที่บริสุทธิืแท้จริงนั้นเกิดจากกรรมที่บริสุทธิ์เท่านั้น   จะได้ปัญญาซาบซึ้งถึงคุณพระทั้งสามว่า..... " ความเกิดขึ้นของพระพุทธคุณทั้งหลายให้เกิดสุขจริง การแสดงพระสัทธรรมให้เกิดสุขจริง ความพร้อมเพรียงของสงฆ์คือหมู่ให้เกิดสุขจริง ความเพียรของหมู่ที่พร้อมเพรียงกันให้เกิดสุขจริง "
         ผู้ที่มีจิตใจ กรรม และความสุขที่บริสุทธิ์ดังนี้ ชื่อว่าผู้มีบุญอันได้ทำแล้วในปัจจุบัน เป็นผู้มีความมั่นคงในตนเองอย่างที่ใคร ๆ หรืออะไรจะทำลายมิได้ และจะเจริญพร คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ยิ่ง ๆ ด้วยเดชบุญ..
*******
จากหนังสือ โลกและชีวิตในพุทธธรรม พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศ
********

วันจันทร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2557

พระวรคติธรรม


...ผู้เป็นคนดีย่อมสามารถฝึกตนไปสู่ความดีงามได้ นำตนไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้ และสามารถนำผู้อื่นไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้ด้วย  ท่านจึงกล่าวว่า...ตนที่ฝึกดีแล้วย่อมเป็นเครื่องยังชีวิตให้สว่าง
...ทำดีแล้วต้องได้ดีเสมอไป ทำดีไม่ได้ดีไม่มีอยู่ในความจริง มีอยู่แต่ในความเข้าใจผิดของคนทั้งหลายเท่านั้น ทำดีแล้วต้องได้ดีแน่นอนเสมอไป ที่มีเหตุการณ์ต่าง ๆ นา ๆ ปรากฏขึ้น เหมือนทำดีไม่ได้ดีนั้นเป็นเพียงปรากฏสลับซับซ้อนแห่งการให้ผลของกรรมเท่านั้น เพราะกรรมนั้นไม่ได้ให้ผลทันตาทันใจเสมอไป แต่ถ้าเป็นเรื่องภายในใจแล้ว กรรมให้ผลทันทีที่ทำแน่นอน เพียงแต่ว่าบางทีผู้ทำไม่สังเกตด้วยความปราณีตเพียงพอจึงไม่รู้เห็น ขอให้สังเกตใจตนให้ดีแล้วจะเห็นว่าทันทีที่ทำกรรมดีผลจะปรากฏขึ้นในใจเป็นผลดีทันทีทีเดียว
...คำนินทาใด ๆ ไม่อาจทำให้คนดีเป็นคนไม่ดีไปได้ คนจะดีก็เพราะกรรม คนจะเลวก็พราะกรรม หาใช่ดีเพราะสรรเสริญ หรือเลวเพราะนินทาก็หาไม่...
พระวรคติธรรม  สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

********
จากหนังสือ จิตตนคร  สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
*********

วันเสาร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ลม..


.....ฯลฯ......

...หน้าที่ของเราในการทำสมาธิมีอยู่ ๔ อย่าง คือ
     ๑.รู้ลมเข้า ออก
     ๒.รู้จักปรับปรุงลมหายใจ
     ๓.รู้จักเลือกลมอย่างใหนสบายอย่างใหนไม่สบาย
     ๔.ใช้ลมที่สบายสังหารเวทนาที่เกิดขึ้น
...ลม เป็นชีวิตของกาย สติเป็นชีวิตของใจ
...ลม ปราบเวทนา สติ ปราบนิวรณ์
...ลม เหมือน สายไฟ 
   สติ เหมือน ดวงไฟ
   ถ้าสายไฟดี ดวงไฟก็สว่างแจ่ม
.....ฯลฯ......
จากหนังสือ เรื่องของลม พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร) วัดอโศการาม
*******

วันพุธที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2557

กรรมฐานอยู่ที่ใหน


...เหตุใด จึงเรียกว่า " กรรมฐาน "
    คำว่า " กรรมฐาน " คือที่ตั้งแห่งการทำงานของจิต กรรมฐานนี้มี ๒ อย่าง ประกอบด้วยสมถกรรมฐานและวิปัสนากรรมฐาน  สมถะเป็นบัญญัติ วิปัสสนาเป็นปรมัตถ์  บัญญัติอยู่ที่ใหน สมถะกรรมฐานอยู่ที่นั่น ปรมัตถ์อยู่ที่ใหน วิปัสสนาอยู่ที่นั่น 
    คำว่า " สมถะ " เป็นมรดกของใคร ก็ตอบได้ว่าเป็นมรดกของพวกอาภัสราพรหม ซึ่งติดมากับอภัสราพรหมตั้งแต่เริ่มมาถือปฏิสนธิเป็นโอปปาติกะในโลกยุคแรกโน้นแล้ว  สมถะทั้ง ๓๖ ประเภท มีมาตั้งแต่นั้น  แต่พระพุทธเจ้าทรงเพิ่มเติมอีก ๔ ประการ คือ พุทธานุสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ และอุปสมานุสสติ จึงเป็นสมถกรรมฐาน ๔๐ ประการ
   หากถามว่า " วิปัสสนากรรมฐานเป็นมรดกของใคร " ก็ตอบได้ว่า " เป็นมรดกของพระพุทธเจ้า " เพราะพระองค์ทรงค้นพบด้วยพระองค์เอง วิปัสสนากรรมฐานเกิดเฉพาะในยุคที่พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นมาในโลกนี้เท่านั้น หากพระพุทธเจ้าไม่ทรงอุบัติขึ้นมาในโลก คำว่า " วิปัสสนากรรมฐาน " ก็ไม่มี..
......ฯลฯ.......
( จากหนังสือ ทางเดินสู่พระนิพพาน หลวงพ่อธี วิจิตฺตธมฺโม เขียน พระมหายาจินต์ ธมฺมธโร แปล )
***********


วันอังคารที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2557

กลิ่นศีล


*****
    วันหนึ่ง พระอานนทเถระอยู่ในที่อันสงัดในเวลาเย็นคิดว่า พระพุทธเจ้าเคยทรงแสดงกลิ่นของไม้ไว้ ๓ อย่าง คือ กลิ่นที่เกิดจากดอก เกิดจากแก่น และเกิดจากราก กลิ่นเหล่านั้นฟุ้งไปตามลมได้เท่านั้น ฟุ้งไปทวนลมไม่ได้ กลิ่นอะไรหนอที่ฟฟุ้งไปทวนลมได้ ท่านได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อทูลถามข้อสงสัย
    พระพุทธเจ้าตรัสตอบปัญหาพระอานนทเถระ โดยใจความพระพุทธพจน์ว่า
    " อานนท์ หญิงหรือชายก็ตามถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง เว้นปาณาติบาท อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท สุราเมรัย  เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ยินดีในการจำแนกทาน มีอัธยาศัยน้อมไปในทางเสียสละ คนเช่นนี้ย่อมได้รับการกล่าวสรรเสริญจากสมณพราหมณ์ที่เป็นบัณฑิตทั้งหลาย กลิ่นแห่งความดีของเขาย่อมฟุ้งไปได้ทั้งตามลมและทวนลม "
    ดังนี้แล้ว ได้ตรัสคาถาแปลความว่า
   " กลิ่นดอกไม้ลอยไปทวนลมไม่ได้ กลิ่นจันทร์ กลิ่นกฤษณา หรือกลิ่นกะลำพัก ก็ลอยทวนลมไม่ได้ ส่วนกลิ่นของสัตบุรุษ ลอยไปทวนลมได้ เพราะสัตบุรุษฟุ้งไปได้ทุกทิศ บรรดากลิ่นหอมทั้งหลาย เช่น กลิ่นของไม้จันทน์ กฤษณา อุบล และมะลิ เป็นต้น  กลิ่นแห่งศีลเป็นเยี่ยม " (อัง.เอก-ติก.๒๐/๕๑๙/๒๙๐)
******
(จากหนังสือ โลกสงบร่มเย็นด้วยศีล โดย สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พรหมคุตตฺโต) วัดบวรนิเวศวิหาร)
                                                   

วันจันทร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2557

เมื่อเห็นผิด...


ภาพจาก http://www.vet4polyclinic.com/th/article.aspx?id=86

       " พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า " ภิกษุทั้งหลาย ท่านเห็นไหมว่าเมื่อตอนเย็นวันนั้น หมาป่าตัวหนึ่งมันเดินอยู่ที่นี่ เห็นไหม มันจะยืนอยู่มันก็เป็นทุกข์ มันจะวิ่งไปมันก็เป็นทุกข์ มันจะนั่งอยู่ก็เป็นทุกข์ มันจะนอนอยู่ก็เป็นทุกข์ จะเข้าไปอยู่ในถ้ำก็ไม่สบาย มันก็เป็นทุกข์ เพราะมันเห็นว่า การยืนอยู่นี้ไม่ดี การนั่งไม่ดี การนอนไม่ดี พุ่มไม้นี้ไม่ดี โพรงไม้นี้ไม่ดี ถ้ำนี้ไม่ดี มันก็วิ่งอยู่ตลอดเวลานั้น ความเป็นจริงหมาป่าตัวนั้นมันเป็นขี้เรื้อน มันไม่ใช่เพราะพุ่มไม้นั้น หรือโพรงไม้ หรือถ้ำ หรือการยืน การเดิน การนั่ง การนอน มันไม่สบายเพราะมันเป็นขี้เรื้อน "
        ภิกษุทั้งหลายก็เหมือนกัน ความไม่สบายนั้นความเห็นผิดมีอยู่ ไปยึดธรรมที่มีพิษไว้มันก็เดือดร้อน ไม่สำรวมอินทรีย์ทั้งหลาย แล้วไปโทษแต่สิ่งอื่น ไม่รู้เรื่องของเจ้าของเอง  ไปอยู่วัดหนองป่าพงก็ไม่สบาย ไปอยู่อเมริกาก็ไม่สบาย ไปอยู่กรุงลอนดอนก็ไม่สบาย ไปอยู่วัดป่าบุ่งหวายก็ไม่สบาย ไปอยู่ทุกๆสาขา ก็ไม่สบาย ที่ไหนก็ไม่สบาย นี่ก็คือความเห็นผิดนั้นยังมีอยู่ในตัวเรานั่นเอง มีความเห็นผิดไปยึดมั่นถือมั่นในธรรมอันมีพิษไว้ในใจของเราอยู่ อยู่ใหนก็ไม่สบายทั้งนั้น  นั่นคือเหมือนกันกับสุนัขนั้น ถ้าหากโรคเรื้อนมันหายแล้ว มันจะอยู่ตรงไหนมันก็สบาย อยู่กลางแจ้งมันก็สบาย อยู่ในป่ามันก็สบาย เรานึกอยู่บ่อย ๆ แล้วเราก็นำมาสอนพวกท่านทั้งหลายอยู่เรื่อย เพราะธรรมตรงนี้มันเป็นประโยชน์มาก... ฯลฯ..." (หลวงพ่อชา สุภัทโท)
*******
จากหนังสือ ปฏิบัติกันเถิด " สัมมาทิฏฐิที่เยือกเย็น " พระธรรมเทศนา ของพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)
*******



*****
หลวงพ่อชา " ปฏิบัติกันเถิด" (คลิก)

*****
ผู้เข้ากันโดยธาตุ(คลิก)

******

วันเสาร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ใจเป็นนาย...


       การบริหารจิต ก็คือการรักษาคุ้มครองจิต การฝึกฝนอบรมจิต หรือการทำจิตให้สงบ ให้สะอาดปราศจากความวุ่นวายเดือดร้อน ให้เข้มแข็ง ให้มีสุขภาพจิตดีและให้นำมาปฏิบัติใช้งานได้ดี พูดง่าย ๆ ก็คือการพัฒนาจิตนั่นเอง
     ประเทศชาติที่ได้รับการบริหารดี ได้รับการพัฒนาแล้วย่อมเป็นประเทศที่เจริญรุ่งเรือง ประชาชนในประเทศนั้นย่อมอยู่ดีกินดี มีความสงบสุขได้ฉันใด จิตที่บริหารดีแล้วพัฒนาแล้ว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือย่อมมีความเกษมสงบสุข
      ทุกคนที่เกิดมาล้วนแต่รักสุขเกลียดทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้นและความสุขที่มนุษย์ต้องการนั้น มีอยู่ ๒ อย่าง คือ
        ๑.ความสุขทางกาย
        ๒.ความสุขทางใจ
      ความสุข ๒ อย่างนี้ ต้องอาศัยกันและกันคือ กายเป็นสุขแล้ว ก็จะทำให้ใจเป็นสุขด้วย หรือถ้าใจเป็นสุขแล้ว ก็จะทำให้กายเป็นสุขด้วย เช่นเดียวกับเรื่องของความทุกข์ เพราะกายกับจิตมีความเกี่ยวเนื่องกัน แม้พระพุทธศาสนาจะยอมรับความสุขทั้งสองอย่างนี้ แต่ก็ยกย่องว่าจิตประเสริฐกว่ากาย เพราะกายรวมทั้งสมองเป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งของจิต จิตเป็นผู้นำ ดังพุทธภาษิตที่ว่า " มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา ซึ่งแปลว่า ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า " คือ การทำทุกอย่างของคนเรานั้น มีใจเป็นผู้นำหรือผู้สั่งการทั้งสิ้น ส่วนกายนั้นเป็นเสมือนคนรับใช้เท่านั้น ดังสุภาษิตไทยที่ว่า " ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว "  และทางพระพุทธศาสนายกย่องความสุขทางใจดีกว่าความสุขอย่างอื่น ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า " นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุข๋ " ซึ่งแปลว่า " ความสุขอย่างอื่นที่จะยิ่งกว่าความสงบไม่มี " นี้ก็แสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาให้ความสำคัญแก่การบริหารหรือการพัฒนาจิต
      แต่เป็นที่น่าสังเกตุว่า ทั้ง ๆ ที่จิตสำคัญกว่ากาย แต่คนเราก็เอาใจใส่กายและบำรุงร่างกายมากกว่าการเอาใจใส่จิตหรือการพัฒนาจิตของตน เช่น รับประทานอาหารวันละ ๓ ครั้ง อาบน้ำวันละ ๒ ครั้ง และยังมีเสื้อผ้าเครื่องประดับให้กับกาย นอกจากนี้ยังมีการออกกำลังกายด้วยการบริหารกาย เช่น ด้วยการเล่นกีฬา และการเดิน เป็นต้น แม้ยารักษาโรค มนุษย์ก็มุ่งรักษาโรคกายเป็นส่วนใหญ่  แต่ปล่อยจิตของตนไว้ให้เศร้าหมอง สกปรก ขุ่นมัว ไม่ค่อยได้รับการบริหาร ไม่ได้รับการฝึกฝน ไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร
      เพราะเหตุที่มนุษย์ปล่อยปละละเลยจิตของตน ไม่ให้ความสำคัญในการฝึกฝน ไม่บริหารจิตนี้เอง จึงปรากฏว่ามีคนในโลกเป็นจำนวนมาก ถึงแม้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง แต่จิตใจกับอ่อนแอ ไร้สมรรถภาพ เช่น ขี้กลัว ขี้โกรธ ตกใจง่ายหรือเป็นโรคประสาท เป็นต้น  ซึ่งก็ไม่อาจจะพบความสุขที่สมบูรณ์ได้ แม้จะมีเงินทองทรัพย์สินสมบัติและเกียรติยศชื่อเสียงก็ตาม เพราะจิตใจไม่ได้รับการบริหาร เป็นจิตที่อ่อนแอ ทำให้โรคคือกิเลสจับได้ง่าย โดยเฉพาะกิเลสประเภทนิวรณ์ ซึ่งเป็นตัวการขัดขวางการพัฒนาจิตเป็นอย่างมาก คือเป็นกิเลสที่กีดกันมิให้ใจมีความสงบสุขได้ แต่ทำให้เดือดร้อน หม่นหมอง หาความสุขได้ยาก เพราะจิตใจอ่อนแอขาดการบริหารนั่นเอง
       ฉะนั้น ทางพระพุทธศาสนาจึงมีวิธีฝึกจิต บริหารจิตของตน เพราะจิตที่ฝึกดีแล้ว ย่อมมีคุณภาพสูง ทั้งก่อให้เกิดความสุขแก่เจ้าของและสังคมส่วนรวมได้มาก
      .............
       การฝึกจิตตามหลักพระพุทธศาสนา เรียกกันว่า จิตตภาวนาหรือการทำกรรมฐาน เป็นความสุขที่สงบเยือกเย็น ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อใคร  เป็นความสุขที่ไม่ต้องอิงอาศัยกามคุณทั้ง ๕ คือ ไม่ต้องอาศัยรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสทางกาย ซึ่งความสุขชนิดนี้ ทางพุทธศาสนาเรียกว่า " นิรามิสสุข " คือ ความสุขที่ไม่ต้องอิงอามิสคือกามคุณ จัดเป็นความสุขที่แท้จริง.....
    ..............
(จากหนังสือ การบริหารจิต โดย พระเทพวิสุทธิกวี (พิจิตร ฐิตวณฺโณ ป.ธ. ๙,ศน.บ.M.A. วัดโสมนัสวิหาร )
********





********
จิต (คลิก)

*****
ใจ - ใจ - ใจ (คลิก)

วันศุกร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2557

อุปาทาน


" อุปาทาน " เปรียบเหมือนงูที่แสวงหาเหยื่อ ในขณะที่จับกบได้และคาบไว้ในปาก เพื่อจะกลืนกินเป็นอาหารของตน ยากที่จะบังคับให้งูนั้นปล่อยกบออกจากปากได้  ฉันใด อุปาทาน ก็ยึดมั่น ถือมั่นในกามคุณอารมณ์ และในภพต่าง ๆ ฉันนั้นเหมือนกัน..
  อุปาทาน  แปลว่า ยึดมั่นอารมณ์ หมายความว่า ยึดมั่นอยู่ในกามคุณอารมณ์ ยึดมั่นอยู่ในกามภพ อรูปภพ ในขณะที่กำลังปรากฏเป็นอุปัตติภพของตน มี ๔ คือ  ๑. กามุปาทาน  ความยึดมั่นในกาม ยินดีในกาม 
         ( *** กาม ไม่ใช่เรื่องเพศอย่างเดียว แต่ กาม เป็นภาษาบาลี มี ๒ ความหมาย คือ
           (๑) กิเลสกาม คือ ความติดใจ หรือรุนแรงถึงขั้นอยากได้ในวัตถุกาม..
           (๒) วัตถุกาม  คือ วัตถุที่มีลักษณะ ๖ อย่าง คือ ๑.อิฏฐา(น่าปรารถนา) ๒.กันตา(น่าใคร่ ๓.มนาปา(ถูกใจ) ๔.ปิยรูปา (น่ารัก) ๕.กามูปสัญหิตา(ประกอบด้วยกาม) ๖.ระชะนียา (ยั่วยวนชวนให้ชอบมาก)***จากหนังสือ เทคนิคเพิ่มสุข  โดย ภิกษุณีรุ้งเดือน นันทญาณี)
           ๒. ทิฏฐุปาทาน  ความยึดมั่นในทิฎฐิ
           ๓. สีลัพพตุปาทาน ความยึดมั่นในการปฏิบัติผิด
           ๔. อัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่นในขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัว เป็นตน

  (จาก หนังสือ เพชรในดวงใจ พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙)


วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ครูแห่งแผ่นดิน


ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน




************
๕ ธันวาคม ๕๗ " เทิดไท้พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน "
นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
 เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 
๘๗ พรรษา 




*****

*****



*****

(คลิกบนภาพ )
*****




*****
ทุ่งมะขามหย่อง (คลิก)


วันอังคารที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ขนสมบัติ..ลอยน้ำทิ้ง


เนรัญชรา  พุทธคยา อินเดีย
....ฯลฯ.....
ขน"สมบัติของคนบ้า"ลอยน้ำทิ้ง 
       หลังจากที่บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว พระอุรุเวลกัสสปะจึงเรียกบริวารทั้งหลายมาแล้วกล่าวว่า "ท่านทั้งหลาย ชฏิล ๕๐๐ คนแต่เดิมนั้น เรียกว่า "คนบ้า" คือเป็นคนบ้าเพราะโลภะ โทสะ โมหะ ทิฐิ มานะ รวมเรียกว่า กิเลส ๑๐ ประการ " บริขารเครื่องมือเครื่องใช้ของชฏิลทั้งปวงที่เคยมีมาและยังคงอยู่ตามกุฏิ ศาลาที่พักต่าง ๆ นั้น จงนำไปลอยทิ้งเสียให้หมด จากนั้น พระอรหันต์ผู้เป็นบริวารของท่าน จึงได้พากันเก็บสมบัติของคนบ้าเหล่านั้นไปลอยทิ้ง สมบัติเหล่านั้นประกอบด้วย 
         ๑.ม้วนสายสิญจน์ สำหรับทำขวัญ
         ๒.ม้วนสายสิญจน์ สำหรับทำเทียนโชคลาภเครื่องรางของขลัง
         ๓.ม้วนสายสิญจน์ สำหรับไว้โยงรอบบ้านกันผี กันภัย
         ๔.ม้วนสายสิญจน์ สำหรับผู้ข้อมือและห้อยคอ
         ๕.ธงผ้าขาว ผ้าแดง ร่ม ห่อชา ยาเส้น สำลี หมากกล้วยมะพร้าว ข้าวเปลือก ข้าวสาร สำหรับไว้ทำเครื่องไหว้ครู
         ๖.ลูกประคำคล้องคออยู่ก็ปลดออก และที่เก็บไว้ในย่ามในถังต่างๆ ก็เก็บทิ้ง
         ๗.กระป๋องและถัง สำหรับเก็บบริขารเหล่านั้น
         ๘.บาตรหรือขัน สำหรับทำน้ำมนต์
         ๙.มัดหญ้าคา สำหรับทำน้ำมนต์
        ๑๐.กระดานพร้อมทั้งเครื่องขีดเขียน สำหรับเขียนคำนวณทายทักดวงชะตา ทำยันต์
        ๑๑.ไม้บรรทัด สำหรับวัดทำตารางยันต์ และดวง
        ๑๒.ขี้ผึ้ง สำหรับทำเทียนโชคลาภ โชคชะตา
        ๑๓.ไม้พันเทียน สำหรับทำเทียน
        ๑๔.หม้อข้าวหม้อแกง
        ๑๕.มีด พร้า จอบ เสียม
        ๑๖.เครื่องบด เครื่องปั็มและแบบ สำหรับทำเครื่องรางของขลังวัตถุมงคล ทำเหรียญพระราชา และรูปเทพเจ้าต่าง ๆ
       "สิ่งของเหล่านี้ จงนำไปลอยน้ำเสียให้หมด" พระผู้เป็นบริวารก็พากันนำไปใส่เรือลอยน้ำไป 
         ขณะนั้น คยากัสสปะ ผู้เป็นน้องซึ่งมีอาศรมอยู่ริมแม่น้ำพร้อมบริวาร ๓๐๐ รูป ได้พบเห็นบริวารเหล่านั้นลอยมา จึงกล่าวกับบริวารว่า " ท่านอุรุเวลกัสสปะผู้พี่เป็นอะไรไปไม่รู้จึงนำเอาบริขารสิ่งของทั้งปวงใส่เรือลอยน้ำมา ไป ไป พวกเราขึ้นไปหา เกิดอะไรขึ้นกับพี่เราไม่รู้ "  จากนั้น พวกเขาจึงพากันไปที่อาศรมของพระอุรุเวลกัสสปะ เมื่อไปถึงก็พบว่า ท่านเหล่านั้นมีอาการลักษณะไม่เหมือนวันก่อน ๆ ตือมีความสงบเงียบเป็นพิเศษ ทุกรูปพากันนั่งสงบนิ่ง ณ พระพักตร์  พวกเขาจึงทูลถามว่า " เกิดอะไรขึ้นพระเจ้าข้า" พระพุทธองค์จึงทรงแสดง"อนัตตา"ให้ฟัง เมื่อฟังจบลงก็บรรลุเป็นอรหันต์ทั้งหมด
          หลังจากที่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วจึงกลับไปที่อาศรมแล้วนำเอา สมบัติของคนบ้า ๑๖ ชนิดดังกล่าว ใส่เรือลอยน้ำไป ...
          นทีกัสสปะพร้อมบริวาร ๒๐๐ รูป ได้พบเห็นแล้วคิดว่า "สมบัติเหล่านี้เป็นของชฏิลผู้พี่ ๒ รูป พร้อมด้วยบริวารจำนวน ๘๐๐ รูป พวกเขาประสบเหตุใดกันหนอ จึงพากันทิ้งลอยน้ำมาเช่นนี้  มาเถิดพวกเราเดินทางไปดูให้เห็นกับตา " 
          เมื่อเดินทางมาถึงก็พบว่าชฏิลทั้ง ๘๐๐ รูป บวชเป็นพระภิกษุพากันนั่งสงบเย็นอยู่อย่างนั้น จึงทูลถามเรื่องนี้กับพระพุทธองค์ 
          พระพุทธองค์จึงตรัสเรื่องความเป็นมาทั้งหมดแล้ว แสดงอนัตตาให้ฟัง นทีกัสสปะพร้อมด้วยบริวารรวม ๒๐๐ รูปก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ แล้วขนสมบัติคนบ้า ๑๖ ชนิดนั้น ทิ้งลอยน้ำไปพร้อมกับกล่าวว่า " สมบัติของคนบ้ากิเลส บ้าโลภะ บ้าโทสะ บ้าโมหะ จงลอยตามน้ำไปเสียเถิด"
           ..........           
            สมบัติบ้าเหล่านั้นก็ลอยตามน้ำไป ชาวบ้านและพราหมณ์ไปพบเห็นเข้าจึงพากันเก็บเอาไปใช้ต่อกันอย่างแพร่หลาย ความเชื่อในสมบ้ติบ้าเหล่านี้กระจายไปอย่างกว้างขวางจนกระทั่งมาถึงเมืองไตและเมือง....
           ...........
          พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมคือ อนัตตา ครั้งที่สาม โปรดชฏิล ๓ พี่น้อง จบลงแต่เพียงนี้....
           ............
....จากหนังสือ อนัตตาสุดยอด  หลวงพ่อธี วิจิตฺตธมฺโม เขียน พระมหายาจินต์ ธมฺมธโร ป.ธ.๙ สส.ม. แปล
*********

*****