หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556

พุทธคุณ (๑)


....พระอาจารย์ได้แสดงเนื้อความของบทว่า อรหํ ประมวลเข้าแล้วก็เป็น ๕ ประการ คือ 
๑ ชื่อว่า อรหํ เพราะเป็นผู้ไกลกิเลส
ข้อ ๒ ชื่อว่า อรหํ เพราะเป็นผู้กำจัดข้าศึกคือกิเลส
ข้อ ๓ ชื่อว่า อรหํ เพราะเป็นผู้หักกำแห่งสังสารจักร คือล้อแห่งสังสาระหรือสงสาร การท่องเที่ยวเวียนเกิดเวียนตายไปในภพชาติทั้งหลายเป็นอันมาก
ข้อ ๔ ชื่อว่า อรหํ เพราะเป็นผู้ควรไหว้ควรบูชา
ข้อ ๕ ชื่อว่า อรหํ เพราะเป็นผู้ไม่ทำบาปทั้งหลายแม้ในที่ลับ คือไม่ทำบาปทั้งในที่แจ้งทั้งในที่ลับ คือไม่ทำบาปในที่ทุกสถาน
    พระอาจารย์ได้แสดงไว้สำหรับเจริญพุทธานุสสติ หรือพิจารณาพระพุทธคุณของบทนี้ไว้เป็น ๕ ประการดั่งนี้  ...(สมเด็จพระญาณสังวร)

วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ปฏิจจสมุปบาท(๙)


...เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย เกิดภพ  ภพนั้นก็คือ ความเป็น ความมี อันได้แก่กามภพ รูปภพ อรูปภพ  เพราะมีความยึดถือซึ่งเป็นอุปาทาน จึงมีภพ ความเป็น ความมี ภพอย่างละเอียดก็คืออัสมิมานะ ความสำคัญหมายว่าเรามีเราเป็น ยึดถือในสิ่งในสิ่งใด ก็เกิดเป็นความมี ความเป็น คือเป็นเราสืบมาถึงเป็นของเราขึ้นในสิ่งนั้น ยึดอยู่ในกาม ก็เป็นเราขึ้นในกาม ก็เป็นกามภพ ยึดในรูป ก็เป็นเราขึ้นในรูป เป็นรูปภพ ยึดในอรูปก็เป็นเราขึ้นในอรูป เป็นอรูปภพ  เพราะฉะนั้น เมื่อมีอุปาทานคือความยึดถือจึงมีภพ และเมื่อมีภพจึงมีชาติคือความเกิด...(สมเด็จพระญาณสังวร)

วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ปฏิจจสมุปบาท(๘)

...ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน คือเมื่อมีตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก ก็ย่อมมีอุปาทานคือความยึดถือ และอุปาทานนั้นท่านพระเถระก็ได้แยกออกเป็นอุปาทาน ๔ คือ กามุปาทาน ยึดถือกาม ทิฏฐุปาทาน ยึดถือทิฏฐิคือความเห็น สีลัพพตุปาทาน ยึดถือศีลและพรต อัตตวาทุปาทาน ยึดถือวาทะว่าตน ซึ่งอุปาทาน ๔ นี้ก็ได้แสดงอธิบายแล้ว เมื่อได้แสดงมาถึงลำดับของอุปาทาน เพราะมีตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก จึงมีอุปาทานคือความยึดถือ คือเพราะอยากจึงยึด ถ้าหากว่าไม่มีอยากซึ่งเป็นตัวตัณหา ก็ย่อมไม่มียึดซึ่งเป็นอุปาทาน..
....เพราะมีความยึดถืออยู่ดั่งนี้ จึงมี มัจฉริยะ ที่แปลกันว่าความตระหนี่เหนียวแน่น หวงแหน และเพราะมีมัจฉริยะคือความตระหนี่เหนียวแน่นหวงแหน จึงมีอารักขา คือการรักษาด้วยวิธีรักษาต่างๆ เป็นต้นว่า ต้องมีการถือกระบอง ถือท่อนไม้ ต้องมีการถือศัสตราวุธ ต้องมีการทะเลาะกัน ต้องมีการแก่งแย่งกัน ต้องมีการวิวาทกัน ต้องมีการกล่าวหากัน ว่าท่านนั่นแหละ ท่านนั่นแหละ หรือว่าเจ้านั่นแหละ เจ้านั่นแหละ ต้องมีการกล่าวส่อเสียด ต้องมีการกล่าวคำเท็จต่างๆ และก็จะต้องมีบาปอกุศลธรรมต่างๆ มากมาย บังเกิดขึ้นสืบต่อกันไปดั่งนี้...(สมเด็จพระญาณสังวร)

วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2556

อริยสัจในปฏิจจสมุปบาท


...พระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติมาในมรรคมีองค์ ๘ นี้ ที่ตรัสเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติที่เป็นหนทางกลางสมบูรณ์ ทรงกำหนดรู้ทุกข์ได้แล้ว ทรงละสมุทัยได้หมดแล้ว ทรงทำให้แจ้งนิโรธได้แล้ว ทรงปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ ได้สมบูรณ์แล้ว จักษุ คือดวงตา ญาณ คือความหยั่งรู้ ปัญญา คือความรู้รอบ วิชชา คือความรู้จริง อาโลกคือความสว่างผุดขึ้นในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ กิเลสและกองทุกข์ดับไปหมดสิ้น จึงทรงเป็นพุทโธคือเป็นผู้ตรัสรู้แล้ว  และความตรัสรู้ของพระองค์ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้ เมื่อแสดงโดยพิสดารตามที่ตรัสไว้ก็คือ ปฏิจจสมุปบาทธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น ซึ่งมีอวิชชาอาสวะเป็นต้น มาจนถึง ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ เป็นต้น ซึ่งเป็นปัจจัยกันโดยลำดับ นี้เป็นฝ่ายสมุทัยวาร คือเป็นฝ่ายเกิด หรือเป็นฝ่ายก่อทุกข์ พระพุทธเจ้าเมื่อได้ตรัสรู้แล้ว ก็ได้ทรงพิจารณาอริยสัจจ์ทางปฏิจจสมุปบาทนี้ แล้วก็ได้ทรงเปล่งอุทานขึ้น ซึ่งแปลความว่า เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ ผู้มีเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้นความสงสัยของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป เพราะมารู้ธรรมะว่าเกิดจากเหตุ หรือรู้ธรรมะพร้อมทั้งเหตุ หรือรู้ธรรมะว่ามีเหตุที่เป็นปัจจัยสืบต่อกันไป จึงทำให้เกิดทุกข์...(สมเด็จพระญาณสังวร)


ความเกิดดับแห่งปฏิจจสมุปบาท


 ...ได้แสดงเรื่องพระพุทธเจ้า เมื่อได้ตรัสรู้แล้ว ได้ประทับนั่งเสวยวิมุติสุข ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์ ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาทธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น โดยสมุทัยวาร คือโดยวาระเกิด ก่อทุกข์ ทรงเปล่งอุทานในปฐมยามแห่งราตรีที่แปลความว่า   เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้นความสงสัยของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป เพราะมารู้ธรรมว่ามีเหตุ หรือเกิดแต่เหตุ    ต่อจากนั้นทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท โดยนิโรธวาร คือโดยวาระดับ คือดับทุกข์ ทรงเปล่งอุทานในมัชฌิมยามแห่งราตรีแปลความว่า   เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้นความสงสัยของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป เพราะมารู้ความสิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย ..(สมเด็จพระญาณสังวร)

สรุปสติปัฏฐาน ๔


... สติปัฏฐานทั้ง ๔ ก็คือตั้งสติ คือความระลึกได้หรือความระลึกรู้ไว้ ในกาย ในเวทนา ในจิต และในธรรม
    ในมหาสติปัฏฐานสูตรได้รวบรวมข้อที่พึงพิจารณาในกายไว้ ก็คือ ข้อว่าด้วยลมหายใจเข้าออก ข้อว่าด้วยอิริยาบถทั้ง ๔ ยืนเดินนั่งนอน ข้อว่าด้วยสัมปชัญญะความรู้ตัว ในความเยื้องกรายอิริยาบถทั้ง ๔ นี้ และอิริยาบถประกอบทั้งหลาย ข้อว่าด้วยกายนี้จำแนกออกเป็นอาการทั้งหลายมี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น ข้อว่าด้วยธาตุ ๔ ดินน้ำไฟลม ข้อว่าด้วยป่าช้า ๙ คือพิจารณาศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า แยกออกเป็น ๙ ข้อ ตั้งต้นแต่ศพที่ตายแล้ววันหนึ่งสองวันสามวันเป็นต้นไป จนถึงเป็นกระดูกผุป่น
    ตั้งสติ พิจารณาเวทนา ก็คือตั้งสติกำหนดเวทนา ความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ทั้งที่เป็นสามิสคือมีกิเลสเป็นเครื่องล่อให้เกิดขึ้น ทั้งที่เป็นนิรามิสคือไม่มีกิเลสเป็นเครื่องล่อ หรือเป็นเครื่องนำให้เกิดขึ้น
    ตั้งสติ พิจารณาจิต ก็คือตั้งสติกำหนดดูจิตใจนี้ ที่มีราคะความติดใจยินดี หรือปราศจากราคะความติดใจยินดี ที่มีโทสะหรือปราศจากโทสะ ที่มีโมหะความหลงหรือปราศจากโมหะความหลง เป็นต้น
    ตั้งสติ พิจารณาธรรม ก็คือตั้งจิตกำหนดดู ธรรมะทั้งหลายที่บังเกิดขึ้นในจิต ตั้งต้นแต่กำหนดดูนิวรณ์ทั้ง ๕ คือกิเลสที่เป็นเครื่องกั้นจิต บังเกิดขึ้นกลุ้มรุมจิต มีกามฉันท์ความพอใจรักใคร่อยู่ในกาม พยาบาทความมุ่งร้ายปองร้ายเป็นต้น

    กำหนดดูขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ  กำหนดดูความเกิดของขันธ์ ๕ ความดับของขันธ์ ๕ ...(สมเด็จพระญาณสังวร)

ปฏิจจสมุปบาท(๗)


....เพราะสัมผัสหรือผัสสะเป็นปัจจัย หรือว่าเพราะสัมผัสหรือผัสสะมีขึ้น เกิดขึ้น จึงเกิดเวทนา จึงมีเวทนา เพราะฉะนั้น เวทนาคือ สุข ทุกข์ หรือ มิใช่ทุกข์มิใช่สุข หรือว่าเวทนาที่จำแนกออกเป็น เวทนา ๕ ได้แก่ สุข ทุกข์ โสมนัส โทมนัส อุเบกขา ซึ่งมีอธิบายว่า สุขก็ได้แก่สุขทางกาย ทุกข์ก็ได้แก่ทุกข์ทางกาย โสมนัสสุขทางใจ โทมนัสทุกข์ทางใจ อุเบกขาก็คือความเป็นกลางๆ มิใช่ทุกข์ มิใช่สุข มิใช่โสมนัส มิใช่โทมนัส  แต่เมื่อย่อเข้าก็เป็นเวทนา ๓ ที่แสดงกันโดยมาก คือ สุข ทุกข์ และ อทุกขมสุข มิใช่ทุกข์มิใช่สุข เมื่อแสดงเวทนา ๓ ดั่งนี้ สุข ก็หมายถึงทั้งสุขทางกาย ทั้งสุขทางใจ ทุกข์ ก็หมายถึงทั้งทุกข์ทางกาย ทั้งทุกข์ทางใจ อทุกขมสุข มิใช่ทุกข์มิใช่สุข ก็หมายถึงอุเบกขาเป็นกลางๆ มิใช่ทุกข์มิใช่สุขทางกายทางใจ เพราะฉะนั้น แม้จะจำแนกเวทนาเป็น ๓ แม้จะจำแนกเวทนาเป็น ๕ ก็เป็นอันเดียวกันนั้นเอง ก็คือหมายถึงสุข ทุกข์ และ มิใช่ทุกข์มิใช่สุข เป็นกลางๆ ที่เป็นไปทางกายบ้างที่เป็นไปทางใจบ้าง  และท่านมีแสดงขยายความออกไปอีกว่า อันสุขทุกข์ทางกายนั้น ก็บังเกิดจากกายสัมผัส สัมผัสทางกาย คือสัมผัสสิ่งที่ถูกต้องทางกาย ส่วนสัมผัสทางตาที่เห็นรูปต่างๆ สัมผัสทางหูที่ได้ยินเสียงต่างๆ สัมผัสทางจมูกที่ได้ทราบกลิ่นต่างๆ สัมผัสทางลิ้นที่ได้ทราบรสต่างๆ และสัมผัสทางมโนคือใจที่ได้คิดได้รู้เรื่องต่างๆ ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดสุขทุกข์ทางใจ..(สมเด็จพระญาณสังวร)

วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ปฏิจจสมุปบาท(๖)


...ยกตัวอย่างเช่นเมื่อตาต่อกับรูป ก็เกิดจักขุวิญญาณ ความรู้รูปทางตา ที่เรียกว่าเห็นรูป และเมื่อทั้ง ๓ นี้มาประชุมกันก็เรียกว่าสัมผัส ที่แปลว่าความกระทบกัน ก็คือความประชุมกันของตา ของรูป และของจักขุวิญญาณ ความรู้รูปทางตาคือเห็นรูป และในอายตนะข้อต่อไปแต่ละข้อก็เช่นเดียวกัน  นี้เป็นการแสดงวิถีจิต คือทางดำเนินของจิตอย่างละเอียด และเมื่อเกิดสัมผัสดังกล่าวแล้ว จึงเกิดเวทนา เกิดสัญญา เกิดสังขาร และวิถีจิตดังที่กล่าวมานี้ก็พึงเข้าใจว่า ตัวจิตคือตัวธาตุรู้ หรือที่เรียกว่าวิญญาณธาตุ โดยปรกติย่อมอยู่ในภวังค์ อันเรียกว่า ภวังคจิต ..(สมเด็จพระญาณสังวร)

วันพุธที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ปฏิจจสมุปบาท(๕)

..เมื่อนามรูป เป็นนามรูปขึ้นมา รูปก็เป็นมหาภูตรูป อุปาทายรูป นามก็เป็นนามดังที่ท่านแสดงไว้ว่า เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ และดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ก็มีข้างต้นมารวมอยู่ด้วยทั้งหมด ก็เป็นนามรูป และเมื่อนามรูปเกิดขึ้นมาเป็นขึ้นมา ดังที่ทุกๆ คนในบัดนี้ก็มีนามรูปของตน บังเกิดขึ้นอยู่พร้อมอยู่ และในนามรูปนี้ก็มีอวิชชามีสังขารมีวิญญาณรวมอยู่ด้วย และเมื่อเป็นดั่งนี้ อายตนะทั้ง ๖ จึงเกิดขึ้น ..(สมเด็จพระญาณสังวร)


วันอังคารที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ปฏิจจสมุปบาท(๔)


.....ในการถือกำเนิดเกิดก่อของเด็กชายหญิง ตั้งต้นขึ้นในครรภ์ของมารดานั้น ถ้าหากว่าวิญญาณไม่ก้าวลง คือไม่เป็นไป ดังที่เรียกว่าไม่ถือปฏิสนธิ หรือปฏิสนธิวิญญาณไม่เข้ามา นามรูปก็จะก่อตัวขึ้นโดยเป็นกลละเป็นต้นหาได้ไม่.....ได้มีพระพุทธปุจฉาต่อไปอีกว่า เมื่อวิญญาณหยั่งลง ดังที่เรียกว่าถือปฏิสนธิในครรภ์ของมารดาแล้ว หากว่าดับไป เคลื่อนไป นามรูปจักบังเกิดเจริญขึ้นต่อไปได้หรือไม่ ภิกษุทั้งหลายก็กราบทูลว่าไม่ได้ รวมพระพุทธปุจฉา และคำกราบทูลตอบเข้าก็ได้ความว่า แม้วิญญาณจะปฏิสนธิในครรภ์ของมารดา เริ่มก่อตัวเป็นนามรูปขึ้นแล้ว แต่ถ้าหากว่าวิญญาณที่เข้าถือปฏิสนธินั้น จุติคือเคลื่อนออกไป ดับไป นามรูปแม้จะก่อตัวขึ้น ก็จะไม่บังเกิดเจริญเติบโตขึ้นต่อไป..(สมเด็จพระญาณสังวร)

วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ปฏิจจสมุปบาท(๓)


...เพราะสังขารเกิดขึ้นวิญญาณจึงเกิด หรือเพราะสังขารเป็นปัจจัยวิญญาณจึงเกิดขึ้น ดังที่ได้มีแสดงถึงชาติกำเนิดของสัตว์บุคคล ซึ่งมีพระพุทธภาษิตแสดงเอาไว้ ว่าบุรุษบุคคลนี้มีธาตุ ๖ คือ ปฐวีธาตุ   ธาตุดิน   อาโปธาตุ   ธาตุน้ำ   เตโชธาตุ   ธาตุไฟ  วาโยธาตุ  ธาตุลม อากาสธาตุ ธาตุอากาศ และวิญญาณธาตุ ธาตุวิญญาณ ซึ่งแปลกันว่า ธาตุรู้....  เมื่อธาตุทั้ง ๕ นี้ มาเป็นสังขารคือผสมปรุงแต่งกันขึ้น ดังที่มีพระบาลีแสดงไว้ถึงความเกิดขึ้นของบุคคลในครรภ์ของมารดา ว่าเริ่มตั้งต้นแต่เป็นกลละ ซึ่งเปรียบเหมือนเป็นหยดน้ำที่ละเอียดที่สุดติดอยู่ที่ปลายขนทราย ซึ่งในกลละนี้ ก็กล่าวได้ว่าธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาส ได้รวมกันอยู่ วิญญาณจึงลงปฏิสนธิ อันเรียกว่าปฏิสนธิวิญญาณ ก็คือธาตุรู้ วิญญาณธาตุ....ธาตุรู้เข้ามาประกอบ เริ่มเป็นสัตว์บุคคล เพราะว่าจะเป็นบุคคลชายหญิงก็ต้องประกอบด้วยธาตุทั้ง ๖ คือต้องมีวิญญาณธาตุ ธาตุรู้เข้ามาประกอบด้วย และวิญญาณธาตุ ธาตุรู้นี้ก็เข้าสู่ปฏิสนธิในครรภ์มารดา ในเมื่อธาตุทั้ง ๕ ประกอบกันพร้อมเป็นสังขารคือผสมปรุงแต่ง วิญญาณจึงเข้าปฏิสนธิ ซึ่งมีพระบาลีเรียกว่า คันธัพพะ คนธรรพ์ หมายถึงสัตว์ที่จะบังเกิด ก็เข้าสู่ครรภ์ ก็คือปฏิสนธิวิญญาณนั้นเอง..(สมเด็จพระญาณสังวร)

วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ปฏิจจสมุปบาท(๒)


    ..ธรรมจักษุคือดวงตาเห็นธรรมได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะ ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา นี้เป็นตัวปัญญา จะเห็นได้ว่าธรรมจักษุที่บังเกิดขึ้นแก่พระโกณฑัญญะนี้ ไม่เกี่ยวแก่ถ้อยคำที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงในปฐมเทศนานั้น แต่เมื่อท่านพระโกณฑัญญะท่านได้ฟังแล้ว ท่านเข้าใจ ความเข้าใจของท่านนั้นก็ผุดขึ้นมาแก่ท่านว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา คือท่านเห็นเกิดดับของทุกๆ สิ่งที่เกิดขึ้น ก็แหละ อันทุกๆสิ่งที่เกิดดับนี้เป็นตัวสังขาร คือเป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง สิ่งที่มีที่เป็นขึ้นทุกอย่างในโลกนี้ เป็นสิ่งผสมปรุงแต่งทุกอย่าง ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้นจึงต้องเกิดดับเป็นธรรมดา เห็นเกิดเห็นดับคู่กันไปในขณะเดียวกัน นี้เป็นตัวธรรมดา หรือเป็นธรรมะของทุกๆสิ่งทุกๆ อย่างในโลก ที่มีเกิดขึ้น ก็ต้องมีดับ นี่แหละคือตัวสังขาร ..(สมเด็จพระญาณสังวร)

วันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ปฏิจจสมุปบาท(๑)


 ..ได้แสดงพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตร ในข้อสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบมาโดยลำดับ ภิกษุทั้งหลายได้กราบเรียนถามท่านถึงอธิบายในข้อสัมมาทิฏฐิ เมื่อท่านได้ตอบไปตอนหนึ่งแล้ว ภิกษุทั้งหลายก็ได้กราบเรียนถามปริยายคือทางอธิบายอย่างอื่นต่อไปอีก ซึ่งท่านก็ตอบไปโดยลำดับ ตามหลักแห่งปฏิจจสมุปบาทธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น โดยยกเอาธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้นเหล่านี้ มาแสดงอธิบายทีละข้อ จำแนกออกเป็น ๔ ตามแนวแห่งอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ทุกข้อ จึงเท่ากับว่าพระเถราธิบายนี้ได้แสดงอธิบายอริยสัจจ์ ๔ หลายนัยยะ หลายปริยาย อย่างละเอียด ไปตามข้อธรรมะที่เนื่องกัน เป็นสายแห่งปฏิจจสมุปบาท ธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น..(สมเด็จพระญาณสังวร)

วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2556

อาสวะ อวิชชา อาสวะ...


....เมื่อท่านแสดงถึงอวิชชา ก็จะต้องมีปัญหาว่าเพราะอะไรเกิดจึงเกิดอวิชชา ท่านจึงแสดงว่าเพราะอาสวะเกิด จึงเกิดอวิชชา  และก็มีปัญหาต่อไปอีกว่า เพราะอะไรเกิดจึงเกิดอาสวะ ท่านจึงแสดงว่าเพราะอวิชชาเกิด จึงเกิดอาสวะ ก็เป็นอันว่าอาสวะกับอวิชชานี้ เป็นเหตุปัจจัยของกันและกัน อันนับว่าเป็นเหตุปัจจัยสุดท้ายที่ทางพระพุทธศาสนาได้แสดงไว้ จึงไม่มีเหตุปัจจัยที่จะแสดงสืบต่อขึ้นไปอีก...(สมเด็จพระญาณสังวร)


วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สัมมาทิฏฐิสูตร(๒๙)


....ได้แสดงข้อสัมมาทิฏฐิตามเถราธิบาย แห่งท่านพระสารีบุตรมาโดยลำดับ และได้แสดงอธิบายแต่ละข้อ จะได้กล่าวสรุปข้อที่ได้แสดงอธิบายแล้ว ตั้งแต่ต้นจนจบสักครั้งหนึ่ง...
....หลักในการตั้งอธิบายของท่าน ก็ตั้งหลักอธิบายตามหลักแห่งอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นั้นแหละ จับตั้งต้นแต่แสดงอธิบายว่า สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบก็ได้แก่ความเห็นตรงถูกต้อง....
.....ต่อจากนี้ท่านก็แสดงอธิบายไปตามหลักปฏิจจสมุปบาท ธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น ย้อนหลังขึ้นมา คือท่านแสดงอธิบายว่า สัมมาทิฏฐิก็ได้แก่ รู้จักชรามรณะ รู้จักสมุทัยเหตุเกิดชรามรณะ รู้จักความดับชรามรณะ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับชรามรณะ....
.....ก็ปฏิจจสมุปบาทที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงเอาไว้ ก็สิ้นสุดลงแค่อวิชชานี้ แต่ท่านพระสารีบุตร เมื่อท่านได้แจกออกเป็น ๔ ในหมวดอวิชชา ข้อ ๒ คือเหตุเกิดอวิชชา ท่านจึงแสดงอธิบายต่อไป ว่าเหตุเกิดอวิชชานั้นก็ได้แก่อาสวะ
.....และอาสวะจะเกิดขึ้นก็เพราะอวิชชาเกิดขึ้นอีกนั่นแหละ ก็เป็นอันว่า อวิชชามีก็เพราะอาสวะ อาสวะมีก็เพราะอวิชชา... จึงเป็นอันว่าวนกันอยู่ตรงนี้ จึงยุติกันอยู่ตรงนี้.....(สมเด็จพระญาณสังวร)

วันอังคารที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สัมมาทิฏฐิสูตร(๒๘)


...ซึ่งโดยปรกติทุกคนก็จะไม่รู้สึกว่ามีอนุสัยเหล่านี้อยู่ในจิต ยิ่งผู้ที่ปฏิบัติธรรมะได้ศีลได้สมาธิได้ปัญญา แต่ยังไม่เป็นมรรคกำจัดกิเลสได้ อนุสัยเหล่านี้ก็ยิ่งไม่ปรากฏ แต่ก็ยังมีอยู่ ยังนอนเนื่องอยู่ในจิต นอนจมอยู่ในจิต เป็นตะกอนอยู่ในจิต ที่ดังที่เปรียบไว้แล้วว่าเหมือนอย่างตะกอนนอนก้นตุ่ม ไม่ฟุ้งขึ้นมา น้ำในตุ่มก็ดูใสสะอาด แต่อันที่จริงนั้นไม่ใช่เป็นน้ำบริสุทธิ์สิ้นเชิง เพราะยังมีตะกอนนอนจมอยู่ก้นตุ่ม นี่คืออนุสัยที่พระพุทธเจ้าได้ทรงพบ ได้ตรัสแสดงไว้ในพระสูตรหนึ่ง ถึงความบังเกิดขึ้นของอนุสัยดั่งนี้ ว่าอาศัยเวทนานี้เอง หรือว่ากล่าวให้หมดก็คือว่า อาศัยอายตนะภายนอกภายในของบุคคลที่ประจวบกัน เกิดวิญญาณ และทั้ง ๓ นี้ก็มาประชุมกันเป็นสัมผัสหรือผัสสะ ก็เป็นเหตุให้เกิดเวทนา เมื่อเกิดเวทนาก็เป็นเหตุให้เกิดราคะบ้างคือติดใจยินดีในสุข ปฏิฆะบ้างคือว่าหงุดหงิดในทุกข์ อวิชชาบ้างคือไม่รู้ในเวทนาที่เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข ราคะ ปฏิฆะ อวิชชา เหล่านี้ก็ตกเป็นตะกอนนอนจมอยู่ในจิต เป็นราคานุสัยบ้าง ปฏิฆานุสัยบ้าง อวิชชานุสัยบ้าง ...(สมเด็จพระญาณสังวร)

วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สัมมาทิฏฐิสูตร(๒๗)


...อาสวะ ๓    กามาสวะ อาสวะคือกาม กามนั้นมี ๒ อย่าง คือกิเลสกาม กามคือความใคร่ที่เป็นตัวกิเลส กับวัตถุกาม กามคือวัตถุ อันหมายถึงพัสดุหรือสิ่งที่น่าใคร่ ที่ใคร่ที่ปรารถนาที่พอใจทั้งหลาย วัตถุกาม กามคือพัสดุดังกล่าว ย่อมเกิดขึ้นจากกิเลสกาม กามที่เป็นตัวกิเลส คือความใคร่ที่บังเกิดขึ้นในจิตใจ ต้องมีกิเลสกามขึ้นก่อน และเมื่อกิเลสกามไปใคร่ปรารถนาต้องการซึ่งพัสดุหรือสิ่งอันใด พัสดุหรือสิ่งอันนั้นก็ได้ชื่อว่าวัตถุกาม ถ้าหากว่าไม่มีความใคร่ในจิตใจ หรือว่าความใคร่ในจิตใจไม่มีบังเกิดขึ้นในสิ่งอันใด สิ่งอันนั้นก็ไม่เป็นวัตถุกาม...(สมเด็จพระญาณสังวร)

วันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สัมมาทิฏฐิสูตร(๒๖)


..รู้จัก อาสวะ..มีสามคือ กามาสวะ อาสวะคือกาม  ภวาสวะ  อาสวะคือภพ อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา...อาสวะคือกิเลสที่ดองจิตสันดาน  ที่หมักหมมในจิตสันดาน จัดเป็นกิเลสอย่างละเอียด..มีเรียกอีกชื่อหนึี่งว่า อนุสัย คือกิเลสที่นอนจมติดตามไปอยู่เสมอ อนุสัยนี้ก็แจกเป็นสามอีกเหมือนกัน คือ ราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัย..(สมเด็จพระญาณสังวร)



วันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สัมมาทิฏฐิสูตร(๒๕)


 ...อวิชชานี้เป็นข้อสำคัญในพุทธศาสนา ในปฏิจจสมุปบาทคือธรรมที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น พระพุทธเจ้าเมื่อทรงสาวขึ้นไปก็ถึงอวิชชา เพราะฉะนั้น อวิชชาจึงเป็นอันว่าเป็นปัจจัยแรกที่สำคัญ แห่งปัจจัยที่เกิดสืบต่อกันไปโดยลำดับ จนถึง ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ เป็นต้น และเราทั้งหลายได้รู้เรื่องอวิชชา ก็โดยที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสจำแนกแจกแจงแสดงสั่งสอนไว้ ถ้าไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถรู้เรื่องอวิชชาได้ ทั้งที่อวิชชานี้ ก็มิได้มีอยู่ที่ไหน มีอยู่ในจิตใจของทุกๆ คนนี้เอง ทุกๆ คนจะรู้จักหรือไม่รู้จักอวิชชา ซึ่งนับว่าเป็นตัวต้นเดิมของกิเลสทั้งหลาย อวิชชาก็คงมีอยู่...(สมเด็จพระญาณสังวร) 

วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สัมมาทิฏฐิสูตร(๒๔)




..... เพราะฉะนั้นทุกคนนั้นในปัจจุบันนี้ ย่อมประสบอยู่ทั้ง บางคราวก็เป็นเงื่อนปลาย บางคราวก็เป็นเงื่อนต้น คือในคราวที่มีทุกข์ เช่นโศก ทุกข์โศกต่างๆ เป็นต้น นี่กำลังพบอยู่กับเงื่อนปลาย กำลังร้องให้อยู่ คร่ำครวญอยู่ นี่กำลังพบเงื่อนปลาย ในขณะที่หัวเราะอยู่ ตื่นเต้นยินดีอยู่ นี่กำลังอยู่กับเงื่อนต้น เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมจึงสมควรที่จะหัดจับเงื่อนให้ถูก เมื่อกำลังอยู่กับเงื่อนปลายคือทุกข์โศกต่างๆ ก็ต้องจับเงื่อนต้นว่านี่เกิดจากตัณหาอุปาทานในจิตใจ ในขณะที่กำลังอยู่กับเงื่อนต้น คือกำลังอยู่กับตัณหาอุปาทาน มีความติดใจยินดี มีความเพลิดเพลิน มีความสุข ก็ต้องให้รู้ว่าจะต้องพบเงื่อนปลายในภายหลัง คือทุกข์ ในเมื่อยังมีตัณหาอุปาทานนี้อยู่ ดั่งนี้ เป็นการหัดจับเงื่อนต้นเงื่อนปลาย ในสายทุกข์ ......(สมเด็จพระญาณสังวร)

วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สัมมาทิฏฐิสูตร(๒๓)


 .....ท่านแสดงถึงญาณคือความหยั่งรู้ของพระพุทธเจ้าในราตรีที่ตรัสรู้ คือตั้งแต่ก่อนตรัสรู้ ทรงได้พระญาณ ๓ โดยลำดับ ในปฐมยามทรงได้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ความรู้ระลึกขันธ์เป็นที่อาศัยอยู่ในปางก่อนได้ คือระลึกชาติหนหลังได้ ทรงระลึกชาติหนหลังได้ไปมากมาย พร้อมทั้งความเป็นไปในชาตินั้นๆ ตลอดจนถึงชื่อโคตร สุขทุกข์ทั้งหลายเป็นต้นในชาตินั้นๆ ทรงระลึกได้สืบต่อกันมาโดยลำดับ จากชาตินั้น ก็มาสู่ชาตินั้น มาสู่ชาตินั้น เรื่อยมาจนถึงสู่ชาติปัจจุบัน และก็ย้อนหลังไปได้มากมาย ในมัชฌิมยามทรงได้จุตูปปาตญาณ คือความรู้ในจุติความเคลื่อน อุปบัติเข้าถึง ชาตินั้นๆ ของสัตว์ทั้งหลาย ว่าเป็นไปตามกรรม ทำกรรมชั่วไว้ก็ไปสู่ชาติที่ชั่วมีทุกข์ ทำกรรมดีไว้ก็ไปสู่ชาติที่ดีมีสุข ในปัจฉิมยามทรงได้อาสวักขยญาณ ความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะ คือกิเลสที่ดองจิตสันดานทั้งหลาย ก็คือทรงหยั่งรู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ อวิชชาดับไปหมด วิชชาบังเกิดขึ้น หรือวิชชาบังเกิดขึ้น อวิชชาดับไปหมด เหมือนอย่างความสว่างบังเกิดขึ้น ความมืดก็หายไป ตามพระญาณทั้ง ๓ ที่ท่านแสดงไว้นี้ ก็เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า เมื่อทรงได้พระญาณที่ ๑ ที่ ๒ ก็ยังมิได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ยังมีอวิชชาอยู่ คือแม้ว่าจะทรงระลึกชาติหนหลังได้เป็นอันมาก เรียกว่ารู้อดีตชาติ และทรงรู้ความเคลื่อนและความเข้าถึงชาตินั้นๆของสัตว์ทั้งหลาย ว่าเป็นไปตามกรรม ด้วยพระญาณที่ ๒ ก็ยังมีอวิชชาอยู่ จนถึงทรงได้ญาณที่ ๓ คือตรัสรู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ อาสวะกิเลสที่ดองจิตสันดานสิ้นไป อวิชชาดับ วิชชาเกิดขึ้น จึงทรงดับอวิชชาได้ด้วยพระญาณที่ ๓ นี้....

วันพุธที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สัมมาทิฏฐิสูตร(๒๒)


 .....อวิชชาก็คือไม่หยั่งรู้ในทุกข์ ไม่หยั่งรู้ในเหตุเกิดทุกข์ ไม่หยั่งรู้ในความดับทุกข์ ไม่หยั่งรู้ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ไม่รู้จักเหตุเกิดอวิชชา ก็คือไม่รู้จักว่าเพราะอาสวะเกิด อวิชชาจึงเกิด ไม่รู้ความดับอวิชชา ก็คือไม่รู้จักว่าเพราะอาสวะดับ อวิชชาจึงดับ ไม่รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอวิชชา ก็คือไม่รู้จักมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบเป็นต้น 
.....และที่แสดงอวิชชา ๘ ก็มี คือเติมเข้าอีก ๔ ข้อ อันได้แก่ไม่รู้จักเงื่อนต้น ไม่รู้จักเงื่อนปลาย ไม่รู้จักทั้งเงื่อนต้นทั้งเงื่อนปลาย ไม่รู้จักปฏิจจสมุปบาท คือธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น อีกปริยายคือทางแสดงอันหนึ่ง ก็ได้แก่ไม่รู้จักอดีต ไม่รู้จักอนาคต ไม่รู้จักทั้งอดีตทั้งอนาคต ไม่รู้จักปฏิจจสมุปบาท คือธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น.....(สมเด็จพระญาณสังวร)

วันอังคารที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สัมมาทิฏฐิสูตร(๒๑)


.....เรื่องสังขารนี้ จึงเป็นข้อที่ควรทำความเข้าใจ และพิจารณาในทางวิปัสสนากรรมฐานได้เป็นอย่างดียิ่ง ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอน แต่ในที่นี้ก็ต้องการที่จะให้มีความเข้าใจในความหมายของคำว่าสังขาร เพียงว่าได้แก่สิ่งที่ผสมปรุงแต่งขึ้น หรืออาการที่ผสมปรุงแต่งขึ้น เรียกว่าสังขาร และที่ท่านจำแนกสังขารไว้เป็น ๓ คือกายสังขาร วจีสังขาร จิตสังขาร.... 
...กายสังขารนั้นก็ได้แก่ปรุงแต่งกาย อธิบายว่าลม อัสสาสะ ปัสสาสะ คือลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ได้ชื่อว่ากายสังขารปรุงแต่งกาย เพราะว่าเป็นเครื่องบำรุงปรนปรือกายอยู่ตลอดเวลา กายดำรงอยู่ได้ก็เพราะมีลมอัสสาสะปัสสาสะ บำรุงปรนปรืออยู่ตลอดเวลาไม่มีหยุด ดังจะพึงเห็นได้ว่าทุกๆ คนนั้นไม่มีหยุดหายใจ กายจึงดำรงอยู่ได้ ที่เรียกว่าชีวิต หากหยุดหายใจเมื่อใด กายก็ดำรงอยู่ไม่ได้   ฉะนั้น ลมอัสสาสะปัสสาสะจึงเรียกว่ากายสังขาร เป็นเครื่องปรุงกาย ..
..วจีสังขารแปลว่าปรุงแต่งวาจา ได้แก่วิตกวิจารที่แปลว่าความตรึกความตรอง วิตกวิจารนี้เองเป็นต้นของวาจาที่ทุกๆ คนพูด ก็คือว่าพูดจากใจที่วิตกวิจาร คือที่ตรึกตรอง อาจจะกล่าวได้ว่าจิตใจนี้พูดก่อน คือตรึกตรองขึ้นมาก่อน จึงพูดออกทางวาจา หรือว่าวาจาจึงพูดออกมา ถ้าหากว่าไม่มีวิตกวิจาร ขึ้นในจิตใจก่อน การพูดอะไรออกไปทางวาจาก็เป็นวาจาของคนที่เพ้อคลั่ง หรืออาการที่เพ้อหรือที่กล่าวในเวลาหลับ และจะไม่เป็นภาษา ฉะนั้น วาจาที่ทุกๆ คนพูดนี้จึงออกมาจากจิตใจ ที่มีวิตกมีวิจาร คือที่ตรึกตรอง ฉะนั้น วิตกวิจารจึงเรียกวจีสังขาร เป็นเครื่องปรุงวาจา ...

... จิตตสังขาร ปรุงแต่งจิต ก็ได้แก่ สัญญา เวทนา เวทนานั้นก็ได้แก่ความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข สัญญานั้นก็ได้แก่ความจำได้หมายรู้ เช่นจำรูปจำเสียงจำกลิ่นจำรสจำโผฏฐัพพะจำธรรมะคือเรื่องราว เวทนาสัญญานี้ เรียกกลับกันว่าสัญญาเวทนา เป็นเครื่องปรุงจิต คือปรุงจิตใจให้คิดไปต่างๆ ความคิดไปต่างๆ นั้นอาศัยสัญญาเวทนา ถ้าหากว่าไม่มีสัญญาคือความจำได้หมายรู้ ไม่มีเวทนาคือรู้เป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ก็คิดอะไรไม่ได้ เพราะทุกๆ คนนั้น จะไปคิดในเรื่องที่ตนเองจำไม่ได้ หรือว่าที่ลืมไปแล้วนั้น หาได้ไม่ จะคิดอะไรได้ ก็ต้องคิดได้ตามที่จำได้เท่านั้น ....(สมเด็จพระญาณสังวร)

วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สัมมาทิฏฐิสูตร(๒๐)


...รู้จักวิญญาณ ก็คือรู้จักหมู่แห่งวิญญาณ ๖ คือ หมู่แห่งจักขุวิญญาณ วิญญาณทางตา หมู่แห่งโสตะวิญญาณ วิญญาณทางหู หมู่แห่งฆานะวิญญาญ วิญญาณทาง จมูก หมู่แห่งชิวหาวิญญาณ วิญญาณทางลิ้น หมู่แห่งกายะวิญญา วิญญาณทางกาย หมู่แห่งมโนวิญญาณ วิญญาณทางมโนคือใจ รู้จักเหตุเกิดแห่งวิญญาณ ก็คือรู้จักว่า เพราะสังขารเกิด วิญญาณจึงเกิด รู้จักความดับแห่งวิญญาณ ก็คือรู้จักว่า เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับวิญญาณ ก็คือรู้จักว่า มรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบเป็นต้น เป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับวิญญาณ...
  ...และก็ยังได้แสดงถึงสัตว์บุคคลที่เกิดมา เริ่มตั้งแต่ถือปฏิสนธิในครรภ์ของมารดา ก็เรียกกันว่าปฏิสนธิวิญญาณ ปฏิสนธิจิตก็เรียก และเมื่อมีปฏิสนธิวิญญาณหรือปฏิสนธิจิตในครรภ์ของมารดาแล้ว ก็เริ่มปฐมจิตปฐมวิญาณขึ้นมา เริ่มก่อเกิดนามรูปขึ้นมาตั้งแต่ในเบื้องต้น...(สมเด็จพระญาณสังวร)

วันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สัมมาทิฏฐิสูตร(๑๙)


.....อัน รูป นั้นก็ได้นำมาใช้กันในภาษาไทยเป็นที่รู้จักกัน เช่น รูปร่างหน้าตา รูปกาย ตามศัพท์คำว่ารูปนั้นแปลว่าชำรุด สิ่งใดย่อมชำรุด สิ่งนั้นชื่อว่ารูป ตามความหมาย ก็หมายถึงรูปที่เป็น รูปขันธ์ หรือที่เป็น รูปกาย .... 
.....และได้มีแสดงอธิบายไว้เป็น ๒ อย่าง ตามพระเถราธิบายนั้นเอง ก็คือ มหาภูตรูป กับ อุปาทายรูป ...
.....มหาภูตรูป รูปที่เป็นภูตะใหญ่ ภูตะก็แปลว่าสิ่งที่เป็น สิ่งที่มี รูปที่เป็นสิ่งที่มีสิ่งที่เป็นส่วนใหญ่ เรียกว่า มหาภูตรูป ก็ได้แก่ธาตุทั้ง ๔ ที่ประกอบอยู่ในกาย คือในรูปกายนี้ อันได้แก่ส่วนที่แข้นแข็งบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ ก็เรียกว่าปฐวีธาตุ ธาตุดิน ส่วนที่เอิบอาบเหลวไหลบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ ก็เรียกว่าอาโปธาตุ ธาตุน้ำ สิ่งที่อบอุ่นบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ ก็เรียกว่าเตโชธาตุ ธาตุไฟ สิ่งที่พัดไหวบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ ก็เรียกว่าวาโยธาตุ ธาตุลม ธาตุทั้ง ๔ บรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ นี่แหละคือมหาภูตรูปทั้ง ๔ อันแปลว่ารูปที่เป็นมหาภูตะ คือที่เป็นธาตุส่วนใหญ่ประกอบเข้าเป็นกาย เมื่อธาตุทั้ง ๔ นี้ยังคุมกันอยู่ กายนี้ก็ย่อมดำรงอยู่ คือเป็นกายมีชีวิต เมื่อธาตุทั้ง ๔ นี้แตกสลาย ความดำรงอยู่แห่งกายนี้ก็สิ้นไป ชีวิตก็สิ้นไป.... 
....อุปาทายรูป ที่แปลว่ารูปอาศัย คือเป็นรูปที่อาศัยอยู่แห่งมหาภูตรูปทั้ง ๔ เหล่านี้ อันได้แก่ประสาททั้ง ๕ คือ
สิ่งที่ให้สำเร็จการเห็นเรียกว่าจักขุประสาท
สิ่งที่ให้สำเร็จการได้ยินเรียกว่าโสตะประสาท
สิ่งที่ให้สำเร็จการทราบกลิ่นเรียกว่าฆานะประสาท
สิ่งที่ให้สำเร็จการทราบรสเรียกว่าชิวหาประสาท
สิ่งที่ให้สำเร็จการถูกต้องเรียกว่ากายประสาท...(สมเด็จพระญาณสังวร)

วันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สัมมาทิฏฐิสูตร(๑๘)


.. รู้จักนามรูปก็คือรู้จัก นาม อันได้แก่ เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ รู้จัก รูป ก็คือรู้จักมหาภูตรูปทั้ง ๔ และอุปาทายรูป รูปอาศัยแห่งมหาภูตรูปทั้ง ๔ นั้น......รู้จักเหตุเกิดแห่งนามรูป ก็คือรู้จักว่าเพราะวิญญาณเกิด นามรูปจึงเกิด รู้จักความดับนามรูป ก็คือรู้จักว่าเพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับนามรูป ก็คือรู้จักมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบเป็นต้น ..(สมเด็จพระญาณสังวร)

วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สัมมาทิฏฐิสูตร(๑๗)


..อายตนะนี้ ก็เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า มีอยู่ ๒ อย่างคู่กัน อันได้แก่อายตนะภายใน กับอายตนะภายนอก อายตนะภายในนั้นก็ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมนะคือใจ อายตนะภายนอกนั้นก็ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง และธรรมะคือเรื่องราว 
    คำว่าอายตนะนี้แปลว่าที่ต่อ อันหมายความว่าอายตนะภายใน กับอายตนะภายนอกต่อกัน คือ ตากับรูปต่อกัน หูกับเสียงต่อกัน จมูกกับกลิ่นต่อกัน ลิ้นกับรสต่อกัน กายกับโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้องต่อกัน มโนคือใจกับธรรมะคือเรื่องราวต่อกัน ฉะนั้น จึงเรียกว่าอายตนะ ..(สมเด็จพระญาณสังวร)

วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สัมมาทิฏฐิสูตร(๑๖)


...รู้จักผัสสะ ก็คือรู้จักสัมผัส ๖ อันได้แก่ จักขุสัมผัส สัมผัสทางตา โสตะสัมผัส สัมผัสทางหู ฆานะสัมผัส สัมผัสทางจมูก ชิวหาสัมผัส สัมผัสทางลิ้น กายสัมผัส สัมผัสทางกาย และมโนสัมผัส สัมผัสทางใจ 
    รู้จักเหตุเกิดแห่งผัสสะ ก็คือรู้จักว่าผัสสะเกิดขึ้นเพราะอายตนะ ๖ เกิดขึ้น 
    รู้จักความดับผัสสะ ก็คือรู้จักว่าผัสสะดับก็เพราะอายตนะ ๖ ดับ 
    รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับผัสสะ ก็คือรู้จักมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น ..(สมเด็จพระญาณสังวร)

วันพุธที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สัมมาทิฏฐิสูตร(๑๕)


....ดังที่มีเรื่องเล่าถึงพระนางสามาวดีที่ถูกไฟครอกสิ้นพระชนม์ในปราสาท โดยที่มีผู้ริษยาจุดไฟเผาปราสาทที่พระนางได้ประทับอยู่ และปิดกั้นประตูมิให้ออกได้ ได้มีแสดงว่าพระนางได้เจริญ เวทนาปริคคหกรรมฐาน คือกรรมฐานที่กำหนดเวทนา กำหนดดูเวทนาที่เกิดขึ้นในขณะที่ถูกไฟเผาร่างกาย และเมื่อได้ตั้งใจกำหนดดูจริงๆ ก็จะมีความแยกระหว่างกาย กับผู้ดูผู้รู้ คือผู้ที่กำหนดเวทนานั้นชื่อว่าเป็นผู้ดูผู้รู้ สิ่งที่ถูกกำหนดดูก็คือกาย และเมื่อแยกออกจากกันได้ อันหมายความว่าสติที่กำหนดดูกำหนดรู้นั้นมีกำลัง   เวทนาที่เป็นทุกข์จึงอยู่แค่กาย คืออยู่ที่กาย มิใช่อยู่ที่จิตใจ หรือมิใช่อยู่ที่ผู้กำหนดดูกำหนดรู้ เมื่อเป็นดั่งนี้ จึงชื่อว่าแยกกายออกจากใจได้ เมื่อแยกกายออกจากใจได้ ใจก็ไม่ต้องรับเป็นทุกขเวทนาทางใจ ทุกขเวทนาก็เป็นทุกขเวทนาของกาย แต่ว่าไม่เป็นทุกขเวทนาของใจ  สติที่กำหนดดูกำหนดรู้ เวทนานี้จึงแยกได้ดั่งนี้ ...(สมเด็จพระญาณสังวร)

วันอังคารที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สัมมาทิฎฐิสูตร(๑๔)


......สิ่งที่ไปกับตัณหา ก็ได้แก่ นันทิ ความเพลิน ... ราคะ  ความติดใจยินดี...มีความอภินันท์  มีความยินดียิ่ง ๆ ขึ้นไปในอารมณ์นั้น  ตัณหาย่อมให้ผลเป็นไปเพื่อภพใหม่  ทั้งในปัจจุบันและในภายหน้า...(สมเด็จพระญาณสังวร)