หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สัมมาทิฏฐิสูตร(๑๙)


.....อัน รูป นั้นก็ได้นำมาใช้กันในภาษาไทยเป็นที่รู้จักกัน เช่น รูปร่างหน้าตา รูปกาย ตามศัพท์คำว่ารูปนั้นแปลว่าชำรุด สิ่งใดย่อมชำรุด สิ่งนั้นชื่อว่ารูป ตามความหมาย ก็หมายถึงรูปที่เป็น รูปขันธ์ หรือที่เป็น รูปกาย .... 
.....และได้มีแสดงอธิบายไว้เป็น ๒ อย่าง ตามพระเถราธิบายนั้นเอง ก็คือ มหาภูตรูป กับ อุปาทายรูป ...
.....มหาภูตรูป รูปที่เป็นภูตะใหญ่ ภูตะก็แปลว่าสิ่งที่เป็น สิ่งที่มี รูปที่เป็นสิ่งที่มีสิ่งที่เป็นส่วนใหญ่ เรียกว่า มหาภูตรูป ก็ได้แก่ธาตุทั้ง ๔ ที่ประกอบอยู่ในกาย คือในรูปกายนี้ อันได้แก่ส่วนที่แข้นแข็งบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ ก็เรียกว่าปฐวีธาตุ ธาตุดิน ส่วนที่เอิบอาบเหลวไหลบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ ก็เรียกว่าอาโปธาตุ ธาตุน้ำ สิ่งที่อบอุ่นบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ ก็เรียกว่าเตโชธาตุ ธาตุไฟ สิ่งที่พัดไหวบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ ก็เรียกว่าวาโยธาตุ ธาตุลม ธาตุทั้ง ๔ บรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ นี่แหละคือมหาภูตรูปทั้ง ๔ อันแปลว่ารูปที่เป็นมหาภูตะ คือที่เป็นธาตุส่วนใหญ่ประกอบเข้าเป็นกาย เมื่อธาตุทั้ง ๔ นี้ยังคุมกันอยู่ กายนี้ก็ย่อมดำรงอยู่ คือเป็นกายมีชีวิต เมื่อธาตุทั้ง ๔ นี้แตกสลาย ความดำรงอยู่แห่งกายนี้ก็สิ้นไป ชีวิตก็สิ้นไป.... 
....อุปาทายรูป ที่แปลว่ารูปอาศัย คือเป็นรูปที่อาศัยอยู่แห่งมหาภูตรูปทั้ง ๔ เหล่านี้ อันได้แก่ประสาททั้ง ๕ คือ
สิ่งที่ให้สำเร็จการเห็นเรียกว่าจักขุประสาท
สิ่งที่ให้สำเร็จการได้ยินเรียกว่าโสตะประสาท
สิ่งที่ให้สำเร็จการทราบกลิ่นเรียกว่าฆานะประสาท
สิ่งที่ให้สำเร็จการทราบรสเรียกว่าชิวหาประสาท
สิ่งที่ให้สำเร็จการถูกต้องเรียกว่ากายประสาท...(สมเด็จพระญาณสังวร)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น