...ฯลฯ...
มีคำอธิบายเรื่องชีวิตไว้หลากหลายในศาสตร์ต่าง ๆ แต่ในที่นี้จะขอนำเสนอในแง่มุมของพุทธศาสนา ซึ่งเข้าใจกันดีอยู่แล้วโดยทั่วไปว่า " ชีวิต " คือ " กาย กับ จิต " โดยเสนอให้พิจารณาดังต่อไปนี้ว่า
กาย คืออะไร ?...ต้องการอะไร ?...เพื่ออะไร ?
จิต คืออะไร ? ... ต้องการอะไร ?...เพื่ออะไร ?
กล่าวโดยสรุป:
" กาย " คือ ธรรมชาติที่เกิดจากการประกอบกันเข้าของธาตุพื้นฐานทั้ง ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ
" กาย "ต้องการ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ จากธรรมชาติภายนอกซึ่งอยู่ในรูปของปัจจัย ๔ ( อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรค)
เพื่อ หล่อเลี้ยงและค้ำจุนฝ่ายกาย ให้สามารถดำรงอยู่และทำหน้าที่ได้ตามปกติ
" จิต " คือ ธรรมชาติรู้
" จิต " ต้องการ ความรู้ที่ถูกต้อง
เพื่อ หยุดความสงสัย หยุดความดิ้นรนกระวนกระวาย หรือหยุดปัญหาที่เกิดจากความไม่รู้ของตัวจิตเอง เพราะตราบใดที่จิตยังไม่รู้ถูกต้องหรือไม่รู้แจ้งในเรื่องใด เรื่องนั้นก็ยังมีอันพันพัวจิตให้ดิ้นรนด้วยความงุนงงสงสัย ไม่สามารถสงบ นิ่ง เป็นปกติได้
เมื่อรู้ธรรมชาติของ " ชีวิต " ถูกต้อง ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว จะทำให้ :
@ ..รู้ว่า การมีชีวิตนั้น ธรรมชาติได้กำหนดสิ่งที่เรียกว่า " หน้าที่ " มาพร้อมแล้วกับตัวชีวิต ซึ่งอันที่จริงก็คือเรื่องเดียวกันกับ " ความต้องการ " ของชีวิตในแต่ละฝ่ายนั่นเอง กล่าวคือ " ความต้องการ " ที่ว่านี้เป็นความต้องการแท้ ๆ ของธรรมชาติ ที่บังคับบุคคลให้มี " หน้าที่ " ที่ต้องกระทำเพื่อตอบสนอง ไม่ทำไม่ได้ หรือหากไม่ทำ ชีวิตก็จะประสบปัญหาและความยากลำบากทำให้ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในที่สุด
เมื่อรู้ถึง " ความต้องการ " ที่แท้จริงของธรรมชาติก็จะทำให้ :
@..รู้ถึง " ความต้องการ " ของบุคคลที่คิดนึกไปเองด้วยความหลงหรือความเข้าใจผิด อย่างที่เรียกว่า " ตัณหา " เรื่องนี้สำคัญมาก หลักธรรมในพุทธศาสนาแสดงไว้ว่า " ตัณหา " หรือ " ความทะยานอยาก " นี้คือ " เหตุแห่งทุกข์ " หมายความว่าปัญหาหรือความทุกข์ที่มนุษย์ประสบล้วนมีสาเหตุสำคัญมาจาก " ตัณหา " หรือ " ความต้องการ " ที่บุคคลเข้าใจผิดไปเอง คือไปต้องการในสิ่งที่ชีวิตจริง ๆ ไม่ได้มีความต้องการ
นอกจากนั้น ยังทำให้ :
@..รู้และเข้าใจเป้าหมายของชีวิตอย่างถูกต้อง รู้คำตอบของชีวิตว่า " เกิดมาทำไม " ซึ่งกล่าวโดยสรุป ก็คือ " การมีสุขภาพทางกายที่สมบูรณ์ เพื่อให้เป็นฐานรองรับการแสวงหาความรู้ที่ถูกต้องของจิต จนกว่าจิตจะรู้ถูกต้องอย่างสมบูรณ์ ทำให้จิตมีภาวะปลอดโปร่งจากความดิ้นรนทั้งปวง " และยังทำให้รู้คุณค่าและความหมายของสิ่งต่าง ๆ ที่มีต่อชีวิตอย่างถูกต้อง จึงทำให้สามารถเข้าไปทำหน้าที่และเกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวได้ถูกต้อง ไม่ก่อปัญหากับสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ภายนอก
...ฯลฯ...
(จากหนังสือ คู่มือ บัณฑิตของแผ่นดิน จัดพิมพ์และเผยแพร่โดย ธรรมสถาน สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
********
ชีวิตคือการลงทุน(คลิก)
ธรรมะ ธรรมดา ธรรมชาติ (คลิก)
********
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น