หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

กงกรรมกงเกวียน


 ทำอย่างไรไว้ย่อมได้สิ่งนั้น

               นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๙๒ ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา นักเรียนหนุ่มวัย ๑๘ ปีผู้หนึ่ง ต้องดิ้นรนหาเงินมาชำระค่าเทอมที่มหาวิทยาลัย เขาเป็นเด็กกำพร้า ไม่ทราบว่าจะหันหน้าไปทางไหนเพื่อหาเงินมาเป็นค่าเล่าเรียน แต่แล้วก็เกิดความคิดที่สดใส เขากับเพื่อนคนหนึ่งตัดสินใจว่าจะจัดงานคอนเสิร์ตดนตรีขึ้นในมหาวิทยาลัยเพื่อหาเงินมาเป็นทุนการศึกษา

               พวกเขาไปเชิญนักเปียโนผู้มีชื่อเสียงให้มาเป็นผู้เปิดการแสดงคอนเสิร์ต นักเปียโนท่านนั้นชื่อ อิกนาซี เจ ปาดีริวสกี ผู้จัดการของคุณปาดีริวสกีเรียกร้องค่าจัดการแสดง ๒,๐๐๐ ดอลลาร์ (เป็นเงินถึง หกหมื่นกว่าบาทในปี 1892 ถือว่าแพงมากๆ) ทั้งสองฝ่ายตกลงทำสัญญากัน

             ...แต่สวรรค์ช่างไม่ปราณี หนุ่มน้อยทั้งสองขายบัตรได้ไม่มากพอ เมื่อรวบรวมเงินที่ขายบัตรทั้งหมดแล้วได้เงินมาเพียง ๑,๖๐๐ ดอลลาร์ ภายหลังการแสดงจบสิ้นลง พวกเขาไปหาปาดีริวสกี ชี้แจงความจริงให้ทราบ พวกเขายกเงินที่ขายบัตรได้หมดให้ปาดีริวสกี พร้อมเช็คอีก ๑ ใบ เป็นเงิน ๔๐๐ ดอลลาร์ และสัญญาว่าจะหาเงินเข้าบัญชีให้เร็วที่สุด

            ปาดีริวสกีกล่าวว่า   “นี่เป็นเรื่องที่ผมยอมรับไม่ได้นะครับ” 

เขาฉีกเช็คใบนั้นแล้วคืนเงิน ๑,๖๐๐ เหรียญให้หนุ่มน้อยทั้งสอง

               “พวกคุณหักค่าใช้จ่ายในการจัดการแสดงให้ครบถ้วน แล้วเก็บเงินจำนวนที่คุณต้องจ่ายค่าเทอมเอาไว้ เหลือเงินเท่าไร คุณค่อยมอบให้ผมนะครับ”

              แม้มันจะเป็นความเมตตาเพียงเล็กน้อย แต่การกระทำของปาดีริวสกีก็เป็นเครื่องบ่งชี้ได้ว่า เขาเป็นคนดีเลิศ มีจิตใจที่เปี่ยมเมตตา ...

         เราทุกคนคงเคยเจอสถานการณ์เช่นนี้มาบ้างแล้วในชีวิตจริง และส่วนใหญ่ พวกเราจะคิดกันว่า 

        “ถ้าเราช่วยเขาแล้ว เราจะได้อะไรบ้างเล่า” 

แต่คนดีนั้นจะคิดว่า 

         “ถ้าเราไม่ช่วยเขาแล้ว พวกเขาจะเป็นอย่างไร” 

          พวกเขาให้ความช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยากโดยไม่คาดหวังสิ่งตอบแทน พวกเขาทำไปเพราะรู้สึกสมควรว่าต้องทำเช่นนั้น

ต่อมา ปาดีริวสกีกลายเป็นนายกรัฐมนตรีโปแลนด์ ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ประชากรโปแลนด์อดอยากและหิวโหย รัฐบาลไม่มีเงินพอจะซื้ออาหารมาเลี้ยงดูประชาชน 

                 ปาดีริวสกีตัดสินใจร้องขอความช่วยเหลือไปยังองค์การอาหารเพื่อการบรรเทาทุกข์แห่งสหรัฐอเมริกา หัวหน้าองค์การนี้ชื่อ    เฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ ซึ่งต่อมากลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ฮูเวอร์ส่งเรือบรรทุกอาหารไปยังโปแลนด์ พลิกสถานการณ์ภัยพิบัติได้ในเวลาอันสั้น

             ปาดีริวสกีตัดสินใจเดินทางไปสหรัฐฯเพื่อขอบคุณฮูเวอร์ด้วยตนเอง เมื่อเขาเริ่มกล่าวคำขอบคุณ ฮูเวอร์ก็ตัดบทเขาโดยกล่าวว่า 

         “ท่านนายกรัฐมนตรีครับ ท่านไม่ควรต้องขอบคุณผมเลยนะครับ ท่านอาจจำเรื่องราวไม่ได้แล้ว แต่หลายปีก่อน ท่านได้ช่วยนักเรียนหนุ่มสองคนให้ได้เรียนมหาวิทยาลัย ผมเป็นหนึ่งในสองคนนั้นครับ”


             โลกนี้ช่างน่าอัศจรรย์ ทำอย่างไรไว้ย่อมได้สิ่งนั้นกลับคืน กงกรรมกงเกวียนเกิดขึ้นอยู่เสมอ

******

Cr.https://www.facebook.com/share/p/mkSNw5Em1wbnZPLY/?mibextid=oFDknk

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น