หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

มนุษย์

 


      มนุษย์ ที่แปลอย่างหนึ่งว่า ผู้มีจิตใจสูง คือมีความรู้สูง ดังจะเห็นได้ว่าคนเรามีพื้นฐานปัญญาสูงกว่าสัตว์ดิรัจฉานมากมาย สามารถรู้จักเปรียบเทียบในความดี ความชั่ว ความควรทำไม่ควรทำ รู้จักละอาย รู้จักเกรง รู้จักปรับปรุงสร้างสรรค์ที่เรียกว่า วัฒนธรรม อารยธรรม ศาสนา เป็นต้น แสดงว่ามีความดีที่ได้สั่งสมมา โดยเฉพาะปัญญาเป็นรัตนะ ส่องสว่างนำทางแห่งชีวิต ถึงดังนั้นก็ยังมีความมืดที่มากำบังจิตใจให้เห็นผิดเป็นชอบ ความมืดที่สำคัญนั้นก็คือ กิเลสในจิตใจและกรรมเก่าทั้งหลาย...

******

Cr. หนังสือ " ๑๐๐ คำสอนสมเด็จพระสังฆราช" สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก

วันอังคารที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

รู้สึกตัว...ปล่อยวาง


 ธรรมะอรุณสวัสดิ์...รับวันใหม่ 

.............................

ลืมตาแต่รู้สึกตัว … กับลืมตาแต่ไม่รู้สึกตัว 

… มันต่างกัน 


คนไม่ปฏิบัติ … ลืมตาแล้วก็ลืมตัว 

ลืมตาแล้วก็มองอะไรเรื่อยเปื่อย คิดอะไรไปเรื่อย   

มันไม่รู้ตัวเลย 

ไม่รู้กายเป็นอย่างไร ใจเป็นอย่างไร 

อย่างนี้คือเราไม่ได้มีสติ เราไม่มีสัมปชัญญะ 


เราจะต้องมาฝึกว่าลืมตาแล้วรู้สึกตัว 

ลืมตาแต่ไม่ลืมตัว ได้ไหม 

ลืมตาแต่ไม่ลืมตัว … คือมีความรู้ตัว 

อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า 

อาโลกิเต วิโลหิเต สัมปะชานะการี โหติ 

พึงทำความรู้สึกตัวในขณะลืมตา 

ไม่ได้นั่งกรรมฐานหลับตาเท่านั้น 

ลืมตาภาวนา รู้สึกตัว ลืมตาอย่างรู้สึกตัว 


โยมก็ทำได้ขณะนี้ 

ขณะนี้ลืมตาอยู่ ลองให้มันรู้สึกตัวขึ้น 

เวลาเกิดความรู้สึกตัว ถามว่ามันจะรู้อะไร? 

… มันก็รู้ตัว 

พอรู้สึกตัว มันก็รู้ตัว 


"ตัว" คืออะไร? 

ชีวิตนี้มันคือ "ตัว" 

"ตัว" นี้มันประกอบด้วยอะไร?  

ย่อ ๆ ๒ อย่าง กาย … กับใจ  

ฉะนั้นเวลารู้สึกตัว มันจะต้องมีการรู้กายรู้ใจขึ้นมา 

ถ้ามันมีการรู้กายรู้ใจ คือเรามีสติมีสัมปชัญญะ  

เรียกว่ารู้สึกตัว 


ลืมตาอย่างรู้สึกตัว มองอย่างรู้สึกตัว 

ถ้ามองอย่างรู้สึกตัว มันจะเหมือนมีตาใน 

ตาในจะมี ๒ ตา คือ 

๑. ตาเนื้อ กับ 

๒. ตาใจ ใจที่มีปัญญา 

อย่างที่เขาบอกว่าดวงตาเห็นธรรม 

ทำอย่างนี้มันจะไปสู่ดวงตาเห็นธรรม 

ธรรมจักษุ มีดวงตาเห็นธรรม 


ตาเนื้อมันก็จะต้องเห็นภายนอก 

อย่างลืมตาก็จะเห็นภายนอก 

แต่พอเรามีความรู้สึกตัวขึ้น มันก็จะมีตาใน 

มันจะมีตาใจที่กลับมารู้ตัว รู้กายรู้ใจ 

รู้กาย กายขณะนี้นั่งอยู่ กายหายใจอยู่ กายรู้สึกอย่างไรอยู่ 

แล้วก็รู้ถึงใจว่าใจเป็นอย่างไร 

สบายใจไหม หรือไม่สบายใจอยู่ 

หรือชอบใจอยู่ หรือไม่ชอบใจ 

มันจะเกิดการรู้แบบนี้ขึ้นมาถ้ามีความรู้สึกตัวขึ้น 

ดีไหมแบบนี้ 


คนที่มองแล้วไม่รู้สึกตัว 

บางทีเรามองไปเราก็โกรธ เรารัก เราชัง เราก็ไม่รู้ตัว 

ใจเราก็จะร้อนแล้ว 

ใจเราก็จะร้อนอกร้อนใจด้วยความอยากบ้าง ด้วยความโกรธเกลียด 

เดี๋ยวมันก็จะมีพฤติกรรมออกไปทางวาจาทางกายที่ไม่ดี 

แต่ที่จริงมันเกิดทางใจก่อน มันร้อนที่ใจก่อน 

แต่ถ้าเรามองแล้วรู้สึกตัว มันก็จะรู้กายใจ 

ถ้าเกิดใจมันเผลอไปชอบ มันก็รู้ว่า อ๋อ นี่ชอบ 

ใจมันเผลอไปไม่ชอบ มันขุ่น เราก็รู้แล้ว 

รู้อย่างนี้ มันจะดับ 

โดยเฉพาะเราฝึกการปล่อยวางเป็น 

ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมที่จะเพียบพร้อมสมบูรณ์ 

ก็คือมันจะประกอบด้วยความปล่อยวาง 

รู้สึกตัวทั่วพร้อมอย่างปล่อยวาง 

.............................

ธัมโมวาท โดยหลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี

เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา


*****

Cr.https://www.facebook.com/100050180992815/posts/pfbid0FxYBHDubc63KsZr8F1eA2bxv8uQcJvSz3ndydbea9jJrRuMHAfPjpPJdnVuziqJUl/?mibextid=Nif5oz

วันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

มีสติ..รู้เขา รู้เรา..

 

ธรรมะอรุณสวัสดิ์...รับวันใหม่ 

.............................

เมื่อมีสติรู้ชัดในกายใจตัวเอง มองใจตัวเองได้ออก 

มันก็คุมใจเราได้ 

นี่เราโกรธ นี่เราชอบ นี่เราชัง   

แล้วก็ปล่อยวาง ละวาง มันก็ดับไป 

ใจเราก็เย็น พูดเราก็พูดได้ปกติ ฟังเราก็ฟังได้ปกติ 

เราสื่อสัมพันธ์บุคคล เราก็จะเท่าทัน 


ถ้าเราเป็นผู้เจริญสติที่จะเก่งมากขึ้น 

มันต้องใช้กำลังของความตั้งสติเยอะ 

ถ้าเราไม่เกี่ยวข้องกับการต้องไปรู้เรื่องของเขา 

มันก็เอาแค่สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยิน 

อย่างไรก็ช่าง ฉันจะดูแค่รู้สึก ๆ ฉันดูข้างใน ฉันรักษาใจสงบเย็น 

อันนี้มันก็พอง่ายกว่า 


สมมติว่าเราเป็นหมอ

เราอยู่กับคนป่วย เราทำอย่างนั้นไม่ได้ 

เขาจะพูดอย่างไรมา ฉันสักแต่ว่าได้ยิน ๆ อย่างนี้ไม่ได้ 

ยิ่งเราทำงานกับคนป่วยคนไข้นี่ต้องรู้เขารู้เรา 

พูดอะไรมาฉันก็สักแต่ว่าได้ยิน ๆ อย่างนี้ไม่ได้ 

มันต้องรู้เขา 

พูดแบบนี้มันหมายความอย่างไร 

พูดอย่างนี้ ๆ เขาป่วยเป็นอย่างไร ๆ 

ต้องตามเรื่องเขาถูกด้วย 

ตามเรื่องเขาถูก วินิจฉัยถูก 

แต่ว่าไม่ลืมในตัวเอง 

ตรงนี้ ตรงที่มันมีสติสัมปชัญญะรู้ในตัวเองด้วย 


เพราะฉะนั้นงานมันเยอะ 

งานมันจะต้องรู้เขา 

มันจะต้องรู้ไปในสมมติด้วย 

ที่เขาพูด ๆ อย่างนี้ความหมายมันคืออะไรอย่างไร 

ต้องนึกตามได้ออกว่าเหตุผลมันเป็นอย่างนั้น ๆ  

แต่ไม่ลืมกายใจตัวเอง 

มีสติที่จะรู้ตัวเอง 


งานกรรมฐานแบบนี้ที่จะเอามาใช้ในชีวิตประจำวัน 

มันยากขึ้น เพราะภาระมันเยอะ 

มันต้องรู้เรื่องของเขาด้วย 

แล้วก็จะต้องไม่ลืมภาวะของตัวเองที่จะรักษาความเป็นปกติของตัวเอง 

แต่มันทำได้ 

ถ้าเราหัดฝึกไปเรื่อย ๆ เราจะทำได้ 

แต่เราต้องตั้งสติเยอะหน่อย   

เราฟังคนป่วย เราก็ตั้งสติ 

รู้ตัวเองไว้ รู้ตัวเอง รู้กาย 

แต่เราก็ต้องรู้เขา เขาพูดมาหมายความอย่างไร เป็นบัญญัติด้วย 

แต่ก็ไม่ลืมตัวเอง รู้กายใจตัวเอง 

รู้เขา รู้เรา 


การตั้งใจอย่างนี้ ผลดีคือทำให้เรามีความตั้งมั่น 

จิตมันจะเกิดความตั้งมั่นขึ้นมาโดยอัตโนมัติ 

เพราะถ้าเราไม่ตั้งมั่น เราจะจับคำพูดเขาไม่ได้ 

คำพูดของเขาทุกคำเราจะผ่านไปโดยไม่รู้เรื่องถ้าเราไม่ตั้งหลักให้ดี 

แล้วเราก็จะวินิจฉัยให้เขาไม่ได้ดี 

เพราะว่าเราฟังเขาไม่ครบทุกคำทุกประโยค 

เสร็จแล้วเราก็อาจจะสอนแบบเดา ๆ รวม ๆ 

แบบตีวงทอดแหไป 

.............................

ธัมโมวาท โดยหลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี

เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา


*****

Cr.https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid0Mv5UAkyDSyvcKGowQVUSYY65m8M54Tf4CxM6HpgvbWMQYeK22vKMvBEvWaVvqcX9l&id=100050180992815&mibextid=Nif5oz

วันเสาร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

รู้สึกตัวทั่วพร้อม


ธรรมะอรุณสวัสดิ์...รับวันใหม่
.............................
ให้เอาแค่นี้เท่านั้น
ไม่มากอะไรเลย ได้ไหม ทำแค่นี้
รู้สึกตัวทั่วพร้อมอย่างปล่อยวาง ได้ไหม
"รู้สึกตัว" ก็เรียกว่าเรามีสัมปชัญญะ
พอรู้สึกตัว มันก็จะรู้ตัว
"ทั่ว" หมายถึงมันรู้กายได้ทั้งตัว แล้วก็รู้ถึงใจด้วย
"พร้อม" คือมันเป็นปัจจุบัน
รู้กาย … มันก็รู้ใจ
รู้ใจ … มันก็รู้ทั้งกาย
รู้กายรู้ใจ
จริงอยู่ที่จริงจิตมันรับได้ทีละอย่าง
รับกายก็รับได้อย่าง รับใจก็รับได้อย่าง
แต่ว่าด้วยความไว มันไว
มันสามารถรู้เหมือนพร้อม ๆ กัน
มันไว มันถี่มาก เหมือนเลเซอร์ที่มันถี่
มันถี่ยิ่งกว่าเลเซอร์
อย่างทางกายแต่ละจุด ที่ขา ที่แขน ที่ลำตัว ที่ศีรษะ
มันสแกนพรึ่บเดียวทั้งตัว แล้วก็ถึงใจด้วย
ฝึกสตินี่มันรู้พร้อมไปทั้งตัวเลย
มันไม่มีอะไรที่จะไวเท่ากับจิตแล้ว
แสงว่าไว แสงก็ยังมีระยะการเดินทางจากดวงอาทิตย์มาโลก
แต่จิตไม่มีระยะการเดินทาง
โยมนั่งอยู่นี่ โยมคิดไปที่บ้านใช้เวลาเท่าไร? แป๊บเดียว
หรือคิดไปต่างประเทศก็แป๊บเดียว
มันไม่มีระยะเวลาเลย
จิตมันไวมาก
จิตที่ฝึกดีแล้วนำความสุขมาให้
จิตที่ฝึกดีแล้วมันก็จะเกิดความรู้ตัวทั่วพร้อมเท่าทัน
มันเป็นไปได้ …
เราก็จะเกิดความอัศจรรย์ว่า
ทำไมจิตเรามันเร็ว มันไว มันเท่าทัน
ทำไมสติมันรู้ไปหมดทั้งตัว
อย่างโยมบางคนฝึกมามาก ๆ
พอไปเจอเหตุการณ์อะไร
มันรู้พรึ่บเดียว มันรู้ทั้งตัว
มันมาเอง มันทำงานเอง
รู้ทั้งตัว รู้กายใจทั้งตัว รู้ชัดไปหมด
มันทำงานอย่างนี้
.............................
ธัมโมวาท โดยหลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี
เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา
********


 

วันพฤหัสบดีที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

กตัญญูกตเวที

 


นอกเหนือไปจากเบญจศีล-เบญจธรรม ที่ช่วยให้สังคมสงบสุขและน่าอยู่แล้ว อีกหลักธรรมหนึ่งที่ควรกล่าวถึงคือ "ความกตัญญูกตเวที” ที่พระพุทธเจ้าเองก็ยังตรัสไว้ว่า "นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตญฺญู กตเวทิตา ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายของคนดี” ซึ่งหมายความว่า ใครก็ตามประพฤติปฏิบัติตนด้วยหลักธรรมนี้ ย่อมเหมือนมีตัวชี้วัดบ่งบอกได้ว่า คนผู้นั้นย่อมเป็นคนดีอย่างแน่นอน และคนดีที่ว่านี้ไม่เพียงแต่จะทำให้ตนเองมีความสุข มีความเจริญก้าวหน้า แต่ยังช่วย "รักษา” สิ่งรอบตัวเขาให้ดีไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ หรือสิ่งของ เหตุใดจึงกล่าวเช่นนี้ เรามาเล่าสู่กันฟัง

 
     คำว่า "กตัญญูกตเวทิตา” ประกอบด้วยคำว่า "กตัญญู” หมายถึง การรู้คุณ ระลึกคุณของผู้มีพระคุณ ส่วน "กตเวทิตา” หมายถึง การตอบแทนบุญคุณ การปฏิบัติตนตอบแทนผู้มีพระคุณ ดังนั้น "กตัญญูกตเวทิตา” จึงหมายถึง การรู้คุณและตอบแทนคุณต่อผู้มีพระคุณต่อเรา
 
     สำหรับสิ่งที่เราควรกตัญญูและตอบแทนบุญคุณ มีดังต่อไปนี้
 
     ๑.กตัญญูต่อบุคคล เช่น บรรพบุรุษ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ พ่อแม่ พี่น้อง ครูบาอาจารย์ พระภิกษุสงฆ์ นักบวช ผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน สามีภริยา ฯลฯ กล่าวได้ว่าบุคคลเหล่านี้ล้วนแต่มีพระคุณต่อเราทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น บรรพบุรุษหรือพ่อแม่ ท่านก็เป็นต้นธารแห่งกำเนิดของเราไม่มีท่าน เราก็ไม่มีตัวตนเช่นวันนี้ ไม่มีชาติ พระมหากษัตริย์ เราก็อาจจะเป็นพวกเร่ร่อน ไม่มีแผ่นดินให้อยู่อาศัย ต้องถูกไล่ไปมา ไม่มีศาสนา เราก็จะไม่มีหลักยึด ชีวิตอาจล่องลอยไร้แก่นสาร หาความสุขความเจริญไม่ได้ ไม่มีครูบาอาจารย์สอนสั่ง เราก็อาจไม่มีวิชาความรู้ กลายเป็นคนเบาปัญญา หรือไม่มีวิชาชีพทำมาหากิน ไม่มีผู้บังคับบัญชาหรือเพื่อนร่วมงาน ก็ไม่มีคนดูแลสอนงานหรือช่วยงาน เราก็อาจไม่มีเงินใช้จ่ายในการดำรงชีวิต ไม่มีสามีภริยา เราก็จะไม่มีเพื่อนคู่คิดมิตรคู่ใจ เป็นต้น จะเห็นได้ว่า คนเหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยให้เรามีชีวิตที่สมบูรณ์ เราจึงควรตอบแทนด้วยการแสดงความรัก ความหวังดีอย่างเหมาะสมตามโอกาส และให้ความช่วยเหลือท่านตามสมควร ทั้งนี้ ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ไม่เบียดเบียนหรือสร้างความเดือดร้อนต่อตนเองหรือผู้อื่นด้วย จึงจะเป็นการกตัญญูกตเวทีที่ถูกต้อง ไม่ใช่ว่าเพื่อนที่มีพระคุณ ใช้ให้เราไปทำร้ายศัตรูของเขา เราก็ยอมไปทำเพราะถือว่า ต้องแทนคุณ เช่นนี้ก็ไม่ถูกต้อง และจะกลายเป็นการสร้างบาปแก่เราและผู้มีพระคุณเพิ่มขึ้น ดังนั้น เราจึงต้องรู้จักเลือกแทนคุณให้ดีและเหมาะสมด้วย
 
     ๒.กตัญญูต่อสัตว์ที่มีคุณและทำประโยชน์ให้เรา สัตว์เหล่านี้ แม้จะเป็นเพียงสัตว์เดรัจฉาน และเราเป็นผู้เลี้ยงดูมัน แต่มันก็มีคุณต่อเราไม่น้อย เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย ที่เราใช้ไถนา ใช้เป็นพาหนะ ใช้ในการทำมาหากิน ใช้แสดงเพื่อหารายได้ หรือสุนัข ที่เราเลี้ยงเป็นเพื่อนแก้เหงา ช่วยเฝ้าบ้าน หรือช่วยนำทาง (คนตาบอด) เหล่านี้ต่างก็ถือได้ว่ามีคุณต่อเรา ไม่มีเขา เราก็จะต้องลำบาก เราจึงควรดีต่อเขาด้วยการไม่ทำร้าย เลี้ยงดูอย่างเหมาะสม พาไปรักษาเมื่อเจ็บป่วย และไม่ทอดทิ้งเขาเมื่อหมดประโยชน์แล้ว
 
     ๓.กตัญญูต่อสิ่งของเครื่องใช้ที่เป็นคุณประโยชน์ต่อตน สิ่งเหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะเป็นสิ่งของที่ใช้ในการทำมาหากิน ตั้งแต่เริ่มต้นชีวิต จนมีฐานะมั่นคงขึ้น หลายคนจะรู้สึกว่าสิ่งนั้นๆมีพระคุณ เป็นของ "คู่ชีพคู่ใจ” ที่ช่วยให้ตนมีวันนี้ได้ เช่น รถที่บางคนใช้ทั้งเป็นพาหนะประจำตัวเพื่อไปติดต่องานหรือใช้รับจ้างทั่วไป ไม้คานที่เคยใช้หาบของขายตอนเริ่มทำกิน หม้อก๋วยเตี๋ยวที่ใช้ตั้งแต่ยังเป็นแผงข้างทาง จนสามารถเซ้งคูหาหน้าร้านได้ เป็นต้น สิ่งของเหล่านี้แม้จะไม่มีชีวิตจิตใจ แต่ก็เป็นอุปกรณ์เครื่องมือหากินที่หลายคนรู้สึกซาบซึ้งในคุณของมันที่มีส่วนในการก่อร่างสร้างตัว จึงมักเก็บไว้เป็นของที่ระลึกหรือบูชา ไม่ขาย ถือเป็นของนำโชคประจำตระกูล
 
     นอกจากสิ่งของที่ใช้ในการทำมาหากินแล้ว สิ่งมีคุณอื่นๆ เช่น บ้าน บริษัท โรงเรียน ห้องสมุด หรือของใช้สาธารณะ อย่างเครื่องออกกำลังกายตามสวนสาธารณะ ห้องน้ำสาธารณะ รวมถึงสภาพแวดล้อมอย่างแม่น้ำ ลำคลอง อากาศ พืช ฯลฯ ก็ล้วนมีคุณไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมต่อเราทั้งสิ้น เมื่อเราได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ ก็ควรจะแทนคุณ ด้วยการใช้อย่างถูกต้อง คุ้มค่า ระมัดระวัง และช่วยกันดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพดี อยู่เสมอ เพื่อเราจะได้ใช้ไปนานๆ และยังเอื้อประโยชน์ต่อผู้อื่นด้วย
 
     จะเห็นได้ว่า ใครก็ตามที่มี "ความกตัญญูกตเวที” ไม่ว่าต่อบุคคล สัตว์ สิ่งของ หรือสิ่งแวดล้อมอย่างที่พูดถึง คนผู้นั้นก็จะตอบแทนหรือตอบสนองต่อสิ่งเหล่านั้นด้วยความรักและความปรารถดี เพราะรู้และตระหนักถึงอุปการะคุณที่ได้รับ และสิ่งนี้เองที่จะนำมาซึ่งการ "รักษา” นั่นคือ การช่วยกันดูแล ปกป้อง พิทักษ์บุคคล สัตว์ สิ่งของเหล่านั้นให้อยู่ดี มีสุข และสามารถทำประโยชน์ต่อตัวเราหรือผู้อื่นไปได้ตราบนานเท่านาน ซึ่งในที่นี้ยังรวมถึงสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆตัวเขาด้วย ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า "ความกตัญญูกตเวทิตา” เป็นธรรมะหรือหลักธรรมหนึ่งที่ช่วย "รักษา” โลกของเราให้คงอยู่
*******
Cr.http://www.culture.go.th/culture_th/ewt_news.php?nid=5632&filename=i

วันอังคารที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

การคบเพื่อน


อยากทราบเทคนิคหรือวิธีในการเลือกคบเพื่อน


การคบเพื่อนพื้นฐานที่สุดก็คือศีลธรรมนั่นเอง ศีล ๕ ข้อนั้นเป็นเครื่องรับประกันความปลอดภัย ทำให้เราไว้วางใจซึ่งกันและกันได้ ถ้าศีลธรรมไม่บริสุทธิ์หรือว่าคนไม่มีความจริงใจในการรักษาศีล สุดท้ายไว้ใจไม่ได้ มันเป็นเครื่องตัดสินให้ในระดับหนึ่ง


ข้อที่สองต้องสังเกตว่าเวลาเราอยู่กับใคร กาย วาจา ใจของเรามันเปลี่ยนแปลงอย่างไร อย่างเช่น บางคนนี่ไม่ใช่ว่าเป็นคนไม่ดี แต่ไม่รู้เวลาไปอยู่ มันจะพูดอะไรไม่ค่อยดีซึ่งปกติไม่ค่อยพูด แต่สองคนนี้เกิดคุยกันเมื่อไร ทำไมมันจะออกไปในทางที่ไม่เป็นบุญเป็นกุศลเลย หรือว่าพฤติกรรมบางอย่างซึ่งปกติอยู่คนเดียวก็ไม่คิดจะทำ ก็กลายเป็นทำ อาจจะเป็นเพราะเกรงใจหรือเพราะเป็นอารมณ์ร่วม อะไรก็ได้ เป็น synergy ในทางไม่ดี อันนี้ก็เรียกว่า สำหรับเรา คนนี้ไม่ใช่กัลยาณมิตรของเรา แต่มันไม่ใช่การตัดสินเขา หรือว่าการอะไร ก็คืออาจจะเป็นคนดี อาจจะมีข้อดีหลายอย่าง รู้แต่ว่าเราสองคนอยู่ด้วยกันไม่ดี


แต่ว่าบางคนนี่เราอยู่กับเขา เรารู้สึกเหมือนเขาก็ดึงดูดความดีของเราออกมา รู้สึกว่าอยู่กับเขานี่ทำอะไรดี คิดดี อะไรที่ปกติถ้าอยู่คนเดียวอาจจะไม่ได้คิด รู้สึกว่าเพราะรู้จักคนนี้ คุ้นเคยกับคนนี้เราเป็นคนดีขึ้น เวลาเราอยู่กับเขาเรารู้สึกมองตัวเอง ชอบตัวเอง รู้สึกชื่นชมตัวเองได้ ภูมิใจตัวเองได้ 


เราก็มีสิทธิ์ที่จะช่วยเขาได้ เขาไว้วางใจเรา ก็มีทั้งรับทั้งให้ คือการที่เป็นเพื่อนกันต้องมีทั้งสองอย่าง บางคนนี่...ถ้าคนไม่ดีคิดว่ารับดีกว่าให้ ถ้าเป็นคนดีทั่วไปก็ว่าให้ดีกว่ารับ แต่ถ้าเป็นนักปราชญ์นี่ ต้องรับในเวลาโอกาสที่สมควรจะรับ และให้ ในโอกาสที่สมควรจะให้ แล้วสำนึกด้วยว่า ในโอกาสที่ให้ได้รับอะไรบ้าง และเวลารับแล้วให้อะไรบ้าง ฉะนั้นก็อยู่อย่างนี้ อยู่ด้วยกันอย่างนี้มีความสุขความเจริญ


พระอาจารย์ชยสาโร

*****

Cr.https://fb.watch/lRFL0RjGNR/?mibextid=Nif5oz




 

มันไม่แน่...

ครูบาอาจารย์สายวัดป่ามักจะเลี่ยงศัพท์เทคนิคและพยายามสอนธรรมะด้วยภาษาง่ายๆ ธรรมดา  บางครั้งท่านก็ใช้คำหรือวลีที่ใช้กันอยู่ทุกวันเพื่อสรุปหลักคำสอนสำคัญๆ ให้ฟังดูแปลกใหม่  ท่านจะใช้คำนั้นต่อเนื่องไปสักระยะ พอเริ่มเก่าหรือล้าสมัย ท่านก็หาคำใหม่มาแทน


ในช่วงบั้นปลายที่หลวงพ่อชายังพูดสอนได้ ท่านชอบใช้คำว่า ‘ไม่แน่’  ถ้าใช้กับเรื่องอนาคต อาจสื่อความหมายได้ว่า "บางทีก็ใช่" หรือ "บางทีก็ไม่ใช่"  แต่พอใช้กับเรื่องปัจจุบัน ก็จะชี้ไปยังความไม่มั่นคง ไว้ใจไม่ได้ซึ่งมีอยู่ในสิ่งทั้งหลายที่เกิดตามเหตุตามปัจจัย


การที่หลวงพ่อย้ำถึงความเป็นธรรมดาของสิ่งทั้งปวงอันคาดเดาไม่ได้ ไม่ว่าภายในหรือภายนอก เป็นการแนะให้เราพิจารณาความไม่เที่ยงในมุมมองใหม่  ซึ่งหมายรวมถึงไตรลักษณ์อีกสองข้อที่เหลือด้วย  สิ่งทั้งปวงล้วนเกิดขึ้นแล้วดับไป  แต่จะเกิดดับเมื่อไหร่ อย่างไรให้แน่ๆ นั้น  เราไม่อาจเดาได้  นี่ก็คือความหมายของ  ‘ไม่แน่’


ไม่มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ใดๆ เป็นผู้ชี้นำหรือควบคุมสิ่งต่างๆ  มีเพียงเครือข่ายโยงใยของเหตุและปัจจัยอันกว้างใหญ่สลับซับซ้อนเกินจะคิด  ไม่มีส่วนใดในเครือข่ายนี้จะเป็นสรณะที่พึ่งอันแน่นอนได้  คำสั้นๆ ว่า ‘ไม่แน่’ ได้รวมเอา อนิจจัง ทุกขังและอนัตตาไว้ในนั้นเพียงคำเดียว


ธรรมะคำสอน โดย พระอาจารย์ชยสาโร

แปลถอดความ โดย ศิษย์ทีมสื่อดิจิทัลฯ



*****

Cr.https://www.facebook.com/100064337808864/posts/pfbid02XgsdyW2ZYJLwPkkiy9ooWW4PdLBV4NnjQuBE5HyCFkgzv7JfvSzc67DtL81tpQNEl/?mibextid=Nif5oz
 

วันศุกร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

รู้จักกาลเทศะ

พระพุทธองค์ตรัสสอนว่า จิตที่ฝึกดีแล้วมีคุณสมบัติข้อหนึ่ง คือ สำนึกในความเหมาะสมของกาลเทศะอยู่เสมอ จริงอยู่ว่ากฎแห่งกรรมนั้นเป็นอกาลิโก นั่นคือเป็นหลักแห่งการกระทำและผลของการกระทำอันไม่จำกัดกาล แต่การตระหนักรู้ในกฎแห่งกรรมและการประยุกต์ใช้ความรู้ในทางที่ดีงาม เรียนจากตำราไม่ได้  เราต้องเรียนรู้จากประสบการณ์จริง


ในช่วงที่ครอบครัวต้องใช้เวลาอยู่ร่วมกันมากกว่าที่เคย ย่อมมีโอกาสกระทบกระทั่งกันมากขึ้น การเจริญสติในเรื่องกาลเวลาและสถานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในเวลาเช่นนี้ ในเมื่อเราถูกจำกัดสถานที่อยู่กับบ้าน เราจึงควรเน้นการเจริญสติในเรื่องกาลเวลา ดังนี้


มีเวลาให้และมีเวลารับ

มีเวลาที่ควรพูดและมีเวลาที่ควรเงียบ

มีเวลาพูดและมีเวลาฟัง

มีเวลาที่จะนำและมีเวลาที่จะตาม

มีเวลาที่ต้องจริงจังและมีเวลาสนุกสนาน

มีเวลาทำงานและมีเวลาพักผ่อน

มีเวลาอยู่ร่วมกันและมีเวลาอยู่ตามลำพัง

มีเวลาที่มุ่งมั่นไม่ย่อท้อและมีเวลาปล่อยวาง

มีเวลาใส่ใจข่าวสารทางโลกและมีเวลาใส่ใจข่าวสารล่าสุดเรื่องกายใจของตนเอง

และมีเวลาเสมอให้แก่ความอดทนและเมตตา


ธรรมะคำสอน โดย พระอาจารย์ชยสาโร

แปลถอดความ โดย ปิยสีโลภิกขุ


****

Cr.https://www.facebook.com/photo.php?fbid=663875355767052&set=a.410133041141286&type=3&mibextid=Nif5oz
 

วันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

สรณะในใจ

สรณะ คือ ที่พึ่งอันเป็นสถานที่สงบปลอดภัย  ไม่ว่าโลกภายนอกจะเป็นอย่างไร สรณะย่อมเป็นที่ยึดเหนี่ยวให้เรามีชีวิตรอดและพัฒนาต่อไปได้  พระพุทธองค์ทรงสอนว่าสรณะอันแท้จริงนั้นตั้งอยู่ในใจ และเป็นสิ่งที่เราต้องทำให้บังเกิดแก่ตัวเอง  ครั้งหนึ่ง ทรงจำแนกคุณธรรมสิบประการที่จะเอื้อให้เกิดสรณะในใจ ดังนี้:


๑. มีความประพฤติดีงาม อยู่ในขอบเขตอันถูกต้องเหมาะสมทางด้านกายกรรมและวจีกรรม

๒. อ่านและศึกษาเล่าเรียนให้มากและลึกซึ้ง

๓. สร้างสัมพันธภาพที่ดีและเกื้อกูลกับคนรอบข้าง

๔. เป็นคนที่ผู้อื่นรู้สึกว่าพูดด้วยง่าย ยินดีรับฟังเสียงสะท้อน

๕. ขวนขวายหาทางสร้างประโยชน์แก่ชุมชนและพัฒนาทักษะในการสร้างสิ่งดีงามนั้น

๖. เจริญฉันทะในธรรม และมีจิตเบิกบานในข้อธรรมคำสอน

๗. เพียรละบาป บำเพ็ญกุศล อุตสาหะพากเพียร กล้าหาญ อดทน ไม่ย่อท้อในความเพียร

๘. สันโดษและยินดีพอใจในปัจจัยสี่อันได้มาโดยชอบธรรม

๙. เจริญสติ กำหนดรู้ทุกสิ่งที่เอื้อที่สุดต่อความเจริญงอกงามในธรรมในแต่ละขณะ

๑๐. รู้จักคิดพิจารณาอย่างแจ่มแจ้ง รู้วิธีทบทวนเรียนรู้จากประสบการณ์ และเห็นสิ่งทั้งปวงตามความเป็นจริง


ธรรมะคำสอน โดย พระอาจารย์ชยสาโร

แปลถอดความ โดย ปิยสีโลภิกขุ


*****

Cr.https://www.facebook.com/100064337808864/posts/pfbid02NMdGBfiuW3yEY72Ms8FhPgxyH3EfDKV6KAN3Mg7X9VPxBgJMEFQ5pRhgVzhThGX1l/?mibextid=Nif5oz
 

วันอังคารที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

ไม่มีเรา


ธรรมะอรุณสวัสดิ์...รับวันใหม่ 

.............................

ถ้าเราเข้าใจว่าไม่มีอะไรเป็นของเราที่แท้จริง 

เราก็จะไม่ไปยึดติดอยู่ 

ทุกวันนี้มันยึดกันอยู่ 

ยึดว่าเป็นเจ้าของ เป็นของเรา 

มันจริงหรือที่เป็นของเรา?  


แม้แต่ตัวของตัวเอง ยังเอาเป็นของเราไม่ได้ จริงไหม 

สังขารร่างกายจิตใจของตัวเอง ยังยึดมาเป็นของเราไม่ได้ 

ไม่ใช่ตัวเราของเราที่แท้  

ถ้าอะไรที่เป็นของเราก็ต้องอยู่ในอำนาจ 

ตอนนี้มันอยู่ในอำนาจได้ไหม? 

ผมของเราใช่ไหม?  

ก็ต้องบังคับผมได้ ผมอย่าหงอก 

มันหงอกไหม? มันฟังไหม?  

หนังอย่าเหี่ยว ฟังไหม?  

ถ้ามันเป็นของเราก็ต้องบังคับได้ 

หนังจงเต่งตึงตลอด มันก็ไม่ฟัง 

ตาอย่าให้ฝ้าฟางนะ ตาให้สดใสไว้ตลอด ฟังไหม? มันก็ฝ้าฟาง 

หูอย่าตึงนะ มันก็ตึง 

อย่าป่วยนะ สังขารร่างกายนี้แข็งแรงตลอด ฟังไหม?  

สังขารร่างกายนี้มันก็ยังไม่ฟัง 

มันไม่ได้อยู่ในอำนาจ 

แล้วยังจะไปเอาสิ่งโน้นบุคคลโน้นมาเป็นของเราได้อย่างไร 

ตัวของตัวเองยังไม่สามารถเป็นของเราได้ 

แล้วจะไปยึดเอาของอื่น บุคคลอื่น มาเป็นของเรา 


ลองคิดว่าถ้าทำใจเป็น เข้าใจเป็น ทำใจถูก 

รู้ว่าไม่มีอะไรเป็นของเราที่แท้จริง 

เป็นไปตามสมมติ 

สมมติกันว่าเป็นสามีเป็นภรรยา เป็นพ่อเป็นแม่เป็นลูก เป็นพี่เป็นน้อง 

ไม่ได้เป็นเจ้าของได้จริง 

ถ้าเข้าใจอย่างนี้ 

พอสิ่งเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงไป เป็นอื่นไป จะทุกข์ไหมถ้าไม่ใช่ของเรา 

ถ้ารู้สึกไม่ใช่ของเรา 

สิ่งนั้นจะเป็นไปอย่างไร เดือดร้อนไหม? ทุกข์ไหม?  


เหมือนที่พระพุทธเจ้าถามภิกษุสงฆ์ 

หญ้า กิ่งไม้ต่าง ๆ หญ้าที่เอาไปเผา เผาขยะ เผาหญ้าต่าง ๆ 

ทุกข์ด้วยไหม? เสียใจไหมเขาเผาหญ้า?  

ทำไมไม่เสียใจ?  

ไม่ได้คิดว่าเป็นของเรา   

หรือว่าเผาคน   

คนเผากันทุกวัน ตายกันทุกวัน เผากันทุกวัน 

ร้องห่มร้องไห้กับเขาไปด้วยไหมที่เขาเผากันตายกัน?  

ทำไมเราไม่เศร้าโศกไปกับเขา? เพราะอะไร?  

เพราะรู้สึกว่าไม่ใช่ของเรา   

ไม่ใช่คนของเรา ไม่ใช่พวกของเรา ก็ไม่ทุกข์ 

แต่ที่มันทุกข์นี่แสดงว่าต้องยึดเป็นของเรา 


ฉะนั้นถ้าทำใจให้ได้ว่ามันไม่ใช่ของเรา 

เราจะไม่มีความเศร้าโศกตามมา 

ใครจะไปบังคับใครได้ 

บังคับตัวเองยังบังคับไม่ได้ 

บังคับได้ไหม  จิตจงคิดดีตลอด 

อย่าคิดอย่างอื่นนะ อย่าเปลี่ยนแปลงนะ ได้ไหม?  

ยังไม่ได้เลย แล้วจะไปบังคับจิตคนอื่นอีก  

ร่างกายตัวเองยังบังคับไม่ได้ อย่าให้แก่ อย่าให้เจ็บ อย่าให้ตาย 

แล้วจะไปบังคับกายคนอื่น 

เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่ของเราโดยแท้ 

.............................

ธัมโมวาท โดยหลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี

เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา

*****

Cr.https://www.facebook.com/100050180992815/posts/pfbid0k4P6zNRDeFLbUULXy8VegHS5RwzDiBM3ua6cRpAdvAxGFbVgpbXJA8MmWtQjzSMZl/?mibextid=Nif5oz

 

พุทธศาสตร์


ครั้งหนึ่งหลวงพ่อชาอุปมาว่า “มะม่วงมันอยู่สูงหัวเราอยากได้ เอาไม้สิบเมตรมาสอยไม่ได้มันยาวเกินไป เอาไม้สองเมตรมาสอยมันก็ไม่ได้ ไม่พอดี มันสั้นเกินไป เราอย่าเข้าใจว่า คนจบดอกเตอร์มาปฏิบัติสบายเหลือเกิน เพราะเรียนรู้มาพอแล้ว อย่าเข้าใจอย่างนั้น ดอกเตอร์มันยาวเกินไปก็ได้”


อีกโอกาสหนึ่งท่านสอนว่า ศาสตร์ทุกศาสตร์ต้องมารวมกันที่พุทธศาสตร์มันจึงจะดี การเรียนทางโลก โดยละเลยการศึกษาและปฏิบัติหลักธรรม อาจจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี เพราะความฉลาดมักจะอยู่ใต้อำนาจของสิ่งเศร้าหมองโดยไม่รู้ตัว ท่านเคยสอนว่าผู้จบดอกเตอร์มักจะไม่รู้เลยว่ากิเลสเขาก็จบดอกเตอร์เหมือนกัน ผู้เรียนสูงแต่ไม่รู้จักรักษาศีลธรรมเปรียบเสมือนนกอีแร้งที่บินสูงๆ แต่เมื่อหิวก็ลงมากินของโสโครก 


พระอาจารย์ชยสาโร


*****

Cr.https://www.facebook.com/100064337808864/posts/pfbid02Wmo2T87Hdn7Bwqt5gW3DYm1rnWUsAymzg1QCrm7DgniLFMTwhkuaMt1WLcNvZMo2l/?mibextid=Nif5oz
 

วันจันทร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

สัมมาวาจา

 

ธรรมะอรุณสวัสดิ์...รับวันใหม่ 

.............................

พูดให้ดี พยายามพูดวาจาไพเราะอ่อนหวาน 

พูดคำจริง พูดอิงประโยชน์ 

อย่าพูดเสียดสีใคร แล้วมันเข้าตัว 

บางคนเยาะเย้ยดูถูกดูหมิ่นรูปร่างของเขา หรือความบกพร่องของเขา 

มันมาเข้าตัวหมด 


อย่างพระรูปหนึ่งในสมัยพุทธกาลชื่อจูฬปันถก  

เข้ามาบวช พี่ชายให้ท่องคาถา ๔ บาท 

จำไม่ได้ 

ได้หน้าลืมหลัง ได้หลังลืมหน้าอยู่อย่างนั้น 

ท่องเท่าไรก็จำไม่ได้สักที 

พี่ชายเลยไล่ให้ไปสึก 

ก็เลยไปลา 


พระพุทธเจ้าบอก "เธอบวชเพื่อใคร" 


"บวชเพื่ออุทิศพระพุทธเจ้า"  


"ถ้าอย่างนั้นเธอจะสึกทำไม" 


"พี่ชายไล่ให้สึกพระพุทธเจ้าข้า" 


พระองค์ก็เลยสอนกรรมฐานไป 

ให้เอาผ้าขาวไปคลำ แล้วพิจารณาไปด้วย 

ระโชหะระณัง ระโชหะระณัง 

พิจารณาไป ผ้ามันชักดำ ๆ 

ผ้ามันขาวสะอาดมา ทำไมมาถูกต้องกับกายกลับดำ 

แสดงว่าร่างกายเราสกปรก 

พิจารณาร่างกาย เลยเข้าถึงธรรม บรรลุธรรมเป็นอริยบุคคล 

แล้วก็สำเร็จพร้อมด้วยอภิญญาด้วย 

สามารถแปลงกายได้ ทำคนเดียวเป็นหลาย ๆ คน 


วันนั้นเขานิมนต์พระทั้งวัด 

พี่ชายก็เว้นไว้องค์เดียวไม่ต้องรับนิมนต์ 

พอท่านสำเร็จแล้ว คนไปนิมนต์ เห็นพระเต็มวัดหมดเลย 

พระพุทธเจ้าบอกให้จับองค์ไหนก็พูดก่อน 

ทักแล้วคนไหนตอบก่อนก็จับตัวไว้ 


วันนั้นพระพุทธเจ้าแสดงธรรม 

แล้วพระองค์ก็เล่าเรื่องอดีตให้ฟัง 


อดีตชาติถอยหลังไปยุคสมัยพระพุทธเจ้าองค์ก่อน 

ท่านจูฬปันถกเป็นพระบวชมา แตกฉานพระไตรปิฎก 

วันหนึ่งท่านไปเห็นพระใหม่ท่องพระไตรปิฎกผิด ๆ ถูก ๆ 

ท่านก็หัวเราะเยาะ 

ทำให้พระใหม่อาย แล้วก็เลยไม่กล้าท่องตั้งแต่นั้นมา 


กรรมอันนี้ต้องมาชดใช้ 

ทำให้ความจำเลอะเลือน ท่องคาถาได้หน้าลืมหลัง 

แต่ว่าด้วยท่านแตกฉานในพระไตรปิฎกมา  

บำเพ็ญมาแล้วบุญก็ให้ผล เลยได้สำเร็จ 


ฉะนั้นเราเห็นคนบกพร่อง พิกลพิการ 

อย่าไปหัวเราะเยาะเขา 

มันมาเข้าตัวเรา 

.............................

ธัมโมวาท โดยหลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี

เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา

สำรวมอินทรีย์


 ธรรมะอรุณสวัสดิ์...รับวันใหม่ 

.............................

ไม่ใช่ว่าเราอยู่เฉย ๆ มันไม่เป็นบาป 

ถ้าเราไม่มีสติสำรวมระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ 

จิตเรามันจะเป็นบาป 

เป็นโลภะ เป็นโทสะ เป็นโมหะ 

โลภ โกรธ หลง อยู่อย่างนั้น 


นอกจากนี้ก็คือต้องสำรวมในลักษณะที่ว่า 

สิ่งใดไม่ควรดู ก็อย่าไปดู 

สิ่งใดไม่ควรฟัง ก็อย่าไปฟัง 

ถ้าเรารู้ว่าดูแล้วมันเกิดกิเลส ฟังแล้วมันเกิดกิเลส 

แล้วเรายังหาเรื่องไปดู ไปฟัง 

จิตเราก็เป็นอกุศลเกิดขึ้น 


ภาพ เราดูภาพ 

เรารู้ว่าภาพเหล่านี้ดูแล้วมันเกิดราคะ มันเกิดความกำหนัด ก็อย่าไปดู 

หรือเสียง ฟังแล้วทำให้มันเกิดหลงใหลพอใจติดใจ เราก็อย่าไปฟัง 

เรียกว่ามีการสำรวมระมัดระวัง 

กายเราก็ระวัง อย่าพาเดินไปหาอารมณ์ที่ไม่เหมาะสม 

สถานที่สิ่งแวดล้อมที่ทำให้เราลุ่มหลง 

พากายเราไปสถานเริงรมย์ อย่างฆราวาส 

มันก็ไปสิ ใจเราจะอยู่อย่างไรไหว 

มีแต่สิ่งยั่วยวน ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด 

ใจมันก็ไปหมด เป็นบาป 

ด้วยอำนาจของราคะบ้าง โทสะ โมหะ 


ยิ่งมาเป็นนักบวชมาเป็นสมณะ 

มีหน้าที่ที่จะต้องกำจัดราคะ โทสะ โมหะ 

เราจึงต้องห่างไกลจากภัยที่จะเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ 

เรียกว่าต้องมีการสำรวมอินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ 


ยิ่งสมัยนี้เครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์อะไรต่าง ๆ 

สื่อที่จะป้อนคนให้เข้าถึงได้ง่าย 

แล้วก็มีภาพมีเรื่องมีราวที่ยั่วยวนชวนให้เกิดกิเลสได้มาก 

ถ้าเราไม่ระมัดระวัง พยายามไปดูไปเสพ 

มันก็เกิดกิเลส บาปอกุศลก็จะตามมากลุ้มรุม 


เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งที่ต้องละต้องเว้น 

ไม่ปล่อยตัวตามใจ ตามกิเลส 

ต้องมีสติว่าอะไรควรไม่ควร 

อินทรียสังวร สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ 


ประการที่ ๓ อาชีวปาริสุทธิศีล 

การที่เราจะมีความบริสุทธิ์ในศีลด้วยการประกอบอาชีพที่สุจริต 

อาชีพอันใดที่มันไม่สุจริต ศีลเราก็บกพร่อง 

เป็นฆราวาสก็ต้องดู เลือกอาชีพที่มันไม่ผิด 


อาชีพที่ผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรม 

ค้ามนุษย์ ค้ายาเสพติด อย่างนี้ไปหมด อาชีพไม่บริสุทธิ์ 

ค้าสัตว์มีชีวิต ค้าเครื่องประหัตประหาร 

เขาจะได้เอาไปฆ่าสัตว์ ไปเข่นฆ่ากัน 

ถึงแม้จะไม่ผิดกฎหมาย ได้รับอนุญาต 

ค้าสุรา ได้รับจดทะเบียนอนุญาต 

แต่ในทางธรรมแล้วถือว่าผิด 

เป็นทุราชีพ เป็นโทษ เป็นกรรม 

เพราะว่ามันเป็นการมอมเมาคนให้ลุ่มหลง ให้เลอะเลือน ให้สติฟั่นเฟือน 

จะดีได้อย่างไร 

.............................

ธัมโมวาท โดยหลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี

เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา

*****

Cr.https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid0QLWiKT8GhktJWNp73VyvQxKccfwzRc9wYy7KE2RN3n9ZN9TjSzannwyFFn2w7tQbl&id=100050180992815&mibextid=Nif5oz

วันพฤหัสบดีที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

วันพุธที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

อยู่กับปัจจุบัน


 ธรรมะอรุณสวัสดิ์...รับวันใหม่ 

.............................

วิปัสสนาไม่ใช่ความนึกคิด 

ไม่ใช่เราคิดมาก ๆ เหมือนปัญญาทางโลก 

ที่คิดมาก หาเหตุหาผลข้อมูลอะไรมาคิดมาก 


แต่ว่าวิปัสสนาเป็นเรื่องของความรู้แจ้ง 

มันต้องรู้จริง ๆ 

มันต้องรู้สิ่งที่ปรากฏให้รู้ให้เห็นแจ่มแจ้งในสิ่งที่เป็นปัจจุบัน 

ถ้าเราคิดไป มันจะทิ้งปัจจุบันหมด 

เวลาคิดนึกไป จิตเราจะไหลไปสู่เรื่องอดีตอนาคต  

สิ่งที่เป็นปัจจุบันปรากฏอยู่เฉพาะหน้ามันจะมองไม่เห็น  


ฉะนั้นเรื่องการปฏิบัติ ให้วางความคิด 

วางความคิดถึงเรื่องต่าง ๆ อดีต อนาคต 

ให้กำหนดอยู่กับปัจจุบัน 


ปัจจุบันคืออะไร? 

ปัจจุบันก็คือสิ่งที่กำลังปรากฏ 

แล้วสิ่งที่เป็นปัจจุบันนั้นก็ต้องเป็นสภาวะด้วย 

ปรมัตถธรรมหรือสภาวธรรมที่กำลังปรากฏ 


เช่น ทางกาย กำลังรู้สึกเย็น กำลังรู้สึกร้อน 

รู้สึกอ่อน แข็ง รู้สึกหย่อน ตึง 

มันกำลังรู้สึกอยู่ ที่เป็นปัจจุบัน 

เย็นมากระทบ รู้สึกเย็น มันต้องรู้ตรงขณะที่กำลังปรากฏ 


เวลามันเกิดการผัสสะ มันมีประสาทกาย เป็นเครื่องรับ 

และมันก็มีโผฏฐัพพารมณ์เป็นเครื่องกระทบ 

แล้วมันก็มีธาตุรู้ขึ้นมา 

ถ้าว่าโดยธาตุแล้ว มันจะมีธาตุรับ ธาตุกระทบ แล้วก็ธาตุรู้ 

จึงเรียกว่าผัสสะ 

เวลามันประกอบประชุมกัน มีประสาทกายเป็นเครื่องรับ 

ประสาทกายมันก็อยู่ทั่วสรีระร่างกาย 

ที่มันสามารถจะรับโผฏฐัพพารมณ์ได้ รับสัมผัสโผฏฐัพพารมณ์ 

โผฏฐัพพารมณ์ก็เป็นเครื่องกระทบกาย 

ที่มันเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง 

พอมากระทบ มันก็จะเกิดธาตุรู้ตรงนั้นตรงที่มันกระทบกัน 

เรียกว่าผัสสะ กายสัมผัส คือการผัสสะขึ้นทางกาย 


การเจริญสติต้องระลึกรู้ตรงนั้น ตรงที่มันรู้สึกผัสสะขึ้นมาตรงนั้น 

เช่น มันรู้สึกสัมผัสเย็นที่แขน ก็ต้องรู้ตรงที่แขน 

สัมผัสเย็นที่ข้อศอก ก็รู้กันตรงที่ข้อศอก 

สัมผัสเย็นที่ใบหน้า ก็รู้กันตรงที่ใบหน้า 

ตรงนั้น … ตรงที่มันกำลังรู้สึกสัมผัส … เป็นปัจจุบัน  

รู้ก็รู้เฉย ๆ ไม่ต้องไปยินดีร้าย 


เวลาที่มันมีความแข็งกระทบ รู้สึกแข็ง 

มีไหม แข็ง ๆ ตึง ๆ? 

อย่างนั่งอยู่ก็จะมีความตึง ความแข็ง ความไหว 

ทรวงอกหน้าท้อง อย่างเวลาหายใจเข้าไป 

หายใจเข้า สังเกตว่าท้องเป็นอย่างไร? 

ทรวงอกหน้าท้องตึงหรือหย่อน? 

หายใจออก รู้สึกหย่อนหรือตึง? 


ความรู้สึกที่มันตึง ๆ หย่อน ๆ ไหว ๆ คือสภาวะ 

วิปัสสนาต้องระลึกรู้สภาวะ 

แล้วต้องคิดอะไรไหม? ต้องคิดต้องนึกอะไรไหม? 

มันไม่ต้องคิดอะไร 

เพียงมีสติหยั่งรู้มา มันก็เจอความไหว ๆ 

ไม่ต้องคิดอะไร 


เวลาเย็นมากระทบแขน รู้สึกเย็น 

ใส่ใจลงไป แล้วก็สังเกตความรู้สึกเย็น ๆ 

ต้องคิดอะไรไหม? 

เจริญวิปัสสนาไม่ต้องคิด 

คิดให้ลำบากอีก 


วิปัสสนาที่จริงไม่ใช่เป็นเรื่องลำบาก 

แค่สังเกต แค่ระลึกรู้ หยั่งรู้ สังเกตความรู้สึก รู้สึก 

ไม่ต้องคิดอะไร 

แค่ไปรับรู้ความรู้สึกต่าง ๆ ที่ปรากฏ  

.............................

ธัมโมวาท โดยหลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี

เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา

*****

Cr.https://www.facebook.com/100050180992815/posts/pfbid0zobtpLzR9dXGfi2APRzU3fmY5KbK2bbMn4SurZNodm3kuqrdBeeGyUdJ9ZziVj7rl/?mibextid=Nif5oz

วันอาทิตย์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

What is Karma


...กรรม...
"เจนตนาหัง ภิกขเว กัมมัง วทามิ เจตยิตวา กัมมัง กโรติ กาเยนะ วาจายะ มนสา
 ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า เจตนานั้นแหละคือกรรม การกระทำทางกาย ทางวาจา ทางใจ ที่ สำเร็จนั้น ก็เพราะอำนาจเจตนา"
เจตนาก็ได้แก่ ความตั้งใจหรือความรับรู้ ซึ่งแบ่งไว้เป็น ๓ อย่างคือ

๑. บุรพเจตนา เจตนาก่อนทำ
๒. มุญจนเจตนา เจตนาในเวลาทำ
๓. อปราปรเจตนา เจตนาเมื่อได้ทำไปแล้ว

การกระทำโดยมีเจตนาเกิดขึ้นในตอนใดตอนหนึ่งถือว่าเป็นกรรมทั้งสิ้น ส่วนการกระทำที่ไม่มีเจตนา คือใจไม่ได้สั่งให้ทำ ไม่จัดว่าเป็นกรรม เช่นคนเจ็บซึ่งมีไข้สูง เกิดเพ้อคลั่ง แม้จะพูดคำหยาบออกมา เอามือหรือเท้าไปถูกใครเข้าก็ไม่เป็นกรรม ในทางวินัยก็ยกเว้นให้พระที่วิกลจริตซึ่งล่วงเกินสิกขาวินัยไม่ต้องอาบัติ ทั้งนี้ก็โดยหลักเกณฑ์ที่ว่า ถ้าผู้ทำไม่มีเจตนา กระทำแล้วการกระทำนั้นก็ไม่เป็นกรรม


 
          
 

วันเสาร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

สมาธิ

สมาธิ คือ เฉยเพราะรู้เท่าทัน
อย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง มั่นคง
เพราะรู้ ตื่น เบิกบาน

พระอาจารย์ชยสาโร
.........

Cr.https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid02KcwJ1Rrm9dxHe7JMupABEoDRZopyeJP7qDjYhLNvsRcoSr8qcnePT1D5CaK5qQQ7l&id=100064337808864&mibextid=Nif5oz
 

สู้เพื่อแม่


Cr.https://www.facebook.com/groups/1160387541137095/permalink/1638301460012365/?mibextid=Nif5oz