หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

กัมมาสธัมมะนิคม กุรุรัฐ


พุทธสถานที่องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงมหาสติปัฏฐานสูตร
      พุทธสถานกัมมาสธัมมะนิคมแห่งนี้ ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตไกรลาสตะวันออก(Greater Kailas) กรุงนิวเดลี มีหลักฐานที่ปรากฏว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เคยเสด็จมาที่นครอินทรปัตถ์อันเป็นเมืองหลวงของกุรุประเทศเพื่อทรงแสดงมหาสติปัฏฐานสูตร ให้แก่ชาวกุรุ ณ นิคมในชนบทแห่งแคว้นกุรุที่เรียกว่า "กัมมาสธัมมะนิคม"


          (ภาพจาก https://www.bloggang.com/m/viewdiary.php?id=sdayoo&month=04-2016&date=18&group=132&gblog=159)
         
               กุรุประเทศ เป็นหนึ่งในมหาชนบท(ชนบทใหญ่ ๑๖ แห่ง) ของชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล อุโบสถสูตรได้กล่าวถึงแคว้นทั้ง ๑๖ และเมืองหลวงของแต่ละแคว้นไว้ดังนี้ คือ
        *อังคะ(จามปา)*มคธ(ราชคฤห์-ปาฏลีบุตร)*กาสี(พาราณสี)*โกศล(สาวัตถี)*วัชชี(เวสาลี)*มัลละ(ปาวา-กุสินารา)                         *เจตี(โสตถิตถิวดี)*วังสะ(โกสัมพี)*กุรุ(อินทรปัตถ์)*ปัญจาละ(กัมปิละ-กัยากุพย์-สังกัสสะ)*มัจฉะ(สาคละ)*สุระเสนะ(มถุรา)*อัสสกะ(โปตนะ)*อวันตี(อุชเชนี)*คันธารราฐ(ตักสิลา)  *กัมโพชะ(ทวารกะ)
         ตรงจุดที่องค์สัมมาสัมพทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนามหาสติปัฏฐานสูตรนี้ ปัจจุบันเป็นกองหินสีแดงขนาดย่อมและมีแผ่นหินก้อนหนึ่งบริเวณยอดกองหิน ซึ่งมีข้อความจารึกด้วยอักษรพรหมมี(พรม-มี)เชื่อกันว่าพระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงเป็นผู้จารึกไว้ เพื่อแสดงเป็นหลักฐานให้ทราบว่า เป็นสถานที่ที่พระศาสดาได้ทรงแสดงมหาสติปัฏฐานสูตร ซึ่งถือว่าเป็นพระสูตรที่สูงสุดในพระพุทธศาสนา ว่าด้วยการเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานและธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นพระสูตรที่พระศาสดาทรงตรัสว่า เป็นทางสายเดียวเป็นทางที่ไปอันเอก เพื่อความหลุดพ้นของสัตว์ทั้หลาย

ข้อความบางตอนจาก อรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตร พระสุตตันตปิฎก ฆีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ (หน้า ๒๕๙)กล่าวไว้ว่า
"...เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสพระสูตรนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นทางเดียว
      ก็เพราะชนชาวแคว้นกุรุสามารถรับเทศนาที่ลึกซื้งได้ เล่ากันว่าชาวแคว้นกุรุ ไมว่าเป็นภิกษุ ภิกษุณี และอุบาสก อุบาสิกา มีร่างกายและจิตใจสมบูรณ์อยู่เป็นนิจ ด้วยเสพปัจจัยคือฤดูเป็นที่สบาย เพราะแคว้นนั้นสมบูรณ์ด้วยสัปปายะ มีอุตุสัปปายะ เป็นต้น ชาวกุรุนั้นมีกำลังปัญญาอันร่างกายและจิตใจที่สมบูรณ์อุดหนุนแล้ว จึงสามารถรับเทศนาที่ลึกซึ้งนี้ได้
       เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงเห็นความเป็นผู้สามารถรับเทศนาที่ลึกซื้งอันนี้ จึงยกกัมมัฏฐาน ๒๑ ฐานะ ใส่ลงในพระอรหัตตรัสมหาสติปัฏฐานสูตรที่มีอรรถลึกซื้งนี้แก่ชาวกุรุเหล่านั้น เปรียบเสมือนบุรุษได้ผอบทองแล้ว พึงใส่รัตนะ ๗ ลงฉันใด แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ฉันนั้น ทรงได้บริษัทชาวกุรุแล้ว จึงทรงวางเทศนาที่ลึกซื้ง ด้วยเหตุนั้นแล..."
"...ในข้อนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงพระสูตรอื่นๆ อีก มีอรรถอันลึกซึ้ง ในคัมภีร์ทีฆนิกายนี้ ก็คือ มหานิทานสูตร ในคัมภัร์มัชฌิมนิกายก็คือ สติปัฏฐานสูตร สาโรปมสูตร รุกโขปมสูตร รัฏฐปาลสูตร มาคัณฑยสูตร อาเนญชสัปปายสูตร..."
"...อนึ่ง บริษัทสี่ในแคว้นกุรุนั้น ต่างประกอบเนืองๆ ในการเจริญสติปัฏฐานอยู่โดยปกติ โดยที่สุดคนรับใช้และคนงานทั้งหลายก็พูดกันแต่เรื่องที่เกี่ยวด้วยสติปัฏฐานกันทั้งนั้น แม้แต่ในที่ท่าน้ำ ที่กรอด้าย เป็นต้น ก็ไม่มีการพูดกันถึงเรื่องที่ไร้ประโยชน์เลย
       ถ้าสตรีบางท่านถูกถามว่า คุณแม่จ๊ะ คุณแม่ใส่ใจสติปัฏฐานข้อไหน นางจะไม่ตอบว่าอะไร ชาวกุรุจะติเตียนเขาว่า น่าตำหนิชีวิตของเจ้าจริงๆ เจ้าถึงเป็นอยู่ ก็เหมือนตายแล้ว ต่อนั้นก็จะสอนเขาว่า อย่าทำอย่างนี้อีกต่อไปนะ แล้วให้เขาเรียนสติปัฏฐานข้อใดข้อหนึ่ง
       แต่สตรีผู้ใดพูดว่า ดิฉันใส่ใจสติปัฏฐานข้อโน้นเจ้าค่ะ ชาวกุรุก็จะกล่าวรับรองว่า สาธุ สาธุ แก่นาง สรรเสริญด้วยถ้อยคำต่างๆ เป็นต้นว่า ชีวิตของเจ้าเป็นชีวิตที่ดีสมกับเจ้าที่เกิดมาเป็นมนุษย์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติมาเพื่อประโยชน์แก่เจ้าแท้ๆ..."

       "กัมมาสธัมมะนิคม" ในปัจจุบัน
        เป็นสถานที่แห่งหนึ่งในนิวเดลีในปัจจุบัน ที่พุทธศาสนิกชนแวะเวียนไปสักการะ โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอันมีสติปัฏฐานสี่เป็นข้อปฏิบัติ
        กัมมาสธัมมะนิคม ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของกองโบราณคดี กระทรวงวัฒนธรรมอินเดีย ซึ่งได้ประกาศไว้ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๑ ว่า สถานที่นี้เป็นอนุสรณ์สถานที่มีความสำคัญระดับชาติ ปัจจุบันกองโบราณคดีได้สร้างรั้วเหล็กล้อมรอบกองหินไว้เพื่อเป็นการอนุรักษ์เป็นอย่างดี

                                  ****************
Cr.ภาพ/เรื่อง จาก บทสวดมหาสติปัฏฐานสูตร(บาลี-ไทย) วัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา

************
สิบสองวันในอินเดีย (คลิก)
************
      

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น