หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ผิวพรรณผ่องใส เพราะใจเบิกบาน..


....ฯลฯ....
ผู้มีศีล จิตใจจักเบิกบาน ผิวพรรณผ่องใส
    ความมีหน้ามีตาเบิกบานแช่มชื่น ผิวพรรณผ่องใสงดงาม ย่อมเกิดแต่ ความมีศีล
    ความมีหน้าตาเบิกบานแช่มชื่น ผิวพรรณผ่องใสงดงาม เป็นผลที่ตรงกับกรรมที่เป็นเหตุ คือ ความมีศีล
   ความมีศีลเป็นการทำให้มีจิตใจเบิกบาน แจ่มใส เป็นสุข
   ความมีหน้าตาเบิกบานแช่มชื่น ผิวพรรณผ่องใสงดงาม แสดงถึงความมีจิตใจเบิกบานแจ่มใสเป็นสุข
   ผู้ทำเหตุคือ ความมีศีล ก็ย่อมได้รับผลเป็นผู้มีหน้าตาเบิกบาน แช่มชื่น ผิวพรรณผ่องใส งดงาม ผลย่อมตรงต่อเหตุดังนี้
....ฯลฯ....
(พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก  อำนาจอันยิ่งใหญ่แห่งกรรม)

******

*****

วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ผู้ปรารถนาความมีปัญญา

...ฯลฯ...

ผู้ปรารถนาความมีปัญญา พึงทำจิตให้สงบ
    ความมีปัญญา ย่อมเกิดแต่การปฏิบัติอบรมจิตให้สงบ จิตสงบเพียงไร ปัญญาย่อมยิ่งเพียงนั้น จิตวุ่นวายเพียงไร ปัญญาย่อมหย่อนเพียงนั้น
     ปัญญาเป็นความฉลาดที่เกิดแต่เรียนและคิด จิตที่สงบจะทำให้ใช้ความคิดได้อย่างดี ต้องการจะคิดเรื่องใดให้แตกฉานรู้จริงด้วยตนเอง มิใช่เป็นเพียงความรู้ของผู้อื่น ...จิตที่สงบก็จะทำได้ให้เป็นปัญญาขึ้นมาได้ แต่จิตที่ไม่สงบวุ่นวายจะทำไม่ได้
     ผู้มีปัญญา..จึงเป็นผู้มีจิตสงบ แม้ปรารถนาจะเป็นผู้มีปัญญา พึงทำใจให้สงบ คือ สงบจาก ความโลภ ความโกรธ ความหลง
    ปรารถนาเป็นผู้มีปัญญาเพียงไร พึงทำให้สงบเพียงนั้น อีกนัยหนึ่งก็คือ ...ทำใจให้สงบได้เพียงใด ก็จะสามารถอบรมปัญญาให้ยิ่งขึ้นได้เพียงนั้น
    จิตที่ไม่สงบ จะคิดแบบไม่สงบ คือ คิดสับสนวุ่นวายจากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่ง ไปอีกเรื่องหนึ่ง เปลี่ยนเรื่องไปเรื่อย ๆ จากเรื่องนี้ไปเรื่องนั้น จากเรื่องนั้นไปเรื่องโน้น โดยไม่เข้าใจถูกต้องในเรื่องใดเลย  ทั้งนี้เป็นไปด้วยอำนาจ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่ทำให้จิตวุ่นวายไม่สงบ
....ฯลฯ....
(จากพระนิพนธ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก  อำนาจอันยิ่งใหญ่แห่งกรรม)
*****


วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ชีวิต..ต้องการอะไร..


...ฯลฯ....
พยายามอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี 
คบคนดี วางตนให้ถูกต้อง
เพราะ " การรับรู้ " ทำให้เกิด "ความจำ"

จงเลือกจำ แต่สิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม
เพราะ " ความจำ " ทำให้เกิด " ความคิด "

จงเลือกคิด ตามปัญญาของพระพุทธเจ้า
เพราะ " ความคิด " ทำให้เกิด " พฤติกรรม "

จงเพียรฝึกพฤติกรรม(กาย + วาจา)
เพราะ พฤติกรรม "ที่ซ้ำซาก ทำให้เกิด " นิสัย "

จงอดทนฝึกฝนนิสัยทึ่ดี
เพราะ "นิสัยที่ดี " ต่อเนื่อง ทำให้เกิด " สันดานที่ดี "

และสันดานทั้งดี-ทั้งเลว คือ " ดวงชะตา " 
ที่ทำให้ต้องพบเหตุการณ์อย่างไร..
ที่ไหนกับใครนานเท่าไร สุข หรือ ทุกข์
จริง ๆ แล้ว..ชีวิต..ต้องการ..อะไร ?
ฯลฯ
(จากหนังสือ สาธยายมนต์ ฉบับชาวบ้าน อารามภิกษุณี นิโรธาราม)
******


วันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ข้าวเย็น


      ทุกๆวันเขาต้องมาที่นี้ ชายเกษียณอายุเปิดประตูหน้าบ้านอย่างคุ้นเคย บ้านหลังนี้เป็นบ้านที่ภรรยาและลูกชายคนเล็กเขาอาศัยอยู่ ตัวเขาเองอาศัยอยู่อีกหลังหนึ่งในหมู่บ้านเดียวกัน วันนี้เป็นวันเดิม ๆ อีกวันหนึ่ง เมื่อเขาเปิดประตูเข้ามาในบ้าน เขาไม่ได้ทักทายใคร ตรงเข้าไปในครัวหยิบชามใบใหญ่สีขาวประจำตัว คดข้าวจากหม้อใส่จานเปิดตู้เย็น มองหาหอมและกระเทียม หยิบมาได้สามสี่หัว ล้างน้ำอีกหนึ่งรอบ แล้วหั่นชิ้นเล็ก ๆ พอดีคำ โรยไปที่ข้าว คลุกให้เข้ากัน ถ้าวันนั้นภรรยาทำแกงส้ม เขาจะตักน้ำแกงส้มใส่เข้าไปหน่อย พอเรียบร้อยก็ถือชามข้าวมานั่งหน้าโต๊ะวางคอมพิวเตอร์ประจำตัว เปิดคอมพิวเตอร์แล้วเชื่อมต่อเข้าโลกออนไลน์ เขาเล่นคอมไปพร้อม ๆ กับกินข้าว ฟังธรรมะบ้าง เล่นเฟซบุ๊คบ้าง เขียนบล็อกบ้าง
      หลังจากเกษียณราชการมาได้สองสามปี เขาพบว่าโลกของตัวเองเปลี่ยนแปลงไปมากจากที่ต้องทำงาน เขาได้มีเวลาเป็นส่วนตัวมากขึ้น ลูกชายคนโตเพิ่งแต่งงานไปได้สองสามปียังไม่มีหลานเขาไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดูแลลูกเหมือนเด็กเล็กๆ อีกต่อไป พ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ที่ต้องดูแลก็เสียไปหมดแล้ว เขาใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างอิสระ แม้ว่าจะมาที่บ้านภรรยายแทบทุกวัน แต่เขาก็ไม่เคยที่จะเริ่มต้นสนทนากับภรรยาหรือลูกเลย เขาจะคุยกับคนในเนตมากกว่า เพื่อน ๆ วัยเกษียณหลายคน เริ่มหันมาเรียนรู้การใช้งานอินเตอร์เนตมากขึ้น ทำให้เขามีเพื่อนที่พูดคุยด้วยทางสังคมออนไลน์มากมาย ตัวเขาเองก็เพิ่งหันมาใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้ไม่นาน เขาเรียนรู้ฝึกฝนการใช้งานอย่างจริงจังไม่จำเป็นต้องถามใคร เขาจะนั่งเงียบๆอยู่ในมุมหนึ่งของบ้าน เขามีซีดีธรรมะเป็นเพื่อน เสียงสวดมนต์ทำให้จิตใจของเขาสงบลงได้บ้าง
     ชายสูงวัยที่ใคร ๆ เห็นเขาวันนี้ในอดีต เขาเป็นเพียงเด็กชายธรรมดา ๆ เติบโตมาในครอบครัวที่ฐานะค่อนข้างยากจน หกสิบกว่าปีที่แล้วความสะดวกสบายเป็นสิ่งที่เขาไม่รู้จัก พ่อของเขาเป็นอดีตทหารชั้นผู้น้อย ส่วนแม่ทำงานรับจ้างทั่วไป พ่อแม่เลี้ยงเขามาอย่างอดทน เขาเป็นลูกคนรอง มีพี่ชายคนโตและน้องสาวอีกห้าคน บ้านหลังใหญ่สร้างด้วยไม่ใต้ถุนสูงตั้งอยู่ริมคลอง อาหารการกินไม่ได้อดมื้อกินมื้อ แต่ก็ไม่ได้เป็นอาหารดีเลิศอะไร อาศัยเก็บผักหาปลาริมคลอง
      วัยเด็กเขาเห็นพ่อแต่งชุดทหารไปทำงานทุกวัน พ่อมักจะนั่งผูกเชือกรองเท้า เขาดูพ่อผูกเชือกรองเท้าทุกวัน ตกเย็นมาเห็นพ่อตั้งวงเหล้า และเป็นนักเล่นตัวยง พ่อชอบเล่นเสี่ยงโชคหวังรวยทางลัด ขณะที่แม่ทำงานรับจ้างอย่างขยันอดทน รับจ้างทุกอย่างที่พอจะทำได้ แต่สิ่งที่แม่ติดหนักหนาคือติดหวย ต้องเล่นเกือบทุกงวด เงินที่พอจะส่งลูกเรียนหนังสือได้ก็หาหยิบยืมเขาบ้าง ชักหน้าไม่ถึงหลัง เขากับพี่น้องพยายามอดทนเรียนหนังสือ โชคดีที่เขาเป็นเด็กรักเรียน สอบได้ที่หนึ่งของโรงเรียนประจำอำเภอ ด้วยความที่ฐานะทางบ้านยากจน เขาสมัครเป็นทหาร ค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนก็ไม่แพงพอจบมามีงานทำทันที เขาหวังแต่ว่าจะเลี้ยงตนเอง เลี้ยงครอบครัวให้ได้ก็เท่านั้น
       กลับบ้านจากฝึกทหารครั้งใดก็เห็นพ่อตั้งวงเหล้า เข้าวงไพ่ แต่เขาก็ยังมีช่วงเวลาที่เป็นความทรงจำดี ๆ  ระหว่างเขากับพ่อ สิ่งที่เขาจำได้ขึ้นใจเสมอช่วงน้ำหลากวันลอยกระทง พ่อจะพาลูก ๆ ทุกคนขึ้นเรือตอนค่ำ ๆ ออกไปลอยกระทงกัน พ่อชอบเล่านิทานให้ลูก ๆ ฟัง นิทานแต่ละเรื่องของพ่อให้ข้อคิดสอนใจที่ทำให้เขามีกำลังใจเข้มแข็ง
      " ตัวเล็กค่อย ๆก้มตัวลงไป เอากระทงปล่อยลงเบา ๆ อย่าโยนล่ะ "
      " หนูทำได้แล้ว " เขาจำได้ว่าเรียกแทนตัวเขาว่าหนู  ตัวเขาเล็กกว่าพี่น้องคนอื่น ๆ พ่อจึงเรียกเขาว่าตัวเล็กมาตลอด ไม่มีชื่อเล่น น้อง ๆ ผู้หญิงจะสนุกสนานกับวันลอยกระทงมาก เป็นวันที่ครอบครัวได้อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาล้อมวงกินข้าวด้วยกัน พอเริ่มโตโอกาสในการลอยกระทงด้วยกันก็น้อยลง พ่อเริ่มทุ่มเทในการ"เล่น" มากขึ้น สำหรับเขาก็ออกจากบ้านมาตั้งตัวด้วยตนเอง  เขามีเพื่อนมากมาย หลังเลิกงานเพื่อน ๆ ชวนเขาไปเฮฮาด้วยทุกครั้ง  แต่สิ่งที่เขาไม่เคยแตะต้องเลยคือของมึนเมาต่าง ๆ เขาร่วมวงสังสรรค์ คุยกับเพื่อนได้อย่างไม่เคอะเขิน เขาจิบเพียงน้ำอัดลมหรือน้ำแข็งเปล่า เขาให้เหตุผลกับเพื่อนว่าเขาแพ้ของมึนเมา กินแล้วฝื่นขึ้นเต็มตัว จับไข้ไปหลายวัน จึงไม่อยากเสียการเสียงาน เพื่อนที่ใกล้ชิดรู้ดี จึงไม่มีใครรบเร้าให้เขาต้องกินเหล้า
     หลังจากจบจากโรงเรียนทหารชั้นผู้น้อย เขาก็ได้บรรจุไปทำงานอยู่ต่างจังหวัด หนักเอาเบาสู้ ทำงานเลี้ยงตัวเองส่งเงินกลับมาบ้าน ช่วยแม่ส่งน้องผู้หญิงเรียนหนังสือ ยศก็เริ่มจากชั้นผู้น้อย จนค่อยไต่ระดับขึ้นมา ทุกครั้งเขากลับบ้าน แม่ยังคงทำกับข้าวในครัว เสียงทำกับข้าวของแม่เป็นเสียงที่เขาคุ้นเคยมาตลอด  ส่วนพ่อเขาเห็นหน้าพ่อน้อยมาก พ่อหลับบ้างหรือบางทีก็ออกไปเล่นจนดึกดื่น ตอนเช้าก็แทบจะตื่นไปทำงานไม่ไหว นอกจากจะเป็นนักเล่นแล้ว พ่อยังมีผู้หญิงคนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่แม่ ถึงแม้จะไม่ได้พาพวกผู้หญิงเหล่านั้นเข้าบ้าน แต่เขาก็ลือกันไปทั่วว่าพ่อเป็นคนเจ้าชู้ แต่พ่อกับแม่ก็ไม่เคยเลิกกันต่อให้แย่แค่ใหน พ่อก็หอบสังขารมาบ้านตัวเองทุกวัน
      " แม่ๆ หนูกลับมาแล้วนะ" ประโยคนี้เขาตะโกนบอกก่อนเข้าบ้านทุกครั้ง แม่โผล่หน้าจากบ้าน ยิ้มยิงฟันจนเห็นน้ำหมากเลอะเปรอะเปื้อน เขาเพิ่งสังเกตุว่าแม่แก่ลงไปมาก ขณะที่ตัวเองจากหนุ่มน้อยก็เข้าสู่เบญจเพศพอดี เขาทำงานได้สักพัก ระหว่างเป็นทหารก็พยายามหาเงินส่งตัวเองจบปริญญาตรี แม่ภูมิใจมาก ติดรูปของเขาไว้ที่ข้างฝาบ้าน รวมกับรูปของพี่ชายที่ก็ได้รับปริญญาแล้วเช่นกัน มีรูปของน้อง ๆ ที่ทยอยจบชั้นประถมและมัธยม เรื่องเรียนของลูก ๆ เป็นสิ่งที่แม่เคยต้องจ้ำจี้จ้ำไช ทุกคนขยันเรียน การทำงานของแม่ไม่สูญเปล่า แต่สิ่งที่แม่ยังเลิกไม่ได้ก็คือหวย เขาพยายามขอร้องให้แม่เลิกติดหวย แต่แม่ก็ผัดผ่อน และบอกว่าเล่นน้อยลงแล้ว
       " ปีนี้มีเวลาบวชให้พ่อกับแม่บ้างไหม แม่อยากให้ตัวเล็กบวชนะ " พอมีเวลาที่เขากับแม่ได้คุยกัน แม่มักจะคุยเรื่องอยากให้เขาบวชสักสิบห้าวัน
        " ช่วงนี้ย้งไม่ได้หรอก ช่วงนี้ยังต้องทำงานหาวันลาไม่ได้เลย หนูกำลังพยายามสอบเลื่อนยศอยู่แม่ อีกสักพักนะ "
       " อย่าให้แม่แก่ตายก่อนล่ะ ถึงจะได้เห็นตัวเล็กบวช พ่อก็ถามอยู่ตลอด "
       " พ่ออยู่ไหน อย่าบอกนะว่าเหมือนเดิม "
       แม่ไม่ตอบอะไรอีก  เลี่ยงออกไปเตรียมข้าวเย็น น้องสาวทยอยกลับมาจากโรงเรียน วันนี้เป็นวันที่ครอบครัวจะได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากินข้าวเย็นกัน แม่ปูเสื่อ ตั้งวง ลำเลียงกับข้าวสองสามอย่าง จานชาม น้ำลอยน้ำแข็งใส่ขันเย็น ๆ ทุกคนพร้อมหน้า ยกเว้นพ่อ แม่บอกไม่ต้องรอลงมือกินกันได้เลย เขากินได้ไม่กี่คำก็ลุกออกจากวง บอกแม่ว่าจะไปตามพ่อ แล้วจึงเดินลงจากเรือน ลัดเลาะไปทางด้านหลังบ้าน บ้านในชุมชนต่างจังหวัดมักจะไม่มีรั้วบ้านเขาลัดเลาะไปเรื่อย ๆ ช่วงนี้ไม่ใช่ฤดูน้ำหลาก จึงไม่ต้องพายเรือ เดินไปสักพักก็เข้าเขตบ้างหลังหนึ่ง ใต้ถุงสูงมีเรือเก็บอยู่ใต้ถุนสองสามลำ ตรงตีนบันไดมีรองเท้าหลายคู่วางเรียงรายอยู่หน้าบ้าน
        "พ่อ ๆ หนูมาแล้ว กลับมาบ้านกินข้าวเย็นด้วยกันนะ "
        " เฮ เฮ ตาข้าบ้างแล้ว " พ่อเงยหน้ามาจากวงไพ่
        " อ้าว ไอ้ตัวเล็กกลับมาแต่เมื่อไหร่ "
        " หนูมาตามพ่อไปกินข้าว "
        " ข้า ไม่กินกำลังติดพันอยู่ "
     เขาไม่อยากเซ้าซี้ พ่อเป็นแบบนี้ทุกทีเล่นจนลืมเวลา เล่นจนลืมหิว เขาทำอะไรไม่ได้ ต้องปล่อยให้พ่อทำในสิ่งที่พ่อสบายใจ เขายังจำภาพพ่อในสมัยหนุ่ม ๆ ได้เสมอ พ่อขยันขันแข็งมีเวลาให้ลูก ๆ เสมอ ถึงแม้ว่าฐานะจะไม่ร่ำรวย แต่เขารู้สึกถึงความเป็นครอบครัวที่อบอุ่น  มาระยะหลัง ๆ พ่อเริ่มเล่นมากขึ้น พ่อต้องการเสี่ยงโชค เพื่อให้ฐานะตัวเองร่ำรวย แต่การพนันไม่เคยทำให้ใครร่ำรวย พ่อใช้เวลาทั้งหมดทุ่มเทกับการเล่น อาชีพการงานของพ่อจึงไม่ค่อยก้าวหน้า พ่อทำงานไปวัน ๆ ตกเย็นก็รีบเข้าวงไพ่  ถ้าเงินเดือนออกก็จะเป็นวันที่รู้กันว่าพ่อจะกลับดึกแน่นอน พอเงินหมด พ่อก็หาทางหยิบยืมเงินชาวบ้าน พอไม่มีเงินใช้คืน ชาวบ้านก็จะแห่มาทวงเงินที่บ้านกับแม่ ถ้าแม่ไม่มีเขาก็ต้องรับภาระเป็นคนตามใช้หนี้ให้กับพ่อ เขาอดทนทำไม่เคยปริกปากบ่น
       การกลับบ้านวันหยุดสุดสัปดาห์ จึงมักจะไม่ใช่วันหยุดที่เขารอคอย เพราะกลับมาทุกครั้งก็จะเห็นพ่อเป็น"ผู้เล่น " คนสำคัญของวงไพ่ พ่อไม่กินข้าวกินปลา ไม่มีใครไปฉุดพ่อมาจากวงไพ่ได้ แม่ต้องคอยหาน้ำหาข้าวส่งให้พ่อที่กำลังติดเกมการพนันอย่างหนัก พ่อผ่ายผอมลง ระยะหลังเงินเดือนของพ่อทุกบาททุกสตางค์ไม่เคยตกถึงมือแม่ แม่เองก็ต้องรับจ้างทำงานต่าง ๆ มากขึ้นกว่าเดิม ถึงแม้ว่าแม่จะติดหวย แต่แม่ก็พยายามไม่เล่นมาก เพราะแม่รู้ว่ามีอีกหกชีวิตที่แม่ต้องดูแล เขาเดินออกมาจากบ้านหลังนั้น จะเรียกว่าบ้านไม่ได้ มันคือ "บ่อน " ที่ทำลายชีวิตของคนมานักต่อนักแล้ว
        " แม่บอกตัวเล็กว่าไม่ต้องไปตามพ่อ"
        " หนูอยากให้พ่อมากินข้าวเย็นกับพวกเรา นาน ๆ ทีเราจะได้กินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตากัน "
        แต่การกินข้าวเย็นพร้อมหน้ากันเดือนละครั้งยังเป็นไปไม่ได้เลย เขารู้ตัวดีว่าตัวเองร่ำร้องเรียกหาถึงวันคืนเก่า วันที่พ่อแม่ลูกกินข้าวเย็นด้วยกัน เขามักจะมองเห็นภาพพ่อที่เป็นผู้พายเรือลำใหญ่ในคืนน้ำหลาก พาลูก ๆ ออกไปลอยกระทงยามค่ำคืนด้วยกัน ทุกครั้งที่เขากลับมาบ้าน เขาก็รับรู้เรื่องราว"การเล่น" ของพ่อจากคนรอบตัวจนอายุของเขาแตะเลขสาม พ่อก็ยังเป็นผู้เล่นคนสำคัญจนร่างกายไม่ไหว
        เขายังจำวันนั้นได้ดีเขากลับมาบ้านเหมือนเคย คนจากบ่อนมาตามเขาและแม่ที่บ้าน พ่อนั่งเล่นอยู่ดี ๆ ก็ฟุบคาวงไพ่ เขาหน้าตาตื่นก้าวกระโดดลงบันไดบ้านรีบรุดไปที่เกิดเหตุ ช่วยกันแบกหามพ่อไปโรงพยายาบาล พ่อเข้าไอซียูอยู่หลายวัน พ่อไม่กินข้าวมาสามวันเต็มๆ  จานอาหารที่แม่เอาไปให้ทิ้งเน่าเหม็นบูดอยู่ข้างวงไพ่  แม่ เขา และน้อง ๆ ผลัดเปลี่ยนกันมาดูแลพ่อ แล้วพ่อก็จากไป จากไปโดยที่ไม่ได้บอกลาพวกเราแม้แต่น้อย แม่ร้องไห้อย่างหนัก เขาซะอีกไม่มีน้ำตาให้เห็นเลย ข้างในมันจุกจนพูดไม่ออก พ่อเล่นไปเพื่ออะไร ทั้งที่รู้ว่ามันไม่ดี แต่ผู้ใหญ่หลายคนก็ยังเลือกที่จะทำ
        จะกี่เดือนกี่ปีผ่านไป ยังเป็นวันที่เขาจำได้ไม่เคยลืม เขาปฏิญาณกับตัวเองไว้ เขาจะไม่แตะต้องการพนัน ไม่แตะต้องของมึนเมา จะไม่เป็นอย่างพ่อเด็ดขาด ตัวเขาเองในวันนี้พยายามสร้างครอบครัวที่มีความสุข พยายามที่จะให้ความรักความใส่ใจดูแลลูกและภรรยาอย่างเต็มที่  แต่ก็มีบางอย่างขาดหายไป เขาพอใจที่นั่งกินข้าวเย็นคนเดียว ถึงแม้ภรรยาและลูกจะพยายามชักชวนให้มากินข้าวเย็นด้วยกันก็ตาม แต่เขาก็ไม่เคยร่วมวงกินข้าวเย็นกับใคร ภาพในวันเก่ามักจะวนเวียนเข้ามาในหัวเขาอยู่เสมอ เขาอยากจะสร้างภาพครอบครัวให้สมบูรณ์แบบนั้นอีกครั้ง แต่เขาก็ทำไม่ได้
        ชายสูงวัยเปิดหน้าจอคอมพิวเตอร์ พร้อมกับตักข้าวจากชามใบใหญ่สีขาวเข้าปาก เขาชอบกินข้าวเย็นคนเดียว
*********
(จากหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ วันอาทิตย์ที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๘   หน้าวรรณกรรม เรื่องสั้นไทย  ข้าวเย็น  โดย   ศุภมณฑา สุภานันท์)


วันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2558

อำนาจของกรรมใหญ่ยิ่งที่สุดในโลก


....ฯลฯ....
     อำนาจของกรรมใหญ่ยิ่งที่สุดในโลก ไม่มีอำนาจใดทำลายล้างได้ แม้อำนาจของกรรมดีก็ไม่อาจทำลายอำนาจของกรรมชั่ว และอำนาจของกรรมชั่วก็ไม่อาจทำลายอำนาจของกรรมดี อย่างมากที่สุดที่มีอยู่ คืออำนาจของกรรมดีแม้ให้มาก ให้สม่ำเสมอในภพภูมินี้ ก็อาจจะทำให้อำนาจของกรรมชั่วที่ได้ทำมาแล้วตามมาถึงได้ยาก ดังมีเครื่องขวางกั้นไว้
    หรือไม่เช่นนั้น ก็ดังที่ท่านเปรียบเทียบว่าเหมือนวิ่งหนีผู้ร้ายที่วิ่งไล่ตามมา ถ้ามีกำลังแข็งแรง วิ่งเร็วกว่าผู้ร้าย ก็ย่อมยากที่ผู้ร้ายจะไล่ทัน ความแข็งแรงของผู้วิ่งหนีกรรมชั่ว ก็หาใช่อะไรอื่น คือ  ความเข้มแข็งสม่ำเสมอของการทำกรรมดีนั่นเอง..
....ฯลฯ....
(พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก  อำนาจอันยิ่งใหญ่แห่งกรรม )
*******
ทำดีต้องได้ดีเสมอไม่มีข้อยกเว้น (คลิก)

********
พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร (คลิก)

วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2558

สุปฏิบัติ ปฏิบัติดี


....ฯลฯ....

......และเมื่อว่าถึงคำว่าดีนี้ก็อาจจะกล่าวได้ว่ามี คือ ดี ที่เป็นโลกาธิปไตย คือ มีโลกเป็นใหญ่ อันหมายถึงว่าเมื่อชาวโลกว่าดี ก็รับว่าดีไปตาม เมื่อชาวโลกว่าชั่วหรือไม่ดี ก็รับว่าไม่ดีไปตาม เป็นดีไปตามโลก 
     อีกอย่างหนึ่งดีที่เป็น อัตตาธิปไตย มีตนเป็นใหญ่คือ ตนเองเห็นว่าดีก็ถือว่าดี ตนเองเห็นว่าไม่ดีก็ถือว่าไม่ดี 
    อีกอย่างหนึ่งดีที่เป็น ธรรมาธิปไตย คือ มีธรรมะคือ ความถูกต้องเป็นใหญ่ ตามเหตุและผลตามเป็นจริง เมื่อเป็นธรรมะคือเป็นคุณที่เป็นส่วนดีเป็นกุศลเป็นบุญที่แท้จริงก็ดี เมื่อเป็นอธรรมคือเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมอันถูกต้อง หรือเป็นอกุศลธรรมเป็นบาปตามเป็นจริงก็ไม่ดี ดีที่มีธรรมะคือมีความถูกต้องเป็นใหญ่ ดั่งนี้เรียกว่า ธรรมาธิปไตย
      ทั้ง นี้ ดีที่มีโลกเป็นใหญ่ นั้น บางทีก็ดีจริง บางทีก็ไม่ดีจริง สุดแต่ว่าคนส่วนใหญ่จะว่าดีหรือว่าไม่ดี และก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา สมัยนี้ว่าดีอีกสมัยหนึ่งว่าไม่ดี หรือว่าสมัยนี้ว่าไม่ดี อีกสมัยหนึ่งว่าดี เป็นสิ่งที่ไม่คงทนแน่นอน
     แม้ ดีที่มีตัวเองเป็นใหญ่ ก็เหมือนกัน เพราะตนเองนั้นเมื่อถูกใจชอบใจก็ว่าดี เมื่อไม่ถูกใจไม่ชอบใจก็ว่าไม่ดี ก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ ในคราวที่ถูกใจตนได้ประโยชน์ก็ว่าดี แต่ในคราวที่ไม่ถูกใจตนเสียประโยชน์ก็ว่าไม่ดี ก็เป็นดีที่ไม่แน่นอน
     ส่วน ดีที่มีธรรมะเป็นใหญ่ นั้นเป็นดีที่ถูกต้องแน่นอน แต่ว่าดีที่มีธรรมะเป็นใหญ่นี้ ทุกคนไม่อาจจะรู้เห็นได้ ในเมื่อจิตใจยังประกอบด้วยตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก ยังมีโลภมีโกรธมีหลง ซึ่งรวมเป็นตัวกิเลสที่ทำให้จิตใจเศร้าหมองไม่ผ่องใส ทำให้จิตนี้ไม่ได้ปัญญาคือความรู้ที่ถูกต้อง ยังมีโมหะคือความหลง ยังมีอวิชชาคือความไม่รู้ตามความเป็นจริง

      เพราะฉะนั้น คนทั่วไปจึงมักจะยึดถือว่าดีหรือไม่ดี ที่มีโลกเป็นใหญ่บ้าง มีตนเองเป็นใหญ่บ้าง แต่เมื่อได้ใช้ปัญญาได้รู้เห็นตามเป็นจริงตามเหตุผล ก็อาจจะได้พบดีหรือชั่ว ที่มีธรรมะเป็นใหญ่คือถูกต้อง หรือว่าได้ฟังคำสั่งสอนของท่านผู้รู้ เช่นลูกที่มีพ่อแม่สั่งสอนมาว่านี่ดีนี่ชั่วตั้งแต่เป็นเด็ก และที่ครูอาจารย์สั่งสอนว่านี่ดีนี่ชั่วเมื่อเข้าโรงเรียน หรือว่าได้มาฟังธรรมะที่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าตรัสชี้ว่านี่ดีนี่ชั่ว แม้ว่าจะยังไม่มีปัญญาที่จะรู้ถึงรู้เท่าด้วยตนเองก็อาศัยศรัทธาคือความเชื่อ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน หรือตามท่านผู้รู้เช่นพ่อแม่ครูบาอาจารย์สั่งสอน ก็ได้ความรู้จักว่าอะไรดีอะไรชั่วอันถูกต้อง ดั่งนี้ก็เป็น ดีชั่วที่มีธรรมะเป็นใหญ่ คือ ถูกต้องเป็นใหญ่
....ฯลฯ....

(จาก ซีดีธรรมอบรมจิต โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช และ http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/somdej/somdej-preach-index-page.htm)

วันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2558

เพื่อน


     เพื่อนนั้นมีหลายแบบหลายชนิด ครูบาอาจารย์บางองค์ท่านเล่าเกี่ยวกับเพื่อนไว้ก็มีเช่นเรื่อง ๓ เกลอ เพื่อนสนิทในเรื่อง ๓ เกลอนี้ มีอุปนิสัยไม่เหมือนกัน เราลองดูว่าถ้าเป็นเราควรเลือกคบกับเกลอคนใหนดีจึงจะมีประโยชน์อย่างแท้จริง หรือเกลอคนใหนเป็นประโยชน์จอมปลอมที่คบได้ยากและไม่มีความจริงใจในการช่วยเหลือเราอย่างแท้จริง เมื่อเราต้องเดินทางไกล คือเมื่อความตายเข้ามาเยือน นี้เป็นความจริงที่เราทั้งหลายต้องพบกันทุกคน
     เกลอที่ ๑ คือเมื่อเราตายแล้ว เจ้าเกลอที่ ๑ นี้มันไม่ยอมตามไปช่วยเราในโลกหน้า เจ้าเกลอที่ ๑ นี้คือทรัพย์สมบัติ แก้วแหวนเงินทอง เราต้องเหนื่อยยากลำบากทั้งกายและทางจิตใจกว่าที่จะหาและสะสมมันมาไว้เป็นของเรา แต่เมื่อเราตายแล้วไปสู่ภพภูมิใหม่ มันกลับไม่ยอมไปส่งหรือช่วยเหลือเราในช่วงที่ต้องผจญกับอันตรายต่าง ๆหลังจากที่ตายไปแล้ว
     เกลอที่ ๒ คือเมื่อเราตายแล้ว เจ้าเกลอที่ ๒ นี้มันจะไปส่งเราเพียงครึ่งทางแล้วเขาก็จะพากันกลับ เกลอที่ ๒ นี้คือลูก หลาน สามี ภรรยา หรือญาติพี่น้อง และเพื่อนที่รู้จัก ก็ยังไม่ยอมติดตามไปช่วยเหลือเราให้ถึงที่สุด ให้เราต้องผขญภัยไปในภพภูมิหน้าอย่างโดดเดี่ยว จะหาเพื่อนแท้ที่จะร่วมทุกข์ร่วมยากอย่างแท้จริงนั้นหาได้ยากมาก อย่างเก่งพวกเขาก็ไปส่งเราที่เชิงตะกอนเท่านั้น
     เกลอที่ ๓ คือเมื่อเราตายแล้ว เจ้าเกลอที่ ๓ นี้มันจะติดตามเราไปตลอด แต่เจ้าเกลอที่ ๓ นี้ มันมี ๒ หน้า คือหน้าฝ่ายบุญ และหน้าฝ่ายบาป มันก็แล้วแต่ว่าเราได้สะสมหน้าฝ่ายใหนไว้มากกว่ากัน ถ้าเป็นหน้าฝ่ายบุญเขาก็จะส่งเสริมเราให้ได้รับความสุขความเจริญในภพภูมิข้างหน้า นี้เป็นเพื่อนที่ดีเป็นเพื่อนที่แท้ที่เราคบหาแล้วไม่เสียหลาย เพราะถึงทุกข์ยากอย่างไรก็ติดตามช่วยเหลือกันจนถึงที่สุด ส่วนเกลอที่ ๓ ฝ่ายบาปนี้ต้องระวังมันให้ดี ถ้าเราสะสมมันไว้มาก มันก็จะตามไปเล่นงานเรา ให้ได้รับความทุกข็ความลำบากแสนสาหัสเลยทีเดียว จงอย่าคบมันให้มากนัก เพราะมันไม่ใช่เพื่อนที่แสนดีอะไร
     เกลอที่ ๔ นี้อาตมาเติมเอาเอง คือ สภาวะจิตวางบุญวางบาป เป็นโลกุตตรจิต ถ้าสามารถคบกับเพื่อนชนิดนี้ได้แล้ว ก็สบายใจได้ เพราะถึงเรายังมีชีวิตอยู่หรือเราตายไปแล้ว สภาวะจิตนี้ก็ยังคุ้มครองเราให้ได้รับความสงบเย็นในด้านจิตใจได้ จะไปกับเราทุก ๆ ที่   ที่เราไป ถ้าจะคบก็คบกับเจ้าเกลอที่ ๔ นี้จึงเป็นเกลอที่ดีที่สุดที่เราทั้งหลายต้องพยายามคบกับเขาให้ได้ จึงจะเป็นประโยชน์อันสูงสุดของเกลอทั้งหลาย
***********
(จากหนังสือ ปริศนาธรรมจากสวนป่า  อริโยภิกขุ)

วันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ตะโกนต่อ....

ภาพจากหนังสืออนุสรณ์ นรจ.๐๘ - ๐๙

" สวัสดีครับ "
    " สวัสดีครับ "
        ฯลฯ
       ทุกเช้าหลังจากแตรปลุก พอลืมตาลุกจากที่นอน(เตียงล่าง) พวกเราชั้นปีที่หนึ่งก็จะต้องกล่าว " สวัสดีครับ " กับพี่ชั้นปีที่สองซึ่งนอนอยู่บนเตียงบน..เก็บที่นอนเสร็จรีบลงไปล้างหน้าที่ห้องน้ำชั้นล่างของกราบพัก ระหว่างทางไปห้องก็ต้องหยุด " สวัสดีครับ " กับพี่ ๆ ปีสอง.....เรื่องนี้เรื่องสำคัญนะครับ..พลาดพลั้งไปละก็.."ออกอากาศ"ตอนแถวใหญ่หน้า บก.เชียวละ !!
        ******
         นึกถึงความหลังเมื่อ ๔๙ ปีที่แล้ว เออ.เราผ่านมาได้อย่างไร...ปีหน้า ๒๕๕๙ จะครบรอบ ๕๐ ปีแล้ว...พวก"ขาประจำ" ตั้งความหวังไว้ว่าเลี้ยงรุ่น ครบ ๕๐ ปี นี่คาดว่าเพื่อน ๆ คงมาร่วมงานกันมากกว่าทุกครั้ง....
         จากข้อมูลของเพื่อน ๆ ก็มีบางท่านขาดการติดต่อไปนานมากบางท่านสี่สิบกว่าปีนี่ไม่ทราบข่าวกันเลย...แต่ด้วยความเจริญทางเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารที่มี ไลน์(Line) มีเฟสบุ๊ค (Facebook) โทรศัพท์มือถือ ก็ทำให้การติดต่อกันง่ายขึ้น....
          ก็ฝากเพื่อน ๆ ที่ทราบข่าวนี้ "ตะโกนต่อ" ไปยังเพื่อน ๆ ด้วยครับ..เหมือนกับที่เคยทำตอนเป็น นรจ.พอได้ยินเสียงนกหวีดประกาศเรื่องอะไรก็ตาม...ใครที่ได้ยินต้อง"ตะโกนต่อ"ด้วย  ไม่เช่นนั้นมีโทษ !!! (ฮา)
          ครับ ช่วยกัน ๆ "ตะโกนต่อ"กันไปด้วยนะครับ ปีหน้า ๒๕๕๙ ครบรอบ ๕๐ ปี นรจ.๐๙ เราจะคืนสู่เหย้า รร.ชุมพลทหารเรือ ในวันเสาร์ที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๙ ก็คงจะมีรายละเอียดจากคณะกรรมการของรุ่นมาให้พวกเราได้ทราบอีกครั้งหนึ่งครับ.....
       จาก  ๙๔๑๗
            ๘ สิงหาคม ๒๕๕๘

วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2558

วังจันทรเกษม


มุ่งสู่กรุงเก่า.." ราชธานีเก่า อู่ข้าว อู่น้ำ เลิศล้ำกานท์กวี 
คนดีศรีอยุธยา"


          พระราชวังจันทรเกษม ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำป่าสักหรือที่เรียกว่า คูขื่อหน้าในอดีต ทางทิศเหนือ มุมตะวันออกของเกาะเมืองอยุธยา ใกล้ตลาดหัวรอ ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
         หลักฐานตามพระราชพงศาวดารสันนิษฐานได้ว่า พระราชวังจันทรเกษมหรือวังหน้า สร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาประมาณ พ.ศ.๒๑๒๐ ด้วยมีพระราชประสงค์เพื่อให้ไว้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อทรงดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลก
         นอกจากนี้ยังเคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และมหาอุปราชที่สำคัญถึง ๘ พระองค์ คือ
         ๑.สมเด็จพระนเรศวรมหาราช 
          ๒.สมเด็จพระเอกาทศรถ
         ๓.เจ้าฟ้าสุทัศน์(พระราชโอรสสมเด็จพระเอกาทศรถ)
         ๔.สมเด็จพระนารายณ์มหาราช 
         ๕.ขุนหลวงสรศักดิ์(พระเจ้าเสือ)
         ๖.สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
         ๗.สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ
         ๘.กรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์(เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ)
         ภายหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๓๑๐ พระราชวังจันทรเกษมได้ถูกทิ้งร้างไป จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้มีการบูรณะและปรับปรุงพระราชวังจันทรเกษมขึ้นใหม่ เพื่อใช้สำหรับเป็นที่ประทับในเวลาที่พระองค์เสด็จประพาสพระนครศรีอยุธยา และพระราชทานนามว่า พระราชวังจันทรเกษม
           ******
          ปัจจุบัน คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม.....

......


......

         หลังจากติดต่อสอบถาม จ่ายค่าเข้าชมคนไทย ๒๐ บาท ต่างชาติ ๑๐๐ บาท (ผมได้รับสิทธิ์ผู้สูงอายุเลยไม่ต้องจ่ายครับ)

         เริ่มที่ พลับพลาจตุรมุข เป็นห้องที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ จัดแสดงเครื่องใช้ส่วนพระองค์ที่มีอยู่ในพระราชวังแห่งนี้ ได้แก่ พระแท่นบรรทม พระราชอาสน์พร้อมเศวตฉัตร พระบรมฉายาลักษณ์ และเครื่องราชูปโภคต่าง ๆ ที่หาชมได้ยาก


.....
....
....
....
....
          ต่อไปเราจะไปชม พระที่นั่งพิมานรัถยา จัดแสดงโบราณศิลปวัตถุสมัยต่าง ๆ ที่พระยาโบราณราชธานินทร์เก็บรวบรวม ได้แก่ ประติมากรรมที่สลักจากศิลา เช่น เทวรูป และพระพุทธรูปนาคปรก ศิลปะสมัยลพบุรี กลุ่มพระพุทธรูปสำริดสมัยอยุธยา ที่พบในพระพาหาซ้ายของพระมงคลบพิตร รวมทั้งพระพิมพ์แบบต่าง ๆ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีเครื่องไม้จำหลักฝีมือช่างอยุธยาตอนปลายและรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่ประณีตงดงามหลายชิ้นจัดแสดงร่วมอยู่ด้วย

(ภาพบน)จากพลับพลาจตุรมุข มีทางเดินไปพระที่นั่งพิมานรัถยาด้านข้าง
(ภาพล่าง)พระที่นั่งพิมานรัถยามองจากด้านหน้า

....
....
....
....

ลงจากอาคารหลังใหญ่ ด้านหน้าของอาคาร
จะมีเรือนขนาบด้านข้างซ้ายและขวา


ปรัศว์ซ้าย(ปรัศว์ - ข้าง,สีข้าง) ภายในแสดง
เรื่องราวความเป็นมาของพระราชวังจันทรเกษม


.....


ปรัศว์ขวา(ปรัศว์ - ข้าง,สีข้าง) ภายในแสดง
ภาพถ่ายในอดีต


กลุ่มอาคารพระที่นั่งพิมานรัถยายังมีอีกหนึ่งหลังอยู่ด้านหลังคืออาคารเชิญเครื่อง 



        หลังจากชมพระที่นั่งพิมานรัถยา แล้วเดินอ้อมไปด้านหลัง ก็จะพบอาคารสโมสรเสือป่า ซึ่งพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้เป็นที่ชุมนุมกองเสือป่าของมณฑลกรุงเก่า  อาคารนี้ได้รับพระราชทานรางวัลสถาปัตยกรรมไทยอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามโดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์พระราชทานรางวัล  ซึ่งไม่เปิดให้ชมภายใน


           ผ่านไปอีกนิดก็จะถึงพระที่นั่งพิสัยศัลลักษณ์(หอส่องกล้อง) เป็นอาคารทรงสูง ๔ ชั้น สูง ๒๒ เมตร  สันนิษฐานว่าสร้างครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและได้พังลงตั้งแต่ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นตามแนวรากฐานเดิมที่มีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพื่อทรงใช้เป็นที่ศึกษาดาราศาสตร์

เราสามารถขึ้นไปชมภายในอาคาร
มีนิทรรศการพระราชกรณียกิจของ ร.๔ 
และชมทัศนียภาพดยรอบของวังจันทรเกษม ได้ครับ


           ลงจากหอส่องกล้องแล้วเราจะไปชมอาคารมหาดไทย (รูปตัวแอล) สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๖ ครั้งพระยาโบราณราชธานินทร์(พร เดชะคุปต์) เป็นสมุหเทศาภิบาลกรุงเก่า

      อาคารนี้มีนิทรรศการให้ชม คือ วิถีชีวิตชาวกรุงเก่ากับสายน้ำ เครื่องป้ันดินเผา อาวุธยุทธภัณฑ์ ศิลปวัตถุพุทธบูชา


....

....

....

....


อาคารนี้จะมีห้องที่ระลึกพระยาโบราณราชธานินทร์


....

....


....


            อาคารหลังสุดท้ายคือ โรงม้าพระที่นั่ง  สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๔ ในสมัย รัชกาลที่ ๕ พระยาโบราณราชธานินทร์ใช้เป็นที่ตั้ง โบราณพิพิธภัณฑ์

....
ภาพถ่ายมุมสูงจากพระที่นั่งพิศัยศัลลักษณ์(หอส่งกล้อง)
พลับพลาจตุรมุข พระที่นั่งพิมานรัตยา อาคารสโมสรเสือป่า

....
อาคารมหาดไทย โรงม้าพระที่นั่ง  พระที่นั่งพิมานรัตยา




ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมครับ
       ขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือนำชม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม และแผ่นพับ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
*********



วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2558

กรับพวง

.....ห่างหายไปนาน กลับมาพร้อมกับของเก่า ๆ ครับ...ของเก่าที่ว่านี้คือ " กรับพวง " จริง ๆ แล้วผมเองไม่มีความรู้ทางดนตรีเลย..ออกตัวไว้ก่อนที่จะมีคนถามต่อ.."กรับพวง"อันนี้ผมจำความได้ก็เห็นวางอยู่ในตู้ที่บ้าน  ตอนแรกไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าเรียกอะไร     แต่เข้าใจว่าเป็นเครื่องดนตรีไทยชนิดหนึ่งเพราะหยิบมาฟาดกับฝ่ามือแล้วมีเสียงดัง...หลังจากคุณแม่เสียชีวิตไปแล้วเมื่อปีก่อน  ผมต้องกลับมาอยู่ที่บ้านเกิดอีกครั้งหนึ่งหลังเกษียณอายุเพื่อดูแลคุณป้าตอนนี้อายุ ๙๖ ปี   ก็ยังเห็น" กรับพวง " วางอยู่ในตู้ของแม่เช่นเคย  อายุของกลับพวงนี้ต้องไม่ต่ำ ๖๐ กว่าปีแน่นอน
        สิ่งที่สงสัยมานานคือกลับพวงนี้มีประวัติความเป็นมาอย่างไรเพราะบ้านเราไม่มีใครเล่นดนตรีเลย...  เมื่อต้นปีที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสพบกับ"พี่ต๊อย"ลูกสาวของลุง  พี่ต๊อยบอกว่าไปพบกับเพื่อนรุ่นเดียวกับแม่สมัยเรียนฝึกหัดครูด้วยกัน เพื่อนของแม่บอกพี่ต๋อยว่า สมัยที่แม่เรียนฝึกหัดครูนั้น   แม่เป็นแม่เพลงเรือของโรงเรียนฝึกหัดครู..........
         เสียดายจริง ๆ ที่ผมไม่ได้ยินเสียง"กลับพวง"และเสียงร้องเพลงเรือของ"แม่"..........(แม่จากไปอย่างไม่มีวันกลับมาอีกแล้วเมื่อ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๒)

**************

***************

.. ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๕..
งานฉลองศาลา ๑๐๐ ปี ชาตกาล
ของแม่ครูสดับ สุภานันท์..