หน้าเว็บ

วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ขังคอกกับบินไป

 


ธรรมวันนี้

“วิธีการสอนของพระพุทธองค์ คือ “ขังคอก” กับ “บินไป”


“ ลักษณะแห่งการบําเพ็ญประโยชน์ผู้อื่น​ ของพระพุทธองค์นั้น​ อาจแบ่งได้เป็นสองสถาน กล่าวคือ.. สําหรับสัตว์ที่ยังอ่อน พระองค์ทรง “ขังคอก” เอาไว้, ส่วนสัตว์ที่แก่กล้าแล้ว​ พระองค์ทรง​ “ชี้ทางให้บินไป”


ที่ว่า​ “ขังคอกไว้” ก็คือ.. ให้อยู่ใน​ “กรอบวงของศีลธรรม” อย่าให้พลัดออกไปนอกคอก จะเป็นเหยื่อของสัตว์ร้าย กล่าวคือ “อบาย”.


แต่แม้กระนั้น พระองค์ก็ทรงสอนให้กระทําไปด้วยความไม่ยึดถือ​ หรือติดแน่นในศีลธรรมนั้นๆ ถึงกับตรัสเปรียบว่า...


“ ธรรมะนี้เหมือนเรือแพ จะอาศัยมันเพียงที่ยังต้องข้ามทะเลเท่านั้น  เมื่อถึงฝั่งแล้ว ไม่จําต้องแบกเอาเรือหรือแพขึ้นบกไปด้วย กล่าวคือ “ความยึดติด” ซึ่งจะทําให้ขึ้นบกไม่ได้.. ”


ที่ว่า “ทรงชี้ทางให้บินไป” ก็คือ.. ทรงสอนให้ละวางโลกนี้ โดยมองเห็นในด้านในตามที่เป็นอย่างไร แล้วไม่ยึดถือ ไม่ติดอยู่ในโลก ไม่ติดอยู่ในธรรม สามารถข้ามขึ้นสู่ “โลกุตตรสภาพ” ซึ่งทรงตัวอยู่ได้โดยปราศจากภพจากชาติ อันเป็นที่ตั้งแห่งความยุ่งยากโดยประการทั้งปวง


.. ในขั้นที่สอนให้บุคคลหนัก “อยู่ในศีลธรรมนั้น มิใช่เพื่อให้ยึดถือ” เป็นเพียงให้เดินไปตามทางที่มีการอารักขาไปก่อน หรือ ให้อยู่ในคอกที่มั่นคง เพื่อใช้เวลาในขณะนั้น สร้างความสามารถให้แก่ตัวเองให้เข้มแข็ง


กลายเป็นเป็ดไก่ ที่ไม่ต้องอยู่คอกเล้า หรืออาศัยคนเลี้ยง เช่น ลูกเป็ด ไก่อ่อน แต่ให้เป็นเป็ดสวรรค์ ไก่สวรรค์ หรือ นกซึ่งโบกบินไปได้ในอากาศอย่างเป็นอิสระเสรี


เพราะฉะนั้น ! ผู้ใดถอนตนออกมาได้เพียงใด ขอจงกรุณาเอ็นดู สงเคราะห์ ช่วยเหลือ ให้เพื่อนสัตว์ถอนตัวออกมาเพียงนั้น  เมตตาที่มีอยู่นั้น จักเป็นเครื่องช่วยกําลังสมาธิ หรือช่วยกําลังจิตให้ผ่องแผ้วกล้าหาญยิ่งขึ้น


และข้อที่ว่า.. “ส่งเสริมกําลังปัญญา”​ ก็คือ ข้อที่ตนถูกซักไซ้ไต่ถาม ย่อมทําให้ต้องพินิจพิจารณาในอรรถธรรมนั้นมากขึ้น ละเอียดขึ้น นี้เป็นผลสะท้อน(reaction) ที่กลับมาได้แก่ตัวเอง และส่งเสริมตัวเองให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปอีก


ในพระบาลี(พระบาลีไตรปิฎก) “วิมุตตายตนสูตร” มีข้อความที่กล่าวไว้ว่า.. บุคคลบางคนได้บรรลุมรรคผลในเบื้องสูงเด็ดขาดถึงที่สุดได้ ในขณะที่ตนกําลังพยายามตอบปัญหาเรื่องนั้นเองแก่ผู้อื่น

*****

Ct.https://www.facebook.com/share/p/654F99wcsKEzgt1G/?mibextid=oFDknk

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น