หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

เสียชีวิตจากการตรวจสุขภาพประจำปี

 



Cr.fwd.line

*********

"เสียชีวิตจากการตรวจสุขภาพ"

โดย นพ.สันต์ หัตถีรัตน์


ท่านใดที่อายุเริ่มเยอะขึ้น โดยเฉพาะท่าน สว.ทุกท่าน ควรเสียเวลาอ่านสักนิด จักเป็นประโยชน์ต่อตัวท่านเอง

ใครที่มีพ่อแม่ ที่อายุเยอะ ก็ควรอ่านสักนิด เป็นอุทาหรณ์ที่ควรระวัง ใน

เรื่อง เสียชีวิตจากการตรวจสุขภาพ


ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ ๕๕

เป็นชายไทย  อายุ ๗๒ ปี ไม่มีโรคประจำตัวใดๆ ได้ดูแลรักษาสุขภาพของตนเองเป็นอย่างดี ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา ไม่มีอาการผิดปกติ วิ่งออกกำลังกายทุกวัน จึงแข็งแรงดี ในครอบครัวไม่มีใครเป็นเบาหวาน ความดันเลือดสูง โรคหัวใจ หรือโรคร้ายแรงใดๆ 

บิดามารดาของชายรายนี้ ก็ยังมีชีวิตอยู่ และยังช่วยตนเองได้ตามสภาพแก่ วัยที่เกิน ๙๐ ปีแล้ว


แต่แล้ว วันหนึ่ง บุตรสาวคนสุดท้องที่อยู่กับพ่อ เห็นข่าวประชาสัมพันธ์ของโรงพยาบาลรัฐบาลแห่งหนึ่งว่า ผู้สูงวัยควรไปตรวจ (เช็ก) สุขภาพประจำปีว่า มีโรคร้ายแรงหรือเปล่า จะได้รักษาแต่เนิ่นๆ 

ยิ่งมีข่าวผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองล้มฟุบกลางที่ประชุม จนต้องนำส่งโรงพยาบาล และ แพทย์ต้องนำไป "บอลลูน" ขยายหลอดเลือดหัวใจโดยด่วน แล้วแพทย์ยังออกมาให้ข่าวว่า "โชคดีที่มาเร็ว ไม่งั้นอาจรักษาไม่ทัน" เป็นต้น 

ยิ่งทำให้เธอเป็นห่วงพ่อมากขึ้น จึงรบเร้าให้พ่อไป ตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลของรัฐ เพราะเชื่อว่าโรง-พยาบาลของรัฐ คงจะไม่มั่ว หรือตรวจรักษา เพื่อหวังผลกำไรเช่นโรงพยาบาลเอกชน เนื่องจากเธอได้ข่าวว่าโรงพยาบาลเอกชนมี "โปรแกรม" และ "แพ็กเกจ" ตรวจสุขภาพแบบต่างๆ มานานแล้ว เพื่อ หาเงิน ให้กับแพทย์ และ โรงพยาบาล เธอจึงไม่สนใจ


แต่เมื่อโรงพยาบาลของรัฐโฆษณาประชาสัมพันธ์ เรื่องการตรวจสุขภาพ โดยเฉพาะ เรื่องโรคหัวใจในผู้สูงอายุ เธอจึงสนใจ และ รบเร้าพ่อให้ไปตรวจ ทั้งที่พ่อเอง ไม่อยากตรวจ เพราะเห็นว่า ตนเองสบายดี ไม่มีอาการผิดปกติอะไร และยังออกกำลังได้เป็นปกติ  ทั้งตนเองก็ไม่เคยไปตรวจสุขภาพประจำปีมาก่อนเลย  ก็ไม่เห็นเป็น อะไร 

(แต่เคยไปตรวจสุขภาพ ตอนเป็นหนุ่ม เพื่อสมัครเข้าทำงานเท่านั้น)


อย่างไรก็ตาม เมื่อลูกรบเร้าอยู่เรื่อยๆ พ่อก็ยอมตามใจลูก เพราะลูกบอกว่าสามารถเบิกค่าตรวจรักษาต่างๆ ได้หมด จึงไปตรวจสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ตามคำโฆษณาประชาสัมพันธ์นั้น  แม้ว่าการตรวจสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ จะแพงกว่าสำหรับประชาชนทั่วไป ที่ไม่เจาะจงว่า จะตรวจแบบผู้สูงอายุ  เนื่องจากโปรแกรม หรือ แพ็กเกจ การตรวจ สุขภาพทั้งหมดหรือ เกือบทั้งหมดจะเน้นการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (การตรวจ "แล็บ") แบบครอบจักรวาล หรือแบบสะเปะสะปะ โดยไม่ได้ขัดเกลาให้เหมาะสม กับประวัติความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยของแต่ละคน ซึ่งไม่เหมือนกัน และ ให้เหมาะสมกับความผิดปกติที่พบจากการตรวจร่างกายในแต่ละคน


เพราะในการตรวจสุขภาพส่วนใหญ่หรือ เกือบทั้งหมดแพทย์จะให้ความสนใจกับการซักประวัติและการตรวจร่างกายน้อยมากเพราะการซักประ วัติและตรวจร่างกายให้ละเอียดถี่ถ้วน ต้องใช้เวลาอย่างน้อย ๒๐-๓๐ นาที  ซึ่งจะทำให้แพทย์เสียเวลามาก และ ไม่คุ้มกับค่าตรวจที่ได้รับ


การตรวจสุขภาพ เกือบทั้งหมด จึงเน้นการตรวจ "แล็บ" เช่น ตรวจเลือด อุจจาระ ปัสสาวะ เอกซเรย์ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ คลื่นเสียงสะท้อนหัวใจและ/หรือท้อง และอื่นๆ


เมื่ออายุมากขึ้น อวัยวะและระบบต่างๆ ในร่างกาย จะย่อหย่อนและมีโรคภัยไข้เจ็บเพิ่มมากขึ้น เป็นธรรมดา  การตรวจ แล็บ จึงต้องครอบจักรวาลมากขึ้น 

การตรวจสุขภาพ สำหรับผู้สูงอายุจึงมีราคาแพงมากกว่า สำหรับประชาชนทั่วไป และ ยิ่งตรวจมาก ก็ยิ่งพบความผิดปกติมากขึ้น เป็นธรรมดา


ชายผู้นี้  ก็เช่นเดียวกัน หลังการตรวจ แพทย์บอกว่า ไขมัน (คอเลสเตอรอลและ ไตรกลีเซอไรด์) ในเลือดสูงเล็กน้อย กรดยูริกสูงเล็กน้อย คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติเล็กน้อย ไม่แน่ใจว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือดจากหลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่ ควรตรวจเพิ่มเติมด้วยการออก-กำลังบนลู่วิ่ง (treadmill exercise test)


ชายผู้นี้ปฏิเสธ แต่ลูกสาวก็รบเร้าให้ตรวจ เพราะเบิกค่าตรวจได้ ในที่สุดชายผู้นี้ ก็ยอมให้ตรวจคลื่นไฟฟ้า หัวใจขณะวิ่งจนเหนื่อย แต่ไม่มีอาการอะไรอื่น เพราะเคย วิ่งออกกำลังทุกวันอยู่แล้ว 

อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจออกมายังก้ำกึ่งว่า จะเป็นโรคหัวใจขาดเลือดหรือไม่ แพทย์จึงแนะนำให้ตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (echocandiography) ซึ่งไม่เหนื่อยและไม่เจ็บตัว ผลปรากฏว่าหัวใจดูปกติดี แต่ไม่สามารถบอกว่าหลอดเลือด หัวใจตีบหรือไม่


แพทย์จึงแนะนำให้สวนหัวใจ (cardiac catheterization) และฉีด สี (สารทึบแสงเอกซเรย์) เข้าในหลอดเลือดหัวใจ (coronary angiography) ซึ่งจะเป็นการตรวจที่แน่นอนที่สุดว่า หลอดเลือดหัวใจผิดปกติหรือไม่ 


ชายผู้นี้ปฏิเสธ เพราะไม่อยากเจ็บตัวและ เห็นว่า ยิ่งตรวจยิ่ง "หนักข้อ" ขึ้นเรื่อยๆ แต่ลูกสาวก็ยังรบเร้าให้ตรวจ เพราะเบิกค่าตรวจรักษาทั้งหมดได้ และ หมอยังบอกด้วยว่า "ถ้าเป็นพ่อของหมอ หมอก็จะให้สวนหัวใจตรวจเช่นเดียวกัน" 


ลูกสาวจึงเคี่ยวเข็ญพ่อ จนพ่อยอมอดอาหาร และ เตรียมตัวเป็นอย่างดีเพื่อการสวนหัวใจ และ


ในเช้าวันหนึ่ง ชายผู้นี้ ก็ได้รับการสวนหัวใจ 

แต่ ชายผู้นี้โชคร้าย สายสวนหัวใจเกิดแทงทะลุหลอดเลือดใหญ่ ทำให้ตกเลือด ช็อก และ เสียชีวิตในเวลาต่อมา


เหตุการณ์เช่นนี้ แม้เกิดขึ้นน้อยมาก แต่ก็เกิดขึ้นได้ เพราะในการตรวจพิเศษต่างๆ ที่ต้องสอดใส่เครื่องมือเข้าไปในร่างกาย ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ย่อมเกิดขึ้นได้ และ บางรายก็ถึงแก่ชีวิต 

เช่นเดียวกับการผ่าตัด แม้แต่การผ่าฝีหรือ ผ่าตัดไส้ติ่งที่คนทั่วไป (รวมทั้งแพทย์) อาจเห็นว่า เป็นของเล็กน้อย แต่ ภาวะแทรกซ้อนถึงแก่ชีวิตก็อาจเกิดขึ้นได้ แม้จะเกิดขึ้นน้อยมากก็ตาม


การฉีด "สี" (สารทึบแสงเอกซเรย์) ก็เช่นเดียวกัน คนที่แพ้ "สี" อาจจะหายใจไม่ออก ช็อก และเสียชีวิตได้ 

แม้จะเป็นการฉีด "สี" เข้าหลอดเลือดธรรมดา เหมือนการฉีดยาทั่วไป การตรวจ และ การรักษาต่างๆ ที่ต้องใช้ยา หรือ สารเคมี หรือ เครื่องมือกระทำต่อร่างกาย จึงเกิดผลข้างเคียง (ภาวะแทรกซ้อน) ได้เสมอ 

ถ้าเป็นน้อย ก็เป็นเพียง อาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ หรือผื่นคัน ถ้าเป็นมาก ก็อาจมีอาการรุนแรง หรือ ถึงแก่ชีวิตได้

ที่น่าเสียใจ สำหรับชายผู้นี้ก็คือ ท่านเป็นคนแข็งแรงดี ไม่มีอาการอะไร และ ไม่มีประวัติโรคร้ายแรงในครอบครัว  แต่ต้องมาจบชีวิตลง ด้วย "การตรวจสุขภาพ"


ในกรณีนี้ นอกจาก "คนดีๆ" (คนที่ไม่เป็นโรคอะไร) ต้องเสียชีวิตด้วยการตรวจสุขภาพแล้ว "คนดีๆ" อีกคนหนึ่ง ที่ไม่เคยเป็นโรคอะไร ยังต้องล้มป่วยลง ด้วยโรคจิตซึมเศร้า จากความรู้สึกผิดว่า ตนเป็นผู้รบเร้าให้พ่อไปตรวจสุขภาพ จนพ่อต้องเสียชีวิต


"การตรวจสุขภาพ" ได้รับการโฆษณาชวนเชื่อมาช้านาน จนกลายเป็น "จินตนาการอันบรรเจิด" หรือ "ความฝันอันสูงสุด" ของประชาชนทั่วไป ที่เข้าใจว่า  ถ้าได้ตรวจสุขภาพแบบที่เขาโฆษณากันแล้ว สุขภาพของตนจะดี ไม่มีโรค และ ถ้ามีโรค จะได้ตรวจพบแต่เนิ่นๆ และ รักษาให้หายขาดได้  ยิ่งถ้าได้ตรวจสุขภาพโดยไม่ต้องเสียเงิน หรือ เสียน้อยลง (จากการ "ลดแลกแจกแถม" เช่นเดียวกับการขายสินค้าและบริการต่างๆ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่) ยิ่งทำให้เกิดความอยากที่จะตรวจสุขภาพเพิ่มขึ้น


อันที่จริง การตรวจสุขภาพ คือ การตรวจหา "โรค" ให้แก่คนที่ไม่ใช่ผู้ป่วย 

หรือ หาโรคเพิ่มให้แก่ผู้ป่วย จึงเป็นการ "หาเงิน" ให้แก่แพทย์และโรงพยาบาล โดยเฉพาะแพทย์และโรงพยาบาล ที่มีผู้ป่วยไปให้รักษาน้อย เพราะแพทย์และโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยมาก จนล้นมืออยู่แล้ว ไม่มีใครที่อยาก จะให้บริการตรวจสุขภาพ กับใครอีก  เพราะแค่งานตรวจรักษาผู้ป่วย ก็แสนสาหัสอยู่แล้ว ยังจะต้องมาคอยให้บริการคนดีๆ ที่ไม่มีอาการเจ็บป่วยอีก


รัฐบาล และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ชอบโฆษณาประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนมาตรวจสุขภาพ "ฟรี" จึงเป็นการเพิ่มภาระ ให้แก่แพทย์และโรงพยาบาล 


ทำให้แพทย์ และ โรงพยาบาลต้องใช้ทรัพยากร (ทั้งบุคคลและวัตถุ) สำหรับคนดีๆ  ทั้งที่ทรัพยากรที่รัฐบาลและ สปสช. ให้ไว้นั้น  ก็ยังไม่เพียงพอ สำหรับการตรวจรักษาผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก แล้วยังสร้าง "ค่านิยม" ผิดๆ ให้แก่สังคม และ ประชาชนทั่วไป ในเรื่องสุขภาพ เพราะ สุขภาพ คือ ภาวะแห่งความสุข ทั้งทางกาย ทางใจ ทางจิต และทางสังคม ด้วย


"สุขภาพ" ไม่ใช่ภาวะที่ปราศจากโรค เพราะคนทุกคน  ย่อมมีโรค อยู่ในตนไม่มากก็น้อย เสมอ เช่น ปวดเวียนศีรษะ เพราะโรคเครียด ปวดฟันเพราะโรคฟันหรือเหงือก ปวดท้องเพราะโรคกระเพาะลำไส้  หรือ อาหารเป็นพิษ ตาพร่ามัว เพราะโรคสายตา เป็นต้น 


แต่แม้เราจะมีโรค แต่เราก็มีความสุขทั้งทางกาย ทางจิต ทางใจ และทางสังคมได้ 

ถ้าเราควบคุมดูแลโรค ของเราให้เราสามารถอยู่กับมันได้  อย่างมีความสุข คนที่มีโรคเบาหวาน โรคความดันเลือดสูง โรคหัวใจ/ตับ/ไต ฯลฯ ส่วนใหญ่จึงมีความสุข นั่นคือมี สุขภาพ 


การมีโรค จึงไม่ได้แปลว่า ไม่มีสุขภาพ หรือ สุขภาพไม่ดี

การตรวจสุขภาพ แบบที่ทำกันอยู่ทั่วไป ยังไม่มีหลักฐานใดๆ ว่า จะช่วยสร้างเสริมสุขภาพ  แต่มักจะทำให้เกิดโรคประสาท (ความกลัวว่า จะเป็นโรค) และ หาโรค ให้แก่คนดีๆ  หรือ ทำให้คนดีๆ ต้องล้มป่วย หรือเสียชีวิต  จากการตรวจและการรักษาที่ไม่จำเป็น ต่างๆ


ในบางกรณี  ก็มีคนดีๆ ที่ไปตรวจเช็กสุขภาพ ของกระเพาะลำไส้ ด้วยการเอกซเรย์แบเรียม 

แล้วเกิดแบเรียมเป็นพิษ ทำให้คนดีๆ ๔ คน (รวมเด็กในท้องด้วย ก็เป็น ๕ คน) ต้องเสียชีวิตโดยไม่จำเป็น 

ทำให้การตรวจสุขภาพ ซบเซาไปพักใหญ่ 


แต่ปัจจุบันกลับเป็นธุรกิจ ที่แพร่หลายและ  หาเงินได้อย่างมหาศาล

การตรวจสุขภาพ  แบบครอบจักรวาลและ แบบสะเปะสะปะ  จึงเป็นขยะในทางการแพทย์ และ


ควรที่ประชาชน จะรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยม ของธุรกิจเช่นนั้น จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อ  ของความปรารถนาดีแต่ประสงค์ร้าย  ของผู้ใดเป็นอันขาด


จงดูแลสุขภาพของตนเองโดยหลีกเลี่ยง จากสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และ อย่าไปห่วงเรื่อง "การตรวจสุขภาพประจำปี" เลย  i


นพ.สันต์ หัตถีรัตน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น