หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

ปัญญา


 เอกลักษณ์ของศาสนาพุทธ คือ การยกปัญญาเป็นคุณธรรมสูงสุด ชาวพุทธเราหากมีความจริงใจต่อพุทธศาสนาจึงต้องมุ่งมั่นให้เป็นผู้มีปัญญา พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่าสมาธิเป็นบาทฐานของปัญญา ประเภทที่รู้เห็นตามความเป็นจริงจนสามารถทำลายกิเลสได้ ส่วนปัญญาที่เกิดจากความจดจำหรือคิดไตร่ตรองเป็นประโยชน์มากในชีวิตประจำวัน แต่ได้ผลดีเฉพาะเวลาที่ทุกสิ่งทุกอย่างปกติ พอกิเลสเกิดขึ้น พอมีเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง เรามักจะลืมปัญญาระดับนี้เลย พออารมณ์ดับแล้ว เราจึงนึกได้ว่าอะไรเป็นอะไร ฉะนั้นปัญญาแบบจำได้คิดได้มีบทบาทจำกัดในการสร้างที่พึ่งภายใน เราจำเป็นต้องเสริมด้วยปัญญาที่สามารถยืนหยัดตลอดเวลา แม้ในยามวิกฤติ บัณฑิตผู้มีปัญญา เห็นเรื่องที่ควรคิดพิจารณาก็คิดพิจารณาในเรื่องนั้น แต่บัณฑิตรู้จักกาลเทศะ เวลาไหนไม่ต้องคิดก็สามารถปล่อยวางความคิดได้ ท่านว่าสามารถอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ต้องการ ตามความต้องการคือสมาธิภาวนา จิตสงบแล้ว ถึงเวลาที่สมควรก็น้อมใจเพื่อเกิดความรู้ความเข้าใจในหลักธรรม เหมือนแมงมุม ไม่มีแมลงก็อยู่เฉยๆ อย่างมีสติ พอแมลงติดหยากไย่ก็ออกไปจัดการ


ในสมัยปัจจุบันนี้คนจำนวนมากเป็นทุกข์เพราะความคิดมากกว่าปัญหาในการเอาตัวรอดทางด้านวัตถุ แต่สังคมยังไม่ค่อยปรับตัวกับสถานการณ์ใหม่ ยังไม่มีค่านิยมในการบริหารความคิด ระบบการศึกษาสอนแต่ให้คนรู้จักคิด เราจึงคิด คิด คิด อยู่ตลอดเวลา แต่หยุดคิดไม่ค่อยเป็น นอกจากเวลานอนหลับเท่านั้น และทุกวันนี้คนเครียดมากเสียจนนอนไม่ค่อยหลับก็มีเยอะ หรือถึงจะนอนหลับก็ยังต้องฝันอีก หลับแล้วต้องฝันเพราะอะไร เพราะความคิดยังคั่งค้างอยู่ ไม่ยอมปล่อยวาง ตื่นขึ้นมาตอนเช้าก็ไม่สดชื่น เพราะสมองแช่อยู่ในความอยาก ความกลัว ความกังวลอยู่ทั้งคืน จะจัดการกับความคิด ไม่ให้มันเป็นพิษเป็นภัยต่อชีวิตเรา อาตมาเชื่อว่าการฝึกจิตคือทางเดียวที่ได้ผล


พระอาจารย์ชยสาโร

Cr.https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid02H7yaSQyS1JTkoMwaMrauo5UaiULVexTibHV4UDXVoM6DaQRFRLdwokAUywGWLr93l&id=100064337808864&mibextid=Nif5oz

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น