หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566

จิตตั้งมั่น


เราจะปฏิบัติต่อความเชื่อ ความคิด และพฤติกรรมที่เราเห็นว่าน่ารังเกียจอย่างไร?  หรือปฏิบัติต่อสิ่งที่เราเห็นว่าเป็นอันตรายต่อบุคคล สังคม และโลกที่เราอยู่อย่างไร?  สิ่งเหล่านั้นกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกอย่างใดบ้าง?  ปฏิกิริยาโต้ตอบที่เห็นได้บ่อยที่สุดคงจะเป็นความโกรธหรือความรู้สึกหดหู่  หลายคนเลยยอมจำนน ปล่อยไปตามยถากรรม หรือแค่ไม่คิดในเรื่องที่ทำให้ขุ่นใจ


ในพระสูตรชื่อว่าสัลเลขะ (มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์)  พระพุทธองค์ทรงให้คำแนะนำง่ายๆ แต่มีพลังยิ่ง  ทรงสอนให้เราใช้ความโง่เขลาและสิ่งอกุศลทั้งหลายเป็นแรงกระตุ้นในการปฏิบัติธรรม  ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ใด เราพึงมีทัศนคติว่า “ชนเหล่าอื่นอาจจะ... แต่เราจะไม่ทำเช่นนั้น”


จากข้อพึงปฏิบัติที่ทรงแสดงไว้ ๔๔ ประการ จะขอยกตัวอย่างบางข้อ ดังนี้


"ชนเหล่าอื่นอาจพูดร้ายหรือทำร้าย แต่เราจะไม่พูดร้ายไม่ทำร้าย"


"ชนเหล่าอื่นอาจลักและฉ้อโกง พูดโกหก ส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ  แต่เราจะเว้นจากการลักทรัพย์และฉ้อโกง จะไม่พูดโกหก ส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบและเพ้อเจ้อ"


"ชนเหล่าอื่นอาจโลภโมโทสันหรือมีจิตอาฆาตพยาบาท แต่เราจะไม่โลภโมโทสัน ไม่มีจิตอาฆาตพยาบาท"


"ชนเหล่าอื่นอาจอิจฉาริษยา แต่เราจะไม่อิจฉาริษยา"


"ชนเหล่าอื่นอาจมีมารยา แต่เราจะไม่มีมารยา"


"ชนเหล่าอื่นอาจเย่อหยิ่งถือตัว แต่เราจะไม่เย่อหยิ่งถือตัว"


"ชนเหล่าอื่นอาจเกียจคร้าน แต่เราจะไม่เกียจคร้าน"


"ชนเหล่าอื่นอาจยึดมั่นถือมั่นในทิฏฐิของตน ปล่อยวางยาก  แต่เราจะไม่ยึดมั่นถือมั่นในทิฏฐิ  จะปล่อยวางโดยง่าย"


ด้วยการตั้งจิตให้มั่นอยู่เช่นนี้ ไม่ให้คลอนแคลน  เราจะมีเข็มทิศส่องทางในการดำเนินชีวิตอยู่ในโลกอันสับสนวุ่นวาย


ธรรมะคำสอน โดย พระอาจารย์ชยสาโร

แปลถอดความ โดย ศิษย์ทีมสื่อดิจิทัลฯ

*****

Cr.https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid02t51Ly26xNSXWK6EH51Jm8CdThLJYZnPchBz8tnGHybZAViMKmtPj8hXwr4AbioVzl&id=100064337808864&mibextid=Nif5oz

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น