หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2566

ธรรมชาติของกิเลส

1 ความคิดเห็น:

  1. ธรรมชาติของกิเลสมักแต่จะให้เขายกย่องตน นี่ตกนรกตลอดเวลา
    .
    …. “ เรื่องสำคัญที่จะพูดอีกเรื่องก็คือว่า ไม่ใช่ว่าเราจะเห็นธรรมะหรือพิจารณาธรรมะเฉพาะแต่เมื่อเวลาไปนั่งกรรมฐาน หรือไปไหว้พระสวดมนต์ เวลาอย่างนั้นไม่ค่อยมีเรื่อง เวลาที่จะพิจารณาธรรมะเห็นธรรมะนี่ เป็นเวลาที่เราทำการงาน เพราะเวลาทำการงานนี้เป็นช่องให้เกิดกิเลส เมื่อเป็นช่องให้เกิดกิเลส เราจะได้รู้จักกิเลส จะได้ต่อสู้กิเลส จะได้กำจัดความยืดมั่นถือมั่น.........
    …. พิจารณาดูกันเถอะว่า มันมีฮื่อมีแฮ่กันหรือเปล่า...เมื่อทำการงานนี้ เมื่อประชุม ส่งเสียงบ๊งเบ๊ง ล๊งเล้ง ด้วยโทสจริตหรือเปล่า? มีสายตาค้อนควักผู้อื่นหรือเปล่า? มีการประชดประชันคนอื่นหรือเปล่า? มีการอยากจะให้คนอื่นคิดว่า ต้องยกเราเป็นหัวหน้า ต้องเชื่อฟังเรา อย่างนี้หรือเปล่า? นี่คือ..กิเลสที่เลวที่สุด ของพวกยึดมั่นถือมั่น คือว่า เป็นผู้อยากจะให้คนอื่นยอมแพ้ ว่าทุกคนต้องเชื่อฟังเรา นี่เป็นอันดับต่ำสุดของพวกยึดมั่นถือมั่น
    …. คนชนิดนั้น ตกนรกทั้งเป็น อยู่ทุกชั่วโมงทุกนาที แม้จะอยู่ในวัดนี้ แท้ที่จริงไม่มีเวลาที่หัวใจโปร่ง เป็นความสะอาด สว่าง สงบ และรู้จักพระพุทธเจ้า แต่ก็ยังยกหู-ชูหาง จะให้คนอื่นคิดว่าตัวเป็นผู้ที่มีธรรมะอยู่นั่นแหละ ให้ตัวเป็นผู้มีคุณธรรมสูงกว่าผู้อื่นอยู่ เป็นอย่างนี้เรื่อยไป เป็นธรรมชาติอย่างนี้เอง ธรรมชาติของ“กิเลส” นี่คือ คนที่ตกนรกทั้งเป็นอยู่ทุกๆนาที ทั้งวัน ทั้งคืน ไม่มีระยะสักระยะหนึ่งที่ว่างเว้น ที่หัวใจจะสะอาด สว่าง สงบ แล้วเห็นพระพุทธเจ้าได้
    คนบางคนพอเข้ากลุ่มสังคมกัน ก็กรุ่นอยู่แต่ที่จะให้คนอื่นยกย่องตัว ว่าเป็นผู้ถูก ผู้เก่ง ผู้เลิศ ทุกคนต้องฟังคำสั่งกู อย่างนี้ นี่เป็นหลักธรรมดาทั่วไป ไม่ว่าใคร มีกิเลสพื้นฐานอย่างนี้ทั้งนั้น แต่ว่าใครมีบุญก็เบาบางไป มีเวลาที่สงบบ้าง พอที่จะนึกเห็น หรือมีการพักผ่อน มองดูว่า อ้าว! เป็นอย่างนี้ นั่นเป็นอย่างนั้น อาการต่างๆในจิตแตกต่างกันอย่างนี้ ก็จะได้ขวนขวายปฏิบัติธรรม
    …. ทีนี้ ถ้าใครเป็นบ้าถึงขนาดที่กล่าวมานั้น อย่าได้โกรธเขาเลย ช่วยกัน สงสารเขาให้มาก อย่าไปออกรับ อย่าไปต่อล้อต่อเถียง อย่าไปเป็นคู่ปรปักษ์หรือศัตรู จงสงสารเขาให้มาก ถ้าเขาคลั่งจัดขึ้นมานัก ก็แอบไปหัวเราะกันเสียก็แล้วกัน ให้เป็นตลกไปเสีย ไปช่วยหัวเราะกันอยู่ลับๆ ให้เขาบ้าคนเดียว อย่างนั้น แล้วก็คงจะดีขึ้นบ้าง”
    .
    พุทธทาสภิกขุ
    ที่มา : ธรรมบรรยาย หัวข้อเรื่อง “ธรรมะ” เมื่อวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๑๑ จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่ม “ธรรมปาฏิโมกข์ เล่ม ๑” หน้า ๓๘๙-๓๙๐

    ตอบลบ